ตราด / เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา ตำบลตะกาง อำเภอเมือง จังหวัดตราด ที่ผ่านมา มีการจัดเวทีสนทนากลุ่มเฉพาะโครงการถอดองค์ความรู้การพัฒนาตำบลต้นแบบนวัตกรรมชุมชนเข้มแข็ง ปี 2565 มีผู้เข้าร่วมจำนวน 20 คน ประกอบด้วย ภาคีวิชาการมหาวิทยาลัยบูรพา นายกเทศมนตรี คณะกรรมการสภาองค์กรชุมชน นักพัฒนาชุมชน ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่พอช.
ตำบลตะกาง อำเภอเมือง จังหวัดตราด เป็น 1 ใน 4 พื้นที่ โดยสำนักงานภาคกรุงเทพฯปริมณฑลและตะวันออก ร่วมกับภาคีวิชาการมหาวิทยาลัยบูรพา คัดเลือกเป็นพื้นที่ยกระดับในการศึกษารูปแบบและองค์ประกอบของชุมชนเข้มแข็ง ในปี 2565 4 พื้นที่ ได้แก่ 1.เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร 2.ตำบลสุนทรภู่ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง 3. ตำบลทับพริก อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว และ 4.ตำบลตะกาง อำเภอเมือง จังหวัดตราด
นายอภิเดช บุญล้อม นายกเทศมนตรี ตำบลตะกาง อำเภอเมือง จังหวัดตราด
ก่อนลงพื้นที่ได้มีการประชุมออกแบบการทำงานร่วมกัน อาจารย์สกฤติ อิสริยานนท์ นักวิชาการมหาวิทยาลัยบูรพา ได้ส่งประเด็นคำถามให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง นายกเทศมนตรี เข้าร่วมแลกเปลี่ยน นำเสนอข้อมูลของตำบล ดังนี้
คนในตำบลส่วนใหญ่รู้จักกันหมด มีความเป็นเครือญาติ การพัฒนาของเทศบาลกำหนดวิสัยทัศน์ให้เทศบาลเป็นศูนย์กลางการบริหารจัดการโดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับประโยชน์ ให้เป็นตำบลน่าอยู่อย่างยั่งยืน ทำงานพัฒนาพร้อมกันหลาย ๆ เรื่อง
รูปธรรมที่ชัดเจน เรื่อง “การจัดการขยะในครัวเรือน” ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง 1) พอประมาณ ค่าใช้จ่าย ค่าจ้าง ค่ารถ ค่าน้ำมันรถเก็บขยะ 2) การมีเหตุมีผล เทศบาลใกล้เคียง มีปัญหาคล้าย ๆ กัน กองขยะกองขนาดใหญ่ 3) ความพอดี ปัญหาขยะเกิดจากพฤติกรรมชองคนในชุมชน 4)เงื่อนไข การจัดการความรู้การจัดการขยะ ต้องมีแค่รถขยะอย่างเดียวหรือไม่ จึงมีการชวนคนตะกางมาถอดบทเรียน เปรียบเทียบตัวเลขงบประมาณการจัดการขยะของเทศบาล เริ่มแรกชาวบ้านยังไม่ค่อยสนใจ จากนั้นไปศึกษาดูงาน มีเทศบาลอื่นที่นำถังขยะไปคืนอบต. เปลี่ยนความคิดว่ายังไม่ต้องจ่ายเงินซื้อรถขยะ จัดเวทีถอดบทเรียนประมาณ 3 ครั้ง มีการประกาศเป็นข้อตกลงร่วมกัน “การจัดการขยะในครัวเรือนภายใต้การดำเนินงานเศรษฐกิจพอเพียง”
จากสถานการณ์โรคระบาด covid-19 ชาวบ้านเริ่มห่างกัน ไม่ค่อยได้พูดคุย ไม่มีกิจกรรมร่วมกัน กรณีผู้สูงอายุในตำบล เดิมมีกิจกรรมร่วมกันเดือนละ 2 ครั้ง มีการไปมาหาสู่ สื่อสารสร้างความเข้าใจกันในเรื่องต่าง ๆ ทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง และสุขภาพจิตแจ่มใส
ภาพการลงพื้นที่ การปรับปรุงที่อยู่ในศัยในชีวิตประจำวันของผู้มีรายได้น้อย นางมาลัย โรจนวิภาต (นุ่งผ้าถุง)
สภาองค์กรชุมชนตำบลตะกาง ช่วยเสริมเรื่องบ้านพอเพียง ในการปรับปรุงที่อยู่อาศัยในชีวิตประจำวันของผู้มีรายได้น้อย กรณีนางมาลัย โรจนวิภาต ได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยภาคต่าง ๆ ได้แก่ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตรา เหล่ากาชาดจังหวัดตราด ชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดตราด เป็นต้น
สภาองค์กรชุมชนตำบล ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ เปรียบเหมือนเชือก 3 เส้น 1) ผู้ใหญ่ กำนัน 2)องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ทำทุกอย่างมีความพร้อมและใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชนมากที่สุด 3) สภาองค์กรชุมชนตำบล หากเชือกเส้นที่ 1 ทำเพียงลำพังอาจจะเปราะบาง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แม้จะเกิดมาเพื่อให้ดูแลควบคุมแต่ทำเพียงลำพังไม่ได้ ส่วนย่อยที่สุดบุคลากรของท้องถิ่น คนที่มาช่วยเราได้คือ ชุมชนท้องถิ่น ส่วนที่ 3 สภาองค์กรชุมชนในอดีต คนไม่รู้จัก ได้ยินแต่ชื่อ เกิดคำถามว่าจะไปร่วมกันอย่างไร คิดเพียงว่าทำคล้าย ๆ เรา พอทำงานร่วมกันมาหลายปี เริ่มมีความเข้าใจ สภาองค์กรชุมชนมีส่วนสนับสนุนกันได้อย่างไร เป้าหมายคือพี่น้องประชาชน หน่วยงานไหนที่เข้ามา ให้ความร่วมมือตลอด เพราะมองว่า นี่คืองานของตำบลตะกาง มองเป็นองค์รวมทั้งหมด
นางศิริวรรณ บุตราช อดีตคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (ถือไมล์) ร่วมให้ข้อมูลแลกเปลี่ยนในเวที
สรุปผลงานที่สำคัญของสภาองค์กรชุมชนตำบลตะกาง 1)การปรับปรุงที่อยู่อาศัยในชีวิตประจำวันของผู้มีรายได้น้อย 2) การจัดการขยะในครัวเรือน 3) การจัดทำแผนของเทศบาล ท้ายที่สุดแล้วเห็นตรงกันว่า ต้องพัฒนาคน ต้องแก้ไขที่คน แผนของท้องถิ่น ยุทธศาสตร์ 7 ด้าน เพิ่มเรื่องการพัฒนาคน เพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มความรู้ ศักยภาพคน
จากนั้น ผู้เข้าร่วมประกอบด้วย นักพัฒนาสังคม คณะกรรมการสภาองค์กรชุมชนตำบลตะกาง ต่างให้ข้อมูลแลกเปลี่ยนในประเด็นที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงเรียนผู้สูงอายุ การคัดแยกขยะจากครัวเรือน การรณรงค์ปลูกผักปลอดสารในครัวเรือน บ้านพอเพียง โครงการคุณภาพชีวิต การป้องกันต่อต้านการทุจริต ตระกร้าปันสุข ช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดโรค Covid-19 ศูนย์บ่มเพาะเศรษฐกิจ การทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน พมจ. กาชาดจังหวัด เป็นต้น
ช่วงท้ายของเวที ตัวแทนชุมชนตั้งประเด็นคำถามให้เจ้าหน้าที่พอช.ได้แลกเปลี่ยนเช่นกัน อาทิ เรื่องการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ ภารกิจเรื่องตัวชี้วัด ซึ่งการจัดเวทีเสวนากลุ่มเฉพาะในวันนี้ ถือว่ามีประโยชน์ เพราะกระบวนการเรียนรู้ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ การถอดบทเรียนในช่วงเวลาที่ต่างกัน ย่อมจะได้รับความรู้ มุมมองที่แตกต่างกันไปด้วย กรณี สถานการณ์โรคระบาด Covid-19 ชุมชนปรับตัว เปลี่ยนแปลงอย่างไรให้อยู่รอด สำหรับข้อมูลที่ได้จากการถอดบทเรียน ภาคีวิชาการ จะนำไปเรียบเรียง วิเคราะห์ สังเคราะห์ นำเสนอผลการศึกษาร่วมกับภาคีวิชาการอีก 4 ภาค ในช่วงเดือนกันยายน 2565 ต่อไป
ผลิตภัณฑ์ เจลหัวหอม ชุมชนตำบลตำกาง อำเภอเมือง จังหวัดตราด
เขียนและเรียบเรียง
นางสาวสมจิตร จันทร์เพ็ญ เจ้าหน้าที่พัฒนาองค์ความรู้อาวุโส
สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร