ตำบลโคกใหญ่ อำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี ภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นพื้นที่ราบลุ่ม มีคลองส่งน้ำชลประทานผ่านพื้นที่ตั้งแต่เหนือจรดใต้ แบ่งการปกครองออกเป็น 6 หมู่บ้าน มีประชากรรวมทั้งหมด 1,512 คน จำนวน445 ครัวเรือน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการเกษตร ทำนา ปลูกเผือกหอม รองลงมาคือรับจ้าง ค้าขาย และรับราชการ
นางสมศรี เพ็งรุ่ง ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลโคกใหญ่ เล่าว่า สภาองค์กรชุมชนตำบลโคกใหญ่จัดตั้งในปี 2551 มีคณะกรรมการจำนวน 20 คน มาจากผู้แทนหมู่บ้านและกลุ่มองค์กรต่างๆ ในตำบล เป็นจุดเริ่มต้นในการเชื่อมโยงกลุ่มต่างๆ ให้ไปเรียนรู้กับสภาองค์กรชุมชนในพื้นที่อื่น โดยได้รับการหนุนเสริมจากคณะประสานงานขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดสระบุรีและสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ในการขับเคลื่อนงานพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตด้านต่างๆ ของคนในตำบล เช่น การส่งเสริมจัดสวัสดิการชุมชน การปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัยให้กับผู้ยากจนและด้อยโอกาสภายใต้โครงการบ้านพอเพียง การพัฒนาอาชีพสร้างรายได้ในครัวเรือน ฯลฯ
ในการขับเคลื่อนงานพัฒนา สภาองค์กรชุมชนตำบลโคกใหญ่ได้ร่วมกับผู้นำกลุ่มองค์กร ชาวบ้าน และหน่วยงานภาคี จัดทำแผนพัฒนาตำบลระยะ 4 ปี เริ่มจากปี พ.ศ.2560 – 2564 เช่น ด้านเศรษฐกิจ ส่งเสริมอาชีพกลุ่มต่างๆ ในตำบล ส่งเสริมการนำเผือกหอมผลผลิตในตำบลที่มีการปลูกกันมากนำมาแปรรูป โดยจัดทำแผนงาน/ กิจกรรมโครงการภายใต้แผนพัฒนาตำบลเสนอต่อองค์การบริหารส่วนตำบลโคกใหญ่ทำให้ได้รับการบรรจุและสนับสนุนแผนงาน และมีหน่วยงานต่างร่วมสนับสนุน เช่น สำนักงานพัฒนาชุมชน สนับสนุนงบประมาณด้านวิทยากร อบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการแปรรูปเผือกหอม ทั้งขั้นตอนและมาตรฐานการผลิตเพื่อพัฒนาการแปรรูปเผือกให้มีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) สนับสนุนการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความโดดเด่นและดึงดูดลูกค้า
กิจกรรมต่างๆ ในตำบลโคกใหญ่
โดยเริ่มนำเผือกหอมมาแปรรูปในปี 2560 จากเดิมที่ชาวบ้านปลูกเผือกหอมส่งขายกิโลกรัมละ20-30 บาท เมื่อเอามาทำเผือกทอดคลุกเนยจะช่วยเพิ่มมูลค่าและสร้างงานให้แก่แม่บ้านที่มีเวลาว่าง นอกจากนี้เผือกยังเป็นพืชที่มีประโยชน์ คือ มีธาตุเหล็กและฟลูออไรด์สูง ช่วยเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรงและป้องกันฟันผุ บำรุงลำไส้และแก้อาการท้องเสียได้ด้วย
ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลโคกใหญ่เล่าต่อไปว่า การรวมกลุ่มแปรรูปเผือกหอมมีสมาชิกที่สนใจเข้าร่วมจำนวน 20 คน โดยมีตนเป็นประธานกลุ่มฯ ในช่วงแรกการบริหารจัดการยังไม่เป็นทางการ เนื่องจากยังไม่มีสถานที่ทำการของกลุ่ม สมาชิกแต่ละคนจะทำเผือกทอดเอง เมื่อทำเสร็จแล้วจึงจะนำมารวมกันขาย มีทั้งขายแบบถุงเล็ก ขายส่งราคา 8 บาท ร้านค้าเอาไปขายต่อถุงละ 10 บาท และถุงใหญ่น้ำหนัก 1 กิโลกรัม ราคา 200 บาท ร้านค้าจะแบ่งเอาไปบรรจุเป็นถุงเล็ก
ส่วนขั้นตอนการทำเผือกทอดคลุกเนย มีส่วนประกอบที่สำคัญ ดังนี้ 1.เผือกหอม 2 กิโลกรัม 2.น้ำตาลทราย 2 กิโลกรัม 3. เกลือ 2 ช้อนโต๊ะ 4. เนย 100 กรัม 5. ใบเตย 100 กรัม โดยนำเผือกมาล้าง ผึ่งให้แห้ง หั่นหรือสไลด์เผือกเป็นแผ่นบาง นำเผือกมาทอดน้ำมัน ใส่ใบเตยลงไปเพื่อให้มีกลิ่นหอม เมื่อเผือกสุกแล้ว ตักขึ้นพักไว้ นำน้ำตาล เกลือ และเนยใส่กระทะ เคี่ยวให้ส่วนผสมทั้งหมดละลายเป็นเนื้อเดียวกัน นำเผือกที่ทอดสุกแล้วลงไปคลุกในกระทะ จากนั้นจึงตักขึ้นมาพัก เพื่อเตรียมบรรจุถุง
จากเผือกหอมที่ปลูกเองราคากิโลกรัมละไม่กี่บาท ยิ่งในช่วงโควิดนี้ราคายิ่งตก พ่อค้ามารับซื้อกิโลฯ ละ 15 บาท แต่เมื่อเอามาทำเผือกทอดจะทำให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยหัวเผือกสดน้ำหนัก 3 กิโลฯ เมื่อมาทำเผือกทอดจะได้ประมาณ 2 กิโลฯ ขายส่งถุงเล็กราคา 8 บาท ต้นทุนประมาณ 5 บาท จะได้กำไรถุงละ 3 บาท ครั้งหนึ่งๆ จะทำไม่ต่ำกว่า 100 ถุง หรือตามลูกค้าสั่ง แม้ว่าจะไม่ได้กำไรมากมาย แต่ก็ช่วยให้สมาชิกมีรายได้ในช่วงโควิด อย่างน้อย 1,000 – 2,000 บาทต่อเดือน ส่วนกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าประจำอยู่ในชุมชน
แปลงนาเผือก
นางสมศรี เพ็งรุ่ง ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลโคกใหญ่ และประธานกลุ่มแปรรูปเผือกหอม บอกในตอนท้ายว่า แม้ว่าสินค้าเผือกหอมทอดกรอบของกลุ่มจะเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ มีประโยชน์ แต่ก็ยังไม่ได้รับความนิยมจากชุมชนมากนัก เพราะคนส่วนใหญ่ติดสินค้าที่โฆษณาทางโทรทัศน์ นิยมบริโภคตามสื่อ เช่น ขนมถุงกรุบกรอบต่างๆ ซึ่งมีทั้งผงชูรสและสารกันบูด อย่างไรก็ตาม กลุ่มมีแผนที่จะพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพต่อไป เช่น การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้มีความโดดเด่น การประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อรูปแบบต่างๆ เช่น เฟสบุ๊ค ไลน์ เพิ่มช่อง ทางการขาย เช่น การออกบูธสินค้าชุมชน เชื่อมโยงกับกลุ่มองค์กรอื่นๆ เพื่อหนุนเสริมกัน และจัดทำแผนพัฒนาธุรกิจชุมชน เพื่อพัฒนาสินค้าและบริหารจัดการอย่างเป็นระบบต่อไป
นางสมศรี เพ็งรุ่ง
ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลโคกใหญ่