ความเป็นมา
ปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินเป็นปัญหาพื้นฐานของชุมชนทั้งในเมืองและชนบท จากการสำรวจข้อมูลภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2556 พบว่าประเทศไทยมีจำนวนครัวเรือนประมาณ 20.167 ล้านครัวเรือน เป็นครัวเรือนที่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยประมาณ 15.510 ล้านครัวเรือน ส่วนที่เหลือยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยจำนวนประมาณ 4.657 ล้านครัวเรือน และในกลุ่มนี้เป็นผู้มีรายได้น้อยที่ต้องการความช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัยประมาณ 2.726 ล้านครัวเรือน โดยในพื้นที่ชนบทมีประชาชนประสบปัญหาความเดือดร้อนที่อยู่อาศัยและที่ดิน ทั้งบ้านที่ก่อสร้างมานานแล้วมีสภาพทรุดโทรม ก่อสร้างด้วยวัสดุที่ไม่มั่นคง ไม่ได้ปรับปรุงซ่อมแซม และครอบครัวขยายที่มีความจำเป็นต้องก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ แต่ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากมีรายได้ไม่เพียงพอ
การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในรูปแบบการซ่อมแซม ปรับปรุง หรือสร้างบ้านสำหรับครัวเรือนที่ยากจน ซึ่งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ได้ดำเนินการในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2553–2556 โดยชุมชนท้องถิ่นเป็นแกนหลัก ได้รับการสนับสนุนแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในพื้นที่ 295 ตำบล 1,420 หมู่บ้าน ผู้รับประโยชน์ 48,201 ครัวเรือน โดยเป็นการสร้างบ้านใหม่ 8,895 หลัง ซ่อมแซม/ต่อเติม 39,306 หลัง
จากการดำเนินงาน พบว่าการสนับสนุนให้ชุมชนเป็นแกนหลักในการสร้างหรือซ่อมแซมที่อยู่อาศัยของ ผู้เดือดร้อนในพื้นที่ ทำให้ชุมชนต่างๆ มีความตื่นตัวในการร่วมกันดำเนินการในทุกขั้นตอนของการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย ตั้งแต่การสำรวจ กลั่นกรองข้อมูลผู้เดือดร้อน การคัดเลือก การรวมกลุ่มผู้เดือดร้อน จัดซื้อวัสดุและดำเนินการก่อสร้างร่วมกัน ซึ่งทำให้สามารถดำเนินการได้รวดเร็ว ภายใต้งบประมาณที่ได้รับการสนับสนุน การสมทบ/ร่วมแรงก่อสร้างของผู้เดือดร้อนและคนในชุมชน ทำให้เกิดการคืนทุนสู่กองทุนของชาวชุมชนเอง เพื่อเป็นทุนสำหรับผู้เดือดร้อนลำดับต่อมาที่อาจยังไม่ได้รับการสนับสนุนในชุดแรก หรือกองทุนสวัสดิการชุมชนเพื่อช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกันของชุมชนต่อไป รวมทั้งนำไปสู่การเชื่อมต่อกับฐานงานพัฒนาด้านต่างๆ ของชุมชน
รัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมในสังคม โดยการสร้างโอกาสการเข้าถึงสวัสดิการสังคมและที่อยู่อาศัย ได้กำหนดการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยให้มีความมั่นคงในการอยู่อาศัยเป็นนโยบายเร่งด่วน และสั่งการให้แก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและพัฒนาคุณภาพชีวิต ผู้มีรายได้น้อยทั้งประเทศอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ในคราวประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2558 เรื่องการขับเคลื่อนด้านที่อยู่อาศัย โดยมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย โดยบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579)
ดังนั้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยเป็นไปตามแนวทางและข้อสั่งการ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) จึงได้จัดทำโครงการบ้านพอเพียงเพื่อรองรับนโยบายรัฐบาล ซึ่งอยู่ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) เป้าหมาย 5,300 ตำบล 352,000 ครัวเรือน ซึ่งในปี 2560-2563 สามารถดำเนินการได้จำนวน 6,364 โครงการ 77 จังหวัด 3,240 ตำบล 62,795 ครัวเรือน จากเป้าหมาย 57,776 ครัวเรือน ซึ่งในปี 2564 มีเป้าหมายดำเนินงาน 15,000 ครัวเรือน ทั้งนี้ เพื่อช่วยลดปัญหาความเดือดร้อน และพัฒนาคุณภาพการอยู่อาศัยของครัวเรือนยากจน ผู้มีรายได้น้อยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมทั้งเป็นพื้นฐานสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคม ที่จะให้ชุมชนท้องถิ่นเป็นหลักในการจัดการตนเองต่อไป
วัตถุประสงค์
- เพื่อให้ครัวเรือนยากจนที่มีปัญหาความเดือดร้อนด้านที่ดินและที่อยู่อาศัยในชุมชนได้มีที่
อยู่อาศัยดีขึ้น มีความมั่นคง โดยชุมชนท้องถิ่นเป็นแกนหลักในการดำเนินการ
- เพื่อสนับสนุนให้ชุมชนได้ดูแลและช่วยเหลือผู้อยู่อาศัยที่เป็นผู้ยากจน ในการดำเนินการ
ซ่อมแซม ปรับปรุง ต่อเติมบ้าน หรือการสร้างใหม่แทนบ้านเดิมที่มีสภาพทรุดโทรม ที่อาจเป็นภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้อยู่อาศัยได้
- เพื่อพัฒนาศักยภาพของชุมชนให้เข้มแข็ง สามารถวางแผนจัดการที่ดินและที่อยู่อาศัย
ร่วมกันในระดับพื้นที่กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสามารถเชื่อมโยงกับงานพัฒนาด้านต่างๆ ในตำบล
กลุ่มเป้าหมาย
ครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนด้านที่ดินที่อยู่อาศัย ทั้งบ้านที่ก่อสร้างมานานแล้ว มีสภาพชำรุดทรุดโทรม ก่อสร้างด้วยวัสดุที่ไม่มั่นคง ไม่ได้ปรับปรุงซ่อมแซม และครอบครัวขยายที่มีความจำเป็น ที่ต้องก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ แต่ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากมีรายได้ไม่เพียงพอที่จะนำมาใช้ในการต่อเติมซ่อมแซม ปรับปรุงต่อเติมบ้าน หรือการสร้างใหม่แทนบ้านเดิมที่มีสภาพทรุดโทรม ซึ่งอาจเป็นภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้อยู่อาศัย รวมทั้งพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติและที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหาย โดยในปี 2564 มีเป้าหมายดำเนินการรวม 15,000 ครัวเรือน
หลักการสำคัญในการดำเนินงาน
- การสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อนและที่ดินครอบคลุมทั้งตำบลและจังหวัด โดยบูรณาการการ
ทำงานร่วมกับท้องที่ ท้องถิ่น ภาคี ในการจัดทำแผนงาน ข้อมูล กลไก และงบประมาณดำเนินการ
- กำหนดเป้าหมายการทำงานสร้างการเปลี่ยนแปลงระดับตำบล โดยจัดทำเป็นแผนงาน
ระยะยาว 3 ปี และ 5 ปี ภายใต้หลักคิดออกแบบเพื่อคนส่วนรวมและคนส่วนมาก โดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจผู้เดือดร้อนทั้งตำบล และให้คนทั้งตำบลเป็นเจ้าของในการแก้ไขปัญหา พัฒนาสู่ความยั่งยืนด้วยการสร้างทุนของชุมชน ตำบล/กองทุนหมุนเวียน
- ใช้งบประมาณโครงการบ้านพอเพียงเป็นเครื่องมือในการประสานความร่วมมือจากทุก
ภาคส่วน เชื่อมโยงขบวนการอย่างกว้างขวาง ทั้งผู้เดือดร้อน ท้องที่ ท้องถิ่น หน่วยงาน กลุ่มองค์กร ภาคเอกชน มาร่วมหนุนเสริม (เงินน้อย ทำให้เป็นเงินมาก)
- กระจายการทำงานให้เต็มพื้นที่ โดยใช้โครงการเป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงทุกขบวน
องค์กรชุมชน ใช้ความรู้ความสามารถจากทุกประเด็นงาน บูรณาการทำงานและบริหารร่วมกัน เพื่อสร้างความรู้ใหม่ ทำให้ขบวนองค์กรชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง
- บูรณาการแผนงานพัฒนาพื้นที่ด้านที่อยู่อาศัย ด้านคุณภาพชีวิตและด้านอื่นๆ ทุกมิติ โดยให้มีแผนชุมชนบรรจุในแผนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แผนยุทธศาสตร์จังหวัด/กลุ่มจังหวัด ผู้แทนชุมชนด้านที่อยู่อาศัยเข้าไปมีบทบาทในการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในระดับจังหวัด
เกณฑ์การพิจารณา
- เป็นพื้นที่ตำบลที่มีการเชื่อมโยงเครือข่ายการพัฒนาหลายด้าน
- มีการสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อนทั้งตำบล จากการมีส่วนร่วมของคนในตำบล
- มีแผนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของคนทั้งตำบล
- มีการประชาคม/มติรับรองร่วมระดับตำบล/มีกลไกร่วมระดับตำบล
- มีความร่วมมือในการทำงานร่วมกับท้องถิ่น ท้องที่
- พิจารณาความซ้ำซ้อนของการได้รับการสนับสนุนงบประมาณ
- ใช้หลักการกระจายและทั่วถึง
กลไกการพิจารณาโครงการ
ขั้นตอน/กระบวนการระดับตำบล