ชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ / สืบเนื่องมาจาก วันที่ 21 มิถุนายน 2565 เกิดไฟไหม้ชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ ถนนพระรามที่ 4 แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน ซึ่งหลังจากควบคุมเพลิงได้แล้ว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) และ เครือข่ายที่อยู่อาศัยเมืองปทุมวัน สาทร และพระโขนง ร่วมกับสำนักงานเขตปทุมวัน ตำรวจท้องที่ ได้ลงพื้นที่เพื่อดูสถานการณ์ความเสียหายและให้กำลังใจผู้เดือดร้อนและประสานเพื่อเข้าช่วยเหลือเบื้องต้น แต่ยังไม่สามารถเข้าสำรวจความเสียหายในพื้นที่ได้ ซึ่งจากการประเมินพื้นที่เบื้องต้น ผู้เสียหายกระจายอยู่โดยรอบเป็นวงกว้าง ที่อยู่อาศัยเสียหายประมาณกว่า 35 หลังคาเรือน และมีผู้ได้รับผลกระทบกว่า 100 คน
วันนี้ (22 มิ.ย. 65) เวลา 11.15 น. นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ลงพื้นที่ ณ ศูนย์พักพิงชั่วคราว บริเวณศูนย์สร้างสุขทุกวัยบ่อนไก่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ เพื่อพบปะเยี่ยมให้กำลังใจชาวชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุไฟไหม้ในชุมชน เมื่อวานนี้ (21 มิ.ย. 65) พร้อมทั้งมอบเงินสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง และถุงยังชีพ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น นอกจากนี้ ได้ประชุมหารือกับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร เพื่อร่วมกันหาแนวทางการช่วยเหลือชาวชุมชนต่อไป
นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) แจกถุงยังชีพแก่กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุไฟไหม้
นายจุติ กล่าวว่า วันนี้ ตนมาในนามของรัฐบาล โดยมีพันธะกันระหว่าง 20 กระทรวง บวกกับ กทม. และเมืองพัทยา จะทำงานแก้ไขปัญหากับประชาชนร่วมกัน ซึ่งครั้งนี้เป็นการทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน โดยได้ประมวลความเสียหาย และจะเน้นเรื่องจำนวนหลังคาเรือนของผู้ประสบภัยว่ามีจำนวนเท่าไหร่ โดยเราจะมาคุยกันในวันนี้ว่า มีสิทธิอะไรบ้างที่ชาวชุมชนจะได้รับ ซึ่ง กทม. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวง พม. พอช. และการเคหะแห่งชาติ (กคช.) จะร่วมกันช่วยเหลือผู้ประสบภัยเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเข้าถึงและเป็นธรรม ในเบื้องต้น เราดูถึงปัญหาปัจจุบัน และเราเป็นห่วงเรื่องเด็ก ปัญหาการเรียนหนังสือ โดยยืนยันว่าเด็กที่เรียนหนังสือต้องได้กลับเข้าเรียนทุกคนและมีการสนับสนุนให้เด็กเรียนหนังสือต่อไปได้ รวมไปถึงผู้สูงอายุจะให้กรมกิจการผู้สูงอายุเข้ามาดูแลสวัสดิการว่า มีอะไรบ้างที่ขาดเหลือ แต่สิ่งสำคัญคือ เรื่องที่อยู่อาศัยและการประกอบอาชีพ ซึ่งเราต้องรับฟังผู้ได้รับความเดือดร้อนว่า มีความเดือดร้อนเรื่องอะไร มีความต้องการขนาดไหน ผิดกฎหมายหรือไม่ และเราทำได้หรือไม่ นับเป็นปัจจัยสำคัญมีข้อจำกัด
นายจุติ กล่าวต่อไปว่า สำหรับเรื่องที่อยู่อาศัยฉุกเฉิน เราต้องให้ประธานชุมชนเป็นผู้โหวตกับชาวชุมชนว่า ใครจำเป็นที่สุด ใครมีความต้องการมากที่สุด แล้วให้ชุมชนเลือก เราจะไม่เข้าไปก้าวก่ายและไม่เลือกปฎิบัติ แต่ กคช. จะช่วยให้ชาวชุมชนได้มีที่อยู่อาศัย โดยเดือนแรก กคช. จะรับไปอยู่อาศัยในโครงการพรพระร่วงประสิทธิ์ เขตสายไหม และจะออกค่าเช่าให้ทั้งหมด และหลังจากที่ตั้งหลักได้ เดือนที่สอง จะจ่ายค่าเช่า 999 บาทต่อเดือนเท่านั้น ซึ่งเรามี 100 กว่าห้อง เพียงพอที่จะดูแลชาวชุมชนทุกคนที่เดือดร้อน และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. มีงบประมาณช่วยเหลือที่เป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางสำหรับประกอบอาชีพ ขณะเดียวกัน ในวันนี้ผู้ที่มีอาชีพอยู่และสามารถทำได้ ขอให้ท่านทำก่อน เพื่อให้มีรายได้ไม่ขาด ให้หารายได้เข้าครอบครัวต่อไป และเราจะช่วยสนับสนุนอย่างเต็มที่ในเรื่องนี้ ส่วนสวัสดิการอื่นๆ เราจะให้ทาง ผู้อำนวยการเขตปทุมวันช่วยเก็บข้อมูลเพื่อมาดูว่ามีอะไรบ้างที่ประชาชนจะต้องได้รับอย่างทั่วถึง
นายจุติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในเบื้องต้น มีบ้านที่ประสบภัยกว่า 60 หลังคาเรือน แต่มีผู้แจ้งว่าได้รับความเสียหายกว่า 100 หลังคาเรือน ทาง กคช. มีที่อยู่อาศัยเพียงพอในการดูแลชาวชุมชน และมีที่อยู่อาศัยแถวตลาดไทให้อีก ค่าเช่าเดือนละ 1500 บาท ซึ่งสามารถเป็นสถานที่ประกอบอาชีพใหม่ได้ทันที ฉะนั้น เรามีทางเลือกให้ชาวชุมชน และเราจะทำทุกอย่างอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ กระทรวง พม. มีการพาไปลงทะเบียนในเรื่องการรักษาพยาบาล เรื่องการย้ายโรงเรียนระหว่างเทอม และสิ่งสำคัญคือเด็กต้องได้เรียนหนังสือและคนที่ต้องประกอบอาชีพได้เร็วที่สุด ซึ่งเรามีความกังวลใจว่า ประชาชนจะไม่ถูกใจ จะไม่มีความสุข เพราะเราแคร์ความรู้สึก แต่ว่าเรามีทรัพยากรที่จำกัด แต่จะพยายามทำให้ดีที่สุด และอะไรก็ตามที่มีปัญหานอกเหนือความคาดหมาย จะร่วมกันแก้ไขปัญหา ซึ่งวันพรุ่งนี้ (23 มิ.ย. 65) ชาวชุมชนสามารถย้ายไปอาศัยอยู่กับ พอช. และ กคช. ได้
นางสาวเฉลิมศรี ระดากูล รองผู้อำนายการสถาบันฯ (เสื้อสีน้ำเงิน) ขอบขอบคุณภาพจาก ThaiPBS
ด้าน พอช. นางสาวเฉลิมศรี ระดากูล รองผู้อำนวยการสถาบันฯ ร่วมกับสำนักงานภาคกรุงเทพฯปริมณฑลและตะวันออก และขบวนชุมชนโซนกรุงเทพฯใต้ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ไฟไหม้ชุมชนบ่อนไก่ ณ บริเวณจุดเกิดเหตุเพลิงไม้ และที่พักพิงชั่วคราวบริเวณศูนย์เยาวชนบ่อนไก่ โดยได้หารือแนวทางการสนับสนุนจาก พอช.ร่วมกับ กระทรวง พม. สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร ประสานการสรุปผลสำรวจความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยร่วมกับสำนักงานเขตปทุมวัน ร่วมแถลงนโยบายการช่วยเหลือผู้เดือดร้อนโดยการสนับสนุนที่อยู่อาศัยชั่วคราว หรือค่าเช่าบ้าน ภายใต้โครงการที่อยู่อาศัยชั่วคราว กรณีไฟไหม้ไล่รื้อ ครัวเรือนละ 18,000 บาท และร่วมมอบถุงยังชีพให้ผู้ประสบภัยกับกระทรวง พม.
นายวีรชัย รื่นผกา ประธานชุมชนพัฒนาบ่อนไก่
นายวีรชัย รื่นผกา ประธานชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ กล่าวว่า ตอนนี้สถานการณ์ในชุมชนดีขึ้นกว่าเมื่อวาน เพราะมีน้ำมีไฟ มีรถบริการห้องน้ำ และห้องอาบน้ำแล้ว มีอาหารและสิ่งของบริจาคเข้ามามากมาย อยากขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่เข้ามาช่วยเหลือ และขอบคุณ กระทรวง พม. กคช. และพอช. ที่เข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาและออกแบบแนวทางในการจัดหาที่อยู่อาศัยทั้งแบบชั่วคราว และแบบถาวร ครอบคลุมไปถึงเรื่องอาชีพและการศึกษาของเด็ก ตอนนี้ตนอยู่ระหว่างการสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อนในชุมชนว่ามีผู้เสียหายเท่าไหร่ บ้านเรือนได้รับความเสียหายทั้งหมดกี่หลัง เพราะบางส่วนในพื้นที่เรายังเข้าสำรวจไม่ได้จึงยังไม่ได้ข้อมูลที่แน่นอน จากนี้ตนต้องทำความเข้าใจถึงสถานการณ์ปัจจุบันของชุมชนให้กับคนในชุมชนว่ามีแนวทางในการเยียวยาคนในชุมชนอย่างไร เรื่องที่อยู่อาศัยจะจัดการจัดอย่างไร อยู่ระหว่างการหารือกับคนในชุมชน
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการ กทม. (ขอขอบคุณภาพจาก ThaiPBS LIve)
ด้าน กทม.ข้อสังเกตของเหตุเพลิงไหม้ โดยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการ กทม. กล่าวว่า “ต้องทบทวนแผนใหญ่ทั้งหมด เกี่ยวกับการดับเพลิง อุปกรณ์หัวแดงที่ใช้ต่อสายทั้งหมดว่าจำเป็นต้องมีเพิ่มเติมหรือทำรูปแบบใดได้บ้างหรือไม่ ทั้งในชุมชนบ่อนไก่ และในชุมชนแอดัดทั้งหมด ใน กทม. ซึ่งเบื้องต้น มุมมองของ ผู้ว่าฯ ยืนยันว่า ในพื้นที่ชุมชนแออัดแบบนี้ไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์หัวฉีดสีแดงในชุมชน แต่ควรติดตั้งอุปกรณ์นี้ไว้นอกชุมชน และให้อยู่ใกล้กับสถานีดับเพลิงจะทำให้เข้าถึงพื้นที่ได้เร็ว และรูปแบบของชุมชนแออัดมีข้อจำกัดที่ทำให้การดับเพลิงไม่สามารถฉีดข้ามได้ เพราะจะติดสังกะสีทำให้น้ำไปไม่ถึงจุดที่เกิดเพลิงไหม้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องทบทวนระบบเช่นเดียวกัน อาจจะใช้ในรูปแบบของถังดับเพลิงแบกหามกันเข้าพื้นที่ เพื่อให้เข้าถึงง่ายและว่องไวมากขึ้น เพราะว่าสิ่งที่ต้องทบทวนอย่างมากอีกเรื่องหนึ่งคือ ทำไมถึงเกิดเหตุและเพลิงได้ลุกลามไปอย่างรวดเร็วไปถึง 30 หลังคาเรือน”
ซึ่งจากผลกระทบจากเหตุอัคคีภัยดังกล่าวในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบยังมีกลุ่มเด็กตั้งแต่วัยทารกจนไปถึงวัยเรียน ส่งผลกลุ่มนักเรียนต้องหยุดเรียนเนื่องจากชุดนักเรียนถูกเพลิงไหม้ ซึ่งทางผู้ว่า กทม. ก็ระบุว่าต้องเร่งเยียวยา เพื่อให้เด็กๆ ได้กลับไปเรียนตามปกติโดยเร็วที่สุด และไม่ต้องการให้เหตุการณ์เพลิงไหม้ เป็นสถานการณ์ที่ฝังใจ ซึ่งต้องมาดูแลสภาพจิตใจของเด็กๆด้วย เช่นเดียวกัน
ศูนย์พักพิงชั่วคราว บริเวณศูนย์สร้างสุขทุกวัยบ่อนไก่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทวิดา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ชาวชุมชนคอยให้ข้อมูลตลอด ซึ่งทาง กทม. จะทำข้อมูลให้ละเอียดที่สุดและจะประสานกับกระทรวง พม. เพื่อที่จะเข้าไปช่วยเหลือได้ตรงจุดและรวดเร็วที่สุด ต่อไปนี้ เราจะเอาความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐ รวมทั้งยังมีภาคเอกชนจำนวนมาก ที่คอยเข้ามาให้ความช่วยเหลือ อะไรที่จะทำให้ซ้ำซ้อน และมีผลทางกฎหมาย เราจะไม่ทำ ทั้งนี้ เนื่องจากพื้นที่ในศูนย์ฯ ค่อนข้างคับแคบ และมีผู้เข้ามาพักอาศัยชั่วคราวจำนวนมาก หลายคนมีความวิตกกังวล เราจึงจะนำทีมจิตแพทย์มาช่วยดูแลสภาพจิตใจ อีกทั้งยังต้องการหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ อีกพอสมควร นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเด็กเล็กที่ต้องการเสื้อผ้า สำหรับพื้นที่พักอาศัยนั้น ทาง ผู้อำนวยการเขตปทุมวันได้สำรวจหาพื้นที่อื่น เพื่อแบ่งคนไปพักที่อื่นบ้าง จะได้ไม่แออัดจนเกินไป ที่สำคัญคือห้องน้ำ โดยสำนักโยธากำลังดำเนินการเพื่อให้สามารถอาบน้ำได้ ส่วนสุขาเคลื่อนที่ก็ได้มาแล้ว
โดยการลงพื้นที่ชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ของ พอช. ในวันนี้ ทำให้ได้รู้จักผู้นำใหม่ๆในเขตปทุมวัน เช่น ชุมชนปลาทู เปรม ปะการัง ชุมชนที่ได้รับการสนับสนุนโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแก้ไขปัญหาโควิดฯ ทำให้ชุมชนชายขอบ ชุมชนแออัดยากจนเข้าถึงงบประมาณจากการจัดทำฐานข้อมูลผู้เดือดร้อน เพื่อไปช่วยกันแก้ไขปัญหาตามความต้องการของชุมชน และเกิดการขยายผลการช่วยเหลือผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อ ผู้ได้รับผลกระทบจากโรคโควิดเพิ่มขึ้น เมื่อได้รับแล้วก็อยากจะส่งต่อการช่วยเหลือมากยิ่งขึ้น เกิดการพัฒนายกระดับผู้นำใหม่ๆเข้ามาในเครือข่ายเมืองปทุมวัน อีกทั้งโครงการคุณภาพชีวิตฯ ยังเป็นเครื่องมือในการแสดงศักยภาพของชุมชนแออัด ให้สำนักงานเขตประทับใจ ยอมรับ และจะช่วยจัดตั้งให้เป็นชุมชนอย่างเป็นทางการให้อีกด้วย
สภาพบ้านเรือนหลังเกิดเหตุเพลิงไหม้
ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ พอช. เข้าสำรวจพื้นที่ชุมชนพัฒนาบ่อนไก่