เมื่อทีมวิชาการถอดบทเรียนความรู้ เดินทางเข้าเขตพื้นที่ตำบลน้ำสวย อำเภอเมือง จังหวัดเลย และมาปักหลัก ณ ที่ทำการกำนันตำบลน้ำสวย เราพบว่าที่นั่นมีชายและหญิงวัยกลางคนถึงสูงวัยจำนวนหนึ่งนั่งรอพวกเราอยู่ก่อนแล้ว เมื่อได้เข้าไปทักทายและพูดคุยจึงทราบว่าท่านเหล่านี้ คือ “ผู้นำท้องที่” ที่เตรียมพร้อมสำหรับการมาพูดคุยกับพวกเราวันนี้ แม้ว่าตำบลน้ำสวยจะเป็นตำบลเล็ก ๆ ที่มีเพียง 9 หมู่บ้านเท่านั้น แต่เมื่อถึงเวลาที่ผู้คนจำนวนหนึ่งเดินทางมาสมทบ ภาพแรกที่ทีมงานประทับใจและรู้สึกได้ถึงความพร้อมเพรียงของผู้นำและคนทำงาน คือ มีผู้เข้าร่วมในวงสนทนากว่า 20 คน และช่วงแรกของการสนทนาทำให้เราทราบว่าประชากรในเขตตำบลน้ำสวยประสบปัญหาเรื่องไม่มีที่ดินสร้างที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง สภาพบ้านเรือนที่ไม่สมบูรณ์ เช่น ไม่มีประตู หน้าต่าง เป็นต้น บ้านน้ำท่วม และบางส่วนต้องเช่าบ้านอยู่อาศัย
การเข้ามาของโครงการบ้านพอเพียงชนบทในตำบลน้ำสวยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 – 2561 จึงสามารถช่วยบรรเทาครัวเรือนผู้เดือดร้อนได้กว่า 20 ครัวเรือนแล้ว โดยการทำงานของ “คณะทำงาน” ตำบลน้ำสวยค่อนข้างโดดเด่นในบทบาทของ “ผู้นำท้องที่” ที่เข้าร่วมเป็นคณะทำงานอย่างแข็งขัน ตั้งแต่ก่อนเริ่มโครงการฯ ที่ผู้นำทุกคนต้องเข้าใจเป้าหมายและวัตถุประสงค์ในภาพรวมของโครงการ โดยมีแนวคิดหลักที่เป็นฉันทามติของคณะทำงานที่ว่า “ครัวเรือนที่มีความจำเป็นและเดือดร้อนต้องได้รับการดูแลก่อนเป็นอันดับแรก” ซึ่งกว่าจะได้ครัวเรือนเป้าหมายดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่าย และเพื่อลดอคติและข้อทักท้วงเกี่ยวกับการพิจารณาครัวเรือนผู้รับประโยชน์ คณะทำงานจึงได้กำหนดหลักเกณฑ์เพื่อการพิจารณาคัดเลือกครัวเรือนผู้รับประโยชน์ ได้แก่ สมาชิกในครัวเรือนต้องไม่เล่นการพนัน, ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด และมีส่วนร่วมในกิจกรรมการพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นเกณฑ์มาตรฐานกลางในการค้นหาและคัดเลือกครัวเรือน ก่อนจะนำเข้าสู่การพิจารณารับรองของประชาคมหมู่บ้านและเสนอต่อสภาองค์กรชุมชนตำบลน้ำสวยเพื่อขอรับการช่วยเหลือต่อไป อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการทำงานคงไม่ได้สิ้นสุดแต่เพียงเท่านี้ แต่บทบาทของคณะทำงานยังต้องเดินทางต่อไปเพื่อให้ครัวเรือนผู้เดือดร้อนได้รับการช่วยเหลือ อาทิ การเริ่มต้นสำรวจร้านค้าวัสดุก่อสร้างที่ให้ราคาเหมาะสมและสอดคล้องกับงบประมาณจากส่วนกลาง การระดมแรงงานซ่อมแซม/สร้างบ้านให้กับครัวเรือนผู้รับประโยชน์ ซึ่งอาจใช้เวลามากน้อยต่างกันไปตามความจำเป็นและความเดือดร้อนตั้งแต่ 1 วันเป็นอย่างน้อย จนถึงมากสุดคือร่วม 1 เดือน รวมไปถึงการส่งมอบบ้านอย่างเป็นทางการ มอบอุปกรณ์ยังชีพหรือเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ครัวเรือนผู้รับประโยชน์อีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นการทำงานตั้งแต่ขั้นต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำอย่างครบวงจรเลยทีเดียว
แนวคิดการทำงานที่ว่า “ครัวเรือนที่มีความจำเป็นและเดือดร้อนต้องได้รับการดูแลก่อน” สะท้อนผ่านการทำงานของคณะทำงานตำบลน้ำสวยได้ค่อนข้างชัดเจน กล่าวคือ แม้งบประมาณที่ได้รับการจัดสรรจาก พอช. จะมีเกณฑ์มาตรฐานต่อครัวเรือนที่ถูกกำหนดมาชัดเจนแล้ว แต่เมื่อแนวคิดข้างต้นผนวกรวมกับกระบวนการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพของคณะทำงาน รูปแบบการจัดสรรต่อครัวเรือนได้ถูกปรับเปลี่ยนเป็นตาม “ความจำเป็นและความเดือดร้อน” ของครัวเรือนนั้น ๆ ซึ่งจะมีจำนวนมากน้อยแตกต่างกันออกไปเป็นสำคัญตั้งแต่ 8,000 บาทต่อครัวเรือน จนถึง 60,000 บาทต่อครัวเรือน รูปธรรมที่ดูจะเห็นได้ชัดเจนจากรูปแบบการจัดการเช่นนี้ คือ กรณีครัวเรือนของนายแวว คณะกว้าง (เพื่อนบ้านจะเรียกกันว่ายายแดง เพราะเป็นสาวประเภทสอง) อายุ 72 ปี ที่อยู่อาศัยเพียงลำพังในบ้านกล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า
“สภาพเป็นแอ่ง เวลาฝนตก น้ำจะท่วมขังพื้นบ้าน เนื่องจากเป็นบ้านไม้ยกไม่สูงมากนัก เวลาน้ำท่วมต้องอาศัยนอนบนแคร่ไม้ ออกไปไหนมาไหนไม่ได้ แต่หากฝนตกหนักน้ำท่วมสูงจนทำให้นอนไม่ได้ก็จะย้ายไปนอนบ้านญาติแทน”
แต่ปัจจุบันการเข้ามาของโครงการบ้านพอเพียงชนบทได้รับการพิจารณาและเป็นมติของคณะทำงานให้จัดสรรงบประมาณช่วยเหลือแก่ยายแดง ซึ่งถือว่าเป็นกรณี “สีแดง” กล่าวคือ มีความจำเป็นและความเดือดร้อนอยู่ในระดับวิกฤตสูงมาก ทางคณะทำงานและชาวบ้านจึงได้ถมดินยกพื้นบ้านยายแดงให้สูงขึ้นและออกแรงงานสร้าง “บ้านหลังใหม่” แก่ยายแดง และนำไม้จากบ้านหลังเก่ามาต่อเติมด้วย ในช่วงท้ายของคำถามยายแดงบอกว่า “ปัจจุบันหลับสบายมากขึ้น อยู่สบาย และมีชานรับลมไว้ต้อนรับผู้คน ญาติพี่น้อง ลูกหลาน เวลามาเยี่ยมหรือมานั่งเล่นด้วย รู้สึกมั่นคง ปลอดภัยขึ้นกว่าเดิมมาก” พร้อมรอบยิ้มอย่างมีความสุขที่พวกเราสังเกตเห็นได้จากความสุขใหม่ที่เกิดขึ้นของยายแดง
นอกจากยายแดงแล้ว เสียงสะท้อนแห่งความสุขยังเบ่งบานและกระจายอยู่ในตัวแทนครัวเรือนผู้รับประโยชน์ท่านอื่น ๆ ที่พวกเราฟังแล้วอดกระหยิ่มยิ้มย่องในใจด้วยไม่ได้ อาทิ
ปุ่น ก้านพลู กล่าวว่า … “อาศัยอยู่หมู่ 6 สมาชิกในครอบครัวมีอยู่ 4 คน ปัญหาของบ้านก่อนเข้าร่วมโครงการฯ คือ ไม่มีประตู/หน้าต่าง เวลาฝนตกฝนจะสาดเข้าบ้าน ทำให้แฉะ ต้องย้ายของไปตามมุมบ้านที่ฝนสาดไม่ถึง แต่ปัจจุบันได้หน้าต่าง 3 ช่อง จำนวน 11 บาน ประตูบ้าน 2 บานใหญ่ ปัจจุบันรู้สึกว่าบ้านมีความเป็นบ้านมากขึ้น มีความปลอดภัยและมั่นคงมากขึ้น”
มี ขวัญคุ้ม กล่าวว่า … “อาศัยอยู่หมู่ 9 สภาพปัญหาของบ้านก่อนเข้าร่วมโครงการฯ คือ สังกะสีรั่ว สภาพโครงสร้างหลังคาเป็นไม้ไผ่ และต่อยื่นจากตัวบ้านหลังใหญ่ เวลาลมพายุเข้าจะพัดหลังคาจนหลุดปลิว กลัว “ใจไม่ดี” ปลวกขึ้นต้นเสาและโครงไม้เกือบจะทุกจุด แต่ตอนนี้บ้านได้รับการซ่อมแซมปรับปรุง รู้สึกดีใจมาก นอนหลับฝันดีทุกคืน นอนเต็มตื่น สุขภาพร่างกายก็แข็งแรงดีตามไปด้วย”
ทองหล่าม ผุยมาตย์ กล่าวว่า … “อาศัยอยู่หมู่ 4 มีสมาชิกในครอบครัว 4 คน สภาพปัญหาของบ้านก่อนเข้าร่วมโครงการฯ คือ บ้านเป็นพื้นดิน เวลาฝนตกจะแฉะ ต้นเสาและผนังบ้านเป็นไม้ ปลวกและมอดมากินเกือบหมดแล้ว เวลาฝนตกจะนอนไม่ได้ ต้องไปอาศัยบ้านญาติในการนอน แต่หลังจากทางโครงการฯ เข้ามา ได้ปรับปรุงพื้นบ้านโดยการเทพื้นปูนให้ใหม่ เปลี่ยนผนังโดยการใช้ไม้ฝาเฌอร่าให้ใหม่ ตอนนี้อยู่สบาย หลับเต็มอิ่ม เต็มตื่น ไม่ต้องกลัวหรือกังวลเวลาฝนตกอีกแล้ว”
ผ่อน โพธิ์ศรี … กล่าวว่า “อาศัยอยู่หมู่ที่ 12 สมาชิกอาศัยอยู่ร่วมกัน 2 คนตายายเท่านั้น สภาพปัญหาของบ้านก่อนเข้าร่วมโครงการฯ คือ ไม่มีประตู ไม่มีหน้าต่าง โครงสร้างบ้านเป็นไม้ พบปัญหาเรื่องปลวกและมอดกัดแทะ ตอนนี้ได้รับการซ่อมแซมปรับปรุงให้ใหม่ ทำให้นอนหลับสบายมากขึ้น”
การทำงานที่ประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมข้างต้นนี้ จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยหากปราศจากซึ่งความร่วมไม้ร่วมมือของภาคีการพัฒนาทั้งภายในชุมชนอย่างผู้นำท้องที่ที่มีบทบาทการขับเคลื่อนหลักในรูปของสภาองค์กรชุมชนตำบลน้ำสวย ตั้งแต่การสำรวจครัวเรือนผู้รับประโยชน์ การประสานการทำงานร่วมกัน การประชุมพิจารณากลั่นกรองและคัดเลือกครัวเรือน รวมไปถึงภาคีภายนอกชุมชน อาทิ สภาองค์กรชุมชนตำบลที่เป็น “ตัวกลาง” ในการทำงานและมีบทบาทการสนับสนุน คือ การประสานงานและการจัดการเอกสาร/ข้อมูล, การส่งต่อข้อมูลครัวเรือนแก่ส่วนที่เกี่ยวข้อง, การติดตามผลการพิจารณาจากขบวนจังหวัด, การเป็นช่องทางเปิดบัญชีรับโอนเงินช่วยเหลือ บทบาทการทำงานเช่นนี้ได้เสริมพลังในทางบวกแก่คนทำงานที่สะท้อนออกมาจากความรู้สึกที่ได้ทำงานในโครงการฯ นี้อย่างเห็นได้ชัด อาทิ“รู้สึกภูมิใจที่ได้ช่วยลูกบ้านให้มีบ้านเรือนที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” “คนอยู่ก็สบายขึ้น คนทำงานก็ได้บุญมากขึ้น เพราะเป็นการช่วยเหลือคนที่ด้อยกว่า” นอกจากนี้ยังมีส่วนราชการในท้องถิ่น ได้แก่ โรงเรียนบ้านน้ำสวย แม้จะเป็นสถาบันการศึกษา แต่ได้ใช้พลังของนักเรียนเป็นมดงานในการเคลื่อนย้าย ขนวัสดุ ในช่วงการรื้อบ้าน สถานีตำรวจภูธรนาดินดำ หน่วยงานด้านการรักษาความปลอดภัยให้กับประชาชนมีส่วนร่วมในการสนับสนุน อุปกรณ์เครื่องครัวสำหรับการประกอบอาหาร และองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำสวยที่เข้ามามีบทบาทด้านปรับภูมิทัศน์ของสถานที่และสวัสดิการในวันส่งมอบบ้าน เป็นต้น นอกจากนี้ในภาคธุรกิจเอกชนอย่างร้านชนานนท์ซึ่งเป็นร้านจำหน่ายวัสดุและอุปกรณ์ก่อสร้างยังให้การสนับสนุนการถมดินและการปรับพื้นดินให้กับครัวเรือนผู้รับประโยชน์ร่วมด้วย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการประสานความร่วมมือและขอรับการสนับสนุนจากภาคีทั้งภายในและภายนอกชุมชนตามความสามารถเฉพาะของแต่ละภาคส่วนเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เพราะเป้าหมายปลายทางสุดท้ายที่จะได้รับประโยชน์นั้น คือ ครัวเรือนผู้รับประโยชน์ นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ในช่วงสุดท้ายของการสนทนา ผู้เข้าร่วมสนทนาได้ประเมินความพึงพอใจและความสำเร็จของการทำงาน พบว่า โดยภาพรวมประเมินคะแนนความพึงพอใจอยู่ที่ระดับ 85 คะแนน เนื่องจากเห็นว่ามีบางประเด็นแต่เป็นเรื่องเล็กน้อยที่ยังเป็นข้อจำกัดของการทำงานอยู่บ้าง อาทิ งบประมาณในการสนับสนุนต่อครัวเรือนยังไม่เพียงพอมากนัก การประสานความร่วมมือกับภาคท้องถิ่นยังมีน้อย หรือเงื่อนไขการช่วยเหลือครัวเรือนผู้รับประโยชน์ยังติดอยู่กับเรื่องสิทธิบางประการ เช่น การไม่มีเลขที่ประจำบ้าน การไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน เป็นต้น ทำให้ยังไม่สามารถช่วยเหลือบางครัวเรือนได้อย่างครอบคลุม คณะทำงานตำบลน้ำสวยจึงได้ร่วมกันสะท้อนข้อเสนอแนะเพื่อเป็นแนวทางการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน ได้แก่ 1) ควรพิจารณางบประมาณสนับสนุนการซ่อมสร้างบ้านที่สามารถปรับปรุงบ้านให้เสร็จสมบูรณ์และอยู่ได้ระดับดีเบื้องต้น เช่น จำนวนประมาณ 30,000-50,000 บาทต่อครัวเรือน พร้อมงบประมาณสำหรับการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายเกี่ยวเนื่องอื่น ๆ ต่อครัวเรือน เช่น ค่าประสานงาน, ค่าถ่ายเอกสาร, ค่าสวัสดิการอาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น 2) ควรประสานความร่วมมือและการสนับสนุนด้านต่าง ๆ จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่มากขึ้น อาทิ งบประมาณสมทบเพิ่มเติม หรือบุคลากร/ช่างท้องถิ่นสำหรับการประเมินวัสดุและราคาต่อครัวเรือน เพื่อให้เกิดภาพการทำงานที่เชื่อมประสานและบูรณาการการทำงานพัฒนาในพื้นที่อย่างเป็นองค์รวม
บทความโดย ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดเลยและพอช.อีสาน