สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) วันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน 2565 เวลา 09.00 น. สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) นำโดย นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน พร้อมด้วย ดร.อัมพวัลย์ วิศวธีรานนท์ ที่ปรึกษา นายพรเทพ ศรีสมพงษ์ หัวหน้าสำนักทรัพยากรบุคคล นางสาวเปรมปรีด์ นาราช หัวหน้างานทรัพยากรบุคคลอาวุโส นางเสาวลักษณ์ ปรปักษ์พ่าย หัวหน้างานปฏิบัติการชุมชน สำนักเลขานุการยุทธศาสตร์ชุมชนเข้มแข็ง ได้ประชุมร่วมกับ ศ.ดร.ทิพวรรณ หล่อสุวรรณรัตน์ อธิการบดี และคณาจารย์จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้แก่ รศ.ดร.อมรรัตน์ อภินันท์มหกุล รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและชุมชนสัมพันธ์ รศ.ดร.สมบัติ กุสุมาวลี รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและกิจการนานาชาติ โดยมี ดร.วิชัย รูปขำดี อดีตอาจารย์คณะพัฒนาสังคมฯ นิด้า เข้าร่วมแลกเปลี่ยนการทำงานทั้งสองฝ่าย ณ ห้องอินทรภูวศักดิ์ ชั้น 8 อาคารนราธิปพงศ์ประพันธ์
นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน
โดยผู้บริหารทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนตามวัตถุประสงค์ของการหารือร่วมกัน คือ เพื่อให้การพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้เกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน โดยสอดรับกับวิสัยทัศน์นิด้า“ในการเป็นสถาบันสรรค์สร้างปัญญาของสังคม และสร้างผู้นำ เพื่อไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และให้สอดรับแผนปฏิบัติการ ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2566-2570) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ให้เกิดชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งสู่การจัดการตนเอง ภายใต้การดำเนินงาน 4 ประเด็นการพัฒนา ได้แก่
(1) การพัฒนาโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง สนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นมีระบบที่พัฒนาไปสู่การจัดการตนเอง
(2) การสานพลังความสัมพันธ์ของชุมชนท้องถิ่นและภาคีเครือข่ายพัฒนาสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและนโยบาย
(3) การพัฒนาและเสริมสร้างขีดความสามารถของผู้นำ คน และขบวนองค์กรชุมชน
(4) การพัฒนาระบบบริหารจัดการองค์กรในการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น
ศ.ดร.ทิพวรรณ หล่อสุวรรณรัตน์ อธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
โดยมีการแลกเปลี่ยนร่วมกันในการทำงานเพื่อสอดรับกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) และแผนปฏิบัติการ ระยะ ๕ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๖ – ๒๕๗๐) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เพื่อเป้าหมายสุดท้าย คือ “ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง เต็มพื้นที่ประเทศไทย” โดยมีเป้าหมายที่เป็นประเด็นแนวทางสำคัญ คือ
(1) การสร้างโรงเรียนผู้นำชุมชนในอนาคต (Leadership Development Academy) ทำให้ผู้นำมีความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ และสามารถหารายได้เลี้ยงตนเองได้ และสร้าง New Gen คนรุ่นใหม่ และการพัฒนาคนรุ่นเดิมควบคู่กัน
(2) การสร้างทีมร่วมช่วยชุมชน ในการขอทุนต่าง ๆ จากภาครัฐ ภาคเอกชน สนับสนุนการเขียนโครงการในการเสนอแหล่งงบประมาณต่าง ๆ ทั้งในและนอกประเทศ และเป็นมีการติดตามการวิจัยและการทำงาน เพื่อขยายพื้นที่นำร่องให้เกิดการเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม
(3) การพัฒนางานวิจัยชุมชนท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการบูรณาการกับงานพัฒนาความร่วมมือและการพัฒนาผู้นำขบวนองค์กรชุมชน เครือข่าย และบุคลากรของ พอช. เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย “ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งเต็มพื้นที่ประเทศไทย” โดยใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง ทุนชุมชน ผ่านประเด็นงานในพื้นที่ และให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วนขับเคลื่อนไปพร้อมกัน
(4) การคิดค้นนวตกรรม และการนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อให้เกิดการทำงานกับภาคประชาชนในพื้นที่ได้มากขึ้น เน้นการทำงานเชิงคุณภาพ ควบคู่กับปริมาณ พร้อมพัฒนาต่อยอดพื้นที่เข้มแข็ง และพัฒนาพื้นที่ไม่เข้มแข็งให้เกิดการยกระดับการทำงาน
(5) การออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) โดยไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ในระบบ แต่สามารถเป็นการเรียนรู้แบบสะสมประสบการณ์โดยแปลงเป็นเครดิตให้คนในชุมชน นักศึกษา และผู้สนใจสามารถเข้าร่วม และมีใบรับรองหลักสูตรอย่างมีมาตรฐานสากล
ทั้งนี้ความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นเป็นบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และเครือข่ายองค์กรชุมชน ทั้ง 3 ฝ่ายที่จะเกิดขึ้นในวันอังคารที่ 13 ธันวาคม 2565 นี้ โดยเป็นความร่วมมือทางวิชาการว่าด้วย “การเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็ง โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง” ผ่านองค์ความรู้ทางวิชาการ โดยมีนวตกรรมที่เกิดการพัฒนาศักยภาพคนทำงานทุกระดับในการนำไปสู่การปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนและสังคมรากฐานให้มีความเข็มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ซึ่งถือเป็นโจทย์ร่วมในการแลกเปลี่ยน และแนวทางที่จะขับเคลื่อนในระยะต่อไปร่วมกันในฐานะหุ้นส่วนของการพัฒนา สร้างพื้นที่ที่คุณค่าทั้งแผ่นดินประเทศไทยร่วมกันได้อย่างไร
รายงานและภาพ โดย นางสาวพิชยาภรณ์ หาญวณิชานนท์ เจ้าหน้าที่บริหารงานข้อมูลอาวุโส มอบหมายในหน้าที่เลขาผู้อำนวยการสถาบันฯ