เมื่อวันจันทร์ที่ 24 มกราคม 2565 ณ ห้องประชุม 301-302 ชั้น 3 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สำนักงานภาคกรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก นำโดย นายยุทธพงษ์ เขื่อนเมือง ผู้ช่วยผู้อำนวยการภาค และนายสุรพัศน์โยธิน บูรณานนท์ เลขานุการร่วม คณะทำงาน BIG ROCK พอช. ประธานในที่ประชุม ร่วมด้วยขบวนองค์กรชุมชนจังหวัด (จังหวัดสมุทรปราการ ชลบุรี ตราด+จังหวัดสระบุรี) พร้อมทั้ง ผู้แทนสำนักงานปปท.เขต 1,เขต 2 และผู้แทนสำนักงานจังหวัดแต่ละจังหวัด โดยศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตจังหวัด ร่วม “ประชุมหารือการบูรณาการแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการต่อต้านการทุจริต จังหวัดนำร่อง (จังหวัดสมุทรปราการ ชลบุรี ตราด+จังหวัดสระบุรี)” โดยมีกระบวนการดังนี้
นายยุทธพงษ์ เขื่อนเมือง ผู้ช่วยผู้อำนวยการภาคกรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก กล่าวต้อนรับ ผู้เข้าร่วมประชุม หลังจากนั้น ประธานในที่ประชุม กล่าวถึงความสำคัญของ โครงการ BIG ROCK และชี้แจงวัตถุประสงค์ในการประชุมเพื่อการยกร่างแผนการปฏิบัติงานโครงการป้องกันและการต่อต้านการทุจริตฯ ให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันได้มีการขยายจังหวัดเพิ่มในภาคใต้ และภาคอีสาน จึงมีแนวทางในการดำเนินการขยายพื้นที่เพิ่มเติมในภาคอื่นๆ โดยมีการบูรณาการเรื่องแผน และทาง พอช. มีการให้งบประมาณในระดับตำบล ระดับจังหวัด เพื่อสนับสนุนแผนการทำงาน มีโครงการรณรงค์ต่อต้านทุจริตเป็นเครื่องมือซึ่งอาจจะได้มีโอกาสมาจัดการค่ายรณรงค์การต่อต้านทุจริต และจะนำมาเสนอเพื่อทำข้อตกลงร่วมกัน อีกทั้งยังมีการเอาเครือข่ายมาร่วมมือเพื่อออกแผนงานร่วมกัน -ขบวนองค์กรจังหวัดนำเสนอแผนและผลลัพธ์โครงการและกิจกรรมที่ได้รับจัดสรรปีงบประมาณปี 2565 โดยมีรายละเอียด ดังนี้ จังหวัดสมุทรปราการ ได้มีการนำเสนอโครงการ ลงพื้นที่ทำความเข้าใจโครงการกับพื้นที่ทั้ง 15 พื้นที่ ให้รับทราบเกี่ยวกับแนวทางการปฎิบัติโครงการและกลับไปตั้งคณะกรรมการทำงานในพื้นที่ตนเอง รวมถึงคิดแผนงานเพื่อเตรียมการเสนอภายในมกราคมนี้ อีกทั้งจะมีการแต่งตั้งคณะทำงานระดับจังหวัดซึ่งจะมีผู้ทรงคุณวุติเข้าร่วมด้วย
จังหวัดตราด ได้มีการทบทวนองค์ความรู้และวิเคราะห์พื้นที่ใน 5 พื้นที่ ๆ ได้ดำเนินการแล้ว โดยในปีนี้จะขับเคลื่อนในพื้นที่เดิม และจะดำเนินการขยายพื้นที่ให้ครบซึ่งในปัจจุบันมีทั้งหมด 16 พื้นที่ต่อไป
จังหวัดชลบุรี มีพื้นที่ดำเนินการทั้งหมด 14 พื้นที่ และภายในเดือนมกราคมจะมีเวทีลงนามบันทึกความร่วมมือ โดยการดำเนินงานที่ผ่านมาได้มีมีการทำ Page และ Google From เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ในการร้องทุกข์ การเปิดช่องทาง chat สร้างความเข้าใจรายละเอียดโครงการเรียบร้อย
จังหวัดสระบุรี มีการขับเคลื่อนแล้ว 5 พื้นที่ ภายในตำบลเริ่มมีกลไกในการทำงาน สร้างให้ประชาชนมีความกล้าที่จะลุกขึ้นมาจัดการกับปัญหาด้วยตนเอง
จากนั้นผู้แทนสำนักงานปปท.เขต 1,เขต 2 และผู้แทนสำนักงานจังหวัดแต่ละจังหวัด ได้แลกเปลี่ยนการบูรณาการการทำงาน โดยกล่าวถึงหน้าที่รับผิดชอบของสำนักงานในเรื่องของการดูแลการจัดตั้งคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมาพบปัญหาในการจัดการอบรมมีข้อจำกัดคือการเบิกจ่ายงบทำให้เป็นปัญหาในการสร้างความมีส่วนร่วมของประชาชน
ผู้แทนสำนักงาน ปปท. ให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมโดยมีความต้องการช่วยหนุนเสริมให้ประชาชนมีความตื่นตัวโดยการให้ความรู้และเครื่องมือให้แก่พื้นที่ ซึ่งภายหลังจากการประชุมอาจจะต้องกลับไปปรับแผนหรือกิจกรรมร่วมกันให้มีความเกี่ยวข้องเหมาะสมมากขึ้นและจะร่วมบูรณาการกันอย่างแท้จริง โดยได้ร่วมกัน หารือการบูรณาการแผนปฏิบัติการร่วมขับเคลื่อนการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการต่อต้านการทุจริต (Action Plan) ระหว่างสำนักงาน ปปท. เขต 1 เขต 2,พอช.ภาค, ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดและสำนักงานจังหวัด ซึ่งคณะทำงานฯ ได้ร่วมกำหนดแผนปฏิบัติงานและจังหวะก้าวในการขับเคลื่อนกิจกรรมเชื่อมโยง/ขับเคลื่อนการป้องกันการทุจริตภาคประชาชน ระดับจังหวัดของแต่ละจังหวัดเพื่อการบูรณาการแผนปฏิบัติการร่วมขับเคลื่อนการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการต่อต้านการทุจริตร่วมกัน