โดยพอช.สำนักงานภาคเหนือ
ชาวตำบลและสืบเชื้อสายมาจาก ชาวไทยลื้อ – ชาวจีนฮ้อ มีภูมิลำเนาอยู่ที่สิบสองปันนา มณฑลยูนานประเทศจีนเป็นเวลานานเท่าใดไม่ปรากฏ แต่มีคนบางกลุ่มย้ายถิ่นฐานออกจากภูนางย้องมาตามลำน้ำและมาสร้างบ้านเรือนและสร้างวัดชื่อ วัดก๋อมก่อ( ปัจจุบันเป็นวัดร้างอยู่ห่างจากวัดทุ่งผึ้งประมาณ 1 กิโลเมตร ) ต่อมาเมื่อมีการขยายที่ทำมาหากินมากขึ้น ประชากรมากขึ้น ได้พากันแยกย้ายออกจากบ้านก๋อมก่อ ไปอยู่ที่ใหม่และตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านเฟือยลุง (เฟือย เป็นชื่อหัวหน้ากลุ่มที่ทุกคนยกย่องให้เป็นผู้นำ / คำว่าเฟือย เป็นชื่อต้นไม้ที่มีขนาดลำต้นสูงใหญ่มีกิ่งก้านสาขาแผ่ปกคลุมกระจายรอบต้น) และบางกลุ่มไปรวมกับหมู่บ้านอื่นอีกหลายหมู่บ้านในพื้นที่จังหวัดน่าน บ้านเฟือยลุงเมื่อเริ่มต้นมีทั้งหมด 6 ครัวเรือน สภาพพื้นที่เป็นที่ราบ เหมาะแก่การเพาะปลูก มีแม่น้ำและไหลผ่าน จึงมีคนอพยพมาทำกินมากขึ้น ต่อมามีการแบ่งแยกหมู่บ้านเป็นอีกหลายหมู่บ้านมีการตั้งตำบลขึ้นชื่อว่า ตำบลและ (ตามชื่อแม่น้ำ)
ตำบลและมีพื้นที่ประมาณ 225.41 ตร.กม.หรือประมาณ 140,881.25 ไร่ มีจำนวน 13 หมู่บ้าน โดยเรียงตามลำดับหมู่ ดังนี้ 1.บ้านทุ่งอ้าว 2.บ้านศาลา 3.บ้านดอนชัย 4.บ้านเวียงสอง 5.บ้านสันกลาง 6.บ้านวังผา 7.บ้านน้ำสอดเก่า 8.บ้านเฟือยลุง 9.บ้านน้ำเพาะ 10.บ้านป่า 11.บ้านน้ำสอดใหม่ 12.บ้านดวงคำ 13.บ้านประดู่
มีประชากรทั้งหมด 3,535 คน แยกเป็นชาย 1,735 คน หญิง 1,800 คน ซึ่งลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงมีที่ทำกินเป็นที่ราบตามหุบเขาและเชิงเขา มีแม่น้ำน่านเป็นแม่น้ำสายหลัก มีที่ลุ่มแม่น้ำน่านเป็นพื้นที่ทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์
การเกษตรเป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดซึ่งพืชเศรษฐกิจที่สำคัญได้แก่ พืชไร่ เช่น ข้าว, ข้าวโพด, ถั่วเหลือง,ถั่วลิสง,ละหุ่ง,ฝ้าย /ไม้ผล เช่น ส้มเขียวหวาน, มะขาม,ลำไย,ลิ้นจี่,มะม่วง,เงาะ/พืชผัก เช่นกะหล่ำปลี,ผักกาด,ขิง, ฟักทอง ปศุสัตว์ เลี้ยงแบบรายย่อย ยังไม่มีการดำเนินการอย่างจริงจังกว้างขวาง เลี้ยงแบบปล่อยให้หากินตามธรรมชาติและให้อาหารที่มีในท้องถิ่นเป็นอาหารสัตว์ไม่ค่อยให้การดูแลมากนัก การป้องกันโรคมีน้อย การเลี้ยงสัตว์ที่เป็นลักษณะฟาร์มมีน้อย การประมง ทำประมงน้ำจืดตามแหล่งน้ำธรรมชาติจากแม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง ปัจจุบันเริ่มมีการเลี้ยงปลาในบ่อและสระน้ำมากขึ้นแต่เป็นลักษณะบ่อขนาดเล็กเฉพาะในครัวเรือนไม่ได้นำมาเป็นอาชีพหลัก
พัฒนาการความเป็นมา
พ.ศ.2556 มีการตรวจหาสารเคมีตกค้างในร่างกายโดยโรงพยาบาลชุมชน (รพ.สต.) และพบว่ามีสารเคมีที่เป็นพิษตกค้างในกระแสเลือดของเกษตรกรและพระสงฆ์ในชุมชนทำให้เกิดการการตื่นตัวเป็นอย่างมาก เกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดจากสารเคมีที่ตกค้างและสะสมอยู่ในร่างกายของเกษตรกร มีคนในชุมชนเจ็บป่วยล้มตายด้วยโรคมะเร็ง
มีเกษตรกรหลายรายเริ่มปรับเปลี่ยนแนวคิดและหันมาลดการใช้สารเคมีในการผลิตทั้งในนาข้าว ผักสวนครัว สวนผลไม้ต่างๆ เริ่มหาความรู้ในการผลิตปุ๋ยหมัก และสารชีวภาพไว้ใช้เอง แต่ยังมีเกษตรกรบางส่วนที่ยังคงใช้สารเคมีทางการเกษตรอยู่
พ.ศ.2558 สภาพดินเริ่มเสื่อมคุณภาพ ไม่มีธาตุอาหารเนื่องจากถูกใช้งานอย่างหนักและมีการใช้สารเคมี ปุ๋ยเคมีกันอย่างเข้มข้น ผลผลิตเริ่มลดลง เกษตรกรที่ปลูกพืชเคมีเริ่มหันมาให้ความสนใจการฟื้นฟูดินโดยการใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพ และเริ่มมีแนวคิดที่จะปรับเปลี่ยนการผลิตที่ปลอดภัยมากขึ้น มีการเริ่มใช้สารชีวภาพใช้เอง การใช้สารเคมีเริ่มลดลง
พ.ศ.2560-2561 เกษตรกรในชุมชนร้อยละ 80 เริ่มหันมาปรับเปลี่ยนระบบการผลิตเข้าสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ มีการผลิตปุ๋ยหมัก และสารชีวภาพไว้ใช้เองมีการรวมกลุ่มกันผลิตปุ๋ยหมัก และนำหมักชีวภาพ มีการแลกเปลี่ยนรู้กันภายในตำบล คุณภาพชีวิตของคนในตำบลเริ่มดีขึ้น ปริมาณสารพิษที่ตกค้างอยู่ในกระแสเลือดลดลง บางรายตรวจไม่พบสารเคมีตกค้าง ต้นทุนการผลิตทางการเกษตรลดลงเมื่อเปรียบเทียบการซื้อสารเคมีและปุ๋ยชีวภาพจากตลาดมาใช้ ปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น สภาพดินดีขึ้น
องค์ความรู้ของชุมชน จากสถานการณ์สารพิษตกค้างในกระแสเลือดทำให้คนในตำบลเกิดการตื่นตัวเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดความต้องการที่จะปรับเปลี่ยนแนวคิดในการผลิตพืชเชิงเดี่ยวที่ใช้สารเคมีเป็นจำนวนมาก มาเป็นการผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์ ชีวิตปลอดภัยจากสารเคมีและมีการพึ่งพาตนเองตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง จึงได้มีกระบวนการจัดประชุมเพื่อวิเคราะห์ปัญหา สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชุมชนเพื่อหาทางออกร่วมกัน มีการรวบรวมเกษตรกรตัวอย่างที่สนใจ จะปรับเปลี่ยนระบบการผลิต จัดอบรมเพิ่มเติมความรู้ ทักษะในการผลิตน้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยหมัก โดยเน้นการใช้วัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่น รวมถึงการทดลอง ปรับเปลี่ยนระบบการผลิตเกษตรอินทรีย์ในแปลงของเกษตรต้นแบบ และหาตลาดรองรับผลผลิตเกษตรอินทรีย์ รวมถึงยังได้มีการติดตามประเมินผล และถอดบทเรียนองค์ความรู้ในด้าน “เทคนิคการทำสารกำจัดแมลงสูตรสมุนไพร ทำเองได้ง่ายๆไม่แพง” ดังนี้
สูตรขมิ้นชัน พืชล้มลุกที่มีเหง้าอยู่ใต้ดินมีสีเหลืองเข้มไปจนถึงสีแสดจัดให้กลิ่นหอมเฉพาะตัวมีสรรพคุณแก้ท้องอืดท้องเฟ้อได้
วิธีเตรียมและการใช้
- 1. ตำขมิ้นปริมาณครึ่งกิโลกรัมให้ละเอียด
- 2. นำขมิ้นที่ตำละเอียดแล้วไปผสมกับน้ำ 20 ลิตรหมักทิ้งไว้1 – 2 วัน
- 3. กรองเอาแต่น้ำจะได้สารเข้มข้นจากนั้นนำสารนี้ไปผสมกับน้ำ 8 ลิตร
- 4. นำไปฉีดพ่นให้ทั่วบริเวณทรงพุ่มต้นที่เกิดการระบาดของแมลงศัตรูพืช
ประสิทธิภาพ นำไปฉีดพ่นให้ทั่วบริเวณทรงพุ่มต้นที่เกิดการระบาดของแมลงศัตรูพืชเหง้าของขมิ้นมีน้ำมันหอมระเหย ช่วยขับไล่และกำจัดแมลงได้หลายชนิด ได้แก่หนอนกระทู้ผักหนอนผีเสื้อด้วงงาช้างแมลงวันทองมอดและไรแดง
สูตรสะเดา ข่า ตะไคร้หอม พืชทั้งสามชนิดนี้ส่วนใหญ่มีอยู่ในบ้านอยู่แล้ว สมุนไพรแต่ละชนิดมีสารออกฤทธิ์แตกต่างกันไปจึงนำไปใช้ประโยชน์ได้มากมาย
วิธีเตรียมและการใช้
- 1. สับใบสะเดาข่าและตะไคร้หอมอย่างละ 1 กิโลกรัมให้ละเอียด
- 2. นำส่วนผสมทั้งสามอย่างมาตำรวมกัน
- 3. นำส่วนผสมทั้งหมดไปผสมกับน้ำ 20 ลิตร หมักไว้1 คืน
- 4. กรองเอาน้ำหัวเชื้อที่ได้นำไปผสมน้ำในสัดส่วน 1 : 1
- 5. ฉีดพ่นทุก 7 วันในตอนเย็น
ประสิทธิภาพ สารสกัดจากสะเดามีฤทธิ์ในการฆ่าแมลงสารสกัดจากข่ามีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียและน้ำมันหอมระเหยในข่าก็มีฤทธิ์ทำให้ไข่แมลงฝ่อและกำจัดเชื้อราบางชนิดได้ส่วนตะไคร้หอมมีสาร verbena oil, lemon oil และ Indian melissa oil มีฤทธิ์ในการไล่แมลงศัตรูพืชได้แก่ ผีเสื้อกะหล่ำหนอนคืบ หนอนชอนใบหนอนกระทู้หนอนใยผักเพลี้ยอ่อน และแมลงวันทองรวมถึงช่วยป้องกันโรคราดำโรครากเน่าและโคนเน่าได้ด้วย
กลไกการจัดการ(กลุ่ม/องค์กร/เครือข่าย/บทบาท) ที่สำคัญซึ่งได้เข้าร่วมดำเนินการ ได้แก่ สภาองค์กรชุมชนตำบลและ ประสานงาน ให้ความรู้แก่เกษตรกรในตำบล เปิดเวทีในการแลกเปลี่ยนปัญหา และสนับสนุนงบประมาณ เครือข่ายเกษตรอินทรีย์น่าน เป็นองค์กรภาคีระดับจังหวัดที่เข้ามาหนุนเสริมให้เกษตรกรต้นแบบเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับพื้นที่อื่นๆ จัดหา และวางแผนการตลาด เกษตรอำเภอ ให้ความรู้โดยการฝึกอบรมการผลิตสารชีวภาพไว้ใช้เองแก่เกษตรกร รพ.สต.ช่วยเหลือในการตรวจหาสารพิษที่ตกค้างในร่างกาย รณรงค์ให้ความรู้แก่เกษตรกรให้มีการลด ละ เลิก การใช้สารเคมีที่เป็นอันตราย และเทศบาล / อบต.สนับสนุนสถานที่ บุคลากร งบประมาณ
ปัจจัยที่ส่งผลให้ประสบผลสำเร็จ
ภายใน คนในชุมชนให้ความร่วมมือและให้ความสนใจในการปรับเปลี่ยนแนวคิดการทำเกษตรแบบเคมีมาเป็นการทำเกษตรปลอดภัยและยกระดับเป็นเกษตรอินทรีย์
ภายนอก องค์กร หน่วยงานต่างๆ ให้การสนับสนุน และสภาองค์กรชุมชนให้การสนับสนุนงบประมาณในการประชุมและแปลงเกษตรกรตัวอย่าง เครือข่ายเกษตรอินทรีย์น่านให้การสนับสนุนความรู้ / การตลาด และสารชีวภัณฑ์ เกษตรอำเภอสนับสนุนความรู้ ทักษะ เทคนิคการผลิตสารกำจัดศัตรูพืช รพ.สต.สนับสนุนข้อมูล ความรู้ และการรณรงค์การลด ละ เลิก การใช้สารเคมีให้แก่เกษตรกร
แนวทาง/แผนการพัฒนาด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและทุนชุมชนที่จะทำต่อในระยะข้างหน้า
- ขยายฐานสมาชิกเกษตรกรที่ทำการผลิตเกษตรอินทรีย์ให้เพิ่มขึ้น
- เชื่อมโยงกับตลาดภายนอกเพื่อรับซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์จากตำบล และมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง
- รณรงค์การปลูกพืชที่ปลอดสารเคมีอย่างต่อเนื่อง