เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) โดยสำนักงานภาคกลางและตะวันตก ร่วมกับเครือข่ายช่วยเหลือและฟื้นฟูชุมชนภาคกลางและตะวันตก จัดประชุมติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการครัวกลางชุมชนที่ประสบภัยพิบัติภาคกลางและตะวันตก ปี 2565 ผ่านระบบโปรแกรม Zoom Meeting โดยมีเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดจำนวน 5 จังหวัด และผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตำบลจำนวน 28 ตำบลเข้าร่วม
ตามที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สนับสนุนงบประมาณโครงการครัวกลางชุมชนที่ประสบภัยพิบัติภาคกลางและตะวันตก ปี 2565 ให้กับพื้นที่ประสบภัยพิบัติภาคกลางและตะวันตก จำนวน 28 ตำบล งบประมาณรวม 2,700,000 บาท (สองล้านเจ็ดแสนบาท) ประกอบด้วย
- จังหวัดชัยนาท จำนวน 5 ตำบล ได้แก่ ตำบลโพนางดำออก เทศบาลตำบลเจ้าพระยา เทศบาลตำบลตลุก เทศบาลตำบลวัดสิงห์ และตำบลหาดอาษา
- จังหวัดลพบุรี จำนวน 5 ตำบล ได้แก่ ตำบลหนองเมือง ตำบลบ้านทราย ตำบลพุคา ตำบลบ้านกล้วย และตำบลหนองกระเบียน
- จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลเกาะเรียน ตำบลมารวิชัย ตำบลเกาะเกิด และตำบลมหาราช
- จังหวัดสิงห์บุรี จำนวน 8 ตำบล ได้แก่ ตำบลบางกระบือ เทศบาลเมืองสิงห์บุรี ตำบลท่าข้าม ตำบลโพประจักษ์ ตำบลถอนสมอ ตำบลบางน้ำเชี่ยว ตำบลบ้านหม้อ และตำบลประศุก
- จังหวัดอ่างทอง จำนวน 6 ตำบล ได้แก่ เทศบาลตำบลไชยภูมิ เทศบาลตำบลเกษไชโย เทศบาลตำบลโผงเผง ตำบลบางเจ้าฉ่า ตำบลสามง่าม และตำบลท่าช้าง
จากการรายงานผลความคืบหน้าการดำเนินงานทั้ง 5 จังหวัด พบว่า ในช่วงสถานการณ์อุกทกภัยที่ส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่ สภาองค์กรชุมชนตำบลได้มีการลงพื้นที่สำรวจและจัดทำข้อมูลผู้เดือดร้อน และได้มีการช่วยเหลือในเบื้องต้นร่วมกับภาคีหน่วยงานในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการเรี่ยไรเงินจากผู้นำชุมชนและภาคีในพื้นที่เพื่อจัดทำและส่งมอบถุงยังชีพ การจัดทำครัวกลางชุมชน การกรอกกระสอบทรายกั้นน้ำ และการจัดเวรยามดูแลประชาชน ซึ่งภายหลังการสนับสนุนงบประมาณจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน โดยสภาองค์กรชุมชนนำมาต่อยอดการดำเนินงาน โดยประชุมคณะทำงานและภาคีความร่วมมือ เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ อสม. วัด โรงเรียน เป็นต้น เพื่อระดมความร่วมมือในการประเมินสถานการณ์และจัดลำดับความช่วยเหลือตามความจำเป็นเร่งด่วน โดยเน้นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย กลุ่มเปราะบาง และกลุ่มผู้ป่วยติดเตียง รวมไปถึงการแบ่งบทบาทการทำงานในการจัดทำครัวกลาง เช่น การจัดหาวัตถุดิบ/อุปกรณ์ การทำอาหาร เป็นต้น และการแบ่งโซนการแจกจ่ายอาหารปรุงสุกให้กับผู้ประสบภัยในพื้นที่ ซึ่งนอกจากสภาองค์กรชุมชนตำบลได้ดำเนินการช่วยเหลือพี่น้องในพื้นที่ของตัวเองแล้ว ยังแบ่งปันอาหารปรุงสุกให้กับพี่น้องในตำบลใกล้เคียงในลักษณะ “เพื่อนช่วยเพื่อน” อาทิเช่น จังหวัดอ่างทอง ที่สภาองค์กรชุมชนทั้ง 6 ตำบล ได้ร่วมส่งมอบอาหารปรุงสุกให้กับพี่น้องที่ประสบภัยในพื้นที่ใกล้เคียงกว่า 11 ตำบล ได้แก่ ตำบลมหาดไทย ตำบลหัวตะพาน ตำบลโคกพุทรา ตำบลบางระกำ ตำบลโพธิ์รังนก ตำบลจระข้ร้อง ตำบลบางจัก ตำบลหลักฟ้า ตำบลเทวราช ตำบลราชสถิต และตำบลไผ่ดำพัฒนา ส่งผลให้เกิดการช่วยเหลือพี่น้องที่ประสบภัยในจังหวัดจำนวนรวม 7,725 ครัวเรือน
ในส่วนพื้นที่ตำบลบางกระบือ อำเภอเมืองสิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ได้เชื่อมโยงการทำงานระหว่างสภาองค์กรชุมชนตำบลและกองทุนสวัสดิการชุมชน ในการปฏิบัติการจัดทำแผนรับมือภัยพิบัติทุกมิติ (ก่อนเกิด-ระหว่างเกิด-หลังเกิด) พร้อมประสานความร่วมมือกับภาคีความร่วมมือในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลบางกระบือ ผู้นำท้องที่ และภาคเอกชน เช่น สภาอุตสาหกรรม หอการค้า กาชาดจังหวัด เป็นต้น ในการสนับสนุนบุคคลากรและบูรณาการการจัดทำครัวกลางชุมชนร่วมกับงบประมาณที่ได้รับจาก พอช. นอกจากนี้ ยังมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบางกระบือ ทหาร “กองพันทหารปืนใหญ่” และอาสาสมัครกู้ภัย ที่สนับสนุนการช่วยเหลือเบื้องต้น/ เร่งด่วนในการดูแลสุขภาพ อพยพคน และช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินในช่วงสถานการณ์ดังกล่าว ถือเป็นตัวอย่างรูปธรรมการดำเนินงานที่สะท้อนการสานพลังความร่วมมือในการช่วยเหลือและเยียวยาพี่น้องที่ประสบอุกทกภัยในพื้นที่
อาจกล่าวได้ว่า การทำครัวกลางชุมชนถือเป็นกิจกรรมที่สะท้อนความร่วมมือและสร้างจิตอาสาการทำงานของภาคีทุกภาคส่วนในพื้นที่โดยไม่มีค่าจ้าง เช่น สภาองค์กรชุมชน กองทุนสวัสดิการชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ อสม. วัด โรงเรียน ภาคเอกชน ครัวพระราชทาน เป็นต้น เป็นผลให้น้องที่ประสบอุกทภัยในพื้นที่ได้รับการเยียวยาและมอบขวัญกำลังใจผ่านการทำครัวกลาง เกิดการแบ่งปัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และเกื้อกูลกันของคนในชุมชน นอกจากนี้ ยังสะท้อนการทำงานของสภาองค์กรชุมชนเป็นที่ประจักษ์เพิ่มขึ้นด้วย