ร้อยเอ็ด/ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2565 ณ อยู่นาคาเฟ่ บ้านสำราญ หมู่ 5 ตำบลหนองแคน อำเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด แกนนำเครือข่ายองค์กรชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประชุมหารือยกร่างโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนท้องถิ่นอย่างมีส่วนร่วม เนื่องจากสถานการณ์ภัยพิบัติไม่ว่าน้ำท่วม น้ำแล้ง หรือการจัดการน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียเหนือในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับเครือข่ายองค์กรชุมชนภาคอีสานที่มีต้นทุนเครือข่ายองค์กรชุมชน ที่จัดตั้งศูนย์ภัยพิบัติขึ้นในหลายจังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร ศรีสะเกษ กาฬสินธุ์ บุรีรัมย์ อำนาจเจริญ อุบลราชธานี พร้อมกับการมีกลไกสภาองค์กรชุมชนตำบลทั่วภาคอีสาน และการมีข้อเสนอเชิงนโยบายของสภาองค์กรชุมชนที่เสนอในเวทีระดับชาติ
เพื่อศึกษารูปแบบการสร้างความยั่งยืน ภายใต้การวิจัยเชิงปฏิบัติการชุมชนท้องถิ่นในการจัดการภัยธรรมชาติ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคี รวมทั้งศึกษารูปแบบการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนท้องถิ่น กระบวนการในการจัดการภัยพิบัติโดยการมีส่วนร่วม ศึกษาแนวทางในการบริหารจัดการกองทุน และพัฒนาเป็น ข้อเสนอต่อภาคนโยบาย
โดยในปฏิบัติการ จะมีการจัดตั้งกองทุนจัดการภัยพิบัติตำบล การจัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการภัยพิบัติ การเชื่อมโยงกลุ่ม เครือข่าย ปฏิบัติการพัฒนาพื้นที่ยังชีพ หรือพื้นที่กลางในการผลิตอาหาร และพื้นที่ดูแลสัตว์เลี้ยงในยามประสบภัย ฯลฯ ที่จะใช้รูปแบบวิจัยเชิงปฏิบัติการ วิจัยไทบ้าน หรือการวิจัยเพื่อการพัฒนา โดยพื้นที่เป้าหมายเบื้องต้น จะเป็นพื้นที่ที่มีเครือข่ายองค์กรชุมชนดำเนินการอยู่เดิม หรือจะเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำ หรือพื้นที่เชิงภูมินิเวศ เช่นทุ่งกุลา หรือพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากในช่วงที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีการหารือแนวคิด ทิศทาง และกรอบงบประมาณแล้ว ที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะทำงานไปทำการยกร่างเป็นข้อเสนอโครงการ เพื่อเสนอต่อฝ่ายการเมืองต่อไป