ร่วมมอบ ‘กล่องบุญ&รอด’ ให้ผู้แทนชาวชุมชน
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนหรือ ‘พอช.’ พร้อมด้วยผู้แทนชาวชุมชนรับมอบ ‘กล่องบุญ&รอด’ บรรจุยา เวชภัณฑ์ ถุงยังชีพ จาก สช.-ศิษย์เก่า มธ.-มูลนิธิรักษ์ไทย ให้กับชาวชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และเตรียมส่งอาสาสมัครเข้าไปสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวชุมชน 2 พื้นที่นำร่อง ขณะที่ 8 ชุมชนในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดเตรียมจัดทำศูนย์พักคอยในชุมชนรองรับผู้ติดเชื้อโควิด
วันนี้ (5 กันยายน) ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ถนนนวมินทร์ เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ มีพิธีมอบ ‘กล่องบุญ&รอด’ ซึ่งบรรจุยา เวชภัณฑ์ และถุงยังชีพให้กับผู้ป่วย กลุ่มเปราะบาง และผู้ที่ได้รับกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ให้แก่ชาวชุมชนผู้มีรายได้น้อยในกรุงเทพฯ โดยมี นพ. ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ประธานคณะทำงานโครงการ ‘อิ่ม&บุญ’ สมาคมนักศึกษาเก่าพาณิชย์ศาสตร์ และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และมูลนิธิรักษ์ไทย เป็นผู้มอบผ่านผู้บริหารสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช. โดยนางสาวพรรณทิพย์ เพชรมาก รอง ผอ.พอช. นางสาวจันทนา เบญจทรัพย์ ผู้ช่วย ผอ.พอช. และผู้แทนชาวชุมชนเขตคันนายาว ร่วมรับมอบสิ่งของ
ผู้แทนชุมชนเขตคันนายาวรับมอบสิ่งของ
ส่วนสิ่งของที่มอบเพื่อช่วยเหลือชาวชุมชนเขตคันนายาวครั้งนี้ ถือเป็นการส่งต่อพลังและกำลังใจให้แก่พี่น้องร่วมชาติที่กำลังรอความช่วยเหลือเร่งด่วนในสถานการณ์โควิด ประกอบด้วย กล่องบุญ&รอด จำนวน 30 กล่อง ถุงยังชีพ 200 ชุด แอลกอฮอล์ 10 แกลลอน ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ หน้ากากผ้า และชุดตรวจ ATK จำนวน 500 ชุด
นอกจากการมอบสิ่งของความช่วยเหลือดังกล่าวแล้ว ผู้แทน สช. คณะทำงานโครงการ ‘อิ่มบุญ’ ผู้บริหาร พอช. และผู้แทนชุมชนยังได้ร่วมกันหารือแนวทางการพัฒนาเชิงนโยบายฟื้นฟูคุณภาพชีวิตหลังโควิด-19 สู่การปฏิบัติการพื้นที่ชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การส่งอาสาสมัคร หรือนักศึกษาลงไปสนับสนุนการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตชาวชุมชนในด้านต่างๆ โดยจะคัดเลือกชุมชนนำร่อง 2 ชุมชนเพื่อเป็นพื้นที่ปฏิบัติงานในเร็วๆ นี้
ทั้งนี้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระลอกแรกตั้งแต่ปี 2563 สช.ได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่าย เช่น สปสช. พอช. องค์กรปกครองท้องถิ่น รพ.สต.ทั่วประเทศ ฯลฯ จัดทำโครงการ ‘รวมพลังพลเมืองตื่นรู้สู้ภัยโควิด-19’ เพื่อรณรงค์ ป้องกัน ควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด
ขณะที่ พอช.สนับสนุนให้ชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชนทั่วประเทศ เช่น กองทุนสวัสดิการชุมชน สภาองค์กรชุมชนตำบล เครือข่ายบ้านมั่นคง จัดทำหน้ากากผ้าอนามัยป้องกันเชื้อโควิดแจกจ่ายประชาชนกว่า 1 ล้านชิ้น รวมทั้งจัดทำครัวชุมชนเพื่อแจกข้าวกล่อง มอบข้าวสาร อาหารแห้ง สิ่งของจำเป็นให้แก่ชาวชุมชนที่ได้รับผลกระทบทั่วประเทศ
ล่าสุดตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564 ต้นมา พอช.ได้จัดทำ ‘โครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด’ โดยสนับสนุนงบประมาณจำนวน 62 ล้านบาทให้ชุมชนผู้มีรายได้น้อยจัดทำโครงการต่างๆ เพื่อแก้ไขและลดผลกระทบจากโควิด เช่น สำรวจข้อมูลกลุ่มเปราะบางในชุมชนเพื่อให้ความช่วยเหลือเร่งด่วน รณรงค์ป้องกัน แจกจ่ายอุปกรณ์ป้องกัน จัดทำศูนย์พักคอยในชุมชน (Community Isolation) หรือ CI เพื่อดูแลผู้ติดเชื้อ ป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจาย ทำอาหาร-สินค้าขายราคาถูก สร้างแหล่งอาหารลดรายจ่าย ปลูกผัก เพาะเห็ด เลี้ยงสัตว์ ฯลฯ รวมพื้นที่อนุมัติจนถึงปัจจุบัน 67 เมือง 761 ชุมชน ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ 179,127 ครัวเรือน
ส่วนชุมชนที่กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารสถานที่ในชุมชนเพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์พักคอยหรือ CI รองรับผู้ติดเชื้อโควิดที่มีอาการไม่รุนแรงหรือรองรับผู้ป่วยที่รักษาตัวหายแล้วก่อนกลับคืนสู่ครอบครัว ประกอบด้วย 1.ชุมชนคลองลัดภาชี เขตภาษีเจริญ กทม. ปรับปรุง CI เดิมให้ได้มาตรฐาน รองรับผู้ติดเชื้อได้ 10 เตียง 2.ชุมชนสุภัทรภิบาล เขตภาษีเจริญ ปรับปรุง CI (ศูนย์พักรอ) เดิมให้ได้มาตรฐาน รองรับผู้ติดเชื้อได้ 7 เตียง 3.ชุมชนเขตจตุจักร ก่อสร้างศูนย์พักคอย/ศูนย์พักรอ (ใช้เต๊นท์หรือตู้คอนเทรนเนอร์ บริเวณลานกีฬาใต้ทางด่วน) รองรับได้ 32 เตียง
4.ชุมชนพัฒนาหัวรถจักรตึกแดง เขตบางซื่อ ปรับปรุงศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนเป็น CI รองรับ 3 ชุมชน รวม 44 เตียง 5.ชุมชนคลองลำนุ่น เขตคันนายาว ปรับปรุงศูนย์ชุมชนเป็นศูนย์ประสานงาน รองรับได้ 6 เตียง 6.ชุมชนบ้านครัว เขตราชเทวี ปรับปรุงศูนย์ประสานงานและพักฟื้น รองรับได้ 10 เตียง 7.ชุมชนบุญร่มไทร เขตราชเทวี ปรับปรุงลานซ้อมมวยเป็นศูนย์พักรอ รองรับได้ 4 เตียง และ 8.ชุมชนเหล่านาดี 12 อ.เมือง จ.ขอนแก่น ใช้ตู้คอนเทรนเนอร์ 4 ตู้ ปรับปรุงเป็นศูนย์แยกกักและพักฟื้น รองรับผู้กลับคืนถิ่นได้ 15 เตียง