แต่ไหนแต่ไรมาแล้วที่คนจากพื้นราบหรือคนทั่วไปมักจะมองพี่น้องชนเผ่าต่างๆ ที่อาศัยอยู่ทางภาคเหนือของประเทศว่า เป็นกลุ่มคนที่ล้าหลัง ไม่มีความรู้ ไม่มีวัฒนธรรม บ้านเรือนและความเป็นอยู่ไม่สะอาด อยู่กันอย่างตามมีตามเกิด หรือมองว่าพวกเขาเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ฯลฯ
นั่นเป็นภาพในอดีตที่คนจากภายนอกมองเข้ามา แต่หากใครได้มีโอกาสมาสัมผัส มาเรียนรู้วิถีชีวิตของพวกเขาแล้ว อาจจะต้องแปลกใจกับความรู้ วัฒนธรรมประเพณีของพี่น้องชนเผ่าที่มีความลุ่มลึก ผูกพันกับธรรมชาติ และใช้ชีวิตแบบ ‘สโลว์ไลฟ์’อย่างที่คนเมืองอยากจะเป็น
แถมลูกหลานของพี่น้องชนเผ่าต่างๆ ในปัจจุบัน หลายคนได้ร่ำเรียนในมหาวิทยาลัยชื่อดังของประเทศ บางคนเรียนจบด้านนิติศาสตร์และได้เป็น ‘ผู้พิพากษา’ ( วิริยะบัณฑิต คีรีธะกุล ชาวม้งจาก จ.น่าน ปัจจุบันเป็นผู้พิพากษาประจำศาลแพ่ง) บางคนเรียนด้านแพทย์หรือพยาบาลจบแล้วก็มาทำงานตามที่ได้เรียนมา บางคนมีหัวการค้าสมัยใหม่ปลุกปั้นธุรกิจกาแฟจนมีชื่อเสียงระดับนานาชาติ (กาแฟดอยช้าง กาแฟอาข่า อาม่า)
ขณะเดียวกันลูกหลานของพี่น้องชนเผ่าเหล่านี้ยังได้ต่อยอดความรู้ต่างๆ สืบทอดวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิม อนุรักษ์ และปรับตัวเพื่อให้พวกเขาใช้ชีวิตในโลกสมัยใหม่นี้ได้ ดังเช่น พี่น้องชาวอาข่า จังหวัดเชียงราย
ตัวตน ‘คนอาข่า’ ไม่ใช่ “อีก้อ”
กลุ่มชาติพันธุ์อาข่า (Akha) มีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่บริเวณภูเขาสูงทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน (เรียกตัวเองว่า ‘ฮาหนี่’ – Hani แต่คนไทยทางภาคเหนือเรียก “อีก้อ” ถือเป็นคำเหยียดหยาม ไม่สุภาพ) ปัจจุบันชาวอาข่ามีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นที่บริเวณมณฑลยูนนานของจีน โดยเฉพาะแคว้นสิบสองปันนา นอกจากนี้ยังกระจายอยู่ในประเทศต่างๆ ในลาว พม่า เวียดนาม และไทย
ชาวฮาหนี่หรืออาข่าในประเทศจีนและสแตมป์กลุ่มชาติพันธุ์อ่า
ในประเทศไทย ชาวอาข่าอาศัยอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ เช่น เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ ตาก มีประชากรทั้งหมดประมาณ 110,000 คน โดยจังหวัดเชียงรายมีชาวอาข่าอาศัยอยู่มากที่สุด จำนวน 234 หมู่บ้าน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูง เช่น อำเภอแม่ฟ้าหลวง แม่จัน เชียงแสน และแม่สรวย
ชาวอาข่าส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม เช่น ปลูกข้าวไร่ พืช ผักต่างๆ เลี้ยงหมู ไก่ ฯลฯ มีภาษาพูดเป็นของตัวเอง มีประเพณี วิถีชีวิต และวัฒนธรรมที่ผูกพันกับธรรมชาติ ประเพณีที่คนภายนอกรู้จักคือ ‘พิธีโล้ชิงช้า’ หรือ ‘แยะ ขู่ อ่าโผ่ว’ พิธีนี้จะทำหลังจากพิธีปลูกข้าวครั้งแรก (ประมาณปลายเดือนสิงหาคม-ต้นเดือนกันยายน) เพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง ระลึกถึงและยกย่องวีรบุรุษชาวอ่าข่าคือ ‘แยะขู่’ ผู้ซึ่งได้ยอมสละชีวิตเพื่อต่อสู้กับแมลงศัตรูพืชจนได้รับชัยชนะ นอกจากนี้ยังเพื่อขอพรให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูด้วย พิธีนี้จะมีการสร้างและโล้ชิงช้าขนาดใหญ่เรียกว่า “หล่ะเฉ่อ” ใช้เวลา 4 วัน (ดูรายละเอียดประเพณีต่างๆ ได้ที่ http://www.ikmi.info/wp-content/uploads/2018/09)
การสร้างชิงช้าที่หมู่บ้านชาวอาข่าในเชียงราย
ส่วนเรื่องราวที่คนภายนอกเคยได้ยินได้ฟังมา เช่น ชาวอาข่ามี ‘ลานสาวกอด’ มี ‘มิดะ’ หรือผู้หญิงที่ทำหน้าที่สอนเรื่องเพศศึกษาให้แก่เด็กหนุ่ม โดยมีการเผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือเชิงสารคดีเรื่อง ‘30 ชาติในเชียงราย’ เขียนโดยบุญช่วย ศรีสวัสดิ์ ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2492 ต่อมามีการนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง ‘ลานสาวกอด’ ในปี 2515 นำแสดงโดยเพชรา เชาวราษฎร์ และ ‘ระพิน ไพรวัลย์’ นักร้องลูกทุ่งชื่อดังในยุคนั้นขับร้องเพลงนี้ มีเนื้อเพลงตอนหนึ่งว่า…
“บนลานสาวกอด ไผจะกอดสาวใดก็ตาม บ่มีไผห้าม กอดกันตามหัวใจใฝ่ฝัน ทั่วดอยแสนใจ อุ่นกลิ่นไอ สาวหนุ่มฮักกัน ฟ้าเจียงฮายเป็นแดนสวรรค์ มาแอ่วกันบนดอยอีก้อ…”
โปสเตอร์ภาพยนตร์ลานสาวกอด
ขณะที่ ‘จรัญ มโนเพชร’ โฟลค์ซองคำเมือง นำมาแต่งและขับร้องเพลง ‘มิดะ’ ในช่วง 30 ปีก่อนจนโด่งดังไปทั่วบ้านทั่วเมือง มีเนื้อเพลงท่อนสุดท้ายว่า..
“งามเหนือคำรำพัน เป็นหมันและเป็นหม้าย ความสวยงามคือภัย ถูกเลือกไว้เป็นมิดะ หนุ่มใดบ่เคยชิดชม บ่สมสู่ฮู้วิชา หมดหนทางขึ้นมา บนลานสาวกอด หมดปัญญาดิ้นรน มืดมนเหมือนคนตาบอด คนแล้วคนเล่ากอด ทอดกายในดงดินแดน จนวัยโรยลาล่วงไป คนใหม่มาเป็นมิดะแทน คือเรื่องราวในแดน แผ่นดิน…อีก้อ”
ว่ากันว่า เรื่องราวที่ถ่ายทอดผ่านบทเพลงเหล่านี้ ทำให้หนุ่มกลัดมันหลายคนจากพื้นราบพากันใฝ่ฝันอยากจะขึ้นดอยเพื่อจะไปที่ลานสาวกอดและพบเจอมิดะให้ได้ ขณะเดียวกันคนอาข่าก็ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าอับอาย น่าน้อยใจ แต่ในยุคสมัยนั้นเครื่องมือและการสื่อสารยังไม่แพร่หลาย คนบนดอยจึงไม่รู้จะไปบอกเล่าความจริงให้ใครฟัง !!
ที่นี่ไม่มี ‘ลานสาวกอดและมิดะ’ มีแต่ ‘ลานแดข่อง’
‘อาเบี่ย ปอแฉ่’ (ชื่อตามบัตรประชาชน ‘วันเพ็ญ สะสุทธิเสน’) หรือ ‘ป้าเพ็ญ’ หญิงอาข่าอายุ 65 ปี เกิดที่อำเภอแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องสมุนไพรและวัฒนธรรมของอาข่า บอกว่า สมัยที่เพลงพวกนี้ดังคนอาข่าก็ไม่สบายใจ เพราะว่ามันไม่ใช่เรื่องจริง ทำให้คนทั่วไปมองว่าคนอาข่าเป็นพวก ‘ฟรีเซ็กซ์’ ซึ่งคงจะเกิดจากความไม่รู้ ไม่เข้าใจประเพณีวัฒนธรรมอาข่าของคนแต่งเพลง ดังนั้นเมื่อมีโอกาสคนอาข่าก็อยากจะชี้แจงความเป็นจริงเพื่อให้คนทั่วไปได้รู้8 บรรยาย/
‘อาเบี่ย ปอแฉ่’
ลานแดข่อง
“อย่างลานสาวกอดเพื่อให้คนหนุ่มสาวมากอดกันก็ไม่มี อาข่ามีแต่ลาน ‘แดข่อง’ หมายถึงลานวัฒนธรรมของหมู่บ้าน ซึ่งสมัยก่อนจะมีอยู่ทุกหมู่บ้าน ถือเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งของชาวอาข่า จึงไม่มีเรื่องชู้สาวในลานแดข่อง แต่จะเป็นสถานที่ที่คนอาข่าทั้งผู้หญิง ผู้ชายมาพบปะ มาพูดคุยกันหลังจากเสร็จงานในไร่นา เสร็จจากงานบ้าน และกินข้าวเย็นแล้ว ก็จะชวนกันมานั่งเล่น พูดคุยกันตามประสาคนหนุ่มคนสาว บางคนก็เล่านิทาน บางคนก็มาร้องเพลง มาเต้น คนที่อายุมากกว่าก็จะสอนคนอื่นๆ ให้ร้องและเต้นตามจังหวะเพลงของอาข่า เนื้อเพลงก็จะเกี่ยวกับการทำมาหากิน การแต่งตัว และประเพณีต่างๆ เหมือนกับเป็นการสอนกัน พี่สอนน้องให้รู้จักการใช้ชีวิตของชาวอาข่า ไม่ใช่เป็นที่ที่จะให้คนหนุ่มสาวมากอดกัน” ป้าเพ็ญชี้แจง
พร้อมทั้งอธิบายเพิ่มว่า ลานแดข่องส่วนใหญ่จะตั้งอยู่บริเวณริมหมู่บ้าน จะไม่ตั้งกลางหมู่บ้าน เพื่อไม่ให้เสียงไปรบกวนคนอื่นเวลาเต้นหรือร้องเพลง และหากมีงานศพหรือมีคนป่วยอาการหนักในหมู่บ้าน ช่วงนั้นคนอาข่าก็จะไม่มาพบกันที่ลานแดข่อง เพื่อไม่ให้เกิดเสียงดัง แต่ปัจจุบันบ้านเมืองเจริญขึ้น ลูกหลานชาวอาข่าเข้าไปเรียนหนังสือหรือไปทำงานในเมือง คนเก่าคนแก่ก็ตายจากไป ลานแดข่องจึงค่อยๆ หายไปด้วย
สาวอาข่าหรือ ‘หมี่ดะ’
ส่วนคำว่า ‘มิดะ’ ซึ่งตามเนื้อเพลงหมายถึง ‘หญิงหม้ายที่สอนประสบการณ์ทางเพศให้แก่คนหนุ่ม’ นั้น ป้าเพ็ญบอกว่า ในภาษาอาข่ามีคำว่า ‘หมี่ดะ’ หมายถึงสาวแรกรุ่น หรือหญิงสาวในวัยเจริญพันธุ์ที่พร้อมจะมีครอบครัว ไม่มีผู้หญิงที่มีหน้าที่สอนเรื่องเพศในประเพณีและวัฒนธรรมของชาวอาข่าแต่อย่างใด เพราะเรื่องเพศเป็นเรื่องของธรรมชาติ เป็นเรื่องปกติของมนุษย์ไม่จำเป็นต้องสอนกัน
“ตอนนี้หากใครอยากมาเรียนรู้ประเพณีวัฒนธรรมของชาวอาข่า มาดูลานแดข่อง มาชิมอาหาร มาดูการรักษาโรคพื้นบ้านด้วยสมุนไพรของชาวอาข่า ขอเชิญให้มาที่มหาวิทยาลัยอาข่า อยู่ที่เชียงราย ชาวอาข่ายินดีต้อนรับทุกคน” ป้าเพ็ญ หรืออาเบี่ย ปอแฉ่ ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพรและวัฒนธรรมอาข่ากล่าวเชิญชวน
มหาวิทยาลัยอาข่า “สร้างความรู้ที่กินได้”
การศึกษาหรือถ่ายทอดความรู้ในโลกสมัยใหม่ ไม่ใช่จะจำกัดตัวเองอยู่ภายในรั้วสถาบันการศึกษา หรือมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนอย่างเป็นทางการเท่านั้น แต่เราสามารถไขว่คว้าหาความรู้ได้จากสื่อออนไลน์ ความรู้จากสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัว จากไร่นา วิถีชีวิต ภูมิปัญญา ประเพณี และวัฒนธรรมท้องถิ่น ดังเช่น ชาวอาข่าที่รวบรวมองค์ความรู้ต่างๆ จัดตั้งเป็น ‘มหาวิทยาลัยชนเผ่าอาข่า’ (Akha Life University’) ขึ้นมา
‘อาทู่ ปอแฉ่’ หรือ ‘ไกรสิทธิ์ สิทธิโชดก’ หนุ่มใหญ่ชาวอาข่าวัย 54 ผู้ริเริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัยชนเผ่าอาข่า เล่าว่า ตนเองเกิดที่เชียงราย เรียนจบปริญญาตรีด้านธุรกิจการเกษตรที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้เมื่อปี 2539 จากนั้นจึงมาทำงานที่สมาคมเพื่อการศึกษาและวัฒนธรรมชนเผ่าอ่าข่า จังหวัดเชียงราย ในตำแหน่งผู้อำนวยการสมาคมฯ
อาทู่ ปอแฉ่ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยชนเผ่าอาข่า
โดยสมาคมมีเป้าหมายการทำงานเพื่อพัฒนาศักยภาพคนอ่าข่า ด้วยการสร้างผู้นำเด็กและเยาวชน เพื่อการทำงานด้านสืบสานชาติพันธุ์ พร้อมทั้งพัฒนาบทบาทสตรี และเชิดชูผู้สูงอายุให้เป็นที่ยอมรับของสังคม ขณะเดียวกันยังสืบสานและอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิม โดยเน้นพัฒนาด้านอาชีพและสิ่งแวดล้อมให้สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติและพึ่งพาตนเองได้ เพื่อยกระดับให้ชนเผ่าอ่าข่ามีสิทธิมีเสียง ได้รับการยอมรับจากสังคม มีศักดิ์ศรีตามกฎหมาย ตามระบอบประชาธิปไตย
กิจกรรมที่สมาคมทำ เช่น ส่งเสริมการศึกษาเด็กและเยาวชน สร้างหลักสูตรท้องถิ่นเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตและชุมชนของเผ่าอ่าข่าด้านวัฒนธรรม ประเพณี คำสวด ภาษิตคำสอน อาหารเพื่อสุขภาพ สมุนไพร การแพทย์พื้นบ้าน ฯลฯ จัดตั้งโรงเรียนป่าไม้ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติ ส่งเสริมการปลูกต้นไม้ อนุรักษ์และดูแลสิ่งแวดล้อม ฯลฯ
“ตอนหลังผมลาออกมาเพื่อทำงานส่วนตัว เพราะอยากทำงานด้านวิชาการ ทั้งการศึกษา วิจัย และเผยแพร่เรื่องราวต่างๆ ของพี่น้องชาวอาข่าเพื่อให้คนทั่วไปที่สนใจได้ศึกษาและเรียนรู้ จึงได้จดทะเบียนกับกระทรวงวัฒนธรรมตั้งแต่ปี 2555 ใช้ชื่อว่า ‘เครือข่ายวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยชนเผ่าอาข่า’ และเริ่มจัดการเรียนการสอน ‘มหาวิทยาลัยชนเผ่าอาข่า’ อย่างเข้มข้นตั้งแต่ปลายปี 2562 เป็นต้นมา โดยมีศูนย์ประสานงานอยู่ที่เชียงรายและลำปาง ”
อาทู่เกริ่นนำความเป็นมา และขยายความว่า ที่เชียงรายใช้ที่ดินส่วนตัวของเขาเนื้อที่ 1 ไร่ (ใกล้สะพานข้ามแม่น้ำกก อ.เมือง) เป็นที่ทำการของมหาวิทยาลัย มีพื้นที่จัดกิจกรรมต่างๆ เช่น ประชุม สัมมนา ลานแดข่อง แสดงวัฒนธรรม ประเพณี การละเล่น พื้นที่แสดงสินค้า เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน การรักษาพื้นบ้าน ร้านกาแฟ และห้องพักโฮมสเตย์ (จุคนได้ไม่เกิน 20 คน)
นักเรียนมาศึกษาดูงานที่มหาวิทยาลัยอาข่า
เขาบอกต่อไปว่า ชนเผ่าอาข่ามีวัฒนธรรม ประเพณี พิธีกรรม และความเชื่อตั้งแต่เกิดจนตายมากมายหลายอย่าง ทั้งเรื่องการทำมาหากิน การดำเนินชีวิตประจำวัน การดูแลรักษาสุขภาพ แต่เนื่องจากอาข่าไม่มีภาษาเขียน ทำให้มีข้อจำกัดในการบันทึกและเผยแพร่ข้อมูล มหาวิทยาลัยจึงเป็นสะพานเชื่อมเพื่อรวบรวมองค์ความรู้ต่างๆ เหล่านี้นำมาบันทึกเป็นภาษาไทย รวมทั้งดัดแปลงหรือบูรณาการอักษรโรมันมาเป็นตัวหนังสือของอาข่าเพื่อบันทึกเรื่องราวเช่นกัน
ส่วนภารกิจของมหาวิทยาลัย คือ 1. ศึกษา วิจัย รวบรวมความรู้ ภูมิปัญญา วิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม จารีต และความเชื่อต่างๆ ของชาวอาข่า 2.ใช้มิติวัฒนธรรมป็นเครื่องมือพัฒนาชุมชน และ 3.เผยแพร่ประชาสัมพันธ์องค์ความรู้ต่างๆ ของอาข่า ซึ่งที่ผ่านมามีทั้งคนไทยและต่างประเทศที่สนใจด้านมานุษยวิทยา หรือเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์อาข่าเข้ามาทำการศึกษาวิจัยเรื่องต่างๆ แล้ว 16 คน (หลังโควิดจะมีชาวอังกฤษเข้ามาทำวิจัยอีก 1 คน) นอกจากนี้ยังมีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายและ ม.แม่ฟ้าหลวงสนใจมาศึกษาเรื่องพฤกษศาสตร์ที่โรงเรียนป่าไม้อาข่าที่มีอยู่ในหมู่บ้านต่างๆ
ส่วนคนอาข่าสามารถเข้ามาเรียนรู้ได้ตลอดเวลาทั้งเด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป ใครสนใจเรื่องใดก็มาเรียนรู้ที่มหาวิทยาลัยได้ (ต้องติดต่อล่วงหน้าเพื่อประสานงานเรื่องวิทยากรและสถานที่) ถือเป็น ‘มหาวิทยาลัยเปิด’ หรือ ‘ตลาดวิชา’ ที่ไม่มีค่าใช้จ่าย (ยกเว้นค่าที่พัก อาหาร หรือการเดินทาง) มีหลักสูตรที่น่าสนใจ เช่น การรักษาโรคพื้นบ้านของชาวอาข่าหรือ ‘อาข่าโฮย้า’ ของเล่นพื้นบ้าน อาหาร สมุนไพร ฯลฯ
อาหารอาข่า มีน้ำพริก ผัก แกงจืด กินกับข้าวเจ้า
หรือหากคนภายนอกสนใจจะเข้าไปศึกษาเรียนรู้ในหมู่บ้านชาวอาข่าก็ได้ เพราะมหาวิทยาลัยอาข่าไม่ได้จำกัดว่าความรู้จะต้องนั่งเรียนอยู่ในห้อง แต่อยู่ในทุ่งนา อยู่ในป่า ในหมู่บ้าน ในวิถีชีวิตประจำวัน อยู่ในประสบการณ์และความรู้ของผู้เฒ่าผู้แก่ ปราชญ์ชุมชน หมอพื้นบ้าน ช่างตีเหล็ก ฯลฯ
“มหาวิทยาลัยอาข่ามีหน้าที่สอนความรู้หรือด้านวิชาการ พร้อมทั้งขับเคลื่อนเรื่องงานพัฒนาไปด้วย และยังนำความรู้ของชาวอาข่ามาสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น ส่งเสริมอาชีพหัตถกรรม เครื่องจักสาน กาแฟ ชา เก็กฮวย สมุนไพร อาหาร เสื้อผ้า เครื่องมือ เครื่องใช้พื้นบ้าน ของเล่น การรักษาโรค การดูแลสุขภาพของชาวอาข่า เราเอาสิ่งเหล่านี้มาสร้างตลาดให้พี่น้องอาข่าด้วย เพื่อให้มีรายได้เสริม ผมใช้สโลแกนว่า ‘ความรู้ที่กินได้’ โดยนำคุณค่า ภูมิปัญญามาดั้งเดิมมาพัฒนา สร้างมูลค่าเพิ่ม ใช้ช่องทางการตลาดต่างๆ เช่น ร้านค้าออนไลน์ การออกบูธตามงานอีเว้นท์หรืองานนิทรรศการต่างๆ ใครมาชวนเราก็ไป เพื่อให้คนรู้จักภูมิปัญญาและสินค้าของอาข่า” อาทู่บอกถึงภารกิจของมหาวิทยาลัยที่ไม่ใช่ทำเรื่องความรู้เพียงอย่างเดียว แต่ยังกินและสร้างรายได้ได้ด้วย
จากภูมิปัญญาสู่อาชีพ
อาทู่บอกด้วยว่า นอกจากนี้มหาวิทยาลัยมี ‘โครงการพัฒนาอาชีพจากภูมิปัญญาวิถีชีวิตชนเผ่าอาข่า’ ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ. /จัดตั้งขึ้นตามข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 54) มีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาภูมิปัญญาของชาวเผ่าอาข่า และนำองค์ความรู้เหล่านั้นไปผลิตเป็นสินค้าที่สามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายในการสร้างระบบจัดจำหน่ายที่ช่วยสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ผู้ด้อยโอกาสและขาดแคลนทุนทรัพย์ในชุมชน
โครงการฯ มีแผนการพัฒนาทักษะหลายๆ ด้านให้กับสมาชิกกลุ่ม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ และกลุ่มสตรีอาข่า รวมทั้งหมดประมาณ 190 คนใน 15 หมู่บ้าน เริ่มจากการให้ผู้เข้าร่วมสำรวจความถนัดในการสร้างอาชีพของตัวเอง สร้างความเข้าใจในวิถีและภูมิปัญญาของชุมชน จากนั้นโครงการได้จัดทำชุดความรู้ขึ้นมา 8 ชุด และนำไปใช้จัดอบรมให้แก่ผู้ที่สนใจทั้งชาวอาข่าและคนทั่วไป คือ
1.คู่มือสมุนไพรและหมอพื้นบ้านอาข่า 2.คู่มือการจักสานพื้นบ้านอาข่า 3.คู่มือการตีมีดพื้นบ้านอาข่า 4.อาหารและการถนอมอาหารพื้นบ้านอาข่า 5.ข้าวซ้อมมืออาข่า 6.คู่มือเครื่องเล่นและบทเพลงพื้นบ้านอาข่า 7.คู่มืองานผ้าอ่าข่า และ 8.คู่มือการทำสบู่ น้ำยาล้างจาน และยาสระผมจากสมุนไพรพื้นบ้านอ่าข่า
การรักษาโรคแบบพื้นบ้านอาข่า ใช้ผาลไถเผาในเตาให้ร้อน เอาเท้าไปนาบผาลไถ แล้วนำมาย่ำตามร่างกายผู้ป่วยแก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและรักษาโรคบางชนิด
ปัจจุบันสินค้าต่างๆ ที่มหาวิทยาลัยอาข่าและโครงการเข้าไปสนับสนุนมีจำหน่ายในหมู่บ้านของชาวอาข่า รวมทั้งที่มหาวิทยาลัย และตลาดออนไลน์ เช่น เครื่องจักสาน ผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ โตกใส่อาหาร เก้าอี้หนังวัว เสื้อผ้า น้ำผึ้งป่า ข้าวไร่ กาแฟ ชา ดอกเก็กฮวยแห้ง ฯลฯ ราคาตั้งแต่หลักสิบถึงหลักร้อย ช่วยให้ชาวอาข่ามีรายได้เพิ่มขึ้น โดยในช่วงเทศกาลสำคัญจะจัดให้มีการแสดงของชาวอาข่าที่ลานแดข่อง มีตลาดอาข่า ‘Akha Maket’ มีสินค้าปลอดสารเคมี ผักสด ผลไม้ อาหารพื้นบ้าน ฯลฯ ให้ผู้ที่สนใจเข้ามา ‘ชม ชิม และช้อป’
“ผมเชื่อว่าการมีความรู้ มีภูมิปัญญาจะทำให้ชีวิตมีความมั่นคง สุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรคภัย เพราะแต่เดิมชาวอาข่าจะหาอยู่หากินกับธรรมชาติ ปลูกข้าวไร่ ไม่ใช้สารเคมี ในไร่ข้าวจะปลูกพืชผักต่างๆ รวมแล้ว 22 ชนิด มีปลา มีไก่ที่เราเลี้ยงเอง เหมือนกับมีตู้เย็นอยู่รอบๆ บ้าน เป็นเศรษฐกิจแบบพึ่งตัวเอง แต่เดี๋ยวนี้สังคมเปลี่ยนไป มีรถยนต์ขายกับข้าวเข้ามาถึงหมู่บ้าน ทำให้สะดวก แต่ก็ทำให้คนเป็นโรคกันมากขึ้น มีรายจ่ายเพิ่มขึ้น ผมเก็บข้อมูลพบว่าเดี๋ยวนี้คนอาข่ามีโรคอุบัติใหม่มากขึ้น เช่น โรคความดัน เบาหวาน มะเร็ง ซึ่งเมื่อก่อนคนอาข่าไม่เคยเป็นและไม่รู้จักโรคพวกนี้ มหาวิทยาลัยอาข่าจึงพยายามนำภูมิปัญญาดั้งเดิมของบรรพบุรุษกลับคืนมา มาสอนให้คนอาข่าสร้างแหล่งอาหารที่มั่นคงและปลอดภัย กินอาหารจากธรรมชาติ เป็นการป้องกันก่อนจะเป็นโรค และช่วยกันรักษา ดิน น้ำ ป่า รักษาธรรมชาติให้สมดุลเหมือนกับที่บรรพบุรุษของเราเคยทำมาก่อน” อาทู่กล่าวทิ้งท้าย