กาญจนบุรี : วันที่ 21 ตุลาคม 2565 ณ ห้องประชุมอรพิม ชั้น 2 อาคารบริการวิชาการและบัณฑิตศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี ร่วมกับกรรมการบริหารงานสมัชชาสุขภาพจังหวัดกาญจนบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และองค์กรชุมชนในจังหวัดกาญจนบุรี ฯลฯ รวม ๒๕ องค์กร จัดงานสมัชชาจังหวัดกาญจนบุรี ประจำปี2565 ในหัวข้อ “สมัชชาคนกาญจน์ไม่ทิ้งกัน สานฝันสู่เมืองแห่งความสุข” มีผู้เข้าร่วมประมาณ 250 คน
นายจักรกฤษณ์ โพธิ์แพงพุ่ม ประธานคณะกรรมการจัดการประชุมสมัชชาจังหวัดกาญจนบุรี (ขวาสุดในภาพ)
นายจักรกฤษณ์ โพธิ์แพงพุ่ม ประธานคณะกรรมการจัดการประชุมสมัชชาจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่าการจัดงานครั้งนี้เป็นกระบวนการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วม การรวมพลังขององค์กรขับเคลื่อนการพัฒนาจากหลากหลายรวมเป็นหนึ่ง เพื่อร่วมกันคิดวิเคราะห์บนฐานข้อมูลจริง และกำหนดนโยบายสาธารณะของจังหวัด ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 40 ให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) จัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อประสานให้ภาคส่วนต่างๆ ของสังคม ได้เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสังคมร่วมกัน โดยมีคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) เป็นกลไกดำเนินการ ส่วนในระดับจังหวัดให้มีคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพจังหวัด ดำเนินการตามแนวทางที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติกำหนด เพื่อพัฒนากระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน ซึ่งในปีนี้มีแนวทางการขับเคลื่อนงาน 3 เรื่องหลัก คือ การเตรียมความพร้อมรองรับสังคมสูงวัย การส่งเสริมเศรษฐกิจแบบครบวงจร และการสร้างความเสมอภาคด้านการศึกษา โดยเสนอให้จังหวัดมีแผนยุทธศาสตร์รองรับและหน่วยงานท้องถิ่นทุกระดับให้การสนับสนุน
“ในปีนี้ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดกาญจนบุรีมีแนวทางการขับเคลื่อนงาน 3 เรื่อง คือ 1) สมัชชาสุขภาพจังหวัดกาญจนบุรีกับการเตรียมความพร้อมรองรับสังคมสูงวัย 2) การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากคนเมืองกาญจน์ ด้วยระบบเศรษฐกิจครบวงจร 3) การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
โดยมีข้อสรุปของข้อเสนอเชิงนโยบาย 3 เรื่อง ได้แก่ 1) ขอให้จังหวัดมีแผนยุทธศาสตร์ในการประสานงานการดำเนินงานทั้ง 3 ประเด็น 2) ขอให้จังหวัดกาญจนบุรีมอบนโยบายต่อหน่วยงานราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับสนับสนุนให้เกิดการดำเนินงานทุกพื้นที่ในจังหวัดกาญจนบุรี 3) ขอให้องค์กรภาคประชาสังคมจัดทำแนวทาง รูปแบบการดำเนินงาน และร่วมปรึกษากับหน่วยงาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นำเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดลงนามแต่งตั้งคณะทำงานแต่ละเรื่องที่เป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย” ประธานคณะกรรมการจัดงาน ฯกล่าว
ร้อยโท ทศพล ไชยโกมินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ได้ให้ข้อคิดเห็นต่อการจัดประชุมสมัชชาจังหวัดกาญจนบุรี 2565 ว่าวันนี้เป็นบทพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีว่าทุกองค์กร ไม่ละเลยต่อข้อมูลในพื้นที่ มีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งและเอาใจใส่ วิเคราะห์สังเคราะห์นโยบายกันอย่างเป็นกระบวนการ เพื่อเป้าหมาย “กาญจนบุรี เมืองแห่งความสุข” โดยส่วนตัวมีความรู้สึกภาคภูมิใจ และขอชื่นชม “สมัชชาจังหวัดกาญจนบุรี” ที่มีรูปแบบ กลไก และกระบวนการดำเนินงานที่ชัดเจน จังหวัดกาญจนบุรีและสมัชชาจังหวัดและกลุ่มองค์กรภายใต้จะทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่ในการขับเคลื่อนเพื่อบ้านของเรา
“กาญจนบุรีเป็นพื้นที่พิเศษสำหรับการพัฒนาทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม เทคโนโลยี นวัตกรรม และการเรียนรู้ และที่สำคัญจังหวัดมีนักพัฒนาที่มีศักยภาพและเป้าหมายร่วมกัน ดังที่ท่านทั้งหลายได้ร่วมกับขับเคลื่อนกันอยู่อย่างจริงจัง ซึ่งสอดคล้องกับบริบทการเปลี่ยนแปลง และสอดคล้องกับหัวใจการทำงานของผม คือ ใส่ใจ ทันเวลา ไม่นิ่งดูดาย เสียสละ ไม่ละเลย ซึ่งสมัชชาสุขภาพจังหวัดเป็นต้นธารหลังจากนั้นภาคีพัฒนาก็ได้มาร่วมหลอมรวมพลังกันเป็น “สมัชชาจังหวัด” และนำเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายมาทุกปี ทุกประเด็นที่นำเสนอในวันนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่จังหวัดพร้อมขานรับเพื่อนำเข้าสู่แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาของจังหวัดต่อไป เราจะจับมือกันอย่างต่อเนื่องและเข้มแข็งต่อไป จังหวัดกาญจนบุรีขอรับข้อเสนอเชิงนโยบายทั้งสามประเด็นหลักและประเด็นต่อเนื่อง ขอให้ทุกท่านมีพละกำลัง และร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ตลอดไป” ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรีกล่าว
ด้านนายธีรพงศ์ พร้อมพอชื่นบุญ ผู้อำนวยการภาคกลางและตะวันตก
ด้านนายธีรพงศ์ พร้อมพอชื่นบุญ ผู้อำนวยการภาคกลางและตะวันตก สถาบันการพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กล่าวถึงจังหวัดกาญจนบุรีว่าเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพ คนมีคุณภาพ และได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติในแต่ละหน่วยงาน และโดยสถาบันฯ เป็นองค์กรที่ทำงานกับชาวบ้าน ประชาชน คนเล็กคนน้อยที่เข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของภาครัฐ และเป็นองค์กรที่เกิดขึ้นมาได้จากชาวบ้านที่มีความทุกข์ ได้รวมกันแก้ไขและพัฒนาชุมชนของตนเองไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านที่อยู่อาศัย เศรษฐกิจ สังคม แม้กระทั่งเรื่องสุขภาพ โดยมุ่งหวังว่าจะเกิดแกนนำ จิตอาสา เข้ามากอบกู้วิกฤตในสังคมนี้ สร้างระบบเครือข่าย เชื่อมประสานภาคี นำไปสู่การพัฒนาและแก้ไขปัญหาร่วมกันในระดับพื้นที่ โดยเจ้าหน้าที่จะทำงานร่วมกับพี่น้องประชาชน หนุนเสริมให้ประชาชนลุกขึ้นมาอย่างมีศักดิ์ศรี ที่จะแก้ไขปัญหาข้างหน้าไปด้วยกัน ทั้งนี้ พอช.เกิดขึ้นมาแล้ว 22 ปี และมีรูปธรรมความสำเร็จในหลายประเด็น แต่ยังไม่หยุดนิ่งในการสร้างนวัตกรรมในการสร้างเข้มแข็งของชุมชน ซึ่งชุมชนมีทุนของตนเอง และจัดการตนเองได้