สภาองค์กรชุมชนตำบลคืออะไร ตั้งขึ้นเพื่ออะไร
ตอบ : สภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นเวทีพูดคุย ต้องการให้ทุกคนในชุมชนมาร่วมกันพัฒนาชุมชน หรือหากมีปัญหาจะมีวิธีการแก้ไขได้อย่างไร เพราะสภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นพื้นที่กลางในการรับรู้ปัญหาความต้องการของประชาชน จากนั้นก็ทำออกมาเป็นแผนพัฒนาตำบล โดยอาศัยความรู้ภูมิปัญญาที่มีอยู่ ตลอดจนการมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของสังคมและชุมชนด้วยตนเอง
มีวิธีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลได้อย่างไร
ตอบ : กฎหมายกำหนดให้มี “สภาองค์กรชุมชนตำบล” ในตำบลเพียงแห่งเดียว มีขั้นตอนจัดตั้งดังนี้
- มี“ตัวแทน”เพื่อเป็นตัวแทนกลุ่มทุกกลุ่มในหมู่บ้าน ซึ่งมีการพูดคุยทำความเข้าใจ เจตนารมณ์ของสภาองค์กรชุมชนตำบล แล้วให้รับรองกันเองว่าในหมู่บ้านมีกลุ่มอะไรบ้างที่มีคุณสมบัติตรงตามกำหนด
- จากนั้นให้กลุ่มที่ผ่านการรับรองไปจดแจ้งจัดตั้งกลุ่มองค์กรชุมชนกับผู้ใหญ่บ้าน
- ส่วนกลุ่มที่มีอาณาบริเวณมากกว่าหนึ่งหมู่บ้าน/อาจจะเป็นเครือข่ายก็ได้ที่กฎหมายเรียกว่า “ชุมชนอื่น” ซึ่งจะต้องร่วมกันกำหนดว่าในตำบลมีกลุ่มอะไรบ้างที่เป็นชุมชนอื่น หากตกลงได้แล้ว ก็ให้ไปจดแจ้งกับกำนัน ถ้าตำบลใดไม่มีกำนันก็ให้จดแจ้งกับ อบต.
- จากนั้นก็ให้ทุกกลุ่มในหมู่บ้านที่จดแจ้งแล้วมาหารือกัน เพื่อคัดเลือกตัวแทน หมู่บ้านละ 4 คน ส่วนชุมชนอื่นคัดเลือกตัวแทนกลุ่มละ 2 คน
- ให้ผู้แทนที่ถูกคัดเลือกมาประชุมหารือกัน โดยเสียงร้อยละ 60 ลงมติให้จัดตั้งได้ ก็ให้ไปจดแจ้งจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลกับ อบต. / ทต. หรือเขต
- จากนั้นก็ประชุมเพื่อคัดเลือกสมาชิกผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีจำนวนไม่เกินหนึ่งในห้าของสมาชิกที่มาจากตัวแทนชุมชน
- เสร็จสิ้นการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลและมีสมาชิกสภาองค์กรชุมชนตำบล ดำเนินงานได้
ถ้าไปจดแจ้งแล้ว กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไม่รับการจดแจ้งจะทำอย่างไร
ตอบ : แท้จริงแล้ว ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. เทศบาล ก็เป็นหน่วยงานในท้องถิ่น จึงต้องร่วมกันทำความเข้าใจและร่วมกันทำงานตั้งแต่เริ่มแรก ซึ่งเชื่อว่าจะเข้าใจเจตนารมณ์ของกฎหมาย เข้าใจความต้องการของประชาชน และต้องการทำงานเพื่อให้เกิดการพัฒนาชุมชนในทางที่ดีขึ้น
ในแต่ละตำบลถ้ามีบางหมู่บ้านไม่มีกลุ่มองค์กรชุมชน หรือมีจำนวนกลุ่มน้อย ตำบลนั้นจะตั้งสภาฯ ได้หรือไม่?
ตอบ : ได้ …. เช่น ตำบลหนึ่ง มี 10 หมู่บ้าน ตามหลักเกณฑ์แล้วจะส่งตัวแทนได้ 40 คน แต่มีอยู่ 2 หมู่บ้าน ไม่มีกลุ่มองค์กรชุมชน ก็จะส่งตัวแทนได้เพียง 8 หมู่บ้านเท่ากับ 32 คน จึงเป็นหน้าที่ของ 8 หมู่บ้าน หรือของสภาฯที่จะช่วยกันส่งเสริมให้เกิดกลุ่มองค์กรใน 2 หมู่บ้านที่เหลือนั้น และเมื่อมีความพร้อมแล้ว สามารถส่งตัวแทนในภายหลังส่วนหมู่บ้านที่มีกลุ่มองค์กรน้อย เช่น มีเพียงกลุ่มสองกลุ่ม ก็ให้ขึ้นอยู่กับสมาชิกจะหารือกันว่าจะเป็นอย่างไร
องค์กรท้องถิ่น 3 หน่วย คือ อบต. สภาองค์กรชุมชน และคณะกรรมการหมู่บ้าน จะมีแนวทางการทำงานอย่างไร ถึงจะราบรื่น
ตอบ : มีจุดหมายเดียวกันคือ การทำให้ท้องถิ่นชุมชนเกิดความเข้มแข็ง และประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีชเช่น อบต. มีหน้าที่วางแผนพัฒนาตำบลและต้องปฏิบัติตามแผนนั้น ซึ่งในการวางแผน อบต.ต้องรับฟังความเห็นของชาวบ้าน ดังนั้น สภาองค์กรชุมชนตำบลซึ่งเป็นองค์กรของทุกกลุ่มในตำบล ได้มีการรวบรวมความต้องการและประมวลเป็นแผนของภาคประชาชน และช่วยหนุนเสริมทำให้แผนของ อบต. มีความสมบูรณ์และตรงกับความต้องการของชาวบ้าน ส่วนคณะกรรมการหมู่บ้าน โดยกรรมการบางส่วนเป็นตัวแทนภาคประชาชน มีหน้าที่วางแผนจากในระดับหมู่บ้าน/ตำบลก่อนที่จะส่งไปยังจังหวัด ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่ได้วางแผนร่วมกัน ทำให้ทั้งแผนของ อบต. และแผนของจังหวัด มาจากแผน/ความต้องการของชาวบ้านอย่างแท้จริง
ในจังหวัดที่ยังตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลไม่ครบทุกตำบล จะจัดให้มีการประชุมระดับจังหวัดของสภาองค์กรชุมชนตำบลได้หรือไม่
ตอบ : ได้…กฎหมายไมได้บังคับว่าจะต้องตั้งให้ครบทุกตำบลจึงจะให้มีการประชุมในระดับจังหวัดได้
แต่ในทางปฏิบัติแล้วควรจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบล ให้ได้ครบทุกพื้นที่
ทำไมกฎหมายสภาองค์กรชุมชนตำบล จึงไม่เปิดโอกาสให้ ส.อบต. เข้ามาเป็นสมาชิกสภาฯ
ตอบ : กฎหมายสภาองค์กรชุมชนตำบลไม่ได้ปิดโอกาสให้ ส.อบต. เข้ามาช่วยงานสภาองค์กรชุมชนตำบล ถึงแม้จะเป็นสมาชิกสภาฯไม่ได้ แต่ก็สามารถช่วยเหลือในลักษณะอื่นได้ เช่น เป็นที่ปรึกษา เป็นต้น ดังนั้น ส.อบต. ก็ยังสามารถเข้าร่วมประชุมให้ความเห็น รวมทั้งช่วยเหลืองานอื่นๆ
ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่กฎหมายให้เป็นผู้รับจดแจ้ง จะต้องเตรียมตัวอย่างไร
ตอบ : ประการที่ 1 ควรทำความเข้าใจถึงเจตนารมณ์อันแท้จริงของการมีกฎหมายสภาองค์กรชุมชนตำบล
ว่าเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เกิดการรวมกลุ่มวางแผนงานพัฒนาท้องถิ่น แล้วนำความต้องการหรือแผนงานนั้นเสนอให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบในท้องถิ่น
ประการที่ 2 การเข้าร่วมเวทีพูดคุยในหมู่บ้านหรือตำบล เพื่อทำความเข้าใจเจตนารมณ์และรับรองความเป็นกลุ่มหรือชุมชน เพื่อได้รับทราบความเป็นมาตลอดจนกระบวนการจดแจ้งจัดตั้ง
ประการที่ 3 การรวบรวมเอกสารจดแจ้งทั้งหมด (จส. และ จช.) ส่งไปยัง พอช. ซึ่งหากปฏิบัติตามแนวทางนี้ก็จะทำให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และท้องถิ่นทำงานร่วมกับชาวบ้านได้อย่างเข้าใจกัน เพราะการจดแจ้งเป็นภารกิจเริ่มต้นเท่านั้น แต่การทำงานพัฒนาท้องถิ่นร่วมกันนั้นยังจะต้องดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
จุดสำคัญที่สุดของสภาองค์กรชุมชนตำบล คืออะไร
ตอบ : หัวใจของกฎหมายนี้ ไม่ได้อยู่ที่การจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบล แต่อยู่ที่จะใช้สภาองค์กรชุมชนตำบล เป็นเครื่องมือในการทำงานร่วมกันของคนในท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไร โดยชุมชนจะต้องแสดงจุดยืนและใช้สภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นเวทีพูดคุยวางแผนการพัฒนา และการแก้ไขปัญหาผ่านกระบวนการรับฟังจากพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมและเข้าถึงเจตนารมณ์ร่วมกัน
กรณีใดบ้างที่เป็นเหตุทำให้สภาองค์กรชุมชนตำบลต้องมีการยุบเลิก
ตอบ : มี 2 กรณี คือ 1) สภาองค์กรชุมชนตำบลที่มีการจดแจ้งจัดตั้งซ้ำซ้อนกับพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ 2) สภาองค์กรชุมชนตำบลในพื้นที่ไม่สามารถคงสภาพความเป็นพื้นที่ของชุมชนอยู่ได้