บ้านสามสวน ตั้งอยู่บริเวณลุ่มน้ำพรม เป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ ก่อนที่จะมีคนอพยพมาอาศัยอยู่สันนิษฐานว่าเคยเป็นที่อยู่ของขอมโบราณ เนื่องจากมีโบราณสถานที่เก่าแก่หนึ่งแห่งตั้งอยู่ คือ วัดพระธาตุเจดีย์ ในปัจจุบัน ประวัติบ้านสามสวนจึงยาวนานมาก มีผู้เฒ่าสันนิษฐานว่าน่าจะมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ( พ่อใหญ่หล่อ ผลทวี เล่าให้ฟัง) ระยะต่อมามีข้าหลวงและคนพื้นเมืองจากจังหวัดชัยภูมิ (ครอบครัวของหลวงราษฎร์) อพยพหาถิ่นฐานที่อยู่ใหม่ มาพบที่ลุ่มน้ำพรมจึงได้พักและตั้งบ้านเรือนทำมาหากิน ตอนแรกตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณป่าช้าสาธารณประโยชน์ บ้านสามสวน ให้ชื่อว่า “บ้านโพนเพ็ก” เนื่องจากมีต้นเพ็กอยู่บริเวณนั้น ต่อมาเคลื่อนย้ายผู้คนลงมาทางลุ่มน้ำพรม จึงตั้งถิ่นฐานที่อยู่ใหม่และเปลี่ยนชื่อบ้านเป็น “บ้านโพธิ์งาม” เนื่องจากมีต้นโพธิ์ที่สวยงาม และเด่นเป็นสง่าอยู่บริเวณวัดศรีสะอาด และศาลแม่ย่าหลวงในปัจจุบัน
หลังจากนั้นมีผู้คนอพยพมาเพิ่มเติมอีกจากบ้านมะเกลือเก่า อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา และจากเมืองสองคอน จังหวัดกาฬสินธุ์ ตั้งบ้านเรือนเป็น 3 กลุ่มด้วยกันตามบรรพบุรุษที่อพยพมาทำไร่ทำนา ประมาณสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ทรงตราพระราชบัญญัติชื่อ นามสกุล ให้เป็นสากลทั่วประเทศ จึงได้นามสกุลตามที่มา อาทิ ราษฎรที่มาจากสูงเนินมักจะมีนามสกุลที่ลงท้ายด้วยคำว่า สูงเนิน เช่น คชสูงเนิน, เยาว์สูงเนิน หรือขึ้นต้นด้วยคำว่า ภิญโญ เช่น ภิญโญทรัพย์, ภิญโญพันธ์ เป็นต้น เมื่อมีผู้คนเพิ่มมากขึ้นชื่อบ้านเดิมว่า “สามส่วน” ก็เปลี่ยนเป็น “สามสวน”
จาก การสำรวจข้อมูลในปัจจุบันพบว่าในชุมชนมีเศษผ้าที่เหลือจากการทำสิ้นค้า เช่น กางเกง เสื้อ ในบ้านมากมาย จึงสนใจที่จะศึกษาเรื่องการทำพรมเช็ดเท้ามาใช้ในชีวิตประจำวัน โดยการผลิตพรมเช็ดเท้า ที่สวยงาม และมาใช้ประโยชน์ได้และประหยัดค่าใช้จ่าย โดยจุดประสงค์ เพื่อศึกษาการผลิตพรมเช็ดเท้า อีกทั้งยังเป็นการหาข้อควรปรับปรุง ส่งเสริม สนับสนุน ให้คุณภาพดีขึ้น และสามารถ จำหน่ายเป็นรายได้เสริม
อย่างที่กล่าวมาข้างต้นว่าคนที่นี่เดิมมีอาชีพเป็นช่างตัดเย็บเสื้อผ้า แต่พออายุมากขึ้น ไม่สามารถถ่ายทอดความรู้การตัดเย็บเสื้อผ้าสตรีให้แก่คนรุ่นหลัง หรือคนอื่นทั่วๆไป การตัดเย็บไม่สามารถเพิ่มปริมาณงานให้มากขึ้นได้ เนื่องจากไม่มีคนสนใจด้านตัดเย็บเสื้อผ้า
ดังนั้นกลุ่มอาชีพตำบลสามสวน ได้เริ่มก่อตั้งกลุ่มขึ้นมาเองโดยสมาชิกในการก่อตั้งมีทั้งหมด 15 คน ปัจจุบันเพิ่มเป็น 40 คน ได้พูดคุยกันเพื่อหาแนวทางการสร้างรายได้เสริมจากชุมชน จึงมองหาความถนัดของคนในชุมชนที่เมื่อก่อนได้ออกไปทำงานยังต่างถิ่น ทั้งเรื่องการเย็บผ้าในโรงงาน หลายคนจึงมีทักษะเรื่องผ้ากันมาก จึงได้รวมตัวกัน ตั้งเป็นกลุ่มทำผ้าเช็ดเท้าขึ้น
โดยเริ่มแรกเราได้รวมเงินลงทุนได้จากการลงหุ้นกันซื้ออุปกรณ์ ต่อมาทางสำนักงานพัฒนาชุมชน และปัจจุบัน อบต. ได้สนับสนุนงบประมาณกลุ่มอาชีพตำบลสามสวน จัดฝึกอบรมให้กับผู้ที่สนใจ และได้มีการส่งเสริมให้มีการแปรรูปเศษผ้าที่มีคุณภาพสวยงาม อาทิผ้าห่มนวม ปอกหมอน พรมเช็ดเท้า และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น และได้ OTOP 2 ดาว ซึ่งเป็นการส่งครั้งแรกก็ได้รับรางวัล 2 ดาว
ปัจจุบันมีการนำวัสดุเหลือใช้มาประดิษฐ์เป็นสิ่งของสำหรับใช้สอยในชีวิตประจำวันมากมาย เช่น พรมเช็ดเท้าจากเศษผ้าของใช้ที่ทุกๆ ครัวเรือนจะต้องมี ทุกวันนี้พรมเช็ดเท้ามีลวดลายและรูปแบบต่างๆ มากมายให้เราเลือกใช้ แถมวิธีทำก็ไม่ได้ยากอย่างที่คิด อีกทั้งยังสามารถนำไปประกอบเป็นอาชีพอิสระได้อีกด้วย
ที่นี้เรื่องของกิจกรรมการผลิตพรมเช็ดเท้า พัฒนามาเป็นวิสาหกิจชุนศูนย์ส่งเสริมและผลิตพรมเช็ดเท้าชุมชนตำบลสามสวน เป็นการพัฒนาเพิ่มมูลค่าของผลผลิตผ้าเศษที่เหลือใช้ในรูปแบบของการส่งเสริมการผลิตและจำหน่ายเป็นพรมเช็ดเท้า ตามนโยบายที่มุ่งเน้นให้ชุมชนมีรายได้เสริมจากชุมชน เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น เป็นการสร้างความเข้มแข็งและสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของชุมชนให้ดีขึ้นที่ผ่านมา มีสมาชิกเข้าร่วมโครงการ ปัจจุบัน 50 คน ผลิตพรมเช็ดเท้าได้กว่า 200 ผืนต่อวัน จำหน่ายได้เฉลี่ย 2,000 บาท ส่งผลให้สมาชิกมีรายได้กว่า 4,000 บาท ทำให้ปีนี้มีชาวบ้านสมัครเข้าร่วมกลุ่มกว่า 20 คน
การประกอบอาชีพอิสระ ที่สามารถทำอยู่ที่บ้านได้ และมีเวลาดูแลบ้าน ดูแลครอบครัว การทำพรมเช็ดเท้าขายนับว่าเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่น่าสนใจ ลงทุนน้อย ทำง่าย สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ อีกต่างหาก
ในช่วงต้นๆ การเย็บพรมเช็ดเท้า ไม่ได้เน้นความละเอียด รูปแบบ ลวดลาย จึงคิดพัฒนาพรมเช็ดเท้าจากเศษผ้าแบบพับจีบ ให้มีลวดลายสวยงาม มีหลายรูปแบบ และหลายขนาด จนปัจจุบัน ความละเอียดของการเย็บ สีสัน และขนาดที่ใหญ่ขึ้น สามารถนำไปปูโต๊ะ ปูหน้าโต๊ะหมู่บูชา หรือใช้ประดับบ้านเพื่อความสวยงาม จนมีลูกค้าสั่งซื้อจำนวนมาก จึงมีความคิดในการรวมกลุ่มกันผลิต เพื่อความรวดเร็ว เพราะกลุ่มสามารถมอบงานให้สมาชิกตามลวดลายที่ถนัด ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์คุณภาพดีกว่าทุกคนทำทุกลวดลาย และรูปแบบที่ลูกค้าสั่ง การขยายความรู้ เพิ่มทักษะให้สมาชิก และการสร้างคนที่ว่างงาน มีรายได้น้อยให้เป็นกำลังการผลิตของชุมชน เพิ่มรายได้แก่ครัวเรือนสมาชิก
สำหรับการเลือกเศษผ้า ต้องเป็นผ้าเนื้อไม่แข็งหนา หรือบางเกินไป เพราะผ้าเนื้อบาง ลื่นเย็บได้ รูปแบบที่ไม่สวย และควรเป็นผ้าเนื้อคอตตอน ผสมโทเร ที่มีความเป็นกลาง เพราะเย็บง่าน พับจีบดอกฟู สวยและซับน้ำได้ดีคัดแยกสีผ้า ตัดผ้าเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมเท่าๆกัน แล้วพับจีบใช้เข็มร้อยมาลัยกับเส้นด้ายร้อยไว้เป็นสายๆ โดยแยกสีออกจากกัน แล้วตัดพื้นพรม หรือฐานพรม ทำจากผ้าเนื้อหนา เช่นผ้ายีนส์ , ผ้าเวสป้อยด์ , หรือผ้าเคมีแข็ง ออกแบบการเย็บรูปแบบต่างๆบนฐานพรม เช่น รูปดอกไม้ รูปกังหัน รูปดาว รูปหน้าสัตว์ฯลฯ
อย่างไรก็ตามการลงมือเย็บตามแบบ โดยใช้เทคนิคการสลับสีแบบกลมกลืน หรือสลับสีตรงข้ามตามที่ลูกค้าต้องการ นำผลผลิตที่ได้ออกสู่ตลาดรับฟังความต้องการของลูกค้า มีการพัฒนาปรับปรับรูปแบบ สีสรร และประโยชน์ใช้สอยขึ้นเรื่อยๆ
เราไปดูกันว่าการทำผ้าเช็ดเท้าที่นี่เขามีวิธีขั้นตอนการดำเนินงานอย่างไรเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและสวยงาม ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 ในการผลิตใช้
- คัดผ้าเส้น/แยกสี/ตัดแต่งให้มีขนาดใกล้เคียงกันที่สุด
- ร้อยด้ายเข้ากับตัวกี่/จัดด้ายให้เข้าที่และให้เส้นด้ายตึงโดยขนาดความยาวของผ้าเส้นผ้าที่จะทอต้องเท่ากัน
- ทอเส้นผ้าซึ่งผู้ทอต้องมีความชำนาญหรือมีพื้นฐานในเรื่องของการทอโดยสามารถเลือกลวดลายสันแล้ว
- ตัดแต่งเส้นด้ายที่เป็นส่วนเกินให้เรียบร้อย
ขั้นตอนที่ 2 ในการผลิตใช้
- นำบล็อกมาวางแล้วนำไม้กระดานสำหรับขัดเชือกมาวางตรงหัวท้าย เชือกทั้งสองฝั่ง โดยเอาไม้ขัดตามขวางกับเชือกสลับเส้นล่างบนไปเรื่อยๆ จนครบทุกเส้น
- นำเศษผ้ามามัดกับเชือกจะเริ่มตรงกลางหรือริมก่อนก็ได้ โดยจับมัดสองเส้นคู่กันก่อน จากนั้นก็นำเศษผ้ามามัดแยกเส้น โดยจับเชือกที่มัดคู่แรกมาหนึ่งเส้น ที่ยังไม่ได้มัดมารวมกันทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนครบทุกอัน
- เมื่อมัดเสร็จหมดแล้ว ให้ตัดเชือกออกจากบล็อกทั้งหัวและท้ายจนครบทุกเส้น จากนั้นก็ดึงออกจากบล็อก มัดเชือกทั้งหัวและท้ายดึงมาให้แน่น ติดกับพรมเช็ดเท้าทั้งหมดจนครบทุกเส้นเมื่อมัดครบทุกเส้นแล้ว ให้ใช้กรรไกรตกแต่งเศษผ้าให้ดูสวยงาม เท่านี้ก็จะได้พรมเช็ดเท้าสองหน้าไว้ใช้แล้ว
ปัจจุบันสมาชิกในชุมชนสามสวน ได้ผลิตพรมเช็ดเท้าเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้เสริมให้กับคนชุมชนอย่างมาก และเป็นที่สนใจ สร้างความสามัคคีให้กับสมาชิกในชุมชน