อาคารพิพิธภัณฑ์ชีวิติพื้นถิ่นคนหนองหมู
หากจะพูดถึงแหล่งท่องเที่ยวที่ให้ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตในอำเภอวิหารแดง จ.สระบุรี คงต้องนึกถึงหมู่บ้านคันลำ ซึ่งตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลหนองหมู ซึ่งเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตพื้นถิ่นคนหนองหมู ที่รวบรวมเอาสิ่งของ–อุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบอาชีพ และการดำรงชีวิตในสมัยก่อนจนถึงปัจุบันมาจัดแสดงบอกเล่าถึงเรื่องราวของคนหนองหมูว่ามีวิถีชีวิตอย่างไร ในสมัยที่ย้อนกลับไปราวสัก 30 -50 ปีก่อนนั้น
พิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตพื้นถิ่นคนหนองหมู ก่อตั้งเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2558 โดยนายอำนาจ สันโคตร ผู้นำชุมชนหนองหมูเป็นผู้ก่อตั้ง ส่วนแนวคิดในการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ นายอำนาจเล่าว่า ตนเองได้ไปศึกษาดูงานตามหมู่บ้านต่างๆ ทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัดบ่อยๆ เห็นความหลากหลาย เห็นแนวคิดในการสร้างหมู่บ้านให้มีความน่าสนใจเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาคนไปพร้อม ๆ กัน
“ส่วนตัวผมสนใจเรื่องของเก่าที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือ เครื่องใช้ในการประกอบอาชีพของคนในสมัยก่อน และมองเห็นศักยภาพของหมู่บ้านที่จะทำได้ จึงเริ่มหาที่ดินในการก่อสร้างอาคาร จึงได้ปรึกษาเจ้าอาวาสวัดคลองใหม่ คือ ท่านพระครูวิมล วิหาลกุล และครูสำเริง เก่งการช่าง ข้าราชการครูที่เกษียณอายุราชการมาแล้วหลายปี ท่านพระครูวิมลวิหาลกุล ได้เล็งเห็นความสำคัญและอยากให้คนรุ่นหลังมีแหล่งศึกษาเรียนรู้ทางด้านวิถีชีวิต จึงยินยอมให้ปลูกสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ขึ้นมาในที่ดินของวัดคลองใหม่จำนวน 1 ไร่” นายอำนาจเล่าความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์
เขาบอกว่า การรวบรวมสิ่งของเครื่องมือเครื่องใช้มาจัดแสดงโชว์ให้นักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบของเก่านั้น กว่าจะทำได้ยากแสนยากลำบาก ตอนแรกๆ จึงเอาของสะสมของตนเองมาแสดงก่อน เวลาไปที่ไหนก็ซื้อหามาเข้าพิพิธภัณฑ์ แล้วจัดเป็นหมวดหมู่ อาศัยสื่อช่องทางออนไลน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Facebook กลุ่ม Line เชิญชวนให้คนมาเที่ยวชม ด้วยตนเองเป็นผู้นำชุมชน เวลาที่ไปประชุมที่ไหนก็จะเล่าเรื่องของพิพิธภัณฑ์ จึงเริ่มมีคนเห็นและติดตามใน Facebook บางคนก็ติดต่อบริจาคสิ่งของให้กับพิพิธภัณฑ์ไว้ศึกษาเรียนรู้ บ่อยครั้งมักจะมีคำถามว่า จะทำได้เหรอ ? ทำไปทำไม ?
คำถามนี้จึงย้อนกลับมาที่ตัวเองเสมอว่า “ทำไปทำไม ?”
คำตอบ คือ “เพื่อสร้างแหล่งเรียนรู้ให้กับคนรุ่นหลังได้มีที่ศึกษาหาความรู้”
จนกระทั่งวันหนึ่ง สำนักงานพัฒนาชุมชนวิหารแดงได้ติดต่อประสานงานมาว่า อยากได้แหล่งเรียนรู้ต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ซึ่งในขณะนั้นยังไม่รู้ว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะหมู่บ้านตนเองทำเรื่องพิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตพื้นถิ่นเท่านั้น แต่ก็คิดว่าไม่ยากที่จะเรียนรู้
ประกอบกับขณะนั้น ทางพัฒนาชุมชน และ กศน. เป็นผู้เริ่มในการทำแหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอพียง ตนจึงใช้อาคารของพิพิธภัณฑ์เป็นศูนย์เรียนรู้ มีการนำคนในหมู่บ้านและต่างหมู่บ้านมาเรียนรู้ถ่ายทอดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้การรับรู้เริ่มขยายวงกว้างออกไป ทำให้คนภายนอกเริ่มรู้จักหมู่บ้านและรู้ว่าที่นี่มีพิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตพื้นถิ่นคนหนองหมู
จากจุดเริ่มต้นที่สร้างพิพิธภัณฑ์และเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ทำให้ตนเองเริ่มมองไปรอบๆหมู่บ้านและรอบๆ ตำบลว่า มีจุดไหนที่เป็นจุดขาย สามารถเชื่อมโยงเข้ากับพิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตพื้นถิ่นคนหนองหมูได้บ้าง จะได้สร้างรายได้ให้กับคนในหมู่บ้านและชุมชน จึงเริ่มสำรวจว่าในหมู่บ้านในตำบลมีอะไรที่น่าสนใจและเป็นจุดขายที่สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวหรือจุดเรียนรู้ให้กับคนภายนอก โดยใช้กลไกสภาองค์กรชุมชนตำบลหนองหมูเป็นเวทีกลางในการพูดคุยและเชื่อมโยงในการพัฒนากับหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
สภาองค์กรชุมชนตำบลหนองหมูกับพัฒนาด้านการท่องเที่ยวชุมชน
สภาองค์กรชุมชนตำบลหนองหมู จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2560 โดยมีนายสมคิด จงภักดี กำนันตำบลหนองหมู เป็นผู้ริเริ่มและทำหน้าที่เป็นประธาน ปัจจุบันมีกลุ่มและองค์กรชุมชนเข้าร่วมจดแจ้งแล้วจำนวน 8 กลุ่ม และได้จัดโครงสร้างการทำงานของสภาองค์กรชุมชน โดยแบ่งบทบาทหน้าที่เป็น ‘คณะทำงานสภาองค์กรชุมชนตำบลหนองหมู’ มาจากตัวแทนกลุ่มของทั้ง 8 หมู่บ้าน
มีบทบาทสำคัญคือการผลักดันประเด็นงานพัฒนาเข้าสู่ที่ประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้านในแต่ละเดือน โดยใช้สภาองค์กรชุมชนตำบลหนองหมูเป็นเวทีกลางในการพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นปัญหาภายในชุมชนตำบล และระดมความร่วมมือหาแนวทางการแก้ไขร่วมกันระหว่างกลุ่มอื่นๆ เช่น กองทุนสวัสดิการชุมชน กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มพระสงฆ์ กลุ่มสตรี กลุ่มเด็กและเยาวชน เป็นต้น รวมถึงหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องในประเด็นนั้น เช่น ทหาร เกษตรตำบล พัฒนาชุมชน กศน. อสม. อีกทั้งหน่วยงานภาคีนอกพื้นที่ที่เข้ามามีส่วนร่วมทำงานการพัฒนาตำบล นอกจากนั้น ยังมีคณะกรรมการขับเคลื่อนสภาองค์กรชุมชนจังหวัดสระบุรี เป็นกลไกขับเคลื่อนงานในระดับจังหวัด
จากการใช้สภาองค์กรชุมชนตำบลหนองหมูเป็นเวทีกลางระดมความร่วมมือ ทำงานการพัฒนาจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ตำบล ทำให้เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูล ปรึกษาหารือเพื่อวิเคราะห์สภาพปัญหาในพื้นที่ พบว่า ตำบลหนองหมูมีปัญหาที่ต้องช่วยกันแก้ไขหลายเรื่องด้วยกัน ทั้งเรื่องความเข้มแข็งของอาชีพ ปัญหาสิ่งแวดล้อมขยะมูลฝอย การว่างงานในกลุ่มผู้สูงอายุ การใช้สารเคมีในการทำการเกษตร รวมทั้งปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยที่ไม่มั่นคงของผู้มีรายได้น้อย ผู้ด้อยโอกาสในสังคมชุมชน
นอกจากนี้ยังค้นพบสิ่งดี ๆ ในตำบลที่สามารถเป็นจุดเริ่มต้นเรื่องการท่องเที่ยวโดยชุมชน คือ พิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตพื้นถิ่นชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น วัฒนธรรมประเพณีที่สืบถอดกันมา จนก่อให้เกิดท่องเที่ยวชุมชนบ้านคันลำและศูนย์เรียนรู้ชุมชน
ในเวทีสภาองค์กรชุมชนตำบลหนองหมูที่ได้วิเคราะห์ความต้องการ จุดอ่อน ปัญหาอุปสรรค และโอกาสทางเศรษฐกิจของคนในตำบล ในที่สุดจึงได้กำหนดเป้าหมายร่วมกันคือ “การยกระดับการท่องเที่ยวพิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตพื้นถิ่นคนหนองหมู”
เจดีย์พระคุณแม่
ต่อมาสภาองค์กรชุมชนตำบลหนองหมูได้ร่วมกับนายอำนาจ สันโคตร ประธานพิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตพื้นถิ่นคนหนองหมู พัฒนาชุมชนอำเภอวิหารแดง กศน. และองค์การบริหารส่วนตำบลหนองหมู ร่วมกันวิเคราะห์ข้อมูล พบว่า “การที่จะทำให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวพิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตคนพื้นถิ่นคนหนองหมูอย่างเดียวนั้น มันยังไม่น่าสนใจเท่าไหร่นัก”
ต่อมาจึงได้ทำการสำรวจเส้นทางท่องเที่ยว พร้อมทำแผนผังการท่องเที่ยว หาจุดเด่น จุดขายที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการอนุรักษ์ของเก่าหรือเครื่องมือเครื่องใช้สมัยก่อน ชอบท่องเที่ยวเชิงเกษตร ชอบวัฒนธรรมแบบพื้นบ้าน ชอบอาหารพื้นถิ่น จึงพบว่า ในตำบลหนองหมูสามารถจัดการท่องเที่ยวแบบเชื่อมโยงกันได้หลายจุด
โดยจุดเริ่มต้นการท่องเที่ยวในตำบลหนองหมูคือพิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตพื้นถิ่นคนหนองหมู นักท่องเที่ยวจะเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ของเก่าที่จัดแสดงไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ชม และรู้จักวิถีชีวิตของคนหนองหมู ตรงจุดนี้จะมีที่ถ่ายรูปเช็คอินเก๋ ๆ ไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายรูป พร้อมทั้งได้เรียนรู้การกำดอกไม้ไหว้พระ เพราะที่ตำบลหนองหมูเป็นแหล่งปลูกดอกดาวเรืองและใบเตย และนำดอกไม้ที่ทำเองไปไหว้พระที่เจดีย์พระคุณแม่ที่มีความโดดเด่น มีสีทองอร่าม เป็นวัดคู่หมู่บ้านตำบลหนองหมู มีประวัติการก่อสร้างเพื่อรำลึกถึงพระคุณของมารดา สร้างโดยนายห้างประจวบ จำปาทอง และไหว้พระบัติในวิหารที่มีสีสันสวยงามคล้ายคลึงกับวิหารที่วัดหนึ่งในประเทศลาว
ไปเที่ยวชม ‘สวนเกษตรลุงเปี๊ยก’ ที่ปลูกเมล่อนพันธุ์สีทอง ผิวเรียบ มีเนื้อหวานกรอบอร่อย นักท่องเที่ยวที่มาที่นี่แล้วต้องชิมไอศกรีมเมล่อน ชิมเมล่อนสด ตรงจุดนี้นักท่องเที่ยวสามารถเที่ยวชมแปลงปลูก เมล่อน ถ่ายรูป พร้อมซื้อเมล่อนกลับบ้านได้
เลือกทานอาหารพื้นถิ่นที่มีความหลากหลาย เช่น แกงหอมขม ขนมดาดกระทะ ก๋วยเตี๋ยวเป็ดเจ้ล้วนเจ้าเก่าแก่ในตลาดหนองหมู ซื้อสิ้นค้าในชุมชนที่นำมาขาย เมื่อจบทริปเส้นทางของตำบลหนองหมูแล้ว นักท่องเที่ยวยังเดินทางต่อไปเที่ยวสถานที่สำคัญๆ ในละแวกใกล้เคียงได้ เช่น วัดประสิทธิ์เวช วัดโพธิ์แทน และแหล่งจำหน่ายต้นไม้หลากหลายพันธุ์ที่คลอง 15 อ.องครักษ์ จ.นครนายกที่อยู่ติดกัน
พิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตพื้นถิ่นคนหนองหมู” สู่ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี
จากการพัฒนาการท่องเที่ยว รวมทั้งพัฒนามาตรฐานการให้บริการด้านการท่องเที่ยวของตำบล มีการประเมินผลการทำงานผ่านเวทีประชุมสภาองค์กรชุมชนฯ ทุกเดือนอย่างต่อเนื่อง ทำให้หมู่บ้านคันลำ และพิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตคนพื้นถิ่นคนหนองหมูถูกคัดเลือกให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอวิหารแดง กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เมื่อปี พ.ศ.2562
นางนภาศรี ปิยะกิจ พัฒนาการอำเภอวิหารแดง เล่าว่า ได้เข้าร่วมประชุมกับสภาองค์กรชุมชนตำบลหนองหมูอย่างต่อเนื่อง จึงสนับสนุนโครงการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวของตำบลหนองหมูที่มีการส่งเสริมกิจกรรมท่องเที่ยว เป็นการพัฒนาชุมชนให้เกิดรายได้ โดยปี 2563 ที่ผ่านมา สภาองค์กรชุมชนตำบลหนองหมูได้บูรณาการการทำงานร่วมกันกับกรมพัฒนาชุมชน สนับสนุนให้บ้านคันลำ หมู่ที่ 3 ตำบลหนองหมู เป็นชุมชนท่องเที่ยว โอทอปนวัตวิถี โดยได้จัดกิจกรรมส่งเสริมให้กลุ่มผู้นำ กลุ่มเยาวชน ปราชญ์ชาวบ้าน มีทักษะในการเป็นนักเล่าเรื่องของชุมชน ทำหน้าที่เป็นผู้แนะนำความรู้ของแหล่งท่องเที่ยวและบอกเล่าประวัติศาสตร์ของชุมชน
ส่วนสภาองค์กรชุมชนตำบลหนองหมูก็สามารถประชาสัมพันธ์ให้คนในจังหวัดสระบุรีรู้จักแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่มากขึ้น จากแค่เมืองผ่านที่ไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวแวะมาเที่ยว หากแต่วันนี้ ตำบลหนองหมูเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น
ดังคำขวัญที่ว่า “เที่ยวชมวิถีชีวิต กราบพระขอพรเจดีย์พระคุณแม่ กินแกงจุ๊บหอย อร่อยแท้ขนมดาดกระทะ ”
การท่องเที่ยวบ้านคันลำ
โดย พรรณทิพา ฤทธิ์แก้ว
นักสื่อสารชุมชน จังหวัดสระบุรี