ยโสธร / เมื่อวันที่ 27-28 มกราคม 2565 เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลกลุ่มจังหวัดอีสานใต้ 2 จัดเวทีทำแผนพัฒนาชุมชนท้องถิ่นกลุ่มจังหวัดเจริญราชธานีศรีโสธร ณ โรงแรมเดอะกรีนปาร์คแกรนด์ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร โดยมีผู้แทนองค์กรชุมชนจาก 4 จังหวัด อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศีรสะเกษ และยโสธร จังหวัดละ 10 คน คณะวิทยากร และเจ้าหน้าที่ พอช. เข้าร่วมการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยน สังเคราะห์ บูรณาการแผน 4 จังหวัด รวมเป็นแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดอีสานใต้ 2 โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ตามโครงการพัฒนาศักยภาพคนและเครือข่ายองค์กรชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือปี 2564
นายวิรัตน์ สุขกุล ผู้ประสานงานโครงการพัฒนาศักยภาพผู้นำกลุ่มเจริญราชธานีศรีโสธร ทบทวนกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาชุมชนท้องถิ่นโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน ระบุว่า ห่วงโซ่การทำงานพื้นที่จัดการตนเอง สี่ห่วงโซ่บทเรียนจากอำนาจเจริญ ที่ทำให้บรรลุสู่ความอยู่ดีมีสุข หนึ่งต้องมีการกำหนดทิศทางอนาคตตนเอง สร้างเป้าหมายกำหนดแผนพัฒนาชุมชนท้องถิ่นภาคประชาชน สองการสร้างพื้นที่รูปธรรมการจัดการตนเองในมิติต่างๆ ให้ปรากฏ ทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติเพื่อความมั่นคงทางอาหาร การพัฒนาระบบเศรษฐกิจฐานรากโดยชุมชน การท่องเที่ยวโดยชุมชน การจัดการที่อยู่อาศัย เพื่อเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ ผลักให้เป็นนโยบาย สื่อสารเรื่องราวดีๆ เพราะรัฐมองประชาชนเป็นเพียงกลุ่มเป้าหมายตามโครงการ สามการปรับโครงสร้างความสัมพันธ์ใหม่ สำหรับวงที่สี่คือการประสานเชิงนโยบายกับฝ่ายราชการ ที่สำคัญองค์กรชุมชนต้องมีวินัย จัดระบบให้ลงตัว
ทั้งนี้กระบวนการจัดทำแผนพัฒนาชุมชนท้องถิ่นโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน เริ่มจากการทำแผนระดับหมู่บ้านตำบล 176 ตำบล จังหวัดละ 44 ตำบล ถัดจากนั้นนำแผนจากตำบล มารวมเป็นแผนยุทธศาสาตร์จังหวัด และ มาสังเคราะห์และจัดเวทีเสนอแผนพัฒนาระดับจังหวัด 4 จังหวัด ซึ่งในระหว่างวันที่ 27-28 มกราคม 2564 เป็นเวทีการทำแผนพัฒนาระดับกลุ่มจังหวัด สังเคราะห์แผน 4 จังหวัด รวมเป็นแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดอีสานใต้ 2 ซึ่งที่ประชุมได้กำหนดวิสัยทัศน์ร่วมกันคือ เมืองธรรมเกษตร วิถีอีสาน ตามแนวทางราษฎรบัญญัติ สังคมท้องถิ่นอยู่ดีมีสุข โดยมียุทธศาสตร์ 5 ด้าน 1) สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรด้วยภูมิปัญญาชุมชน และเทคโนโลยีสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 2) ยกระดับคุณภาพชีวิตสร้างความเข้มแข็งและความมั่นคงของคน/กลุ่มองค์กรและสังคมตามหลักธรรมาภิบาล 3) พัฒนายกระดับองค์ความรู้ประเพณีวัฒนธรรม ภูมิปัญญาและทรัพยากรธรรมชาติ การท่องเที่ยวโดยชุมชนสู่สากล 4) พัฒนาระบบฐานข้อมูลสารสนเทศ การจัดการความรู้และการสื่อสารสาธารณะ และ 5) สร้างความมั่นคงด้านที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยแบบยั่งยืน จากนั้นที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนถึงเป้าหมาย ผลลัพธ์ กลยุทธ์ แนวทางสำคัญที่จะทำให้บรรลุยุทธศาสตร์ดังกล่าว และได้พูดคุยการนำแผนฯไปสู่ภาคปฏิบัติผ่านโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มจังหวัด และหารือวางแผนการพัฒนาโครงการคุณภาพชีวิตในแต่ละจังหวัด จะมีประเด็นร่วมอะไรในระดับจังหวัด ระดับกลุ่มจังหวัด มีแผนงาน กลไกการทำงานที่จะขับเคลื่อนให้บรรลุการพัฒนาคุณภาพชีวิตสู่ความอยู่ดีมีสุขต่อไป