พะเยา / ณ ห้องประชุมเทศบาลตำบลบ้านต๋อม อ.เมือง เครือข่ายสร้างบ้านแปงเมืองพะเยา, มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา, ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดพะเยา และสภาลมหายใจจังหวัดพะเยาร่วมกันแลกเปลี่ยนปัญหาสถานการณ์มลพิษ ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่น PM2.5 ที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตคนพะเยาร่วมกับภาคีวิชาการจากมหาวิทยาลัยพะเยา และตัวแทนจากหน่วยงานท้องถิ่นเพื่อหาแนวทางในการแกไขร่วมกัน จากการนำเสนอข้อมูลเชิงวิชาการจากดร.ชัชวาล วงค์ชัย ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยาสถานการณ์ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาพะเยาเจอปัญหาไฟป่า ฝุ่นควันอย่างหนัก เกิดไฟป่าขึ้นในพื้นที่รอบๆ มหาวิทยาลัยพะเยา ประกอบกับสภาพภูมิประเทศอยู่ในแอ่งกระทะที่แวดล้อมด้วยภูเขา ปัญหาที่คนพะเยาเจอ คือ ปัญหาฝุ่นควันมือสองที่มาจากที่อื่น ประเทศอื่นๆ ที่ไม่สามารถควบคุมได้ และข้อมูลสถิติจากดาวเทียมพบจุดฮอตสปอต PM2.5 ในพื้นที่อำเภอดอกคำใต้ , เชียงม่วน ,ปง ,จุน มีการเผาไหม้มากที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ทางการเกษตร และพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ค่า PM2.5 อยู่ที่ประมาณ 160-170 เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทั่วไป ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลห้วยเคียน ตำบลแม่กา ที่ได้มีการรวบรวมสถิติผู้ป่วยในพื้นที่ตำบลตั้งแต่ปี 2560 – 2563 ที่ผ่านมาพบว่ามีผู้ป่วยเกี่ยวกับโรคระบบทางเดินหายใจส่วนบน โรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด โรคกลุ่มเยื่อบุตาอักเสบ และโรคผิวหนัง เพ่มขึ้น
ที่ผ่านมาในจังหวัดพะเยาได้มีมาตรการในการป้องกัน และรณรงค์ห้ามเผาอย่างเคร่งครัด ทั้งในส่วนของหน่วยงานท้องที่ ท้องถิ่น และเครือข่ายองค์กรชุมชนในพื้นที่ดังจะเห็นได้จากการนำเสนอข้อมูลพื้นที่รูปธรรมระดับตำบล เช่น ตำบลบ้านถ้ำใช้กฎระเบียบในการจัดการป่าชุมชน จำนวน 6,000 กว่าไร่ และใช้มิติทางความเชื่อ วัฒนธรรมในการควบคุมแก้ไขปัญหาไฟป่าซึ่งเป็นสาเหตุหลักของปัญหาฝุ่นควัน เช่น การบวชป่า การสืบชะตาป่า การทำแนวกันไฟ การลาดตระเวนตรวจป่าในช่วงฤดูแล้ง รวมถึงการสร้างความเข้าใจกับคนในพื้นที่ให้เข้าใจและให้ความร่วมมือในการจัดการไฟป่าจนพบว่าหลังปี 2559-2560 เป็นต้นมาปัญหาการเผาในพื้นที่ลดลง
ในช่วงท้ายของการจัดเวทีได้มีการระดมข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหาร่วมกันในพื้นที่ดังนี้
1. การขยายผลการทำงานจากพื้นที่รูปธรรมการทำงานสู่ตำบลอื่นๆ โดยมีการถอดบทเรียนการทำงานเพื่อให้เกิดการเรียนรู้กระบวนการจัดการปัญหาแบบมีส่วนร่วม/การทำงานเชิงรุกและเชิงรับ
2. ใช้พื้นที่สภาองค์กรชุมชน 38 ตำบล ให้เป็นพื้นที่นำร่องที่จะทำงานร่วมระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องดำเนินงานในพื้นที่ในปีงบประมาณ 2565 เป็นต้นไป
3. พัฒนางานข้อมูลเพื่อสร้างความตื่นตัวโดยใช้
– ชุดตรวจสภาพอากาศระดับตำบล” (ราคาประมาณ 5,000 บาท) เพื่อนำข้อมูลมาสร้างการตื่นรู้ให้กับประชาชนโดยให้ท้องถิ่นสนับสนุน-รอหลังเลือกตั้ง
– รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับปัญหาเพื่อให้ท้องถิ่นได้รับรู้เพื่อใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา อาทิ เช่น ข้อมูลพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า, ข้อมูลด้านสุขภาพ
4. ยกระดับให้เป็นวาระท้องถิ่น/วาระจังหวัดได้อย่างไรจะได้มีแรงผลักดันร่วมกันทั้งจังหวัด

