สำนักงานภาคกรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ร่วมกับ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพาจัดการฝึกอบรมพัฒนายกระดับศักยภาพการควบคุมงานและมาตรฐานก่อสร้างของช่างชุมชนอาสารุ่นที่1 ระหว่างวันที่ 17 – 18 กันยายน 2565 ณ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา โดยมีช่างชุมชนจาก 8 พื้นที่จังหวัด มีสัดส่วนของผู้นำช่างชุมชนภาค ชุมชนที่เตรียมการก่อสร้าง ชุมชนระหว่างการก่อสร้าง และพื้นที่โครงการบ้านไม่แล้วเสร็จ จำนวน 40 คน โดยการอบรมเป็นการบรรยายอาจารย์จากคณะวิศวกรรม วิศวกรภาคเอกชนที่มีประสบการณ์จริง และภาคปฏิบัติจากภาคีวัสดุภาคเอกชน บริษัท CPAC, บริษัทจระเข้
โดยในวันแรกของการอบรม มีหัวข้อการบรรยายของวิทยากร ดังนี้ 1.ภาพรวมงานก่อสร้างและงานคอนกรีตเสริมเหล็ก โดย อ.ดร.อมรชัย ใจยงค์ 2.งานวิศวกรรมฐานรากเบื้องต้น โดย ผศ.ดร.สิทธิภัสร์ เอื้ออภิวัชร์ 3.วิศวกรรมปฐพีเบื้องต้น โดย ผศ.ดร.ปิยะฉัตร ฉัตรตันใจ 4.หลักพื้นฐานในการควบคุมงานก่อสร้าง โดย คุณณฐกร เชาว์ดีกรพันธุ์ บริษัท 22 คอนซัลแต้นท์ แอนด์ แมเนจเม้นท์ จํากัด 5.แนวทางการถอดแบบและประเมินราคาก่อสร้าง โดยคุณอิทธิวัฒน์ กีรติวัฒนกุล บริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ จํากัด (มหาชน) 6.เทคนิคงานคอนกรีต โดย วิทยากรจาก CPAC 7.เทคนิคงานกระเบื้องและงานที่เกี่ยวเนื่อง โดย วิทยากรจาก จระเข้ คอร์ปอเรชั่น
ส่วนวันที่สอง ในการอบรมยกระดับศักยภาพและการควบคุมงานก่อสร้างของช่างอาสาชุมชน ประกอบไปด้วย 1.แนวทางการถอดแบบและประเมินราคาก่อสร้าง โดยคุณอิทธิวัฒน์ กีรติวัฒนกุล บริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ จํากัด (มหาชน) 2.เทคนิคงานคอนกรีต โดย วิทยากรจาก CPAC 3.เทคนิคงานกระเบื้องและงานที่เกี่ยวเนื่อง โดย วิทยากรจาก จระเข้ คอร์ปอเรชั่น ในการอบรมวันที่สอง นอกจากการอบรมทฤษี ยังมีการทดลองปฏิบัติ ทั้งเรื่องเทคนิคงานคอนกรีต การผสมปูนในหลายรูปแบบ และอัตราส่วนผสมต่างๆ รวมถึงทักษะการปูกระเบื้อง และงานฉาบ เพื่อให้เกิดเข้าใจและนำไปใช้ได้ถูกวิธีมากขึ้น
การอบรมทั้งสองวัน ของขบวนช่างชุมชนภาค ผู้เข้าร่วมอบรมต่างรู้สึกถึงความภูมิใจที่ได้เข้าร่วมการอบรม เนื่องจากได้ความรู้เติมทักษะที่ยังขาดในบางเรื่อง เช่น เรื่องดิน ฐานคิดต่างๆ รวมถึงผู้เข้าร่วมมีความตั้งใจ และมีส่วนร่วมในการอบรมเป็นอย่างดี แต่เวลาในการอบรมน้อยเมื่อเทียบกับองค์ความรู้ที่คณาจารย์มอบให้ รวมถึงเสนอให้การอบรมครั้งต่อไป มีการแบ่งกลุ่มออกเป็นฐาน เพื่อให้สามารถเรียนรู้ได้อย่างทั่วถึง รวมถึงเพิ่มเติมความรู้เรื่องระบบไฟต่างๆอย่างละเอียด รวมถึงควรแยกการอบรมสำหรับผู้ที่มีพื้นฐานงานช่าง และผู้ที่ยังไม่เคยมีความรู้เรื่องช่าง เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในองค์ความรู้ต่างๆ
จากการอบรมในครั้งนี้ มีการตั้งไลน์กลุ่มช่าง ซึ่งมีทั้งขบวนช่างชุมชน อาจารย์ที่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้างแต่ละด้าน เพื่อปรึกษาหารือเรื่องการก่อสร้าง รวมถึงสอบถามปัญหา ข้อติดขัดต่างๆ รวมถึงมีเงื่อนไขหลังจากการอบรม ผู้เข้าอบรมต้องนำความรู้ที่ได้ไปปฏิบัติ และรายงานความคืบหน้า อย่างน้อย 2 อาทิตย์ 1 ครั้ง พร้อมรูปภาพและบรรยายประกอบ ภายใต้กิจกรรม ดังนี้ การช่วยเหลืองานในชุมชนตนเอง เช่น การตรวจงวดงาน งานก่อสร้าง การช่วยเหลืองานช่างในชุมชนอื่นๆ จังหวัดอื่นๆ การถ่ายถอดความรู้ให้สมาชิกภายในชุมชน เช่น การถ่ายทอดความรู้ก่อนการตรวจงวดงาน
อย่างไรก็ตามการอบรมรมช่างในครั้งนี้ขบวนช่างต่างเห็นว่า ไม่ได้เป็นการสร้างขบวนช่างขึ้นมาใหม่ “ขบวนช่างไม่ได้กำลังฟื้น แต่ขบวนช่างยังไม่ตาย” การอบรมทั้งสองวัน จะต่อยอดองค์ความรู้ช่างชุมชน และถ่ายทอดสู่สมาชิกชุมชนในงานช่าง เพื่อให้การทำบ้านมั่นคง เป็นการสร้างบ้านที่มีความสุข