อุดรธานี/ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดประชุมคณะอนุกรรมการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครั้งที่ 3/2565 ปีงบประมาณ 2566 ระหว่างเวลา 09.00 – 17.00 น ณ ห้องประชุมพรรณศิริ ชั้น 1 โรงแรมเดอะพรรณราย อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี โดยมีนายเชิด สิงห์คำป้อง และนายสุพัฒน์ จันทนา ประธานคณะอนุกรรมการร่วม และคณะอนุกรรมการภาค ผู้แทนขบวนองค์กรชุมชน ผู้แทนพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดขอนแก่น ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ พอช. เข้าร่วมการประชุม เพื่อหารือทิศทางการทำงาน ติดตามความคืบหน้าเรื่องสืบเนื่อง พิจารณารับรองกลไกบริหารเครือข่ายองค์กรชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระดับจังหวัดระดับกลุ่มจังหวัด คณะทำงานพิจารณาโครงการกลุ่มจังหวัด 5 กลุ่มจังหวัด และพิจารณากรอบงบประมาณ แนวทาง กระบวนการและแผนงานงบประมาณปี 2566
นายสุพัฒน์ จันทนา ผู้อำนวยการภาค สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พอช. กล่าวถึงทิศทางการทำงานของคณะกรรมการสถาบันและแนวนโยบายของผู้อำนวยการ พอช. โดยกล่าวว่า นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานบอร์ด พอช. มีนโยบายต่อยอดพัฒนาการทำงานของขบวนองค์กรชุมชน การพัฒนาผู้นำ การสร้างชุมชนเข้มแข็ง ปี 2579 ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งเต็มพื้นที่ประเทศไทย ผ่านการต่อยอดและเสริมประสิทธิภาพงาน ที่พอช.ริเริ่มไว้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มุ่งสู่การพึ่งตนเองภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 7 ด้าน 1) โรงเรียนพัฒนาผู้นำชุมชน การพัฒนาผู้นำเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาคนของอีสาน 2) ป่าชุมชนเพื่อการจัดการตนเอง การจัดการทรัพยากร โยงไปสู่การทำงานเรื่องป่าชุมชน 3) การพัฒนาสื่อและช่องทางที่เอื้อต่อการเข้าถึงประชาชน/ท้องถิ่น 4) การพัฒนาศักยภาพบุคลากรภาครัฐให้เป็นพี่เลี้ยงและถ่ายทอดบริการภาครัฐให้เข้าถึงองค์กร ขบวนชุมชน 5) การจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการจัดการตนเองของภาคประชาชน 6) การปรับปรุงกฎหมาย/ระเบียบข้อบังคับให้เอื้อต่องานพัฒนาชุมชน และ 7) ส่งเสริมความร่วมมือทุกภาคส่วนสนับสนุนการพัฒนาชุมชน เป็นการคิดในเชิงยุทธศาสตร์ ที่มีรูปธรรมที่ชัดเจน และจะโยงไปสู่การปฏิบัติ

อย่างไรก็ตาม จากแผน 5 ปีของ พอช. เชื่อมโยงโยงกับการสนับสนุนโครงการปี 2566 ที่มีกรอบงบประมาณกระจายมาที่ภาคอีสาน 5 หมวดงบประมาณ วงเงิน 217,292,180 บาท ที่ประชุมคณะอนุกรรมการภาค ได้เห็นชอบกรอบงบประมาณ เป็นดังนี้ 1) โครงการผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบทมีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย (โครงการบ้านพอเพียง) 4,950 ครัวเรือน 105,168,000 บาท 2) โครงการสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชน 632 กองทุน (สมาชิก 508,305 คน) 93,626,180 บาท 3) โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท 120 ตำบล/เมือง 6,320,000 บาท 4) โครงการป้องกันและต่อต้านการทุจริตโดยการมีส่วนร่วมฯ ภาคอีสาน : 68 ตำบล/เมือง 5 จังหวัด 2,486,000 บาท และ 5) ชุมชนท้องถิ่นได้รับการฟื้นฟูและพัฒนาฯ 9,692,000 บาท พัฒนากิจการของสภาองค์กรชุมชนตำบล 414 ตำบล จัดทำแผนพัฒนา 504 ตำบล เพื่อหนุนเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งต่อไป
