สภาองค์กรชุมชนตำบลมิตรภาพ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี จัดตั้งเมื่อปี 2561 โดยการสนับสนุนของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) โดยมีกลุ่มที่ร่วมจดแจ้งจัดตั้งสภาฯ จำนวน 10 กลุ่ม มีการขับเคลื่อนงานมาอย่างต่อเนื่อง และได้เข้าร่วมเวทีพัฒนาศักยภาพสภาองค์กรชุมชนระดับจังหวัด
การประชุมสภาองค์กรชุมชนในการจัดทำแผนพัฒนาตำบล
นางสาวณัฐธยาน์ อุทัย ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลมิตรภาพ กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2564 สภาองค์กรชุมชนตำบลมิตรภาพ ได้จัดทำแผนการดำเนินงานและมีการวิเคราะห์ปัญหาในตำบลมิตรภาพ พบว่า คนในชุมชนมีปัญหาภาระหนี้สิน รายจ่ายมากกว่ารายรับ รวมถึงปัญหาที่ใหญ่ระดับประเทศ คือ ขยะ น้ำไม่เพียงพอ มลพิษ ฝุ่นละออง ควัน ปัญหาหนี้สิน โดยเฉพาะปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยิ่งส่งผลกระทบทำให้ประชาชนมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย เกิดปัญหาการว่างงาน
คณะทำงานสภาองค์กรชุมชนฯ จึงมีแนวคิดที่จะส่งเสริมอาชีพให้ผู้ว่างงานในชุมชนทำ โดยจะปลูกผักกรีนโอ๊คเพื่อไว้บริโภคภายในครัวเรือน เมื่อเหลือจึงขาย เพราะเป็นผักที่ได้รับความนิยมจากคนรักสุขภาพ นิยมบริโภคสด ๆ นำมาทำสลัดเป็นเครื่องเคียงกินกับยำ หรือนำมาตกแต่งอาหาร และยังแปรรูปได้หลากหลาย เป็นผักที่มีวิตามินซี วิตามินเอ วิตามินอี และวิตามินบี ช่วยบำรุงสายตา ช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง แก้ท้องผูก ท้องอืด และท้องเฟ้อได้ดี
ใช้หลัก CBMC วางแผนธุรกิจผักกรีนโอ๊ค
หลังจากนั้นจึงจัดตั้ง ‘กลุ่มปลูกผักสลัด(กรีนโอ๊ค)’ ขึ้นมา และได้ร่วมเรียนรู้การพัฒนาศักยภาพการจัดทำแผนธุรกิจร่วมกันในระดับจังหวัด โดยสภาองค์กรชุมชนตำบลมิตรภาพได้ส่งผู้แทนเข้าร่วม และนำความรู้กลับมาวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ตามขั้นตอนของแบบจำลองทางธุรกิจเพื่อชุมชน ( Community Business Model Canvas : CBMC ) พบว่า ผักสลัดกรีนโอ๊คเป็นสินค้าที่มีจุดเด่นและเป็นที่นิยมในกลุ่มคนรักสุขภาพที่นับวันจะมีเพิ่มขึ้น คนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น กลุ่มลูกค้าปัจจุบันและอนาคตประกอบด้วย คนในชุมชนอายุ 30 ปีขึ้นไป นักท่องเที่ยว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ท ลูกค้าออนไลน์ ร้านสะดวกซื้อ ร้านค้าส่งขนาดใหญ่ ฯลฯ
กลุ่มจึงได้จัดทำแผนธุรกิจผักสลัดกรีนโอ๊ค โดยมีรายละเอียดแผนธุรกิจ คือ 1. ประชาสัมพันธ์สินค้าผ่านระบบออนไลน์ ผ่าน Facebook และ Group Line 2.จัดให้มีสินค้าชิมฟรีที่บ้าน และตามงานประชุมต่างๆ 3.จัดทำโลโก้เพื่อติดบรรจุภัณฑ์ 4.อบรมปลูกผักสลัดกรีนโอ๊ค 5.อบรมพัฒนาบรรจุภัณฑ์ 6.พัฒนาสร้างศูนย์การเรียนรู้ผักสลัดกรีนโอ๊ค เช่น ทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ทำจุด Check in
7.พัฒนาสินค้าให้มีมาตรฐาน เช่น การรับประกันผักสลัดปลอดภัย 8.สร้างแรงจูงใจให้กับลูกค้าในการซื้อสินค้า เช่น จัดให้มีสินค้าชิมฟรีที่บ้านและตามงานประชุมต่างๆ สำรวจความพึงพอใจของลูกค้า การจัดทำบัตรสมาชิก เป็นต้น และ 9. การพัฒนาระบบบริหารจัดการที่ดีเป็นมืออาชีพ เช่น การสร้างทีม สร้างคนรุ่นใหม่ การทำแฟ้มจัดเก็บข้อมูล การจัดเก็บเมล็ดพันธุ์ การจัดทำตำราอาหาร การสร้างคนรุ่นใหม่ การเชื่อมโยงกับตำบลอื่นๆ เป็นต้น
เทคนิคการปลูกผักกรีนโอ๊ค
สุจริตรา วงษ์เสน่ห์ ประธานกลุ่มปลูกผักสลัด(กรีนโอ๊ค) บอกว่า กลุ่มมีสมาชิก 10 คน ในระยะเริ่มแรกยังไม่มีการจัดการที่เป็นระบบมากนัก โดยใช้ที่บ้านของตนเป็นศูนย์การเรียนรู้การปลูกผักสลัด ทำแปลงปลูกผักในเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ มีการจัดประชุมสมาชิกกลุ่มเพื่อสร้างความเข้าใจ สร้างข้อตกลงร่วมกันในการปลูกผักสลัดกรีนโอ๊คปลอดภัยไม่ใช้สารเคมี อบรมให้ความรู้การทำปุ๋ยน้ำหมัก โดยมีเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอมาให้ความรู้ ส่วนสมาชิกคนอื่นๆ ก็จะปลูกผักสลัดโดยใช้พื้นที่ที่บ้านของตนเอง เช่น ปลูกในกระถางเพาะกล้า ปลูกในถุงดิน หรือปลูกในแปลงใหญ่ก็ได้
ส่วนวิธีการปลูกผักสลัดกรีนโอ๊ค คือ นำดินร่วนมาผสมกับปุ๋ยคอกและขุยมะพร้าว ผสมกันในอัตรา 1:1 จากนั้นรดน้ำให้ชุ่มแล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วทิ้งไว้ในที่ร่มเป็นเวลา 7 วัน จากนั้นนำเมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์ซึ่งหาได้จากหลายช่องทาง เช่น ร้านจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ หรือซื้อจากร้านค้าออนไลน์ นำมาปลูกลงในกระถางธรรมดา หรือจะแยกปลูกในกระถางเพาะกล้าหรือถุงดินก่อนก็ได้ ฝังเมล็ดพันธุ์ 1-2 เมล็ดลงในดินลึกประมาณ 4 นิ้ว กลบดินทับบาง ๆ รดน้ำพอให้ชุ่ม แต่ระวังอย่าให้แฉะจนเกินไป ตั้งในที่ร่มแสงแดดรำไร
เมื่อต้นอ่อนงอกหรือประมาณ 4 วัน หากใช้วิธีเพาะต้นกล้าก็สามารถย้ายมาปลูกในกระถางใหญ่ได้เลย ตั้งกระถางในที่ที่มีแสงแดดส่องถึง หมั่นรดน้ำให้ดินชุ่มชื้นทั้งเช้า – เย็น และให้สารอาหารด้วยปุ๋ยละลายน้ำ ประมาณ 40-45 วันผักก็จะเติบโต สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตนำมาบริโภคหรือจำหน่ายได้
ส่วนปัญหาและอุปสรรคที่พบในการปลูกผักสลัดกรีนโอ๊ค คือ ภัยจากธรรมชาติ หากอากาศร้อนมากก็จะทำให้ผักไม่โต เพราะเป็นผักเมืองหนาว หากฝนตกมากก็จะทำให้รากเน่าได้
ผักสลัดกรีนโอ๊คปลูกในถุงทำให้ดูแลง่าย
ส่วนผลผลิตของกลุ่มปลูกผักสลัดกรีนโอ๊คจะนำมาวางขายที่ทำการกลุ่ม ตลาดนัด อสค. มวกเหล็ก ปัจจุบันขายตามออเดอร์ที่ลูกค้าสั่ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นร้านอาหารเพื่อสุขภาพ โรงแรม รีสอร์ทในอำเภอมวกเหล็ก ราคาจำหน่ายกิโลกรัมละ 100-120 บาท เมื่อหักต้นทุนเข้ากลุ่มแล้ว สมาชิกแต่ละคนจะมีรายได้อาทิตย์ละประมาณ1,500-2,000บาท
ส่วนด้านการตลาดนั้น กลุ่มได้ประชาสัมพันธ์สินค้าผ่านทาง Face book และ Group Line ทำให้ผักสลัดของกลุ่มเป็นที่รู้จักของเจ้าของกิจการโรงแรมรีสอร์ท กลุ่มคนที่รักสุขภาพ มาเที่ยวชมการปลูกผักที่กลุ่มและซื้อผักกลับไปด้วย ด้านการบรรจุภัณฑ์นั้น กลุ่มได้ร่วมกับพัฒนาชุมชน และ กศน. ออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สวยงามเพื่อให้ลูกค้าพึงพอใจและกลับมาซื้อผักสลัดอีก รวมทั้งให้ลูกค้าชิมก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ ทำให้ลูกค้าติดใจและกลับมาซื้อสินค้ากับทางกลุ่มอีก
นอกจากนี้เมื่อมีการประชุมในพื้นที่หรือนอกพื้นที่ เช่น การประชุมกำนัน ใหญ่บ้าน การประชุมเครือข่ายที่จังหวัด กลุ่มจะนำผักสลัดไปให้ชิมเพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าและขายด้วย
ความภาคภูมิใจ
สุจริตรา ประธานกลุ่มปลูกผักสลัด(กรีนโอ๊ค) บอกว่า จากการดำเนินงานของกลุ่มปลูกผักสลัดปลอดภัย ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อคนในชุมชนตำบลมิตรภาพ คือ ในช่วงนี้ที่มีการแพร่เชื้อระบาดของโควิด-19 ทำให้ชาวชุมชนมีรายได้ลดน้อยลง บางคนตกงาน กลุ่มปลูกผักสามารถสร้างงานสร้างรายได้ให้สมาชิกสัปดาห์ละประมาณ 1,500-2,000 บาทต่อคน และยังมีผักเอาไว้รับประทานในครัวเรือน ช่วยลดรายจ่าย
นอกจากนี้ยังทำให้เห็นการบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานภาคีในการหนุนเสริมการพัฒนาชุมชนตำบลมิตรภาพ เช่น การประสานงานกับอำเภอมวกเหล็ก เพื่อนำผักไปจำหน่ายในวันประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้าน เกษตรอำเภอส่งวิทยากรมาให้ความรู้และเทคนิคการปลูกผักสลัด สำนักพัฒนาชุมชนให้ความรู้เรื่องผักสลัดและออกแบบบรรจุภัณฑ์
“ความภาคภูมิใจที่ทำให้กลุ่มปลูกผักสลัดกรีนโอ๊คประสบความสำเร็จ คือ ความเอาใจใส่ในการรักษาคุณภาพของสินค้า ส่วนแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อไปของกลุ่มนั้น นอกจากการพัฒนาเรื่องบรรจุภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานแล้ว ทางกลุ่มมีแผนที่จะพัฒนาปรับปรุงแปลงผักสลัดให้ได้มาตรฐาน สามารถทนทุกสภาพอากาศได้” ประธานกลุ่มปลูกผักสลัดกรีน โอ๊คบอกในตอนท้าย
โดยนางศิรินาฎ ติ๊ปรัตน์ นักสื่อสารชุมชน จังหวัดสระบุรี