บริบทพื้นที่และการเปลี่ยนแปลง
อุตรดิตถ์[1] เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคเหนือตอนล่าง อดีตเป็นประตูเชื่อมดินแดนล้านนาตะวันออก ตัวเมืองเดิมชื่อ บางโพท่าอิฐ ต่อมาได้รับการยกฐานะเป็นจังหวัดเมื่อ พ.ศ.2476 คำว่าอุตรดิตถ์ หมายถึงเมืองท่าแห่งทิศเหนือ เป็นเมืองตํานานลับแลและเมืองถิ่นกําเนิดของวีรบุรุษ “พระยาพิชัยดาบหัก” ทหารเอกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียง คือ ทิศเหนือ ติดกับจังหวัดแพร่และจังหวัดน่าน ทิศใต้ติดกับจังหวัดพิษณุโลก ทิศตะวันออก ติดกับจังหวัดพิษณุโลกและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (มีเขตชายแดนระยะยาวประมาณ 145 กิโลเมตร) และทิศตะวันตก ติดกับ จังหวัดสุโขทัย
ประชากรท้องถิ่นดั้งเดิมของจังหวัด คือชนพื้นถิ่นไทยสยามและไทยวน ผู้เป็นเจ้าของซากโครงกระดูกและเครื่องมือหินและสําริดสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ค้นพบในจังหวัด ต่อมาพื้นที่ตั้งเมืองอุตรดิตถ์ เป็นทางผ่านสําคัญมาตั้งแต่สมัยอารยธรรมดองซอน ทําให้มีการเคลื่อนย้ายผู้คนมาจากที่ต่างๆ มากขึ้น เรื่อยมาในสมัยทวารวดีและอาณาจักรขอมดังปรากฏหลักฐานเมืองโบราณที่เวียงเจ้าเงาะ จนมาในสมัยสมัยสุโขทัยได้มีเมืองเกิดขึ้นมากมาย เช่น เมืองฝาง เมืองทุ่งยั้ง เมืองตาชูชกและเมืองพิชัย ด้วยการเป็นเส้นทางการค้าทางน้ำ ทําให้ชาวเมืองอุตรดิตถ์ในสมัยโบราณมีที่มาจากหลายเผ่าพันธุ์ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวัฒนธรรมสืบเนื่องมาจนปัจจุบันคือไทยสยามจากอาณาจักรสุโขทัยที่อาศัยอยู่ในแถบอําเภอพิชัยและไทยวนจากอาณาจักรล้านนาที่อพยพจากเชียงแสนมาอาศัยอยู่ในแถบอําเภอลับแล ชนสองกลุ่มนี้ ตั้งถิ่นฐานขึ้นเป็นเมืองอย่างมั่นคงมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการกวาดต้อนผู้คนและการอพยพย้ายถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ล้านช้าง (ลาว) จากเมืองเวียงจันทน์และเมืองหลวงพระบาง ลงมาตั้งถิ่นฐานในเขตอําเภอต่างๆ ของจังหวัดมากขึ้น ได้แก่บริเวณอําเภอน้ำปาก อําเภอฟากท่าและอําเภอบ้านโคกในปัจจุบันและได้มีชาวจีนโพ้นทะเลอพยพย้ายถิ่นฐานมาตั้งหลักแหล่งทํามาค้าขายในแถบเมืองท่ามากเป็นลําดับ จึงทําให้เมืองอุตรดิตถ์ในปัจจุบันกลายเป็นเมืองที่มีกลุ่มชนมากถึง 3 วัฒนธรรมใหญ่อยู่ร่วมกัน
จัวหวัดอุตรดิตถ์มีพื้นที่ทั้งหมด 7,838 ตารางกิโลเมตร หรือ 4,899,120 ไร่ มีลักษณะภูมิประเทศ แบ่งได้เป็น 3 ลักษณะ คือ 1) ที่ราบลุ่มแม่นํ้าน่าน[2] บริเวณสองฝั่งของแม่น้ำน่านและลําน้ำสาขาที่ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำน่าน สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบลุ่ม อยู่ในเขตอําเภอตรอน พิชัยและบางส่วนของ อําเภอเมืองอุตรดิตถ์ ลับแลและอําเภอทองแสนขัน (ประมาณ 20% ของพื้นที่ทั้งหมด) 2) ที่ราบระหว่างหุบเขาและเชิงเขาบริเวณที่อยู่ต่อเนื่องจากบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำทางด่านเหนือและด่านตะวันออกของจังหวัด ประกอบด้วยที่ราบแคบระหว่างหุบเขาตามแนวคลองตรอน แม่น้ำปาด คลองแม่พร่อง ห้วยน้ำไคร่และลําธารสายต่างๆ สลับกับภูมิประเทศเป็นเขาอยู่ในเขตอําเภอเมืองอุตรดิตถ์ ลับแล น้ำปาด ฟากท่า ท่าปลาและอําเภอบ้านโคก (ประมาณ 20% ของพื้นที่ทั้งหมด) และ 3) เขตภูเขาและที่สูง อยู่ในบริเวณทางด้านเหนือและทางตะวันออกของจังหวัด โดยเฉพาะเขตอําเภอเมืองอุตรดิตถ์ อําเภอลับแล น้ำปาด ฟากท่า ท่าปลาและอําเภอบ้านโคก (ประมาณ 60% ของพื้นที่ทั้งหมด) มีลักษณะภูมิอากาศแบบร้อนชื้นสลับร้อนแห้งแล้งหรือฝนเมืองร้อนเฉพาะฤดูเพราะได้รับอิทธิพลจากกระแสลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงใต้ มีความชื้นและความร้อนสูงในฤดูร้อนอากาศจะร้อนจัด อุณหภูมิเฉล่ยี 35 องศาเซลเซียส อากาศเย็นสบายในฤดูหนาวและมีฝนตกชุกในฤดูฝน
การใช้ประโยชน์ที่ดิน มีพื้นที่การเกษตร 1,248,198 ไร่ (25.48 % ของพื้นที่ทั้งหมด) จำแนกเป็นพื้นที่ทํานา 680,842 ไร่ (54.55% ของพื้นที่การเกษตร) พื้นที่ทําพืชไร่ 314,762 ไร่ คิดเป็น (25.22% ของพื้นที่การเกษตร) พื้นที่ทําสวนไม้ผลและไม้ยืนต้น 153,599 ไร่ (12.31% ของพื้นที่การเกษตร) พื้นที่สวนผักและไม้ดอกไม้ประดับ 12,663 ไร่ (1% ของพื้นที่การเกษตร) พื้นที่การเกษตรอื่นๆ 86,332 ไร่(6.92% ของพื้นที่การเกษตร) มีเนื้อที่ใช้ประโยชน์นอกการเกษตร 887,6731 ไร่ (18.12% ของพื้นที่ทั้งหมด) และเป็นพื้นที่ป่าไม้ จำนวน 2,763,248 ไร่ (56.40% ของพื้นที่ทั้งหมด)
ด้านการปกครอง แบ่งพื้นที่เพื่อการบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็น 9 อําเภอ 67 ตําบล 613
หมู่บ้าน โดยมีอําเภอดังนี้ อําเภอเมืองอุตรดิตถ์ พิชัย ตรอน ลับแล ท่าปลา น้ำปาด ฟากท่า บ้านโคกและอําเภอทองแสนขัน แบ่งเขตการบริหารราชการ 3 ระดับ คือ
- ส่วนราชการบริหารส่วนกลาง ที่มีสํานักงานตั้งอยู่ในส่วนภูมิภาค จํานวน 60 หน่วยงาน
- ส่วนราชการบริหารส่วนภูมิภาค จํานวน 33 หน่วยงาน
- ส่วนราชการบริหารส่วนท้องถิ่น 80 แห่ง
จํานวนประชากรจังหวัดอุตรดิตถ์ (ปี 2560) ข้อมูลตามทะเบียนราษฎร์ มีจํานวนทั้งสิ้น
458,197 คน เป็นชาย 224,945 คน (49.09%) เป็นหญิง 233,252 คน (50.91%)[3]
ลักษณะทางเศรษฐกิจของจังหวัด ประกอบด้วยภาคเกษตรเป็นหลัก สัดส่วน 33%[4] รองลงมาคือ ภาคอุตสาหกรรม 15% ภาคการค้า 10% ภาคการศึกษา 9% ภาคการบริหารราชการ 8% ภาคการเงิน 6% และภาคบริการอื่นๆ 19%
การเปลี่ยนแปลงสำคัญสืบเนื่องจากการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ช่วง พ.ศ.2514 ที่ส่งผลให้มีการอพยพชุมชน มาอยู่ในบริเวณพื้นที่จัดสรรของนิคมสร้างตนเองลําน้ำน่าน[5] และได้จัดสรรแบ่งแปลงให้กับผู้อพยพ เข้ามาทํากินในพื้นที่ตําบลร่วมจิต ตําบลน้ำหมัน ตําบลจริมและตําบลท่าปลา อําเภอท่าปลา ซึ่งนิคมสร้างตนเอง ลําน้ำน่านจัดสรรแบ่งแปลงให้กแก่ผู้อพยพเพื่อเข้าอยู่อาศัย ทํากินจํานวน 160,540 ไร่ แต่มีพื้นที่บางส่วนของนิคมฯที่จัดสรรทับซ้อนอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติลําน้ำน่านฝั่งขวาจํานวน 1,013 ราย เนื้อที่ 7,215 ไร่ ต่อมา ใน พ.ศ.2546 คณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินของรัฐ (กบร.) ได้มีมติว่าพื้นที่ดังกล่าวราษฎรมิได้เข้าทําประโยชน์โดยพลการ แต่เกิดจากหน่วยงานของรัฐเป็นผู้จัดสรรให้ก่อนมีการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติลําน้ำน่านฝั่ง ขวาและได้มีการจัดประชุมคณะกรรมการฯกันอย่างต่อเนื่อง โดยให้กรมป่าไม้และกรมประชาสงเคราะห์ (เดิม) ร่วมกันสํารวจรังวัดแล้วเสนอต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดําเนินการเพิกถอนต่อไป
จังหวัดอุตรดิตถ์ได้ดําเนินการจัดตั้งศูนย์ประสานงานและติดตามการแก้ไขปัญหาที่ดินทํากินและปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐจังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อเร่งรัดติดตามและประสานการช่วยเหลือกรณีดังกล่าว รวมถึงการติดตามร่างกฎกระทรวงเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติป่าลําน้ำน่านฝั่งขวาบางส่วน ในท้องที่ตําบลจริม ตําบลท่าปลา ตําบลร่วมจิต อําเภอท่าปลาและตําบลขุนฝาง อําเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยมี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่และมอบแนวทางการอยู่ร่วมกันระหว่างประชาชน พื้นที่ป่าและเจ้าหน้าที่ เพื่อป้องกันการเกิดข้อพิพาทในพื้นที่และอยู่ร่วมกันตามแนวทางที่ได้ตกลงร่วมกัน อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ มีพื้นที่ 765.476 ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียง ได้แก่ ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอเด่นชัย (จังหวัดแพร่) และอำเภอท่าปลา, ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอท่าปลาและอำเภอทองแสนขัน, ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอทองแสนขันและอำเภอตรอน, ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอลับแล ด้านการปกครอง แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 17 ตำบล 158 หมู่บ้าน[6] ประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 18 แห่ง ประชากรท้องถิ่นดั้งเดิมของอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ คือชนพื้นถิ่นไทยสยามและไทยวน ผู้เป็นเจ้าของซากโครงกระดูกและเครื่องมือหินและสำริดสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ค้นพบในอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ต่อมาพื้นที่ตั้งเมืองอุตรดิตถ์เป็นทางผ่านสำคัญมาตั้งแต่สมัยอารยธรรมดองซอน ทำให้มีการเคลื่อนย้ายผู้คนมาจากที่ต่าง ๆ มากขึ้น เรื่อยมาในสมัยทวารวดีและอาณาจักรขอมดังปรากฏหลักฐานเมืองโบราณที่เวียงเจ้าเงาะ ตำบลทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จนมาในสมัยสมัยสุโขทัยได้มีเมืองเกิดขึ้นมากมาย เช่น เมืองฝาง เมืองทุ่งยั้ง เมืองตาชูชกและเมืองพิชัย ด้วยการเป็นเส้นทางการค้าทางน้ำ ทำให้ชาวเมืองอุตรดิตถ์ในสมัยโบราณมีที่ มาจากหลายเผ่าพันธุ์ แต่กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวัฒนธรรมสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน จนสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการกวาดต้อนผู้คนและการอพยพย้ายถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ล้านช้าง (ลาว) จากทั้งเมืองเวียงจันทร์และเมืองหลวงพระบาง ลงมาตั้งถิ่นฐานในเขตอำเภอต่างๆ ของจังหวัดมากขึ้น และได้มีชาวจีนโพ้นทะเลอพยพย้ายถิ่นฐานมาตั้งหลักแหล่งทำมาค้าขายในแถบเมืองท่ามากเป็นลำดับ จึงทำให้เมืองอุตรดิตถ์ในปัจจุบันกลายเป็นเมืองที่มีกลุ่มชนมากถึง 3 วัฒนธรรมที่อยู่ร่วมกัน คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ (นิกายเถรวาทลังกาวงศ์) ผสมกับความเชื่อเรื่องผีของท้องถิ่นเดิม มีจำนวนวัดในพระพุทธศาสนามากกว่า 100 วัด พระสงฆ์สามเณรกว่าพันรูป นอกจากนั้นยังมีศาสนาอิสลามและศาสนาคริสต์ซึ่งเข้ามาเผยแพร่ในภายหลัง
คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการทํานา ทําสวนผลไม้และมีรายได้หลักจากการประกอบอาชีพการเกษตรและการค้าขายในแหล่งชุมชนเมือง พืชเศรษฐกิจของอำเภอเมืองฯ ที่สำคัญคือ ลางสาด มีการปลูกมากบ้านด่านนาขาม ตำบลน้ำริด ตำบลขุนฝางและทุเรียน เงาะ มังคุด ส่วนพืชไร่ที่เป็นพืชเศรษฐกิจคือ ข้าว อ้อย ข้าวโพด ถั่วต่างๆ และยาสูบ เป็นต้น
มีพื้นที่ปลูกอ้อยและมีโรงงานน้ำตาลถึง 1 แห่ง มีโรงงานผลิตภัณฑ์อาหารกระป๋อง โรงงานผลิตเส้นหมี่ โรงงานผลิตดินขาว โรงงานถลุงแร่ขนาดเล็ก เป็นต้น มีการทำอุตสาหกรรมในครัวเรือนหลายอย่างเช่น การทำไม้กวาดตองกง การทอผ้า การจักสานเครื่องใช้ไม้ไผ่ การทำเครื่องปั้นดินเผา การตีเหล็กทำเครื่องใช้เกษตรกรรมและทำมีด เป็นต้น
ตำบลท่าเสา ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ เป็นหนึ่งใน 3 ท่าที่เป็นต้นกำเนินท่าเรือเหมือนกับ “ท่าโพ” “ท่าอิด” ทั้ง 3 ท่าเป็นท่าเรือที่กำเนินเมืองอุตรดิตถ์ ซึ่งหมายถึง “เมืองท่าเหนือ” ท่าทั้ง 3 เป็นท่าเรือมาแต่สมัยโบราณ ตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ.1400 ซึ่งขณะนั้นคนขอมได้ปกครองแผ่นดินในแถบนี้และได้ใช้ทั้ง 3 ท่าเป็นที่ขนถ่ายสินค้าติดต่อกันตลอดมา “ท่าเซา” เมื่อครั้งก่อนปี พ.ศ.2430 เป็นป่าดงแต่คำเหนือเรียนว่าท่าเซามีความหมายเป็นที่พัก คือคำว่า เซา-เซา หมายถึงให้หยุดพักและได้เปลี่ยนมาเป็นท่าเสาในเวลาต่อมา[7]
ประวัติความเป็นมาในยุคอดีต[8] มีการบันทึกว่าในสมัยสุโขทัยได้มีการตั้งเมือง เช่น เมืองฝางหรือเมืองสวางคบุรี เมืองทุ่งยั้งและเวียงเจ้าเงาะเมืองตาชูชก เป็นต้น ซึ่งเมืองต่างๆ เหล่านี้ มีหลักฐานประวัติศาสตร์ทางศิลาจารึกและหลักฐานทางโบราณคดีในสมัยอยุธยา เมื่อ พ.ศ.1893 ปรากฏว่ามีเมืองขึ้นถึง 16 เมืองด้วยกัน ในจำนวน 16 เมืองนี้ มีเมืองพิชัยในท้องที่ของจังหวัดอุตรดิตถ์ในปัจจุบันด้วย ต่อมาพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จถึงเมืองทุ่งยั้งและเมืองสวางคบุรีเพื่อนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์และพระบรมธาตุ ทุ่งยั้ง ก่อนที่พระสังฆราช “เรือน” ไปครองเมืองสวางคบุรี ปกครองหัวเมืองฝ่ายเหนือตั้งเมืองพิษณุโลกจนถึงอำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์และในสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช พระเจ้ากรุงธนบุรีมีความเกี่ยวพันกับเมืองพิชัยอย่างแน่นแฟ้น โดยใช้เป็นที่พักทุกครั้งที่กรีฑาทัพผ่านมาและใช้เป็นที่รวบรวมทัพก่อนขึ้นตีเมืองฝ่ายเหนือและล้านนา ในอดีตการเดินทางและการส่งสินค้าเพื่อมาขายทางตอนเหนือมีสะดวกทางเดียว คือ ทางน้ำ สำหรับแม่น้ำที่สามารถให้เรือสินค้าขึ้นลงสะดวกถึงภาคเหนือตอนล่าง ก็มีแม่น้ำน่านเท่านั้น เรือสินค้าซึ่งมาจากบางกอกหรือกรุงศรีอยุธยา จะมาขนถ่ายสินค้าส่งขึ้นไปทางเหนือที่อุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางเรือจะขึ้นล่องสะดวกตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนมกราคม ถ้าเป็นฤดูแล้งก็จะใช้เรือขนถ่ายสินค้าจากเรือใหญ่ ที่ปากน้ำโพขึ้นไปสุดทางแควน้ำกว้างไม่มีเกาะแก่งน้ำไม่ไหลเชี่ยว
วัดใหญ่ท่าเสา: สถานที่สำคัญในตำบล สันนิษฐานว่าสร้างราวสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายเป็นอย่างน้อย
ลักษณะภูมิประเทศปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบเชิงเขาและที่ราบลุ่ม มีความลาดชันประมาณ 2-5 เปอร์เซ็นต์ มีลำห้วย ลำน้ำและคลอง จำนวน 4 สาย (คลองเหมืองปู่เจ๊ก, คลองตาตุ๊, คลองห้วยด้วน คลองด้วน ด้านทรัพยากรป่าไม้พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าไม้เบญจพรรณ ประมาณ 3,500 ไร่ และป่าสักประมาณ 50 ไร่
ด้านการปกครอง อยู่ในเขตเทศบาลตำบลท่าเสา[9] มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 25 ตารางกิโลเมตร เป็นเทศบาลตำบล 1 ใน 16 ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตอาเภอเมือง อุตรดิตถ์ ได้ยกฐานะจากองค์การบริหารส่วนตำบลท่าเสาเป็นเทศบาลตำบลท่าเสา ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ.2551 ครอบคลุมการปกครองจำนวน 10 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านคลองห้วยไผ่ บ้านหนองบัว บ้านหนองผานาโปร่ง บ้านหนองคำฮ้อย บ้านหนองหิน บ้านม่อนดินแดง บ้านบนดง บ้านดงตะขบ บ้านดงตะขบ บ้านม่อนดินแดง มีจำนวนประชากรรวม 13,948 คน (ชาย 7,075 คน และหญิง 6,876 คน) จำนวนครัวเรือนทั้งหมดในเขตพื้นที่รับผิดชอบของเทศบาลตำบท่าเสาจำนวน 7,105 หลังคาเรือน[10] ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ รองลงมาคือศาสนาอิสลามและศาสนาคริสต์ ด้านการประกอบอาชีพมีความหลากหลาย อาทิ เกษตรกรรม รับราชการ รับจ้างทั่วไป ทำธุรกิจ ค้าขาย
การเปลี่ยนแปลงสำคัญในตำบล เริ่มจากยุคการเกิดขึ้นของเขื่อนเขื่อนสิริกิต์ (ประมาณปี 2505-2511) ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงผังเมืองโดยได้แบ่งพื้นที่ใหม่เป็นท่าอิฐ ท่าเสา ในปี 2538 เกิดภัยธรรมชาติ้น้ำท่วมใหญ่และอีกครั้งเกิดภัยดินถล่มในปี 2549 ในช่วงภายหลังทศวรรษ 2550 เป็นช่วงที่งานพัฒนาเกิดขึ้นเข้มข้น เกิดกองทุนสวัสดิการชุมชน เกิดการรวมกลุ่มของคนในชุมชนมากขึ้น ต่อมาในปี 2552 องค์การบริหารส่วนตำบลได้ยกฐานะเป็นเทศบาลตำบล ต่อมาในการพัฒนากลไกชุมชนได้ยกระดับสู่การจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลท่าเสาในปี 2553
ภายหลังช่วง พ.ศ.2554 พบว่าลักษณะการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เกิดขึ้นในตำบล คือ ประเด็นการเปลี่ยนแปลงในด้านการประกอบอาชีพจากที่เคยเน้นเพียงการเกษตรได้ปรับเข้าสู่ภาคแรงงานรับจ้างเพิ่มมากขึ้น ที่ดินเริ่มเข้าสู่ระบบตลาดมากขึ้น มีการซื้อขายเปลี่ยนมืออย่างเข้มข้น การใช้ประโยชน์ในที่ดินเริ่มเปลี่ยนจากพื้นที่ทางการเกษตรเป็นหมู่บ้านจัดสรรและอาคารพาณิชย์มากขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงด้านผังเมือง (สีน้ำเงิน)
กระบวนการดำเนินงาน
กระบวนการในระยะแรกเริ่มต้นจากการชี้แจงเกี่ยวกับโครงการจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ร่วมกับคณะกรรมการสภาองค์ชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หลังจากนั้นจะมีการประชุมคมแต่ละชุมชนเพื่อชี้แจงการดำเนินโครงการและสำรวจกลุ่มเป้าหมายผู้เดือดร้อน เมื่อได้ข้อมูลของกลุ่มเป้าหมายทั้งหมดในแต่ละแห่งแล้ว จะได้นำมาร่วมกันคัดกรองเพื่อหา “กลุ่มที่เดือดร้อนที่สุด” โดยเกณฑ์การพิจารณาหลักนอกจากสภาพความเดือดร้อนในระดับครัวเรือน ยังต้องพิจารณาจากความร่วมมือต่อกิจกรรมชุมชนอีกด้วย หลังจากได้จำนวนกลุ่มเป้าหมายแล้ว คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องได้แบ่งบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบในโครงการในขั้นตอนต่อไป โดยเฉพาะในด้านการเตรียมงานที่เกี่ยวกับงานก่อสร้างปรับปรุงบ้านของผู้รับประโยชน์แต่ละหลังและการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง (บ้านแต่ละหลังจะใช้เวลาในการปรับปรุงซ่อมแซมประมาณหลังละ 1-3 วัน)
“ในแต่ละขั้นตอนจะมีการปรึกษาหารือกับกลุ่มผู้นำชุมชนและกลุ่มผู้นำจะรับผิดชอบการประชาคมชี้แจงกับสมาชิกในการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายและการขอความร่วมมือ ในการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายทางคณะกรรมการต้องลงพื้นที่สำรวจข้อมูลสภาพจริงด้วยหลังจากนั้นจะได้แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบตามความถนัด ตามความสามารถของคณะทำงานแต่ละคน”
…..ผู้นำท่านหนึ่งในตำบลอธิบายลักษณะกระบวนการทำงาน
ประสบการณ์ลักษณะใหม่จากการทำงานภายใต้โครงการบ้านพอเพียงชนบทที่มีลักษณะเฉพาะ มีความแตกต่างจากโครงการอื่นที่ผ่านมา กลุ่มผู้นำจึงเห็นความสำคัญของขั้นตอนการทำความเข้าใจหลักคิดการทำงานเป็นพิเศษ เนื่องจากส่วนใหญ่จะคุ้นชินกับโครงการในเชิงสงเคราะห์ การประชุมเพื่ออภิปรายรายละเอียดโครงการจึงเป็นเครื่องมือสำคัญ ในกระบวนดังกล่าวจะมีกลไกสภาองค์กรชุมชนเป็นที่ปรึกษาสำคัญ เมื่อกลุ่มผู้นำมีความเข้าใจร่วมกันอย่างชัดเจนแล้ว จึงจะได้นำข้อมูลชี้แจงกับสมาชิกชุมชน โดยมีเครื่องมือสำคัญ คือ การประชาคมอย่างเป็นทางการและการประชุมกลุ่มย่อยของเหล่าคณะกรรมการและกลุ่มผู้นำตามสถานการณ์ความจำเป็นของแต่ละระยะโครงการ
กลไกความร่วมมือและการบูรณาการเครือข่ายการทำงาน
กลไกหลักในการขับเคลื่อนได้แก่ สภาองค์กรชุมชนที่เป็นเหมือนฟันเฟืองคอยอำนวยงานและประสานความร่วมมือกับกลุ่มต่างๆ ภายในชุมชน เช่น เครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชน กลุ่มจิตอาสา กลุ่มแม่บ้าน วัด โดยจะทำงานควบคู่ไปกับกลุ่มผู้นำชุมชน (ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน) และส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะเทศบาลตำบล ด้านหน่วยงานสนับสนุนอื่นๆ ได้แก่ ภาคธุรกิจ เช่น ร้านค้าวัสดุก่อสร้างที่ช่วยสนับสนุนวัสดุก่อสร้างเพิ่มเติม
บทบาทการสนับสนุนของแต่ละภาคส่วนจะพยายามการมีส่วนร่วมตามศักยภาพของแต่ละหน่วยงานหรือตามความสะดวกตามภาระหน้าที่พื้นฐานของแต่ละหน่วยงาน กลุ่มสมาชิกชุมชน โดยเฉพาะคณะกรรมการชุมชน กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มช่างภายในชุมชน จะรับบทบาทหลักในระยะของการลงมือก่อสร้างปรับปรุงบ้านกลุ่มเป้าหมาย ทั้งการร่วมเป็นผู้ช่วยในงานก่อสร้าง การทำอาหาร จัดหาน้ำดื่ม จัดเตรียมสถานที่ เช่น กรณีบ้านของนางไฝ วังวิเศษ ได้รับการงบริจาคหินและทรายในการต่อเติมบ้าน โดยผู้ใหญ่บ้านได้ใช้รถส่วนตัวในการช่วยขนหรือกรณีบ้านนางวรรณา กล้าเชย ที่ได้รับบริจาคไม้เก่าจากหน่วยงานทหาร
สภาองค์กรชุมชน/ขบวนจังหวัด รับบทบาทหลักด้านกระบวนการดำเนินโครงการ การสนับสนุนด้านสร้างความเข้าใจ เป็นกลไกประสานงานหลัก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน รับบทบาทหลักด้านงานงบประมาณและการติดตามภาพรวมของโครงการ
เทศบาลตำบลท่าเสา รับบทบาทหลักในการสนับสนุนสถานที่ประชุมและบุคลากรเชิงเทคนิค เช่น งานช่างโยธา งานเลขานุการ ด้านกำนันและกลุ่มผู้ใหญ่บ้าน มีบทบาทหลักในการอำนวยการประชุมแต่ละชุมชน สนับสนุนการประสานงานในแต่ละขั้นตอนของโครงการและการร่วมพิจารณากลุ่มเป้าหมาย
ภาคเอกชนและหน่วยงานระดับอำเภอ ช่วยสนับสนุนเพิ่มเติมวัสดุก่อสร้าง เงินสงเคราะห์ น้ำดื่มการประสานหาแหล่งทุนอื่นๆ นอกจากนั้นหน่วยงานทหาร (มทบ.35) และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ยังช่วยสนับสนุนด้านกำลังพลในการเป็นแรงงงานก่อสร้างปรับปรุงบ้านกลุ่มเป้าหมาย ดูแลความสะดวก ความปลอดภัยด้านงานจราจร
การเปลี่ยนแปลงหลังการดำเนินโครงการ
ในส่วนของกลุ่มเป้าหมาย สมาชิกครอบครัวมีภาวะความเครียดน้อยลง มีสุขภาพจิตหรืออารมย์โดยรวมดีขึ้น เนื่องจากสภาพบ้านดีขึ้น ไม่ต้องคอยเสี่ยงกับอันรายจากการผุพัง
คนในชุมชนได้เรียนรู้ลักษณะการทำงานแบบใหม่ ที่อาศัยการมีส่วนร่วมหรือความร่วมไม้ร่วมมือของชุมชนเป็นหลัก ได้รู้จักกลไกการสนับสนุนงานพัฒนาชุมชนมากขึ้นจากการสนับสนุนงบประมาณและทุนอื่นๆ จากหลายหน่วยงาน พื้นที่การมีส่วนร่วมที่เกิดขึ้นในโครงการบ้านพอเพียงชนบท ทำให้สมาชิกชุมชนได้รับการกระตุ้นในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากขึ้น
กลุ่มผู้นำหลายคนอธิบายว่า โครงการอื่นโดยทั่วไปจะเป็นไปในลักษณะการสนับสนุนจากหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งแบบ “ทางเดียว” คือเน้นการสนับสนุนงบประมาณแก่ชุมชน ชุมชนอยู่ในฐานะผู้รอรับส ส่วนผู้ที่ไม่ได้รับประโยชน์จะไม่ได้เกี่ยวข้อง ซึ่งต่างจากโครงการบ้านพอเพียงชนบทที่จำเป็นอย่างยิ่งในการขอความร่วมมือจากชุมชนโดยรวม ส่วนหนึ่งคือมีงบประมาณจำกัด การจะบรรลุตามเป้าหมายจึงต้องอาศัยการระดมทรัพยากรร่วมกัน ภายหลังที่กลุ่มเป้าหมายได้รับการช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัย จะทำให้ครอบครัวของพวกเขาใส่ใจในงานกิจกรรมส่วนรวมของชุมชนมากขึ้น เนื่องจากได้รับการช่วยเหลือจากชุมชน
“หลังจากคนในชุมชนเห็นว่าได้ผลสำเร็จจริง จึงเริ่มสนใจในการเข้าร่วมกิจกรรมชุมชนมากขึ้น เหมือนกับว่าคนเริ่มรู้ว่า ได้จริง ทำจริง ในส่วนของผู้นำก็ได้รับการเชื่อถือมากขึ้นไปด้วย”
…..ผู้นำชุมชนท่านหนึ่งแสดงความเห็นภายหลังการดำเนินโครงการ
ภายใต้ข้อจำกัดในการดำเนินโครงการซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ด้อยโอกาส ยากไร้ ยังเกิดการเสียสละภายในกลุ่มเป้าหมายเอง เช่น กรณีการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายของตำบล ได้มีบางรายเสียสละไม่รับการช่วยเหือในปีงบประมาณนี้ เนื่องจากเห็นควรให้โอกาสบางรายที่เดือดร้อนมากกว่าตน จึงช่วยให้การคัดเลือกเป็นไปได้ราบรื่นขึ้น แต่ละฝ่ายเห็นร่วมกันว่า กระบวนการทำงานที่เกิดขึ้นในโครงการบ้านพอเพียงชนบทควรถูกนำไปปรับใช้กับการทำงานร่วมกันในโครงการอื่นๆ ในอนาคต
ปัจจัยแห่งความสำเร็จ
ลักษณะโครงการและกระบวนการทำงานมีความยืดหยุ่น สามารถปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ได้ดี กรณีตำบลท่าเสา ลักษณะบ้านของกลุ่มเป้าหมายมีความแตกต่างกันตามระดับของปัญหา เช่นกรณีตัวบ้าน มีทั้งกลุ่มที่จำเป็นต้องสร้างใหม่ทั้งหลัง กลุ่มที่ต้องการเพียงปรับปรุงแก้ไขบางจุดและกลุ่มที่ต้องปรับปรุงโครงสร้างหลักของบ้าน เช่น เสาล้าน คานบ้าน และส่งผลให้จำเป็นต้องปรับปรุงส่วนอื่นเพิ่มเติม หรือกรณีที่บ้านกลุ่มเป้าหมายบางรายมีวัสดุอุปกรณ์ที่เหลือจากการใช้งาน จะสามารถนำไปช่วยสบทบให้กับบางหลังที่ยังต้องการ
การใช้สภาพปัญหาที่แท้จริงเป็นตัวตั้งและเกณฑ์การคัดเลือก ส่งผลให้แต่ละชุมชนได้รับทราบข้อมูลซึ่งกัน เกิดความโปร่งใส่ในการพิจารณาร่วมกันและเริ่มมีการเสียสละให้กันภายในตำบล เช่นบางชุมชนเสียสละให้กับเพื่อนในชุมชนอื่นให้ได้รับการสนับสนุนก่อนตน เนื่องจากเห็นว่าผู้อื่นเดือดร้อนกว่า
สภาองค์กรชุมชน ซึ่งกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงานมีองค์ประกอบของคณะกรรมการที่สอดคล้องกับเนื้องาน มีความใกล้ชิดกับคนในชุมชและสามารถประสานงานกับระดับหน่วยงานต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากการทำงานให้บรรลุเป้าหมายตามโครงการทำให้ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานในพื้นที่มากขึ้น
ปัญหาและอุปสรรคการดำเนินการ
- ในช่วงแรกของการดำเนินโครงการ หน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ยังไม่มีความเข้าใจชัดเจนมากนักเกี่ยวกับแนวคิดการทำงานภายใต้โครงการ เนื่องจากมีความแตกต่างจากโครงการในเชิงสงเคราะห์
- ประสบการณ์ในช่วงแรกของการดำเนินโครงการยังมีไม่มากพอ ส่งผลให้ในขั้นตอนการประเมินค่า
วัสดุก่อสร้างยังไม่ครอบคลุม มีความคลาดเคลื่อนจากการใช้งานจริงอยู่บ้าง ทางคณะกรรมการโครงการจึงได้พยายามเชิญหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมประชุมอย่างสม่ำเสมอเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน
- กรณีบ้านที่แยกออกมาจากครอบครัวใหญ่ (บ้านต้นตระกูล) ของลูกหลานที่สภาพไม่มั่นคงแข็งแรงหรือที่เข้าเกณฑ์การช่วยเหลือ มักมีปัญหาเรื่องไม่มีเลขที่บ้านจึงไม่สามารถเสนอเข้าโครงการได้
- การเปลี่ยนแปลงด้านการเมืองท้องถิ่นส่งผลให้การผลักดันแผนงานสะดุด
แผนพัฒนาและข้อเสนอต่อทิศทางในอนาคต
- วางแผนจัดหางบประมาณและงานระดมทุนเพิ่มเติมในด้านปัญหาที่อยู่อาศัย
- วางแผนด้านการพัฒนาอาชีพของกลุ่มเป้าหมาย (กลุ่มผู้ยากไร้ ด้อยโอกาส)
- พัฒนาศักยภาพในการทำงานของสมาชิกชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชน
- ยกระดับงานสงเคราะห์ไปสู่งานพัฒนาที่ครอบคลุมประเด็นปัญหาต่างๆ ในพื้นที่
- กระบวนการทำงานในลักษณะที่เน้นการมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนและเน้นความยืดหยุ่นของแต่ละหน่วยงานเพื่อผลประโยชน์ของผู้ยากไร้ด้อยโอกาสเป็นสำคัญ คือสิ่งที่ต้องนำไปปรับใช้กับการทำงานระหว่างชุมชนกับหน่วยงานต่างๆ ต่อไป
[1] ข้อมูลจากเอกสารแผนพัฒนาจังหวัดอุตรดิตถ์ พ.ศ.2561-2564
[2] ลุ่มน้ำในจังหวัดอุตรดิตถ์มี 2 ลุ่มน้ำคือ ลุ่มน้ำน่านและลุ่มน้ำยม ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดจะอยู่ในเขตลุ่มน้ำน่าน มีเพียงบางส่วนของพื้นที่อําเภอลับแลและอําเภอพิชัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำยม
[3] ประชากรสํารวจน้อยกว่าประชากรทะเบียนราษฎร์เนื่องจากประชากรสํารวจเป็นประชากรที่มีชื่ออยู่ตามทะเบียนบ้านในเขตรับผิดชอบและอยู่จริงและเป็นประชากรที่มาอาศัยอยู่ในเขตรับผิดชอบแต่ทะเบียนบ้านอยู่นอกเขตรับผิดชอบ ส่วนประชากรทะเบียนราษฎร์เป็นประชากร
(ต่อ) ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตรับผิดชอบทั้งตัวอยู่จริงและตัวไม่อยู่จึงทําให้ข้อมูลมีจํานวนแตกต่างกัน
[4] ด้านการเพาะปลูกเป็นโครงสร้างหลัก 79% ได้แก่ ข้าวเป็นผลผลิตหลัก 39% รองลงมา คือ ทุเรียน 10% ลองกอง 5% ข้าวโพด 4% อ้อย 4% มะขามหวาน 4% มะม่วง 3% มะม่วงหิมพานต์ 3% สับปะรด 3% หอมแดง 1% มันสําปะหลัง 1% และอื่นๆ 2% ด้านปศุสัตว์ 14% ได้แก่ สุกร 5% ไข่ไก่ 3% ไก่ 2% ไข่เป็ด 1% กระบือ 1% โค 1% อื่นๆ1% ในด้านอื่นๆ 7% ได้แก่ ด้านบริการทางการเกษตร 5% และป่าไม้ 2%
[5] ตามมติรัฐมนตรีวันที่ 12 พฤษภาคม 2507 ให้จัดตั้งนิตมสร้างตนเองลำน้ำน่าน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อจัดสรรที่ดินให้ราษฏรที่อพยพจากเขตน้ำท่วมตามโครงการเขื่อนสิริกิติ์ ครอบคลุมพื้นที่เขตอำเภอเมืองและอำเภอท่าปลาในเคหะสถานและประกอบอาชีพเป็นหลักแหล่งในที่ดินนั้น โดยเป็นการจัดระบบผู้ครอบครองที่ดินและเอกสารสิทธิ์ให้ถูกต้องชัดเจนและดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตสมาชิกสมาคมทางรัฐบาลจึงมีนโยบายการจัดการปัญหาที่ดินทำกินเพื่อประชาชนและเกษตรกรผู้ยากไร้ได้รับการจัดสรรที่ดินที่อยู่อาศัยให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ให้มีการค้ดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติตามมาตรา 22 เข้าเป็นสมาชิกนิคมและอนุญาตให้สมาชิกนิคมเข้าทำประโยชน์ในที่ดินและเอกสารสิทธิ์ให้ถูกต้องและชัดเจน ชึ่งในท้องที่อำเภอเมืองและอำเภอท่าปลาจังหวัดอุตรดิตถ์อยู่ในเขตรับผิดชอบของนิคมสร้างตนเองลำน้ำน่านจังหวัดอุตรดิตถ์มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 166,530 ไร่
[6] ดูเพิ่มเติมใน https://www.mutt.go.th
[7] เข้าถึงได้จาก http://www.thaitambon.com/tambon/530102
[8] เข้าถึงจาก http://www.thasao.go.th/detailtambon.html
[9] ปัจจุบันสำนักงานเทศบาลตำบลท่าเสา ตั้งอยู่เลขที่ 1 หมู่ที่ 10 บ้านม่อนดินแดง ตำบลท่าเสา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอเมืองอุตรดิตถ์และศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ทางทิศเหนือประมาณ 1 กิโลเมตร
[10] งานทะเบียนราษฎร สำนักปลัดเทศบาล ณ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2560