จังหวัดพัทลุง / เครือข่ายสินธุ์แพรทอง ตำบลลำสินธุ์ อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง
คำว่า “ตำบลสินธุ์แพรทอง” มีความหมาย คือ “สินธุ์” หมายถึง ตำบลลำสินธุ์ “แพรทอง” หมายถึง น้ำตกแพรทอง ซึ่งตำบลแห่งนี้ ตั้งอยู่หมู่ที่ 9 ในอำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง และในอดีตเคยเป็นสมรภูมิสู้รบระหว่างรัฐบาลกับพรรคคอมมิวนิสต์ มิหนำซ้ำรัฐบาลยังเข้าใจผิดคิดว่า ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชุมชนตำบลลำสินธุ์แพรทอง จังหวัดพัทลุง สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร และพื้นที่ใกล้เคียง เป็นกลุ่มเดียวกันหรือให้ความช่วยเหลือกับพรรคคอมมิวนิสต์ จึงส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปจับตัวชาวบ้าน เพื่อนำไปสอบปากคำ ซึ่งหากชาวบ้านคนไหนไม่ตอบคำถามที่เจ้าหน้าที่สอบถามก็จะเอาผ้าปิดตา จับตัวขึ้นเฮลิคอปเตอร์บินแล้วถีบลงมาจนเสียชีวิตและนำศพของชาวบ้านผู้เสียชีวิตกว่า 3,008 ราย ใส่ลงในถังน้ำมัน 200 ลิตร แล้วจุดไฟเผาอย่างเหี้ยมโหด จนเป็นที่มาของคำว่า “ถีบลงเขา เผาลงถังแดง” ที่ติดคำติดปากติดหูคนตำบลลำสินธุ์มาจนถึงปัจจุบัน และมีการสร้างอุทยานประวัติศาสตร์ถังแดงขึ้นให้อนุชนรุ่นหลังได้รำลึกถึงประวัติศาสตร์ของบรรพบุรุษ
จากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น ส่งผลเสียหายมากมายในตำบลลำสินธุ์แพงทอง ผู้คนต่างต้องหลบหนี เพื่อความอยู่รอด ข้าวของเครื่องใช้เสียหายเป็นจำนวนมาก ความตื่นตระหนกตกใจ หวาดผวากับเสียงปืนดังลั่นขึ้นเกือบทุกเวลา ครอบครัวต้องพัดพลาดจากกัน ลูกเต้าร้องเรียกหาพ่อแม่ พี่น้อง สามีหาภรรยาอันเป็นที่รักยิ่ง บางบ้านขาดผู้นำครอบครัว หัวหน้าครอบครัวสูญหายไป การประกอบอาชีพ วิถีวัฒนธรรม ประเพณีที่เคยเป็นอยู่ต้องเปลี่ยนแปลงไป ต่างคนต่างต้องเอาตัวรอดจากเหตุการณ์ครั้งนี้
พอเวลาผ่านไป รัฐบาลได้มีการยุติความขัดแย้งที่เกิดขึ้น โดยประกาศใช้นโยบาย 66/23 ทำให้พื้นที่แห่งนี้ เริ่มกับมามีความสงบมากยิ่ง วิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี และความเป็นอยู่ในสังคมของคนตำบลลำสินธุ์แพรทองเริ่มกลับมา จากเดิมที่ต้องจับอาวุธสู้รบกันก็เริ่มหายไป ชาวบ้านเริ่มมีกระบวนการสู้ด้วย “ความคิด” มากกว่า “อาวุธ” มากขึ้น
ปี พ.ศ. 2523 เมื่อชาวบ้านประสบปัญหาต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อม ก็ได้มีการรวมกลุ่มกันพูดคุย ปรึกษาหารือ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันภายในชุมชน ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ ชาวบ้านไม่เคยรู้มาก่อนว่า การพูดคุยกัน ถือว่า เป็นการรวมกลุ่มกันแล้ว จนในปี พ.ศ. 2544 ได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้การใช้ชีวิตและการประกอบอาชีพตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียงขึ้น เพื่อแก้ปัญหาสาธารณะของตำบล โดยชุมชน เพื่อชุมชนเอง โดยรับงบประมาณสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และทุกวันที่ 9 ของเดือนจะมีการจัดประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น นำปัญหาต่างๆ ที่ประสบพบเจอมาแลกเปลี่ยน และร่วมกันหาวิธีการ แนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งกระบวนการต่างๆ เหล่านี้ ที่เกิดขึ้น ก็คือ กระบวนการขับเคลื่อนงานสภาองค์กรชุมชนตำบล ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ. 2551
นายอุทัย บุญดำ หรือพี่เล็ก
ในปัจจุบันตำบลแห่งนี้ ได้มีการเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ เพื่อให้นิสิต นักศึกษา ผู้นำจากทุกพื้นที่มาศึกษาเรียนรู้ และนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในกระบวนการพัฒนาตนเอง และพัฒนาชุมชน สังคมของตนเอง โดยศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ ได้มีการแบ่งพื้นที่การเรียนรู้ออกเป็น 5 ประเภทหลักๆ คือ 1) พื้นที่ชุมชนจัดการตนเอง ประกอบด้วย 14 จุดเรียนรู้ ได้แก่ จุดเรียนรู้ลานวัฒนธรรม จุดเรียนรู้ตู้อบสมุนไพร จุดเรียนรู้วิทยุชุมชน ห้องประวัติศาสตร์ชุมชน ห้องปฏิบัติการสารสนเทศชุมชน อาคารแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร จุดเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชุมชน (ถังแดง) 2) พลังงานทดแทน ได้แก่ จุดเรียนรู้เครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร จุดเรียนรู้บ้านพลังงานแสงอาทิตย์ จุดเรียนรู้ไฟฟ้านำทางพลังงานแสงอาทิตย์ จุดเรียนรู้ตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ จุดเรียนรู้บ่อหมักก๊าซชีวภาพแบบถัง 500 ลิตร จุดเรียนรู้เตาชีวมวล (เตาเทวดา เตาเผาถังข้าวหลาม และเตาถังแอร์) จุดเรียนรู้โซล่าเซลล์แบบเชื่อมต่อสาย จุดเรียนรู้ บ่อหมักก๊าซชีวภาพแบบ “บ่อซีเมนต์” คุณจวบ มุกสิกวงศ์ จุดเรียนรู้บ่อหมักก๊าซชีวภาพแบบถัง 500 ลิตร คุณธำรง บุญรัตน์ จุดเรียนรู้บ่อหมักก๊าซชีวภาพแบบ “บ่อซีเมนต์” คุณพยอม ไชยณรงค์ จุดเรียนรู้โซล่าเซลล์ลอยน้ำเพื่อการบริหารจัดการน้ำ จุดเรียนรู้เตาเผาถ่าน 200 ลิตร (แบบนอน) คุณไข่ นวลขลิบ จุดเรียนรู้บ่อหมักก๊าซชีวภาพแบบถัง 1,000 ลิตรโรงเรียนบ้านโตน จุดเรียนรู้เตาเผาถ่านประยุทธ์ คุณเจริญ ภัทรธิติพันธ์หรือคุณทวี ภัทรธิติพันธ์ 3) การท่องเที่ยวชุมชน ได้แก่ ถ้ำพุทธวิหาร (โครงการส่งเสริมให้ที่พักสงฆ์) จุดเรียนรู้สายน้ำมีชีวิตบ้านขาม จุดเรียนรู้ฝายชะลอน้ำคลองโสดแนม น้ำตกโตนแพรทอง 4) ชุมชนวิถีพอเพียง ได้แก่ จุดเรียนรู้แปลงเกษตรอินทรีย์ คุณจำรูญ เพิ่มบุญ จุดเรียนรู้ บัญชีครัวเรือน คุณอุษาวดี บุญดำ จุดเรียนรู้ 1 ไร่พอเพียง คุณธำรง บุญรัตน์ จุดกระจายสินค้า farm shop จุดเรียนรู้เครือเรือนสุขภาพ คุณหนูเอียน หมายมา จุดเรียนรู้ภูมิปัญญาสมุนไพรพื้นบ้าน คุณปุก ชัยสิงห์ 5) วิสาหกิจชุมชน ได้แก่ จุดเรียนรู้โรงน้ำดื่ม จุดวิสาหกิจชุมชนสินธุ์แพรทอง คุณอุษาวดี บุญดำ กลุ่มขนมจีน ศูนย์รวบรวมผลผลิตและกระจายสินค้า จุดเรียนรู้พริกแกงตำมือ (ธานน้ำใส) คุณหนูเอียน หมายมา จุดเรียนรู้วิสาหกิจชุมชน (ป่าเขียว) คุณประทิน นาคมิตร สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านลำสินธุ์ จุดเรียนรู้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสตรีเกษตรพัฒนา คุณเพรียง เยาว์แสง จุดเรียนรู้กลุ่มปุ๋ยหมักอินทรีย์
กวันอาทิตย์ “เครือข่ายตำบลสินธุ์แพรทอง” จะมีการเปิดตลาดนัดชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน ซึ่งตลาดแห่งนี้ จะทำการเปิดจำหน่ายสินค้าตั้งแต่เวลา 07.00-10.00 น. โดยของที่พ่อค้าแม่ขายในชุมชนนำมาจำหน่ายก็จะเป็นสินค้าและผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่น ที่นำมาปรุงแต่งและแปรรูป สดใหม่และสะอาดทุกวัน ท่านใดผ่านมาไม่ควรพลาดที่จะแวะเข้ามาจับจ่ายใช้สอย
จุดขายของที่นี่ คือ “กล้วยทอด” กล้วยทอดนางพญา กินแล้วจะติดใจ เนื่องจาก มีความพิเศษ รสชาติจะแตกต่างจากที่อื่น มีความเป็นเอกลักษณ์ของที่นี่ นอกจากการแปรรูปกล้วยที่มีการปลูกและผลผลิตมากจนล้นตลาด ชาวบ้านยังมีการนำกล้วยมาแปรรูปเป็นกล้วยตาก กล้วยไข่กรอบแก้ว และ “กล้วยฉาบเมืองลุง” มีจำหน่ายใน 7-Eleven ของจังหวัดพัทลุง เป็นการเพิ่มรายได้ให้คนในชุมชน และยังมี “น้ำชุบพรก” ที่ใครผ่านไปผ่านมาต้องซื้อกลับไป เพราะ “เคยใต้” หรือที่เรียกกันว่า “กะปิ” เมื่อนำมาย่างแล้วจะเพิ่มรสชาติ กลิ่นหอมในฉบับไม่ซ้ำที่อื่นๆ และยังมี “แกงพาโหม” ที่คนใต้เรียกกัน ซึ่งผักที่มาทำภาษากลางเรียกว่า “ใบตดหมูตดหมา” นำมาผสมกับปลาและกะทิ คล้ายกับ “แกงขี้เหล็ก” ราคาก็ย่อมเยาว์เพียงถุงละ 20 บาท เท่านั้น
จะเห็นได้ว่า จากการขับเคลื่อนงานประเด็นต่างๆ ของตำบลลำสินธุ์แพรทอง ทั้งสภาองค์กรชุมชน สวัสดิการชุมชน เศรษฐกิจและทุนชุมชน และที่ดินทำกิน/ที่อยู่อาศัย อีกทั้งการบริหารจัดการภายในตำบลเองนั้น เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เห็นรูปธรรมที่ชัดเจน เนื่องจากผู้นำแถวที่ 1 และแถวที่ 2 มีเป้าหมายการดำเนินงาน “การสร้างชุมชนเข้มแข็ง สร้างครอบครัวอบอุ่น และสร้างสังคมตำบลน่าอยู่” และมีวิสัยทัศน์ “คนมีคุณภาพ มีคุณธรรม เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ สังคมอยู่ดีมีสุขตามแนววิถีเศรษฐกิจพอเพียง” ที่ชัดเจน โดยคนในชุมชนยึดหลักปฏิบัติกัน ทำให้ตำบลลำสินธุ์ถือเป็นอีกหนึ่งตำบลของภาคใต้ที่มีความเข้มแข็ง คนในชุมชนมีการบริหารจัดการตำบลได้อย่างเกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุด
#เรื่องดีดีที่ชุมชน #20ปีพอชพลังองค์กรชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน #สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน
ภัทรา สุขเกษม
เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการชุมชน