‘อาข่า’ หรือ ‘อ่าข่า’ (ตามคำออกเสียง) เป็นอีกกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีประเพณี วัฒนธรรม จารีต ความเชื่อ และภูมิปัญญาที่สืบทอดต่อๆ กันมาช้านาน จนกลายเป็นวิถีชีวิตประจำวัน โดยมีประเพณีและพิธีกรรมต่างๆ ตั้งแต่เกิดจนถึงตายไม่ต่ำกว่า 21 พิธี ซึ่งล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตแบบสังคมเกษตรกรรมของชาวอ่าข่า
เช่น ประเพณี ‘โล้ชิงช้า’ ที่คนทั่วไปเคยได้ยิน หรือ ‘แยะ ขู่ อ่าโผ่ว’ ในภาษาอ่าข่า พิธีนี้จะทำหลังจากพิธีปลูกข้าวครั้งแรก (ประมาณปลายเดือนสิงหาคม-ต้นเดือนกันยายน) เพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง ระลึกถึงและยกย่องวีรบุรุษชาวอ่าข่าคือ ‘แยะขู่’ ผู้ซึ่งได้ยอมสละชีวิตเพื่อต่อสู้กับแมลงศัตรูพืชจนได้รับชัยชนะ นอกจากนี้ยังเพื่อขอพรให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาลด้วย ซึ่งจะทำให้พืชผลต่างๆ ที่ชาวอ่าข่าปลูกเอาไว้เจริญออกงาม พร้อมที่จะเก็บเกี่ยวในเวลาไม่นาน
หญิงอ่าข่าโล้ชิงช้าที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงราย
พิธีนี้จะมีการสร้างและโล้ชิงช้าขนาดใหญ่เรียกว่า “หล่ะเฉ่อ” ใช้เวลาจัดงาน 4 วัน เป็นพิธีที่สนุกสนานและทุกคนรอคอย ส่วนหญิงสาวชาวอ่าข่าก็จะแต่งตัวอย่างสวยงามตามประเพณี มาร่วมโล้ชิงช้า ร้องเพลง งานนี้ถือว่าเป็นการยกย่องผู้หญิงด้วย ทำให้ผู้หญิงมีกำลังใจ และถือเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่อีกประเพณีหนึ่งของชาวอ่าข่า โดยมีสุภาษิตกล่าวไว้ว่า “ขู่จ่า หม่าโบะ หม่าโบะ” มีความหมายว่า
“ประเพณีโล้ชิงช้า มีอาหารหลากหลายและสมบูรณ์มากมาย หากประเพณีนี้ไม่มี ประเพณีอื่น หรือพิธีอื่นก็จะไม่มี”
ประเพณี “คะ ท๊อง อ่าเผ่ว” หรือ “ปีใหม่ลูกข่าง” เป็นพิธีเฉลิมฉลองการเปลี่ยนฤดูกาลการทำมาหากิน จัดขึ้นทุกเดือนธันวาคมของทุกปี คือภายหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตจากท้องไร่ท้องนาเสร็จแล้วก็จะเข้าสู่ฤดูแห่งการพักผ่อน ถือเป็นประเพณีของผู้ชายอ่าข่า โดยผู้ชายทั้งเด็กและผู้ใหญ่จะนำไม้มาทำลูกข่าง หรือ “ฉ่อง” แล้วมีการละเล่นแข่งตีกัน ถือเป็นการฉลองการเปลี่ยนแปลงอายุที่เพิ่มขึ้นอีก 1 ปีด้วย
ประเพณี “ขึ่มสึ ขึ่มมี้ อ่า เผ่ว” คือประเพณีชนไข่แดงเป็นพิธีส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ และยังเป็นวันคล้ายวันเด็กของอ่าข่าอีกด้วย พิธีนี้จะมีขึ้นในช่วงกลางเดือนเมษายน ชาวอ่าข่าจะนำไข่ไก่มาต้มในน้ำที่ผสมสีแดง เมื่อสุกเปลือกไข่จะกลายเป็นสีแดง แล้วนำไปทำพิธีเซ่นไหว้ ส่วนเด็กก็จะนำไข่ไก่สีแดงมาชนกันเป็นที่สนุกสนาน พิธีนี้จะมีการจัดงาน 5 วัน
พิธีต่างๆ สตรีอ่าข่าจะแต่งชุดสวยงามตามประเพณีที่สืบทอดกันมา
นอกจากนี้ยังมีประเพณีและพิธีกรรมต่างๆ อีก รวมทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 21 พิธี เรียกว่าในแต่ละเดือนจะต้องมีพิธีกรรมของชาวอ่าข่าอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.ikmi.info/wp-content/uploads/2018/09 หรือ facebook สมาคมเพื่อการศึกษาและวัฒนธรรมอ่าข่าเชียงราย)
ภูมิปัญญาจากครัว-เตาไฟอ่าข่า
ในอดีตบ้านเรือนของชาวอ่าข่าจะปลูกสร้างด้วยไม้ ยกพื้น พื้นเรือนใช้ไม้ไผ่สับฟาก หลังคามุงด้วยหญ้าคา ไม่กั้นห้อง แต่จะแยกที่นอนเป็นฝั่งผู้ชาย ผู้หญิง และตั้งครัว-ตั้งเตาฟืนอยู่บนบ้าน เพื่อความสะดวก รวมทั้งให้ความอบอุ่น เพราะส่วนใหญ่ชาวอ่าข่าจะตั้งหมู่บ้านอยู่บนพื้นที่สูงอากาศจึงค่อนข้างเย็นตลอดทั้งปี
ชาวอ่าข่าประกอบพิธีกรรมในบ้าน
ครัวอ่าข่าจะแยกกันคนละฝั่งเหมือนกับที่นอน ครัวผู้ชายจะเอาไว้ต้มน้ำชากินดื่มเพื่อคลายหนาวหรือเอาไว้รับแขก รวมทั้งทำอาหาร ครัวผู้หญิงจะใช้ทำกับข้าว ต้มเหล้า (ในอดีต) ต้มอาหารให้หมู บางครอบครัวเป็นครอบครัวใหญ่อาจมีถึง 3 ครัวหรือ 3 เตา
‘อาเบี่ย ปอแฉ่’ ชื่อภาษาไทย ‘วันเพ็ญ สะสุทธิเสน’ หรือ ‘ป้าเพ็ญ’ หญิงอ่าข่าอายุ 65 ปี เกิดที่อำเภอแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสมุนไพรและวัฒนธรรมของอ่าข่า บอกว่า ครัวหรือเตาไฟแบบดั้งเดิมของอ่าข่าจะตั้งอยู่ในบ้าน เป็นครัวสามเส้า ทำด้วยเหล็กเส้น ใช้ไม้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง แล้วก่อกระบะไม้สี่เหลี่ยมรองด้วยขี้เถ้าหรือดินเพื่อไม่ให้ไฟลาม ยามอากาศหนาวก็จะได้ความอบอุ่นจากเชื้อฟืนในเตา เหนือเตาไฟจะแขวนหรือตากเมล็ดพันธุ์ต่างๆ เช่น ข้าว ข้าวโพด พริก มะเขือ ผักกาด ผักชี ฯลฯ
อาเบี่ย ปอแฉ่
ควันไฟจากเตาจะทำให้เมล็ดพันธุ์เหล่านี้แห้ง เชื้อราหรือมดแมลงไม่มากิน เมื่อถึงฤดูกาลเพาะปลูกจึงนำเมล็ดพันธุ์เหล่านี้มาหว่าน เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วจะแบ่งเมล็ดพันธุ์บางส่วนมาตากเก็บเอาไว้ทำพันธุ์อีก ไม่ต้องซื้อหา แต่หากเป็นเมล็ดพันธุ์จากบริษัท แม้จะสะดวก แต่ก็ต้องเสียเงินซื้อ และนำมาเก็บไว้ทำพันธุ์อีกไม่ได้
“นอกจากนี้เรายังเอาอาหารต่างๆ มาตากหรือรมควัน เช่น มะแขว่น พริก กระเทียม ปลาแห้ง เนื้อหมู ไก่ หรือเอาหมูหมักเกลือใส่ในกระบอกไม้ไผ่แขวนไว้เหนือครัวเก็บไว้กินได้นานเป็นปีเหมือนกัน” อาเบี่ยบอกวิธีการถนอมอาหารของชาวอ่าข่า
ชาวอ่าข่ากินข้าวเจ้าป็นหลัก และจะทำอาหารมื้อใหญ่ 2 มื้อ คือ มื้อเช้ากินก่อนไปทำงานในไร่นา และมื้อค่ำหลังจากเสร็จภารกิจประจำวัน ส่วนกลางวันจะเตรียมข้าว น้ำพริกไปกินในไร่ เก็บพืชผักจากไร่มาทำอาหาร มีหม้อ กระทะ เตาเตรียมเอาไว้ในเพิงพัก เวลากินอาหาร ชาวอ่าข่าจะกินกันพร้อมหน้าพร้อมตาทั้งครอบครัว ให้พ่อแม่หรือผู้อาวุโสได้ตักอาหารก่อน ถือเป็นการแสดงความกตัญญูต่อผู้ใหญ่ หากมีแขกมาเยี่ยม จะให้แขกตักอาหารก่อน ถือเป็นการให้เกียรติแขก
เตาสามเส้า
อาหารของอาข่าถือเป็นอาหาร ‘คลีน’ ขนานแท้ เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ เพราะจะกินผักสดที่ปลูกหรือขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ผักกาดเขียว น้ำเต้า ฟักเขียว ฟักทอง บวบ ผักกูด ผักโขม หน่อไม้ หอมชู มะเขือ พริก แตง ถั่ว ฯลฯ กินกับน้ำพริกต่างๆ เช่น น้ำพริกมะแขว่น น้ำพริกถั่วลิสง น้ำพริกงาขาว น้ำพริกมะเขือเทศ น้ำพริกปลา ฯลฯ หรือนำผักสดมาต้ม ทำแกงจืด ผัดผัก หากมีเนื้อสัตว์ก็จะนำมาปรุงเป็นอาหารต่างๆ ทั้งอาหารแบบดั้งเดิมของอาข่า หรือทำแบบอาหารเหนือ เช่น ลาบ อ่อม คั่ว ฯลฯ
ส่วนหมูหรือไก่จะนำมาทำอาหารตอนมีพิธีต่างๆ ถือเป็นอาหารพิเศษ ไม่กินพร่ำเพรื่อ ชาวอ่าข่าจะกินข้าวกับน้ำพริกและผักเป็นหลัก หากใครเคยไปเยือนหมู่บ้านอ่าข่าจะพบเห็นคนอ้วนน้อยมาก หรือแทบจะไม่เห็นเลย (ยกเว้นผู้หญิงหลังคลอด)
อาหารอ่าข่าส่วนใหญ่จะปรุงจากผัก มีน้ำพริกหลายอย่าง เนื้อสัตว์จะกินในโอกาสพิเศษหรือเมื่อมีพิธีกรรม
เครื่องเทศที่สำคัญของอ่าข่า คือ ‘มะแขว่น’ พืชสมุนไพรตระกูลเดียวกับหมาล่าของจีน (เครื่องเทศชนิดหนึ่งมีรสเผ็ดซ่าชาลิ้น นำมาคลุกกับเนื้อสัตว์หรือผักต่างๆ นำมาปิ้งย่าง) ซึ่งคนภาคเหนือใช้เป็นเครื่องเทศปรุงอาหารต่างๆ เช่น ทำลาบ ชาวอ่าข่าถือเป็นเครื่องเทศในครัวเรือนที่กินกันมาช้านาน เรียกว่า ‘จ่องหละ’ ใช้ปรุงอาหารต่างๆ และทำเป็นน้ำพริก เป็นพืชสมุนไพรที่ขึ้นอยู่ในป่า ต้นสูงประมาณ 5-6 เมตร ก้านดอกและเมล็ดแห้งนำมาชงเป็นชาในยามอากาศหนาว รสเผ็ดร้อนช่วยให้ร่างกายอบอุ่น กำจัดพยาธิ และช่วยให้เจริญอาหาร
‘คาวตอง’ หรือพลูคาว ชาวอ่าข่านิยมนำมากินกับน้ำพริก ช่วยควบคุมอุณหภูมิในร่างกายหรือปรับสมดุล ให้ความอบอุ่น ชาวล้านนานำมากินกับลาบ ส่วนในประเทศจีนคาวตองเป็นพืชสมุนไพรที่นิยมนำมาใช้รักษาอาการไอ ปอดบวม หลอดลมอักเสบ (ปัจจุบันธุรกิจสมุนไพรนำคาวตองมาบรรจุแคปซูลหรือทำน้ำคาวตองจำหน่าย มีสารต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น สารฟลาโวนอยด์ อัลคาลอยด์ และสารเควอซิทิน ซึ่งอาจมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันการทำลายเซลล์ในร่างกาย และยับยั้งการอักเสบได้)
อาเบี่ย บอกด้วยว่า เตาไฟถือว่ามีความสำคัญกับชีวิตของชาวอ่าข่า เพราะใช้ประกอบอาหารและให้ความอบอุ่นภายในครัวเรือน ดังนั้นชาวอาข่าจึงมีพิธีไหว้เตาไฟ รวมทั้งไหว้เครื่องครัว เช่น ไห กระทะ หม้อ ในช่วงเดือนเมษายน (ประเทศจีนและเวียดนามก็มีความเชื่อเรื่องเทพประจำครัว เพื่อให้มีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ จะมีพิธีเซ่นไหว้ในช่วงวันตรุษหรือขึ้นปีใหม่) เพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณ นอกจากนี้ยังมีพิธีไหว้เตาไฟในโอกาสขึ้นบ้านใหม่ การจุดไฟครั้งแรกในเตาใหม่ โดยนำไข่ไก่ต้มมาตั้งบนเตาสามเส้า เพื่อเซ่นไหว้
เตาและครัวของชาวอ่าข่า ปัจจุบันบ้านที่สร้างใหม่อาจตั้งครัวที่ชานบ้านเพื่อความสะดวก
“ถ้าไม่ไหว้เตาไฟ หรือลืมไหว้ ชาวอ่าข่าเชื่อว่าจะทำให้โชคไม่ดี ครอบครัวมีปัญหา หรือมีคนเจ็บป่วย และจะได้ยินเสียงไหใส่ข้าวร้องดัง ‘หวูดๆ’ ร้องแบบโหยหวน ถือเป็นลางไม่ดี ต้องรีบทำพิธีไหว้” อาเบี่ยบอกถึงความเชื่อของชาวอ่าข่า
นอกจากนี้ ชาวอาข่ายังมีธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อกันมาว่า ก่อนจะทำอาหารมื้อเช้า จะต้องล้างหน้าตาให้สะอาด จากนั้นจึงทำความสะอาดรอบๆ เตาไฟ แล้วจึงจุดฟืนทำอาหารได้ หากไม่ทำตามนั้น จะทำให้เกิดเรื่องไม่ดี ถือเป็นกุศโลบายที่แยบยลของบรรพบุรุษชาวอ่าข่า เพราะเมื่อล้างหน้าล้างตา รวมทั้งล้างมือ จะทำให้สดชื่น หายง่วง อารมณ์แจ่มใส ร่างกายสะอาด ส่วนการกวาดครัวหรือรอบๆ เตาไฟ ก็เพื่อไล่แมลงหรือสัตว์มีพิษ เช่น แมงป่อง ตะขาบ งู ที่อาจจะมาอาศัยไออุ่นจากเตา
‘อ่าข่าโฮย้า’ การแพทย์พื้นบ้านแบบอ่าข่า
ก่อนที่การแพทย์แบบตะวันตกหรือการแพทย์แผนใหม่จะเดินทางมาถึง กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงไม่ว่าจะเป็น จีน พม่า ลาว ไทย เขมร เวียดนาม ต่างก็ใช้วิธีการรักษาโรคแบบพื้นบ้าน ด้วยสมุนไพรในท้องถิ่น ด้วยวิธีการและภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมานานนับพันปี
‘อาทู่ ปอแฉ่’ ผู้ก่อตั้ง ‘เครือข่ายวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยชนเผ่าอ่าข่า’ จังหวัดเชียงราย บอกว่า อ่าข่าเป็นอีกกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่นำสมุนไพรในท้องถิ่นมาใช้ในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ โดยมีหมอพื้นบ้านเป็นผู้สืบทอดภูมิปัญญาและนำมาใช้ในการรักษาโรคด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การย่ำขาง โดยใช้ผาลไถนา หรือจอบที่ใช้งานแล้ว เอามาอังไฟให้ร้อน แล้วหมอจะใช้ฝ่าเท้าเหยียบไปที่ผาลไถหรือจอบเพื่อรับความร้อน จากนั้นจะเอาฝ่าเท้าที่ระอุร้อนมาย่ำบริเวณที่ต้องการรักษาผู้ป่วย เช่น กล้ามเนื้อขา น่อง เอว หลัง แก้ปวดเมื่อย เส้นเอ็นตึง รวมทั้งช่วยแก้โรคที่เกี่ยวกับระบบลำไส้อักเสบได้ด้วย
อาทู่และเขาควายเป่าเพื่อเป็นสัญญาณต่างๆ
“คนอ่าข่ามีความเชื่อและภูมิปัญญาที่สืบทอดต่อๆ กันมาว่า วิธีการรักษาโรคที่ดีที่สุด คือ การป้องกันก่อนที่จะเป็นโรค โดยกินอาหารต่างๆ ตามธรรมชาติ กินอาหารให้เป็นยา เพราะในพืชผักสมุนไพรที่เรากินเข้าไปมันจะมีสรรพคุณ มีธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ที่จะช่วยปกป้องร่างกาย เช่น ผักพลูคาวเป็นธาตุไฟให้ความร้อน คนอ่าข่าเอามากินกับน้ำพริก ทำให้ร่างกายอบอุ่น ช่วยควบคุมอุณหภูมิหรือปรับสมดุลให้ร่างกาย ทำให้ไม่เจ็บป่วยง่าย หรือหากเจ็บป่วยขึ้นมาเราก็มีวิธีการรักษาแบบพื้นบ้าน แต่ความรู้แบบนี้มันแทบจะสูญหายไปหมดแล้ว เพราะคนรุ่นใหม่ไม่รู้จัก อีกทั้งอ่าข่าไม่มีภาษาเขียนที่จะจดบันทึก ผมจึงต้องรวบรวมความรู้เหล่านี้มาไว้ในมหาวิทยาลัยอาข่า” อาทู่บอก (อ่านเพิ่มใน ‘มหาวิทยาลัยชนเผ่าอาข่า สร้างอาชีพ สร้างความรู้ที่กินได้ https://web.codi.or.th/20210112-20703/)
การย่ำขางแบบอ่าข่า
เขายังบอกว่า เมื่อก่อนถนนหนทางยังไม่เจริญ คนอ่าข่าจะใช้สมุนไพรหรือความรู้ดั้งเดิมต่างๆ มารักษาโรค โดยมีหมอพื้นบ้านเป็นคนรักษา เพราะคนอ่าข่าอยู่บนดอยจะไปโรงพยาบาลก็ลำบาก เพราะไม่มีรถยนต์ ไม่มีถนน สมัยก่อนคนอ่าข่าจึงไม่รู้จักโรงพยาบาล แต่ปัจจุบันรถยนต์เข้าถึงหมู่บ้านต่างๆ ได้สะดวก จึงมีรถยนต์เข้าไปขายกับข้าว ขายผักและอาหารต่างๆ คนรุ่นใหม่ชอบซื้อกินเพราะสะดวก ไม่ต้องไปเก็บหาจากในป่า แต่ก็ต้องใช้เงินซื้อ และยังทำให้ให้เกิดโรคใหม่ๆ ที่แต่เดิมคนอาข่าไม่รู้จัก เช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง มะเร็ง ฯลฯ จากการกินอาหารที่มีสารเคมี หรืออาหารที่มีความหวานมันเค็ม
ในปี 2558 สมาคมเพื่อการศึกษาและวัฒนธรรมชนเผ่าอ่าข่า จังหวัดเชียงราย เครือข่ายวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยชนเผ่าอ่าข่า และมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย จึงร่วมกันจัดตั้ง ‘โรงพยาบาลพื้นบ้านอ่าข่า’ หรือ ‘อ่าข่าโฮย้า’ (Akha Hospital) ขึ้นมา โดยมีที่ตั้งอยู่ในตัวเมืองเชียงราย เพื่อนำภูมิปัญญาและวิธีการรักษาโรคภัยไข้เจ็บแบบดั้งเดิมของชาวอ่าข่ามาเผยแพร่ให้ความรู้ เช่น จัดอบรม ศึกษาดูงาน รวมทั้งให้การรักษาโรคแก่คนทั่วไป
สุมนไพรต่างๆ ของอ่าข่า
เช่น การย่ำขาง การอบตัว แช่เท้าด้วยสมุนไพร การนวดหรือจับเส้น เพื่อรักษาโรคต่างๆ ที่เกี่ยวกับกระดูก เส้นเอ็น บวม ช้ำ ชา อัมพฤกษ์ ระบบเลือด ลม ภูมิแพ้ ฯลฯ รวมทั้งการกินอาหารและน้ำสมุนไพรเพื่อสุขภาพ (ดูรายละเอียดที่ https://www.facebook.com อ่าข่าโฮย้า-Akha-Hospital)
อาทู่บอกด้วยว่า การรักษาแบบพื้นบ้านอ่าข่ายังมีข้อจำกัดด้านกฎหมาย ขณะนี้ตนกำลังรวบรวมและศึกษาข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการรับรองหมอพื้นบ้าน (พ.ศ.2562) ซึ่งระบุว่าผู้ที่จะได้รับการรับรองเป็นหมอพื้นบ้านจะต้อง “มีความรู้ความสามารถในการส่งเสริมและดูแลสุขภาพของประชาชนในท้องถิ่นด้วยภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย” ขณะที่หมอพื้นบ้านของอ่าข่าใช้ภูมิปัญญาของอ่าข่า จึงอาจจะมีปัญหาด้านการขึ้นทะเบียนรับรองหมอพื้นบ้านได้
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อ่าข่าโฮย้ายังเปิดดำเนินการอยู่ในตัวเมืองเชียงราย และมีหมอพื้นบ้านที่ทำการรักษาในระดับหมู่บ้านอีก 2 แห่งที่อำเภอแม่จันและแม่ฟ้าหลวง (ผู้ที่สนใจดูรายละเอียดที่ facebook อ่าข่าโฮย้า-Akha-Hospital)
อ่าข่าในโลกสมัยใหม่
หากย้อนเวลากลับไปเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว ชาวอ่าข่ายังมีความเชื่อที่สืบทอดต่อกันมานานว่า หากครอบครัวใดคลอดลูกแล้วได้ลูกแฝด จะถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดีแก่ครอบครัว เป็นกาลี หรือถือว่าเป็น “ลูกผี” และจะไม่เลี้ยงเอาไว้ เมื่อคลอดออกมาพ่อแม่ก็จะไม่ดูแล ไม่ให้นม จนทารกนั้นเสียชีวิตไปเอง
อาทู่บอกว่าความเชื่อดังกล่าวทำให้ทารกฝาแฝดที่คลอดออกมาแล้วต้องตายไปหลายสิบหลายร้อยชีวิต ดังนั้นสมาคมเพื่อการศึกษาและวัฒนธรรมอ่าข่าเชียงราย ซึ่งอาทู่เคยเป็นผู้อำนวยการสมาคมในช่วง 20 ปีก่อน จึงได้พยายามสร้างทัศนคติ สร้างความเชื่อใหม่ ว่าการมีลูกแฝดเป็นเรื่องของธรรมชาติ ไม่ใช่ผีส่งมาเกิด โดยการเข้าไปให้ความรู้แก่ชาวอ่าข่าในหมู่บ้านต่างๆ ในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และลำปาง เพื่อไม่ให้ครอบครัวที่มีลูกแฝด ‘กำจัดลูกผี’ โดยการปล่อยให้ทารกแฝดอดตาย
“นอกจากให้ความรู้แล้ว เรายังบอกว่าการปล่อยให้ลูกแฝดอดตาย เป็นความผิดทางกฎหมาย เพื่อให้ครอบครัวเกรงกลัว ขณะเดียวกันสมาคมอ่าข่าฯ ก็จะให้การสนับสนุนให้ครอบครัวที่มีลูกแฝดให้เลี้ยงลูกเอาไว้ เมื่อถึงวัยเรียน สมาคมก็จะให้ทุนการศึกษา เพื่อให้เด็กได้เรียน และไม่เป็นภาระเรื่องค่าใช้จ่ายของครอบครัว จนถึงตอนนี้สมาคมช่วยเหลือเด็กแฝดไปแล้ว 46 คู่ ตอนนี้บางคนก็โตและมีครอบครัวแล้ว บางคนได้เรียนสูงๆ บางคนได้ทุนไปเรียนที่จีนและที่ไต้หวัน” อาทู่บอก และขยายความว่า ปัจจุบันนี้ความเชื่อดังกล่าวไม่มีแล้ว เพราะพ่อแม่รุ่นใหม่มีความรู้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม นอกจากความเชื่อที่ส่งผลด้านลบแล้ว ชาวอ่าข่ายังมีความเชื่อที่ส่งผลด้านบวกและยังสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน เช่น การดูแลรักษาป่าไม้และสิ่งแวดล้อม ชาวอ่าข่าจะไม่ตัดต้นไม้ที่มีเถาวัลย์ขึ้นปกคลุม เพราะมีความเชื่อว่า หากนำไม้ที่มีเถาวัลย์เกาะมาใช้สร้างบ้าน จะทำให้ครอบครัวไม่สุขสบาย มีเรื่องไม่ดีเข้ามาเกาะกุมตลอด ไม่ตัดไม้ที่มีลูกผล ไม่ตัดไม้ที่เป็นโพรง รวมทั้งมีกฎจารีตว่า ห้ามตัดต้นไม้ใหญ่ในรัศมีประมาณ 100 เมตรจากที่ตั้งศาลพระภูมิของหมู่บ้าน บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ หรือสุสาน ฯลฯ หากฝ่าฝืนจะถูกปรับตามอัตราที่แต่ละหมู่บ้านกำหนด
“เรื่องความเชื่อและจารีตแบบนี้ ผมถือว่าเป็นกุศโลบายของบรรพบุรุษที่จะให้คนอยู่ร่วมกับป่าและพึ่งพากันได้ โดยที่คนสมัยก่อนยังไม่รู้จักคำว่าอนุรักษ์ แต่พวกเขาก็ถือปฏิบัติสืบต่อกันมา เช่น ต้นไม้ที่มีเถาวัลย์จะเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ต่างๆ เช่น กระรอก ลิง หรือมีนกมาทำรัง ต้นไม้ที่มีลูกมีผลก็จะเป็นอาหารของสัตว์ ต้นไม้ที่มีโพรงก็เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์บางชนิด จึงห้ามไม่ให้ตัดไม้พวกนี้มาใช้ เมื่อสมัยก่อนชาวอ่าข่ายังล่าสัตว์เพื่อนำมายังชีพ แต่ก็จะล่าตามความจำเป็น จะไม่ล่าสัตว์ที่กำลังตั้งท้อง หรือจะอธิษฐานขอพรจากสิ่งศักสิทธิ์ที่นับถือว่า ปีหนึ่งจะขอล่าสัตว์ให้ได้กี่ตัว เมื่อได้ครบแล้วก็จะไม่ล่าอีก ถ้าฝ่าฝืนก็จะเกิดบาปกรรม เกิดสิ่งที่ไม่ดีกับครอบครัว” อาทู่ในฐานะผู้ก่อตั้ง ‘เครือข่ายวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยชนเผ่าอ่าข่า’ อธิบาย
เขาบอกในตอนท้ายว่า ภูมิปัญญาด้านการแพทย์พื้นบ้าน การรักษาโรคต่างๆ ตลอดจนประเพณี วัฒนธรรม และความเชื่อในด้านดีของชาวอ่าข่า ปัจจุบันกำลังจะสูญหายไปเพราะมีความรู้สมัยใหม่ ความบันเทิงใหม่ๆ เข้ามาแทน โดยเฉพาะเทคโนโลยีการสื่อสารที่รวดเร็ว มีโทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียวก็ดูหนังฟังเพลงได้ทั่วโลก
“ดังนั้นมหาวิทยาลัยชนเผ่าอ่าข่าจึงเก็บรวมรวมความรู้เหล่านี้มาบันทึกเอาไว้ และส่งเสริมให้คนอ่าข่าได้อนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงามเอาไว้ไม่ให้สูญหายไปกับโลกสมัยใหม่ รวมทั้งยังทำการศึกษาวิจัยด้านสมุนไพรอ่าข่าเพื่อนำมาต่อยอด เช่น ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (จ.เชียงราย) ศึกษาสรรพคุณของสมุนไพรที่มีถิ่นกำเนิดเฉพาะในหมู่บ้านอ่าข่าเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ รวมทั้งศึกษาเรื่องชาป่า เพื่อนำมาพัฒนาให้เป็นธุรกิจ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้หมู่บ้าน ” อาทู่บอกทิ้งท้าย
ชาวอ่าข่ามีพิธีกรรมต่างๆ มากมายที่พวกเขายังรักษาเอาไว้
(ติดตามข้อมูลเกี่ยวกับชาวอ่าข่าเพิ่มเติมได้ที่ facebook มหาวิทยาลัยชนเผ่าอ่าข่า และ facebook สมาคมเพื่อการศึกษาและวัฒนธรรมอ่าข่าเชียงราย)