ตำบลบ่อกรุ เป็นตำบลหนึ่งในอำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ที่มีต้นทุนด้านวัฒนาธรรมชุมชน อันมาจากชาติพันธุ์ลาวครั่ง ซึ่งได้มีการอนุรักษ์ รักษา และพัฒนาอย่างต่อเนื่องตลอดจนถึงปัจจุบัน ตำบลบ่อกรุได้มีพิพิธภัณฑ์ศูนย์วัฒนธรรมลาวครั่ง ซึ่งตั้งอยู่ที่วัดบ่อกรุ หมู่ 1 บ้านบ่อกรุ จึงเป็นความภาคภูมิใจและต้องการที่ให้วัฒนธรรมนี้ยังคงไว้ตลอดไปชั่วลูกชั่วหลาน เนื่องจากชาติพันธุ์หรือวัฒนธรรมลาวครั่ง ไม่ได้เป็นแค่เพียงวัฒนธรรมแต่มีที่มาซึ่งความเจริญด้านเศรษฐกิจของชุมชน ด้วยสินค้าอันเป็นเอกลักษณ์ของลาวครั่ง นั่นคือ ผ้าพื้นเมืองที่ทำด้วยมือหรือทอด้วยมือ รวมทั้งด้านการท่องเที่ยวชุมชนที่มีนักท่องเที่ยวมาชื่นชมชีวิตความเป็นอยู่แบบวัฒนธรรมลาวครั่ง มาชมสินค้าผลิตภัณฑ์ของชุมชน ซึ่งแต่เดิมนั้นองค์การบริหารส่วนตำบลบ่อกรุได้มีการสนับสนุนตลอดมา แต่ด้วยเนื่องจากในระยะหลังผู้ดำเนินงานหลักของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่ง เริ่มมีอายุมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะยังอยู่ในวัยที่ยังคงทำงานได้อยู่ แต่เมื่อได้พิจารณาแล้วควรที่จะมีคนรุ่นใหม่ เด็กรุ่นใหม่เข้ามารับช่วงต่อ เพื่อให้ยังรักษาวัฒนาธรรมนี้ไว้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการเปลี่ยนทางสังคม จึงควรที่จะมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงในทุกๆ รูปแบบของการดำเนินงานด้านวัฒนธรรม สินค้าและการท่องเที่ยวต่างๆ ให้ทันต่อสังคม ดังนั้น การส่งเสริมการอนุรักษ์วัฒนธรรมลาวครั่งจึงได้เป็นทางเลือกหนึ่ง ในการพัฒนาอาชีพของชุมชน ด้วยเนื่องจากมีกลุ่มอาชีพผ้าพื้นเมืองผ้าทอมือลายตีนจก มีกลุ่มการท่องเที่ยวชุมชน มีกลุ่มคนที่ขายของกินของใช้สินค้า พืชผลทางการเกษตร ที่เชื่อมโยงเกี่ยวข้องกันกับวัฒนาธรรมและการท่องเที่ยวนี่เอง
การส่งเสริมการอนุรักษ์วัฒนธรรมลาวครั่ง ประชุมหารือร่วมระหว่างผู้นำท้องถิ่น ผู้นำกลุ่มวัฒนธรรมลาวครั่ง เพื่อร่วมกันค้นหาแนวทางการพัฒนา จึงทำให้พบว่าต้นทางแห่งการพัฒนาควรจะทำให้คนในชุมชนมีความตระหนักในการที่จะพัฒนาตนเอง จึงเป็นเหตุที่มาของการอบรมให้กับผู้นำชุมชน ผู้นำกลุ่มองค์กร คณะทำงานกลุ่มวัฒนธรรมลาวครั่ง และพนักงานท้องถิ่นได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยใช้ทุนในชุมชนที่มีอยู่เป็นตัวตั้งต้นและเกิดการเชื่อมโยงกัน รวมทั้งการพัฒนาด้านข้อมูลของชุมชนเพื่อประชาสัมพันธ์ทั้งด้านการท่องเที่ยวด้านผลิตภัณฑ์และประวัติความเป็นมาของชุมชนแต่ละหมู่บ้าน ซึ่งเป็นการดำเนินงานของคนทั้งตำบลบ่อกรุ ถึงแม้ว่าการส่งเสริมและสนับสนุนพิพิธภัณฑ์ศูนย์วัฒนธรรมลาวครั่ง จะเป็นการสนับสนุนจากสำนักงานเทศบาลตำบลบ่อกรุก็ตาม แต่ความสัมพันธ์ความเป็นเชื้อชาติพันธุ์ลาวครั่งไม่มีพรมแดนกลางกั้น สุดท้ายส่วนใหญ่ได้เห็นจุดแข็งของชุมชน นั่นก็คือวัฒนธรรมลาวครั่ง ผ้าทอพื้นเมือง และผลิตภัณฑ์ชุมชนและการท่องเที่ยวชุมชน จึงได้มีแนวทางในการที่จะพัฒนาระบบข้อมูลชุมชนเพื่อรองรับการท่องเที่ยว การสร้างมัคคุเทศก์น้อย การพัฒนาการสื่อสาร โดยใช้วัฒนธรรมลาวครั่ง เป็นเครื่องมือหรือเป็นตัวนำร่องและเชื่อมโยงสู่การพัฒนาด้านอื่นๆ
ผลที่เกิดจากกระบวนการดังกล่าว ทำให้ได้แนวทางการดำเนินงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่น อาทิ การจัดทำเอกสารข้อมูลด้านวัฒนธรรม ด้านผ้าพื้นเมืองที่มีไว้บริการให้ผู้ที่มาท่องเที่ยวได้ชมให้มีความน่าสนใจ เพียงแต่เรื่องนี้เดิมพัฒนาชุมชนได้ดำเนินการทำอยู่จึงได้ประสานงานไปยังสำนักงานพัฒนาชุมชน รวมทั้งประสานงานกับสำนักงานเทศบาลตำบลบ่อกรุ เพื่อปรึกษาหารือและดำเนินการ รวมถึงการเพิ่มแนวทางการท่องเที่ยวนอกจากจะเป็นพิพิธภัณฑ์แล้ว จะขยายให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยประสานความร่วมมือจากผู้ที่มีทักษะหลากหลาย เช่น เกษตร กศน. เกษตรกรที่มีวิสัยทัศน์ หรือปราชญ์เกษตร ปราชญ์ชุมชน ในการปรับวิถีเกษตรให้เป็นเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นั่นก็การทำเกษตรแบบอินทรีย์ นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดการสืบสานการทอผ้าให้กับคนรุ่นหลัง เนื่องจากปัจจุบันมีกลุ่มคนที่สามารถทอผ้าได้ในช่วงวัย 40 กว่าปีขึ้นไป เด็ก เยาวชนหรือคนที่อายุน้อยกว่า 40 ปี ที่ทอผ้าเป็นมีจำนวนน้อยลง เกิดการสืบสานศิลปะการแสดงตามประเพณี และการต้อนรับนักท่องเที่ยว การค้นหาเด็กที่กล้าแสดงออกมีความสดใสช่างพูดช่างคุย ไม่น้อยกว่า 10 คน เพื่อทำการฝึกฝนให้เป็นมัคคุเทศก์น้อย ให้ได้ไม่น้อยกว่า 3 -5 คน ซึ่งมีวิธีการโดยการค้นหาโดยธรรมชาติ และการเชื่อมโยงกับโรงเรียนในชุมชนให้คุณครูซึ่งจะเห็นความสามารถ และผลการเรียนของเด็กๆ ตลอดจนการพัฒนาด้านที่พักโดยทำโฮมสเตย์ การส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในชุมชนและผลผลิตการเกษตร เช่น การทำกล้วยแปรรูป การผลิตกระเป๋าจากเชือกมัดฟาง การทำไม้กวาดดอกหญ้า
ผู้เรียบเรียง : กมรวรรณ รุ่งพันธุ์
กองเลขาขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดสุพรรณบุรี
โทร. 0843143710 / 0982631460