นักสื่อสารจัดการความรู้ จังหวัดราชบุรี
คูบัว เป็นตำบลหนึ่งในอำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ซึ่งเล่ากันว่าเป็นชุมชนไท – ยวนที่อพยพมาจากเมืองเชียงแสน จังหวัดเชียงรายเมื่อ 200 กว่าปีก่อน ทุกวันนี้แม้เวลาจะล่วงเลยมากว่า 200 ปี แต่ยังคงมีชาวไท-ยวน ในตำบลคูบัวและตำบลดอนแร่ที่ยังสืบสานประเพณี ความเชื่อ และวัฒนธรรมต่างๆ ของบรรพบุรุษเอาไว้อย่างเหนียวแน่น ไม่ว่าจะเป็นภาษาพูดแบบคำเมือง หรือแม้แต่ภูมิปัญญาดั้งเดิมทางด้านหัตถกรรม โดยเฉพาะการทอผ้าซิ่นลายตีนจกซึ่งเป็นลวดลายที่มีความสวยงาม มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
แต่เดิมการทอผ้าเป็นแบบต่างคนต่างทำ ต่างตั้งร้านขายของตัวเอง ไม่มีการรวมกันเป็นกลุ่มก้อน และร้านขายผ้ามักจะเป็นของนายทุนที่มีเงิน มีเครื่องมือเป็นของตนเอง ซี่งเป็นจังหวะเดียวกับที่ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. จัดสัมมนาเรื่องเศรษฐกิจและทุน แกนนำจึงได้ชักชวนกันไปร่วมเรียนรู้ ดูแนวทางเรื่องการท่องเที่ยว แล้วนำมาสู่แนวคิดการทำร้านค้าชุมชน การท่องเที่ยว จนกระทั่งเกิด “กาดวิถีชุมชนคูบัว” ในช่วงกลางปี 2560
“กาดคูบัว” หรือตลาดคูบัว ตั้งอยู่ภายในวัดโขลงสุวรรณคีรี ใกล้กับโบราณสถานบ้านคูบัว เป็นตลาดโบราณเมืองเหนือที่สร้างจากการร่วมแรงร่วมใจของคนในพื้นที่ โดยมีกำนัน เจ้าอาวาส สภาองค์กรชุมชนตำบลคูบัวเป็นแกนนำหลัก และมีแกนนำร่วมอย่างผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วย ข้าราชการบำนาญ รวมถึงชาวบ้านของแต่ละหมู่บ้าน
กาดคูบัว เปิดขายของอาทิตย์ละ 3 วัน เริ่มตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันศุกร์ วันเสาร์ และวันอาทิตย์ ซึ่งเริ่มเปิดตลาดมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2560 ในช่วงเริ่มต้นมีร้านค้าเพียง 29 ซุ้ม มีการปลอบใจกันเองของบรรดาพ่อค้าแม่ค้าตั้งแต่ยังไม่ได้เปิดตลาดว่า “ถ้าไม่มีคนมาซื้อก็เอามาแบ่งกันกินระหว่างซุ้ม” แต่ผลที่เกิดขึ้นจริงหลังจากที่เปิดตลาดได้เพียงไม่กี่ชั่วโมง คือ ปรากฏว่าวันแรกที่เปิดขายของเพียงแค่บ่าย 3 โมงของหมดตลาด ผ้าไม่พอที่จะขาย คนที่มาซื้อตอนเย็นๆ ไม่มีของให้ซื้อเพราะของหมดแล้ว
สาเหตุที่ข้าวของขายดีเป็นเทน้ำเทท่า เนื่องจากได้มีการสื่อสารทางสื่อออนไลน์ เพื่อเชิญชวนคนมาเที่ยว และยิ่งนานวันสื่อนี้ก็ทำหน้าที่ได้ดีจนเกินคาด พระอาจารย์ใช้การสื่อสารทางเฟสบุ๊คโดยได้สร้างเพจกาดวิถีคูบัวขึ้นมา ปรากฏว่ามีคนไลค์ คนโพสต์ คนแชร์ เป็นจำนวนมาก ประกอบกับความโดดเด่นของตลาดที่แปลกแตกต่างไม่เหมือนใครในย่านนี้ คือ บรรยากาศตลาดโบราณแบบล้านนา ที่ผสมผสานเข้ากับกลิ่นอายวิถีชุมชนชาวไท – ยวน โดยพ่อค้าแม่ค้าในตลาดแทบจะทั้งหมดเป็นคนเชื้อสายไท – ยวน แต่งกายด้วยผ้าทอพื้นเมือง นำเอาพืชผัก อาหารพื้นบ้าน ขนมหวานพื้นถิ่น ของกิน ของใช้ ของฝากมาจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะผ้าซิ่นตีนจก ซึ่งเป็นของขึ้นชื่อของตำบลคูบัว ด้วยลวดลายและสีสันที่สวยงาม แสดงออกถึงลักษณะเฉพาะของชาวไท – ยวน เอกลักษณ์ คือ มี 3 สี ได้แก่ เขียว ดำ และแดง
ด้วยทุนเดิมทางด้านวัฒนธรรมตามแบบชาวล้านนาในพื้นที่ภาคกลางที่ค่อนไปทางตะวันตก แม้ว่าจะอยู่ต่างที่ต่างถิ่นแต่ไม่ถูกกลืนกลายไปจนหมด กาดคูบัว ไม่เพียงแต่เป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ แต่ยังเป็นการสืบสานและเผยแพร่วัฒนธรรม ประเพณีอันเป็นรากเหง้าของบรรพบุรุษ โดยการนำวัฒนธรรมการแต่งกาย ผ้าทอ อาหารโบราณมาเป็นจุดขายในการสร้างตลาดวิถีชุมชนไท – ยวน
หลังจากที่ตลาดคูบัวเริ่มเป็นที่รู้จัก มีนักท่องเที่ยวแวะมาเยือนและจับจ่ายกันมากขึ้น ร้านค้าก็เพิ่มมากขึ้นจากเดิม (ปัจจุบันมีประมาณ 70 ร้าน) ทางพื้นที่เองก็เริ่มปรับตัว มีการจัดระบบเรื่องร้านค้า ของที่จะนำมาขาย รวมถึงเรื่องการแสดงเพื่อสร้างแรงดึงดูดและการหย่อนใจแก่นักท่องเที่ยว โดยมีคณะกรรมการตลาดชุดต่างๆ เข้ามารับผิดชอบ กำนันจัดระบบในการคุมตลาด ดูแลความเรียบร้อยทั้งหมด ทำตั้งแต่รดน้ำต้นไม้ จนกระทั่งถือดาบคุมตลาด ผู้ใหญ่ปรีชาดูเรื่องร้านค้าทั้งหมด แกจะดูว่าร้านต้องเป็นอย่างไร คนขายแต่งตัวยังไง จัดระเบียบ ใครจะดูเรื่องการแสดงที่ลานวัฒนธรรม แล้วมีการวางแผนการแสดงอาทิตย์ต่ออาทิตย์ นำเอาเรื่องการออกกำลังกายบาสโลบมาให้แม่ค้าเริ่มหัดเต้นและแสดงบนเวที แล้วก็ชวนคนที่มาเที่ยวตลาดเต้นไปด้วย และกำนัน ผู้ใหญ่บ้านเองก็แต่งชุดโบราณ ผ้าขาวม้าคาดเอว ซึ่งได้สร้างความสนใจให้กับนักท่องเที่ยวได้เป็นจำนวนมาก ขณะที่นักท่องเที่ยวเองก็ยังมีส่วนร่วมในการใส่ชุดไทยมาเที่ยวที่ตลาดแห่งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกระแสจากละครดัง ในช่วง “ออเจ้าฟีเวอร์” และการส่งเสริมของพระผู้เป็นแกนนำในพื้นที่ พระอาจารย์บอกว่า หากใครแต่งชุดไทยมาเที่ยวที่คูบัวจะให้กาแฟฟรี 1 แก้ว” ทำให้กาดคูบัวคึกคักดูแปลกตาไปอีกแบบ
ปัจจุบัน ตลาดคูบัวเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง อีกทั้งยังมีหน่วยงาน องค์กรต่างๆ เข้ามาสนับสนุน อาทิ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด บริษัทประชารัฐรักสามัคคี จังหวัดราชบุรี เครือข่ายการท่องเที่ยวเพื่อความรับผิดชอบต่อสังคม ไทยพีบีเอส สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ฯลฯ โดยมีการบริหารจัดการในรูปแบบของคณะกรรมการกาด ที่มีองค์ประกอบมาจาก กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วย ปราชญ์ชาวบ้าน แม่ค้า ฯลฯ และมีสภาองค์กรชุมชนเป็นหลักในการหนุนเสริมการทำงาน
แม้ว่ากาดคูบัวจะเปิดขายของเพียงแค่สัปดาห์ละ 3 วัน แต่พ่อค้าแม่ค้าขายสินค้าได้ประมาณ 2 ล้านบาทต่อเดือน หรือราว 600,000 บาทต่ออาทิตย์ ยังไม่นับรวมช่วงที่กิจกรรมพิเศษหรือเทศกาลที่สามารถขายสินค้าได้มากกว่าปกติหลายเท่าตัว นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดรายได้แก่คนในพื้นที่ที่นอกเหนือจากคนขายของในกาด เช่น กลุ่มแม่บ้านทอผ้า, กลุ่มผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมนอกตำบล, กลุ่มผู้ปลูกผักปลอดสารอาหารปลอดภัย, เด็กๆ ในตำบลมีกิจกรรมร่วมกับผู้ใหญ่ และการแสดง, ผู้สูงอายุมีรายได้เสริมจากการจักสาน เช่น การสานพัดจากไม้ไผ่, มีการเชื่อมโยงกลุ่มแม่บ้านจากสภาองค์กรชุมชนตำบลอื่น เช่น กลุ่มนวดแผนไทย กลุ่มจักสานงานจากเส้นพลาสติกตำบลบ่อกระดาน กลุ่มทำปลาส้มจากตำบลป่าไก่ที่นำสินค้ามาจำหน่ายในตลาด อีกทั้งธุรกิจร้านอาหารที่เคยซบเซาได้มีโอกาสต้อนรับลูกค้าจากภายนอกเพิ่มมากขึ้น รวมถึงระบบขนส่ง เช่น รถรับจ้างมีรายได้จากรับส่งนักท่องเที่ยวมากขึ้น เป็นต้น