หูกวาง เป็นตำบลหนึ่งในอำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ มีด้วยกันทั้งหมด 4 หมู่บ้าน ซี่งอยู่ห่างจากตัวอำเภอ 4 กิโลเมตร ห่างจากตัวจังหวัดนครสวรรค์ 32 กิโลเมตร ด้วยสภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มอยู่ติดกับแม่น้ำปิง จึงเหมาะแก่การทำเกษตร อาชีพส่วนใหญ่ของคนในตำบลนี้คือการทำนาเป็นหลัก เฉลี่ย 80% ของพื้นที่ รองลงมาก็ทำไร่ ทำสวน และรับจ้างทั่วไป
นายคำรณ นาคราช กำนันตำบลหูกวาง ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลหูกวางกล่าวว่า “การขับเคลื่อนงานเพื่อพัฒนาตำบล เริ่มจากการรวบรวมฐานข้อมูลตำบลของทุกหมู่บ้าน วิเคราะห์ปัญหาร่วมกับท้องถิ่น รพสต. ครู โรงเรียน และชาวบ้านตำบลหูกวาง หลังจากพบว่าคนหูกวางมีปัญหาด้านที่อยู่อาศัยเสื่อมโทรม ส่วนใหญ่พบในกลุ่มที่ยากจน รายได้น้อย ผู้สูงอายุ ครอบครัวขยายหรือพิการ จากการเก็บข้อมูลมีผู้เดือดร้อน 167ครัวเรือน จากผู้มีรายได้น้อย พิการ สูงอายุ ครอบครัวขยาย พบว่าบ้านทรุดโทรม เช่น หลังคาผุ ฝาพัง ห้องน้ำไม่มาตรฐาน บางบ้านไม่มีห้องน้ำ จึงนัดประชุมประชาคมทั้ง 4 หมู่บ้าน มีการสำรวจข้อมูลทั้งหมด และถ่ายรูปบ้านผู้เดือดร้อนแล้วเปิดเวทีปรึกษาหารือในการกำหนดแนวทางช่วยเหลือแบบมีส่วนร่วม”
จากการทำงานของสภาองค์กรชุมชนที่มีการเชื่อมโยงงานกับขบวนองค์กรชุมชนระดับจังหวัด ทางสภาองค์กรชุมชนตำบลได้มีโอกาสจัดทำโครงการเสนอขอรับงบประมาณจากสถาบันองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)เพื่อนำมาช่วยเหลือ ผู้เดือดร้อน
นางสาวสมคิด นพศรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหูกวาง เห็นถึงแนวทางการช่วยเหลือ แบบบูรณาการ จัดทีมสร้างแกนนำ และหาคนรับผิดชอบร่วมกันระหว่างสภาองค์กรชุมชนและท้องถิ่น ท้องที่ และผู้เดือดร้อน ลุกขึ้นมา ร่วมกันในการแก้ไขปัญหา
บ้านพอเพียงที่เป็นเหมือน “บ้านที่ได้มากกว่าบ้าน” นี้เกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่าย จาก 167 ครัวเรือน นำมาจัดลำดับความเดือดร้อน ในปี 2560 มีจำนวน 33 ครัวเรือน ที่เดือดร้อนและจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน สภาองค์กรชุมชนตำบลหูกวางจึงได้เสนอขอรับงบประมาณ จำนวน 594,000 บาท จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เพื่อปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้กับผู้เดือดร้อนตามแนวทางโครงการบ้านพอเพียงชนบท
ในขณะเดียวกันก็มิได้รอแต่ผู้นำในการแก้ปัญหา ผู้เดือดร้อนเองก็ลุกขึ้นมาช่วยเหลือตัวเองด้วย แม้ว่าในงบประมาณไม่มีการสนับสนุนด้านแรงงาน ชาวบ้านก็พร้อมใจช่วยเหลือกัน มีการตามแรงกัน ซึ่งนำทีมโดยสภาองค์กรชุมชนและท้องถิ่นเป็นฝ่ายสนับสนุนด้านแรงงาน และยังมีการช่วยสมทบวัสดุ สิ่งของที่เหลือใช้ เช่น ประตู หน้าต่าง ผู้นำ ผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่ร่วมสมทบอาหาร ลงแขกช่วยเหลือ การทำเช่นนี้เป็นเหมือนสิ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกที่ดี ประทับใจ เกิดพลังของคนในชุมชน มีการสร้างความยั่งยืนด้วยการตั้งกองทุนรักษาบ้าน เพื่อช่วยเหลือผู้เดือดร้อนที่มีความจำเป็น เพื่อสร้างสวัสดิการที่เกิดจาการสมทบคืนจากผู้เดือดร้อน ซึ่งมีกฎกติการ่วมกันคือ การสมทบคืนจากยอดจำนวนเงินที่ได้รับการสนับสนุน เดือนละ 100บาท ทุกเดือนจนกว่าจะครบที่ได้รับ
นอกจากนี้ทางนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหูกวางยังให้ความสำคัญเรื่องอาชีพ รายได้ ให้คนในชุมชนได้มีชีวิตที่ดีขึ้น มีการจัดสรรที่ดิน สาธารณประโยชน์ (บึงบัว) ให้กับผู้เดือดร้อนได้ประกอบอาชีพ ปลูกผัก ปลูกมะลิ ข้าวโพด ฯลฯ สร้างรายได้ สร้างความสุข ความมั่นคง คืนสู่ชุมชน
นายสมพร อัศจรรย์ อายุ 59 ปี หนึ่งในผู้เดือดร้อนบอกว่าตนเองเป็นผู้ป่วยโรคเก๊า แยกทางกับภรรยามาหลายปี มีลูกสาว 1 คน แต่ลูกมีครอบครัวก็มิได้เลี้ยงดู ต้องอาศัยกระท่อมชายไร่ของนางเผือด สนหอม อยู่มาเป็นเวลาหลายปี เพราะไม่มีบ้านของตนเอง ไม่มีที่ทำกิน บางวันก็รับจ้างพอได้กินบ้างตามสภาพ ดูแลตนเอง หาหมอเป็นประจำต้องทำแผลทุกวัน บางวันไม่มีอาหารกิน เสื้อผ้าก็ขาดวิ่น บางครั้งอาการปวดกำเริบลุกไม่ขึ้น ต้องนอนรอจนกว่าจะหาย ใช้ชีวิตแบบทุกข์ทรมานมานานหลายปี
นายสมพร เล่าความรู้สึกของตัวเองว่า “ดีใจมากเลย (กล่าวด้วยเสียงที่สั่นเครือ) ที่รู้ว่าจะมีคนมาปลูกบ้านให้ใหม่ ฉันไม่มีที่จะไปอยู่ตรงไหน แล้ววันหนึ่งดีใจมาก” สาเหตุเพราะทีมงานสภาองค์กรชุมชนที่นำโดยนางนพพร ครุทธมงคล มาสำรวจพูดคุยและบอกว่าจะไปสร้างบ้านให้ในที่วางเปล่าของตนเอง แต่ว่าภายใต้งบประมาณ 18,000 บาทนั้น ไม่สามารถสร้างบ้านได้สำเร็จแต่ก็ได้รับความช่วยเหลือจากนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหูกวาง ที่นำแรงงานมาช่วยและร่วมบริจาควัสดุ มาช่วยเหลือเรื่องระบบน้ำ ระบบไฟ “ผมดีใจอย่างบอกไม่ถูก ไม่ต้องนอนตากฝน ตากแดด ตากยุง” ที่สำคัญบ้านหลังใหม่อยู่ติดถนน ทำให้สะดวกสบายกว่าเดิม เพราะเวลาป่วยก็เรียกรถกู้ภัยรับไปหาหมอได้ เสียงพูดที่มีรอยยิ้ม “ขอบคุณจริงๆครับ”
นี่คือเสียงสะท้อนที่เปี่ยมไปด้วยความสุขของคนที่ได้รับความช่วยเหลือการซ่อมสร้างที่อยู่อาศัยแบบพอเพียง ความสุขในบ้านหลังใหม่ ไม่ต้องหลบฝน หลบแดด หรือต้องระวังสัตว์เลื้อยคลาน เข้ามาทำร้าย นอนอุ่นขึ้น เสียงสะท้อนจากชาวบ้านหูกวาง
นพพร ครุทธมงคล นักสื่อสารจัดการความรู้นครสวรรค์