เมื่อวันศุกร์ที่ 21 พฤษภาคม 2564 เวลา 13.35-13.56 น. นางสาวมนิดา ลิ่มนิจสรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 10 ให้สัมภาษณ์ออกรายการวิทยุ MCOT Radio FM 102.0 MHz . (สถานีวิทยุ อสมท.สุราษฎร์ธานี ในประเด็นโครงการ รวมน้ำใจฝ่าวิกฤตโควิด -19 “เรามีเรา” ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน เราจะตามไปช่วย สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
นางสาวมนิดา ลิ่มนิจสรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 10 กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของโครงการรวมรวมน้ำใจฝ่าวิกฤตโควิด -19 “เรามีเรา” ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน เราจะตามไปช่วยว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นของคงมนุษย์ (พม.) หรือกระทรวงพ่อแม่ เพราะฉะนั้นหน้าที่ของพ่อแม่คือดูแลทุกข์สุขของลูกๆ
ส่วนของกระทรวง พม. รัฐมนตรี จุติ ไกรกฤกษ์ และปลัดพัชรี อารยะกุล มองว่า วิกฤติโควิดตั้งแต่รอบแรกมีผู้ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิกฤตในปัจจุบัน รัฐมนตรี พม.บอกว่าทีมประเทศไทยต้องมาหนุนเสริมในเรื่องนี้ ในส่วนกระทรวง พม.ก็มีโครงการมากมายหลากหลาย ในรอบแรก เช่น “พม.ปันสุข” , “พม.รับเรื่องร้องทุกข์” และ “พม.ส่งใจถึงหน้าบ้าน”
สำหรับรอบสาม ในภาพรวม ทั้งกระทรวงทำโครงการ “รวมน้ำใจฝ่าวิกฤตโควิด-19 เรามีเรา ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน เราจะตามไปช่วย” ทั้งส่วนกลาง และ 76 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคม ผู้ได้ผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งกลุ่มเป้าหมายแรกที่เข้ารับการช่วยเหลือจะเป็น เด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ คนไร้ที่พึ่ง และแม่เลี้ยงเดี่ยวที่เดือดร้อน โดยมีนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวง พม.ของทุกจังหวัด ซึ่งของสุราษฎร์ธานีมี 10 หน่วยงาน ดังนั้นจะต้องระดมใช้ความร่วมมือของเครือข่าย น้ำใจของคนสุราษฎร์ธานีเมืองคนดี
ระลอกแรกได้ระดมทุนทุกทาง ทรัพยากรภาคีทุกภาคส่วน และระลอกสาม ได้จัดตั้งศูนย์รับบริจาคระดมทุนจากคน สุราษฎร์ธานี เปิดรับบริจาคสิ่งของ เครื่องอุปโภค บริโภค ของใช้ในชีวิตประจำวัน มีการร้องขอสิ่งเหล่านี้ผ่านสายด่วน 1300 สุราษฎร์ธานี เฉลี่ยวันละ 200 สายที่แจ้งปัญหามาอยู่เรื่อยๆ
“ในส่วนกลุ่มผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ทางกระทรวงมหาดไทยมีระเบียบช่วยเหลือ แต่กลุ่มคนเปราะบางที่ได้รับผลกระทบแต่ยังไม่ติดเชื้อยังไม่มีระเบียบในการช่วยเหลือ จึงร้องขอมายังหน่วยงาน ถ้ามีการร้องเรียนมาก็จะประสานสังคมสงเคราะห์ นักพัฒนาสังคม และอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ หรือ อพม. ซึ่งส่วนใหญ่เป็น อสม.จะช่วยกรองข้อมูลให้ บางครัวเรือนอาจจะไม่ใช่เปราะบางจริง แต่ ณ ขณะนี้เมื่อครอบครัวมีปัญหาวิกฤตเราก็สามารถช่วยเหลือได้” นางสาวมนิดากล่าว
ส่วนช่องทางการรับบริจาคนั้น นางสาวมนิดาบอกว่า สามารถบริจาคได้ที่บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสุราษฎร์ธานี หมู่ที่ 1 ตำบลขุนทะเล อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี 84100 โทร. 077-355093 หรือสามารถสมทบทุนบริจาคได้ทาง บัญชี สภาเด็กและเยาวชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี เลขที่บัญชี 982-3-87835-8 ธนาคารกรุงไทย สาขาเซ็นทรัลสุราษฎร์ธานี และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์จังหวัดสุราษฎร์ หมู่ที่ 1 ตำบลขุนทะเล อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี 84100 โทร. 077-355080-1
สำหรับสิ่งของที่ต้องการรับบริจาคเป็นพิเศษ คือ แพมเพิร์สไซส์ผู้ใหญ่ สำหรับการนำของที่ได้รับบริจาค ทางพม.จะนำสิ่งของไปให้ถึงมือผู้ประสบภัย หมู่บ้านไหนไม่สามารถเข้าไปบริจาคได้เนื่องจากการปิดหมู่บ้านก็จะประสานกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อนำของไปจัดวางตามจุดที่ประสานงานไว้ และมีสภาเด็กระดับตำบล ระดับอำเภอ ประสานงานมายังสภาเด็กจังหวัด ซึ่งเป็นเวทีหนึ่งที่สร้างเด็กให้เกิดจิตสำนึกเป็นจิตอาสา
“ตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกหน่วยงานของจังหวัด จนถึงหน่วยงานของ พม. เราพยายามสร้างทุกช่องทางเพื่อสร้างน้ำใจ ลดความเดือดร้อน และตอนนี้ผู้ว่าฯ เชิญชวนลงทะเบียนฉีดวัคซีน จึงขอเชิญชวนพี่น้องทั้งสุราษฎร์ธานีฉีดวัคซีน เป็นเรื่องดีๆ ที่สุราษฎร์ธานีเรามีวัคซีนฉีดเพื่อสร้างภูมิต้านทาน เมื่อภูมิต้านทานเกิด ความเชื่อมั่นก็จะเกิด เศรษฐกิจก็ขยับเขยื้อน และพวกเราคนสุราษฎร์ธานีก็จะได้พ้นทุกข์ ออกมาทำมาหากิน มีคุณภาพที่ดีขึ้น ขอให้ทุกคนดูแลตัวเอง ดูแลคุณภาพชีวิตตัวเอง และห่างจากโควิด-19 ทุกๆ คน” ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 10 กล่าวในตอนท้าย
โดย นางสาวฉวีวรรณ สาระโมฬี ตำแหน่ง เจ้าพนักงานพัฒนาสังคมปฏิบัติงาน
สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 10 (สสว.10) สังกัด สป.พม.