แสงอาทิตย์ยามบ่ายคล้อย สะท้อนผิวน้ำระยิบระยับจับต้องดวงตาผู้คนที่อยู่ริมบ่อน้ำพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดเขื่อง บางคนบ้างนั่ง บ้างยืน บ้างเดินวนไปวนมา หาข้ออ้างมากลบเกลื่อนความสงสัยข้องใจของตนเองไปต่าง ๆ นา ๆ บ้างสนทนากันทั้งคิดอยู่ในใจและพูดออกอากาศ “มื้อนี่เพิ่นสิมาเฮ็ดหยัง” “เพิ่นเป็นครูบาอาจารย์มากจากส่วนกลางพุ่นเด้เนาะ” “เพิ่นบอกว่าเพิ่นสิออกมาถอดบทเรียนความรู้ทางวิชาการ การทำงานของเฮาพุ่นหนะ” เสียงบ่นพึมพำพร้อมความสงสัยปะปนความกังวลใจที่ส่งผ่านความรู้สึกมายังสีหน้าและแววตาของกลุ่มคนทั้งหมด และในที่สุดบุคคลทั้งสองกลุ่มก็ได้เผชิญหน้ากัน พร้อมกับรอยยิ้มทักทายแต่ยังแฝงไปด้วยความกังวลใจอยู่บ้างของคนกลุ่มแรก เมื่อคนแรกกล่าวขึ้นโดยไม่รังเลใจ ทำให้คนรับข้อมูลก็ตอบรับโดยไม่รังเลใจเช่นเดียวกัน เกิดการสนทนาประมาณสองถึงสามประโยค แล้วการสนทนาจบลงด้วยร้อยยิ้มและคำกล่าวเรียนเชิญต้อนรับทีมวิชาการถอดสรุปบทเรียนโครงการบ้านพอเพียงชนบทให้เข้าไปนั่งที่ศาลาริมน้ำ มีโต๊ะไม้ขัดมันและเก้าอี้วางเรียงรายอย่างเป็นระเบียบ หลังจากนั้นมีแต่รอยยิ้มและเสียงหัวเราะดังก้องกังวาลทั่วท้องนาและบ่อน้ำที่อยู่ด้านข้างโดยไม่ต้องเกรงใจกุ้ง หอย ปู ปลา กันเลยทีเดียว
ใช่แล้ว วันนั้น เป็นวันที่ท้องฟ้าแจ่มใส มีก้อนเมฆอยู่บ้างเป็นบางส่วนตามห้วงเวลา ทางพื้นที่ตำบลหนองปลิง อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม ได้นัดหมายเพื่อการถอดสรุปบทเรียนความรู้ ที่บริเวณศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตำบลหนองปลิง ถือได้ว่าใกล้ชิดกับธรรมชาติเป็นอย่างมาก เราออกเดินทางไปยังตำบลหนองปลิงไปทางทิศใต้ห่างจากจังหวัดมหาสารคามประมาณ 10 กิโลเมตร เมื่อถึงที่หมายแล้วก็เริ่มพูดคุยสนทนาอย่างเป็นกันเอง โดยเริ่มจากข้อมูลตำบลหนองปลิงเป็นส่วนแรกเพื่ออธิบายถึงบริบททั่วไป ทุกคนต่างเล่าให้ฟังพร้อมกันว่า ตำบลหนองปลิง ประกอบด้วยทั้งหมด 8 หมู่บ้าน มีจำนวนครัวเรือนประมาณ 1,300 ครัวเรือน สถานการณ์โดยภาพรวมเรื่องที่ดินที่อยู่อาศัยของประชากรจำแนกออกได้ดังนี้ คือ ปัญหาครัวเรือนไม่มีเอกสารสิทธิ์เพราะว่าอยู่ในเขตของ สปก. นอกจากนั้นบางครัวเรือนยังมีที่ดินอยู่ในที่สาธารณะ และปัญหาไม่มีที่ดินทำกิน สำหรับสถานการณ์ปัญหาด้านที่อยู่อาศัยนั้น โดยส่วนมากมีลักษณะที่อยู่อาศัยที่ทรุดโทรม บ้านเรือนไม่มีความมั่นคงถาวร ซึ่งเมื่อแยกรายหมู่บ้านจะพบว่า หมู่ที่ 6 ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีขนาดใหญ่ มีจำนวนผู้เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยมากกว่า 10 ครัวเรือน โดยทางสภาองค์กรชุมชนตำบลหนองปลิงได้เสนอรายชื่อครัวเรือนเข้าไปยังขบวนจังหวัดมหาสารคาม 144 ครัวเรือน ที่เข้าข่ายในการช่วยเหลือ
คณะทำงานแกนนำตำบลได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการทำงานของพื้นที่ว่า โดยก่อนหน้านี้ทางตำบลหนองปลิงได้ขับเคลื่อนงานผ่านโครงการจัดการปัญหาที่ดินทำกินที่เข้ามาสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อนในพื้นที่ตำบล ทำแผนที่ทุนและแผนที่ปัญหาในชุมชน ส่งผลทำให้เกิดการเชื่อมโยงการใช้ข้อมูลจากส่วนของโครงการจัดการที่ดินและได้จากการสำรวจในปัจจุบันมาเป็นฐานข้อมูลด้วย ซึ่งในระยะแรกนั้นการทำงานของพื้นที่จะผ่านกองทุนที่ดินตำบลหนองปลิง นอกจากนั้นต่อมายังได้รับการสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) พอช. ที่เข้ามาหนุนเสริมการแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัยของผู้เดือดร้อนในตำบลหนองปลิง มีการบูรณาการข้อมูลจำนวนผู้เดือดร้อนมาใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ
การส่งเสริมและสนับสนุนกลไกการขับเคลื่อนงานของการแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยนั้น เป็นที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าการขับเคลื่อนงานด้านที่อยู่อาศัยของตำบลหนองปลิงมีพื้นฐานมาจากกองทุนที่ตำบล ซึ่งเมื่อให้เล่าถึงกองทุนที่ดินแล้ว ทุกคนต่างให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง สิ่งนี้ทำให้เรารู้สึกว่าถ้าการทำงานมาคำว่า “หัวหอก” ที่แหลมคมและมีทิศทางที่แน่นอนก็จะสามารถแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัยของคนในตำบลได้อย่างตรงจุดมากที่สุด แต่ว่าการทำงานเรื่องนี้ไม่ได้หยุดอยู่ที่กองทุนที่ดินเพียงเท่านี้ ซึ่งก่อนหน้านี้เราได้ไปพูดคุยกับ พี่เดชอนันท์ แกนนำขบวนจังหวัดมหาสารคามที่ร้านกาแฟคุนยายแก้วตา เล่าให้พวกเราฟังว่า มีหน่วยงานที่เข้ามาช่วยกันทำงานขับเคลื่อนทั้งสภากาชาด ที่มีบทบาทในการเข้ามาช่วยเหลือวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมแซมสร้างบ้าน อาทิเช่นให้ อิฐ หิน ดิน ทราย และปูน ซึ่งให้การสนับสนุนทั้งหมดจำนวน 2 ครัวเรือน นอกจากนั้นยัง สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) เข้ามามีบทบาทในการให้งบประมาณสนับสนุนการสร้างบ้านให้แก่ผู้เดือดร้อนจำนวน 2 หลังคาเรือน และองค์การบริหารส่วนตำบลหนองปลิงให้การสนับสนุนบุคลากรเข้ามาร่วมกันทำงาน และนายก อบต. ปลัด อบต. ให้ความสำคัญกับโครงการอย่างยิ่ง รวมถึงองค์การบริหารส่วนจังหวัดด้วยที่เข้ามาร่วมเป็นกลไกตัวหนึ่งในการขับเคลื่อนโครงการบ้านพอเพียงชนบท
สิ่งที่เราเห็นว่าสำคัญมากอีกอย่างหนึ่งในพื้นที่ตำบลหนองปลิงคือ การร่วมมือกันระหว่างกองทุนที่ดินกับกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลหนองปลิง ผู้รับประโยชน์และแกนนำตำบลพูดเป็นเสียงเดียวกันในเวทีวันนั้นว่า เราทำงานร่วมกันอย่างเต็มที่ ให้การสนับสนุนสิ่งอำนวยความสะดวก ทั้งด้านข้อมูลและการทำงานแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย นอกจากนั้นแล้วยังให้การช่วยเหลือครัวเรือนผู้เดือดร้อนที่ต้องการกู้เงินเพื่อสมัครเป็นสมาชิกกองทุนที่ดินในกรณีที่ครัวเรือนผู้รับประโยชน์ไม่มีรายได้ สิ่งนี้ถือว่าเป็นทุนชุมชน (Asset) ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการบ้านพอเพียงชนบท เป็นจุดเริ่มต้นของการปลูกสัมพันธ์ในการให้และการรับประโยชน์ร่วมกัน ต่อมาคณะทำงานพูดพร้อมรอยยิ้มว่า มีรายได้ ยิ่งไปกว่านั้นสิ่งที่ขาดไม่ได้และเป็นทุนชุมชนอีกอย่างหนึ่งคือความร่วมมือของคนในชุมชน ญาติพี่น้อง ชาวบ้านในชุมชน เข้ามาช่วยเหลือด้านแรงงานในการก่อสร้างบ้านของผู้รับประโยชน์ ให้คำแนะนำการสมัครเป็นสมาชิกกองทุนที่ดิน
เมื่อเห็นภาพของภาคีเครือข่ายในการทำงานแล้วรวมถึงเห็นเจ้าภาพ “หัวหอก” ในการเป็นตัวขับเคลื่อนโครงการบ้านพอเพียงชนบทร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) พอช. และสภาองค์การชุมชนตำบล ทำให้เริ่มกระบวนการทำงานที่น่าชื่นชมยินดี เริ่มต้นจากสภาองค์กรชุมชนตำบลหนองปลิงเข้าไปรับนโยบายและแนวทางการดำเนินโครงการบ้านพอเพียงจากทีมขบวนอำเภอและทีมขบวนจังหวัด เพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกันในการทำงาน หลังจากนั้นได้ลงพื้นที่ทำประชาคมหมู่บ้านทั้งหมด 8 หมู่บ้าน เพื่อแจ้งรายละเอียดของโครงการ ต่อไปก็ได้ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อนทั้งหมดทุกหมู่บ้าน โดยทีมแกนนำตำบล ผู้นำชุมชน มีกระบวนการจับ GPS สำรวจกลุ่มเป้าหมาย จากนั้นนำข้อมูลมาประชาคมหมู่บ้านคัดเลือกผู้เดือดร้อน เมื่อได้ครัวเรือนผู้เดือดร้อนแล้วก็จะมีการซ่อมแซมบ้าน ช่วงนี้ก็จะมีหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาร่วมกันสนับสนุนทั้ง ผู้นำชุมชน อบต. สภาฯ ญาติพี่น้อง และตัวเองช่วยกันซ่อมสร้างบ้านจนเสร็จ เราสังเกตุเห็นได้ชัดเจนในการลงพื้นที่พูดคุยกับ ทั้งแกนนำตำบล และผู้รับประโยชน์ คือเรื่องการเปิดโอกาสให้ผู้เดือดร้อนเข้ามามีโอกาสในการับสิทธิ์ในการซ่อมแซมบ้าน เป็นสิ่งที่ทางพื้นที่ร่วมกันทำข้อตกลงกัน โดยเราเห็นหลักเกณฑ์การพิจารณาแล้วก็ทำให้รู้ได้เลยว่าผู้เดือดร้อนทุกคนสามารถเข้ามารับประโยชน์ในเรื่องนี้ได้ โดยมีหลักเกณฑ์ คือ… “เป็นครัวเรือนที่มีบ้านไม่มั่นคงถาวร มีความยากจน ได้รับความเดือดร้อนจริง และเข้าร่วมเป็นสมาชิกกองทุนที่ดินทำกิน (กรณีที่ไม่ได้เป็นสมาชิกแต่มีความเดือดร้อนทางแกนนำตำบลจะเปิดโอกาสให้สามารถสมัครเป็นสมาชิก ถ้าไม่มีจะเปิดให้กู้ยืมกองทุนสวัสดิการชุมชน เพื่อนำเงินนั้นมาสมัครและรับประโยชน์ให้เข้าตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ถ้าไม่ได้จริง ๆ ไม่เข้าข่ายตามเงื่อนไข ทางสภาองค์กรชุมชนจะส่งต่อไปยังหน่วยงานอื่นเพื่อไม่ให้เสียผลประโยชน์)”
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของพื้นที่ตำบลหนองปลิง สามารถต่อยอดในการทำงานต่อไปในครั้งหน้าและเกิดความยั่งยืนคือ การจัดสรรงบประมาณในการดำเนินโครงการบ้านพอเพียงชนบท การซ่อมสร้างบ้านจะใช้งบประมาณไม่เท่ากันในแต่ละหลังโดยหลังที่ใช้งบประมาณมากที่สุดคือ 19,000 บาท ส่วนครัวเรือนที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณน้อยที่สุดคือ 11, 430 บาท สำหรับงบประมาณที่เหลือจะนำไปเก็บเข้ากองกลาง คือการแบ่งปันเข้ากองทุนที่ดินของตำบลแล้วขยายผลเพื่อการซ่อมแซมบ้านไปสู่ครัวเรือนอื่นต่อไป และสิ่งที่ทีมงานเห็นและค้นพบในการทำงานคือ การมีส่วนร่วมของผู้ที่เดือดร้อน ในการสมบททุนเข้าสู่กองทุนที่ดินร้อยละ 40 ของจำนวนงบประมาณในการซ่อมแซมบ้าน (ทำให้เกิดคำถามในใจว่าจำนวนเงินร้อยละ 40 ของงบประมาณที่ได้ในการซ่อมสร้างบ้าน) แต่ก็ถึงบางอ้อเมื่อเราได้พูดคุยกับผู้รับประโยชน์ที่ประกอบอาชีพทำขนมปังขาย ในช่วงที่ลงพื้นที่ เขาเล่าให้ฟังว่า… “แต่ก่อนนนี้ทำขนมไม่ได้เลย ลมมาก็มีฝุ่น เพราะบ้านเราไม่มีหน้าต่างและประตู พอโครงการบ้านพอเพียงชนบทเข้ามาเราก็เป็นสมาชิกกองทุนที่ดินพอดีก็เลยได้รับการช่วยเหลือ หลังจากที่ซ่อมแซมบ้านแล้วก็ทำให้เราทำขนมปังได้ดีขึ้น มีคุณภาพ ไม่ต้องมีความกังวล เราก็ยินดีทยอยจ่ายคืน ไม่ได้จ่ายเข้ากองทุนที่ดินทั้งหมดครั้งเดียว ตามที่เรามีกำลัง” สิ่งนี้ช่วยคลายข้อสงสัยของเราเป็นปลิดทิ้ง เพราะว่าร้อยละ 40 ที่จ่ายคืนให้ได้จ่ายครั้งเดียวขึ้นอยู่กับกำลังของผู้เดือดร้อยเองที่จะสามารถจ่ายคืนได้อาจจะเป็นหกเดือนหรือหนึ่งปีก็ยังได้เลย
จากการเข้ามามีส่วนร่วมและสนับสนุนของตำบลหนองปลิงได้รับการจัดสรรงบประมาณช่วยเหลือครัวเรือนผู้เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยในปี พ.ศ. 2561 ได้รับการจัดสรรทั้งหมด 12 ครัวเรือน โดยจัดสรรให้หมู่ที่ 1 จำนวน 1 ครัวเรือน หมู่ที่ 3 จำนวน 3 ครัวเรือน หมู่ที่ 5 จำนวน 3 ครัวเรือน และหมู่ที่ 6 จำนวน 5 ครัวเรือน โดยมีกระบวนการดำเนินงานที่เน้นการสร้างการมีส่วนร่วมทั้งคนในชุมชน หน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงผู้ได้รับประโยชน์ด้วย ทางทีมถอดบทเรียได้ให้ทุกคนร่วมประเมินการทำงานในปีที่ผ่านมา ทำให้เห็นข้อมูลภาพรวมของผู้ร่วมสนทนากลุ่มประเมินคะแนนความพึงพอใจอยู่ที่ร้อยละ 80
ผลสำเร็จด้านคุณภาพของการดำเนินโครงการบ้านพอเพียงชนบท เรามองเห็นการบริหารจัดการการซ่อมสร้างที่อยู่อาศัยของผู้รับประโยชน์ ถึงแม้จะได้งบประมาณไม่เท่ากันเพราะครัวเรือนแต่ละครัวเรือนมีความเดือดร้อนไม่เท่ากัน หลังจากนั้นงบประมาณที่เหลือจะนำมาเก็บไว้ที่กองกลาง เพื่อทำการขยายผลไปให้ครัวเรือนอื่น ดังนั้นตามที่จริงแล้วตำบลหนองปลิงได้รับการจัดสรรงบประมาณมาทั้งหมด 10 ครัวเรือน ได้ขยายผลเพิ่มขึ้นให้เป็น 12 ครัวเรือน และได้มีเสียงจากผู้รับประโยชน์พูดถึงการดำเนินงาน ทางทีมก็เลยเก็บคำสำคัญมาเล่าให้ฟัง
ฉวีวรรณ วังหอม พูดว่า…”หนูอยู่หมู่ที่ 3 ที่บ้านอาศัยอยู่ด้วยกันทั้งหมด 3 คน อยู่บ้านไม้ชั้นเดียว เป็นบ้านเก่า ตัวบ้านและเสาบ้านเริ่มผุพังแล้ว เวลาที่ฝนตกก็เปียกไปหมดทั้งบ้าน ตอนนี้โครงการบ้านพอเพียงเข้ามาช่วยในการซ่อมฝาผนังบ้านได้เปลี่ยนเป็นไม้ฝาเฌอร่า เปลี่ยนหน้าต่างบานใหม่ เปลี่ยนเสาบ้านให้ใหม่ ตอนนี้รู้สึกดีใจ และมีความรู้สึกดี กินอิ่มนอนหลับสบาย”
ไพรวัลย์ สาแก้ว เล่าว่า…”เป็นคนหมู่ที่ 3 อาศัยอยู่บ้านด้วยกันทั้งหมด 6 คน ลักษณะบ้านเป็นบ้านชั้นเดียวแต่ยกพื้นสูง ปัญหาที่พบคือบ้านรั่ว สังกะสีเก่า เวลาฝนตกก็เปียกทั้งคนเปียกทั้งบ้าน ฝนหยุดตกแล้วค่อยนอนหลับ หน้าต่างก็หลุดด้วย ได้รับการช่วยในการเปลี่ยนหลังคาสังกะสีใหม่ เปลี่ยนหน้าต่างที่หลุด เปลี่ยนฝาผนังบ้านใหม่เป็นไม้ฝาเฌอร่า ตอนนี้ดีขึ้นเยอะกว่าเมื่อก่อน”
คำมาย ปะโม พูดให้ทีมถอดบทเรียนและวงสนทนาว่า… “ลักษณะเป็นบ้านยกพื้นสูงจากพื้นที่ดิน เวลาที่ลมพัดมามีฝุ่นเป็นจำนวนมากเข้ามาในบ้าน ส่วนบริเวณใต้ถุนบ้านที่เป็นพื้น ที่ปล่อยโล่งนั้น เวลาที่ฝนตกก็มีน้ำเข้ามาท่วมขัง เปียกทั้งหมดเลยทิศทางการทำงานร่วมกันของโครงการบ้านพอเพียงเข้ามาเทพื้นบ้านบริเวณที่น้ำท่วมขังใหม่ให้ ตอนนี้ก็ไม่ได้วิ่งหลบฝนแล้ว“
จากเสียงของผู้เดือดร้อนที่ได้รับผลประโยชน์ เป็นสิ่งที่จะสะท้อนภาพความสำเร็จในการดำเนินโครงการบ้านพอเพียงชนบทในช่วงที่ผ่านมาอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ทางตำบลหนองปลิงร่วมกันคิด ทิศทางการดำเนินงานต่อไปข้างหน้าก็จะใช้แนวทางเดิม แต่ทว่าสิ่งที่จะเพิ่มเติมคือโครงการบ้านพอเพียงชนบทได้เกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกัน ซึ่งควรมีการต่อยอดไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในตำบลต่อไป ยึดแนวคิดการซ่อมแซมบ้านไว้เป็นหลักเพื่อสร้างความมั่นคงของคนในตำบลต่อไป โดยขับเคลื่อนงานคู่กับ พอช. และกองทุนที่ดินที่เป็นแกนหลักในตำบลหนองปลิงนี้
สุดท้ายการ “ปลูกสัมพันธ์ บ้านแบ่งสัน ปันส่วนกองทุน” จากการดำเนินงานโครงการบ้านพอเพียงชนบทของตำบลหนองปลิงได้สะท้อนภาพการขยายผล และต่อยอดการทำงานเพื่อให้เกิดความยั่งยืนขึ้นในพื้นที่และกองทุนที่มีอยู่ต่อไป ก่อนที่ทางทีมเราจะกลับ ผู้ประสานตำบลได้บอกว่าดีใจมากที่ลงพื้นที่มาถอดบทเรียนความรู้ เพราะเป็นสิ่งที่ใฝ่ฝันว่าเราทำงานอย่างเต็มที่ สุดท้ายก็จะมีคนลงมาถอดบทเรียนเพื่อในไปเป็นตัวอย่างให้พื้นที่อื่นดำเนินงานต่อไป