ควายเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมือง เป็นสัตว์เลี้ยงที่ใช้ไถนาและใช้เป็นแรงงานลากเกวียนมาตั้งแต่สมัยโบราณ แต่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย เกษตรกรใช้เครื่องมือสมัยใหม่ในการทำการเกษตรมากขึ้น เพราะประหยัดเวลาในการทำงานได้มากกว่า ควายจึงถูกลดการใช้งานลง ผู้คนจึงไม่นิยมเลี้ยงเหมือนแต่ก่อน ควายจึงลดจำนวนลดลงอย่างรวดเร็ว
นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ ‘นายจงกล ปานมี’ กำนันตำบลไกรกลาง อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย เกิดความคิดที่จะอนุรักษ์ควายไทย จึงได้ผลักดันชาวบ้านให้เข้าร่วม ‘กลุ่มวิสาหกิจชุมชนโคกระบือไกรกลาง’ ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2562 มีสมาชิก 54 คน นอกจากนี้กลุ่มยังได้สนับสนุนให้เลี้ยงโคด้วยเพื่อความหลากหลายและความถนัดทางอาชีพ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ควายไทยให้คงอยู่สืบทอดต่อไปและให้สมาชิกได้ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน
ปัจจุบันกลุ่มมีควายทั้งหมดประมาณ 70 ตัว สมาชิกได้นำมูลควายไปทำปุ๋ย โดยนำไปมูลควายไปตากแดดให้แห้ง ใช้เป็นปุ๋ยคอกใส่ไร่ใส่นา และนอกจากจะช่วยบำรุงดินแล้วยังช่วยลดต้นทุนการผลิตได้อีกด้วย ส่วนที่เหลือจะขายในราคากระสอบละ 20 บาท เป็นการสร้างรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง
กำนันจงกล ปานมี ตั้งเป้าหมายในอนาคตว่า จะก่อตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ของชุมชนเพื่อให้ประชาชนที่สนใจได้เข้ามาศึกษาวิถีชีวิตของควายไทยซึ่งเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมือง และจะพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ “หลงรักไกรกลาง” แม้ในขณะนี้จะเพิ่งเริ่มต้นแต่ก็ได้รับความสนใจจากประชาชนทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่เข้ามาเยี่ยมชมอยู่เสมอ
(หมายเหตุ : เป็นผลงานของนายธนวัฒน์ ไกรกิจราษฎร์ นักสื่อสารชุมชนตำบลไกรกลาง อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย ที่เพิ่งผ่านการฝึกอบรมโดยสำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชน จัดการความรู้ และการสื่อสาร ร่วมกับ พอช.ภาคเหนือ)