สุโขทัย/29 ตุลาคม 2565 ขบวนองค์กรชุมชนภาคเหนือ 17 จังหวัด ร่วมกับ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ในสังกัด กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการขบวนองค์กรชุมชนภาคเหนือ เพื่อสรุปผลการทำงานที่ผ่านมา พร้อมวางยุทธศาสตร์และแนวทางสำคัญการขับเคลื่อนงานของขบวนองค์กรชุมชนภาคเหนือ โดยมี นายวิชัย นะสุวรรณโน รองผู้อำนวยการและรักษาการผู้อำนวยการภาคเหนือ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) นายประนอม เชิมชัยภูมิ ประธานอนุกรรมการขบวนองค์กรชุมชนภาคเหนือ ผู้นำขบวนองค์กรชุมชนภาคเหนือ และเจ้าหน้าที่ พอช. เข้าร่วมเวที กว่า 150 คน ณ ณ โรงแรมสุโขทัยพรเจริญ รีสอร์ทแอนด์สปา ตำบลบ้านกร่าง อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย
นายวิชัย นะสุวรรณโน
นายวิชัย นะสุวรรณโน รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กล่าวถึง ความสำคัญการจัดทำยุทธศาสตร์ภาคประชาชนกับทิศทางในอนาคต สิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรกคือการพัฒนายกระดับระบบสวัสดิการชุมชนที่ครอบคลุมตั้งแต่ชุมชน/ตำบล/จังหวัด/ภาค รวมไปถึงระบบการดูแลสวัสดิการผู้นำให้ไปเชื่อมการเชื่อมโยงกองทุนพัฒนาผู้นำที่มีอยู่ ส่วนเป้าหมายของ พอช. ต่อการขับเคลื่อนงานพัฒนาของขบวนองค์กรชุมชนคือ “ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งเต็มพื้นที่” ซึ่งมี 4 ประเด็นการสนับสนุนการพัฒนาองค์กรชุมชน คือ 1.การพัฒนาโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง สนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่น มีระบบที่พัฒนาไปสู่การจัดการตนเอง 2.การสานพลังทางสังคมเพื่อสร้างเครือข่ายการพัฒนาสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและนโยบาย 3.การพัฒนาผู้นำขบวนองค์กรชุมชนและคนรุ่นใหม่ 4.การพัฒนาระบบการบริหารจัดการ พอช. ให้เป็นหุ้นส่วนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น
นายวิชัย กล่าวต่อไปอีกว่า ทิศทางปี 2566 ในระดับพื้นที่จะใช้การพัฒนาชุมชนท้องถิ่นโดยใช้พื้นที่ตำบล/เมืองเป็นตัวตั้งพร้อมการ บูณาการฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากทุกหน่วยงาน (TPMAP, ฐานข้อมูล พอช., ท้องถิ่น ฯลฯ) เพื่อนำมาสู่การวิเคราะห์การสนับสนุนงานพัฒนาพื้นที่เป็นหลัก การสร้าง /พัฒนาให้เกิด “พื้นที่กลางระดับตำบล” โดยใช้กลไกสภาฯ เป็นหลักในการสร้างพื้นที่กลางในการวิเคราะห์ปัญหาร่วม การจัดทำแผนพัฒนา และการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาคี ท้องที่ ท้องถิ่น และสุดท้ายต้องใช้แผนพัฒนาตำบลเป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงบูรณาการกับท้องถิ่น
นายพลากร วงค์กองแก้ว
นายพลากร วงค์กองแก้ว ที่ปรึกษาฯ พอช.ภาคเหนือ กล่าวว่า ความสำคัญการจัดทำยุทธศาสตร์ภาคประชาชนกับทิศทางในอนาคต คือ ขบวนองค์กรชุมชนต้อง “ตั้งหลัก” จัดทัพขบวนใหม่ เพื่อออกแบบการขับเคลื่อนงานที่สอดคล้องกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก การวิเคราะห์ขั้วอำนาจทางการเมืองโลก การเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาท (ต่อดอลลาร์สหรัฐ)ที่อ่อนตัวลงซึ่งอาจส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจไทยในอนาคต เป้าหมายงานควรส่งผลต่อการลดความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ในสังคม ควรร่วมมือกันมุ่งสร้างเศรษฐกิจฐานราก และต้องปรับระบบการทำงานให้ทันต่อความก้าวหน้าของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ มุ่งเน้นการทำงานในเชิงบูรณาการในระดับตำบล รวมไปถึงมีการกระจายอำนาจการจัดการและสร้างเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้มากขึ้น
ในเวทีสัมมนาได้ระดมความคิดเห็นต่อทิศทางการทำงานในปี พ.ศ. 2566 ซึ่งมีเป้าหมายร่วม คือการจัดแผนพัฒนาภาคประชาชนครอบคลุมทุกมิติ(อย่างมีคุณภาพ) แผน 5 ปี ผลักดันแผนภาคประชาชนและเชื่อมโยงแผนงาน โครงการ กับแผนพัฒนาจังหวัด อปท. พัฒนาคนรุ่นใหม่ พัฒนาทีมคนทำงาน ปฏิบัติการพื้นที่รูปธรรมสร้างพื้นที่คุณภาพ สร้างการยอมรับกับหน่วยงานภาคีและการเสริมสร้างองค์กรชุมชนเข้มแข็ง และมีข้อเสนอต่อการทำงานดังนี้
- ควรสร้างประเด็นความท้าทาย สร้างโอกาสการเปลี่ยนแปลงทั้งระดับพื้นที่ โครงสร้าง นโยบาย ที่ใช้สภาองค์กรชุมชนเป็นพื้นที่กลางการพัฒนา
- ควรมีการสรุปบทเรียนสำคัญ กบจ. กนจ. ขบวนภาคประชาชนต่อการเชื่อมโยงแผนพัฒนาจังหวัด (แผนงาน กลไกการขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติการ) และเชิญผู้ที่เกี่ยวข้อง
- การวิเคราะห์หน่วยงาน สถาบัน ภาคี บุคคลที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญ เชื่อมโยงกลไกเพื่อสนับสนุนความเข้มแข็งชุมชน
- การวางยุทธศาสตร์ชุมชนเข้มแข็ง/ตำบลเข้มแข็งที่สร้างพลังจตุพลัง,เบญจพลัง (ท้องทุ่ง ท้องถิ่น ท้องที่ ภาคีที่เกี่ยวข้อง)
- การประสานสถาบันการศึกษา/นักวิชาการ ที่ช่วยทำแผนพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัด เพื่อเชื่อมโยงการขับเคลื่อนขบวนองค์กรชุมชน
- การให้น้ำหนักการพัฒนาพื้นที่ฐานราก/พื้นที่ตำบล โดยวิเคราะห์สถานการณ์คำนึงถึงสถานการณ์การประกอบอาชีพ เศรษฐกิจชุมชน และเรื่องปากท้อง การพัฒนาคุณภาพชีวิตและประเด็นปัญหาที่ส่งผลกระทบกับชุมชน
ส่วนข้อเสนอต่อ พอช. คือต้องมีกระบวนการพัฒนากำลังคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการทำงานในระดับพื้นที่ เพื่อให้เท่าทันต่อสถานการณ์ การสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง การปรับวิถีงบประมาณให้สอดคล้องกับการขับเคลื่อนเชิงพื้นที่ การติดตามประเมินผลแบบเสริมพลังเพื่อการพัฒนาต่อยอด