สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ/ พอช.จัดประชุมเชิงปฏิบัติการระดมความเห็น ‘แนวทาง วิธีการ และกลไกการสนับสนุนความเข้มแข็งองค์กรชุมชนในรูปแบบกลุ่มจังหวัด’ โดยแบ่งพื้นที่การทำงานทั้ง 5 ภูมิภาคเป็น 18 กลุ่มจังหวัด เชื่อมโยงการทำงานกับทุกภาคส่วน กระจายการบริหารจัดการและการทำงานพื้นที่ไปที่กลุ่มจังหวัด และงานประเด็น ฯลฯ โดยให้กลุ่มจังหวัดเป็นกลไกการทำงาน พอช. และเครือข่ายประชาสังคม หน่วยงานต่างๆ ร่วมกันสนับสนุน เป้าหมายเพื่อสร้างความเข้มแข็งของสภาองค์กรชุมชนตำบลและขบวนองค์กรชุมชนระดับจังหวัด
ตามที่รัฐบาลได้ประกาศแผนการปฏิรูปประเทศ แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนแม่บทตามยุทธศาสตร์ และปรับแนวทางการบริหารราชการแผ่นดินให้ตอบสนองประโยชน์สุขของประชาชนให้มากขึ้น ประกอบกับสภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของชุมชนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเป็นอย่างมาก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีภารกิจส่งเสริมความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนจึงต้องปรับระบบและโครงสร้างขององค์กรให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการศึกษาบทบาทและโครงสร้างของ พอช.ขึ้นมา มีการจัดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้แทนขบวนองค์กรชุมชน คณะอนุกรรมการภาค เจ้าหน้าที่ และผู้บริหาร พอช. ทั้ง 5 ภาค ระหว่างเดือนมิถุนายน-สิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อประมวลความคิดเห็นเบื้องต้นมาจัดทำเป็นร่างฯ
ล่าสุดวันนี้ (21 กันยายน) ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ‘แนวทาง วิธีการ และกลไกการสนับสนุนความเข้มแข็งองค์กรชุมชนในรูปแบบกลุ่มจังหวัด’ มีวัตถุประสงค์เพื่อออกแบบแนวทาง วิธีการ การจัดทีมร่วมการทำงานในระบบกลุ่มจังหวัดเพื่อหนุนเสริมความเข้มแข็งองค์กรชุมชน โดยมีคณะกรรมการสถาบันฯ ที่ปรึกษา ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ พอช. ผู้แทนกลุ่มจังหวัด ประมาณ 270 คนเข้าร่วมประชุม
นายแก้ว สังข์ชู กรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวว่า การเกิดของ พอช.เมื่อประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เห็นผลการเปลี่ยนแปลงจากล่างขึ้นบน โดยเปลี่ยนแปลงทั้งกระบวนการทำงาน องค์ความรู้ คน มีเป้าหมายการพัฒนาประเทศจากล่างขึ้นบน ถือเป็นเรื่องสำคัญที่มีการนำเอางานเชิงประเด็นและพื้นที่เป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดรูปธรรม เป็นการรวมศูนย์โดยใช้คนเป็นตัวตั้ง พื้นที่เป็นแกนการพัฒนา
“กระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมา คณะทำงานฯ ได้ลงไปศึกษาและแลกเปลี่ยนกับ 5 ภาค ผลจากการรับฟัง ได้นำข้อมูลมาเรียบเรียง จัดปรับ ทำข้อเสนอ ทำเนื้อหาสาระ ปัจจุบันคำว่าพื้นที่เป็นตัวตั้งทุกภาคส่วนนำเอาไปใช้ แต่คำตอบที่สำคัญคืออยู่ที่ชุมชนต้องตอบโจทย์ เป็นการตอบเชิงพื้นที่ที่เห็นการเปลี่ยนแปลง ซึ่งต้องมีการคิดค้นรูปแบบ การทำงานของขบวนชุมชนเป็นเรื่องของนวัตกรรมที่เป็นต้นแบบให้แก่หลายหน่วยงาน การวางน้ำหนักในการออกแบบให้เน้นที่ตำบล พื้นที่ และให้มีการขยายสื่อสารให้เกิดปฏิบัติการที่เป็นจริง” นายแก้วกล่าว
นายสิน สื่อสวน ที่ปรึกษา พอช. กล่าวว่า สิ่งที่ทำคือขบวนชาวบ้าน และ พอช.เป็นหุ้นส่วนในการพัฒนา ทำให้คนในชุมชนมีตัวตนมากขึ้น ในระยะ 20 ปีกลไกต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งต้องออกแบบขบวนให้เกิดความเข้มแข็งในสถานการณ์ปัจจุบัน เป็นวันที่ต้องการให้พี่น้องประชาชนออกแบบการทำงานของขบวน โดยเฉพาะพื้นที่ เอาชาวบ้านเป็นตัวตั้ง ระบบงานพื้นที่ที่มีประสิทธิภาพ จะทำให้เกิดความเข้มแข็งได้อย่างไร ทั้งระดับตำบล จังหวัด กลุ่มจังหวัด และภาค เพื่อนำไปออกแบบการทำงานของ พอช.ด้วย เป็นการออกแบบที่คิดเพื่อทำให้ได้จริง และในระยะข้างหน้าจะขึ้นอยู่กับการออกแบบของขบวนพี่น้อง
นางสาวสมสุข บุญญะบัญชา ที่ปรึกษา พอช. กล่าวตอนหนึ่งว่า การทำงานที่ผ่านมาทำให้ชุมชนเข้มแข็ง แต่ขาดการจัดขบวน ขบวนองค์กรชุมชนต้องเป็นตัวนำของยุทธศาสตร์จังหวัด ซึ่งต้องเอาความรู้มาประกอบและสรุปเป็นโครงสร้าง เพื่อเป็นเครื่องมือ ประสานเครือข่าย ภาคี วิชาการ มาช่วยในการจัดระบบจากล่างขึ้นบน นำความรู้จากข้างล่างขึ้นบน และบนลงล่าง ให้ชุมชนเป็นคนกำหนดการพัฒนา เป็นบทบาทของขบวนชุมชน โดย พอช.เป็นฝ่ายสนับสนุน นำไปสู่มิติใหม่ของขบวนชุมชน และ พอช.ที่ร่วมคิด ร่วมทำ โดย พอช.จะมีการปรับระบบใหม่ เดินตามโครงสร้างกลุ่มจังหวัดของราชการ 18 กลุ่มจังหวัด เพื่อทำเชื่อมให้ยุทธศาสตร์ ยุทธวิถีกับแนวนโยบายที่รัฐลงมา เพื่อนำเสนอสิ่งที่ชุมชนทำโยงกับระบบข้างบนให้คล้อยตามข้างล่าง
“ประเด็นสำคัญ คือ การทำงานที่ตำบล จังหวัด ต้องมีสาระของการทำงานที่แท้จริง มีการจัดการร่วมกัน การทำงานที่เชื่อมโยงทุกฝ่าย มีแผนงาน มีระบบข้อมูล มีรายงานตำบลว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ? เติบโตอย่างไร ? มีการสื่อสาร มีเป้าหมาย ดังนั้นชุมชนต้องเป็นตัวตั้ง และต้องมีวิธีคิด วิธีพัฒนา มีกิจกรรมเป็นเครืองมือการเปลี่ยนแปลงอย่างมีเป้าหมาย โดยชุมชนต้องเป็นฝ่ายเสนอ มีจังหวัดเป็นตัวตั้ง และต้องลดความเป็นเจ้าพ่อ เจ้าแม่ ต้องทำให้เกิดเป็นขบวน ช่วยเหลือกัน ทำให้หน่วยงานยอมรับขบวนชุมชน โดยมีทีมที่ประสานงานเชิงรุกได้ สามารถคุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดได้ และเชื่อมระบบความสัมพันธ์กับหน่วยงานได้” นางสาวสมสุขเสนอความเห็นตอนหนึ่ง
นายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผอ.พอช. กล่าวว่า เมื่อชุมชนเปลี่ยนจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง คือ 1.ระบบการบริหารราชการแผ่นดินจากบนลงล่างเป็นกลุ่มจังหวัด เพื่อวางระบบบริหารร่วม ระบบบริหารพิเศษ ระบบ EEC ทำให้เปลี่ยนการเมือง การปกครอง การพัฒนา ทำให้ประเทศถูกแบ่งตามสัดส่วนทรัพยากร พื้นที่ แต่ระบบบริหารอำนาจยังอยู่ที่ส่วนกลาง ซึ่งเป็นรูปธรรมมาจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจ การตัดสินใจเชิงอำนาจยังอยู่ที่ส่วนกลาง ซึ่งชุมชนต้องจัดขบวนไปเสริมอำนาจให้คนเล็กคนน้อย ทำให้มีพลัง จุดเปลี่ยนผ่าน คือ การจัดโครงสร้างขบวนและ พอช.เป็นการจัดความสัมพันธ์แนวราบเพื่อเสริมพลังให้ชุมชนเติบโตแข็งแรง
“ 2.จัดแนวราบเพื่อหนุนเสริมขบวนชุมชน ระบบบริหารร่วม ดังนั้นจุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของภาคประชาชนในการสร้างอำนาจให้คนกลุ่มเล็กกลุ่มได้อย่างไร ? บนหลักการบริหารร่วมกัน มีภาคีอื่นที่เข้าร่วมมือ มีภาคประชาชนที่มีประสบการณ์ที่จะมาออกแบบร่วม การจัดโครงสร้างมีนัยยะทางการเมือง การบริหารประเทศ เมื่อขบวนเปลี่ยน พอช.ที่เป็นเครือมือต้องปรับเปลี่ยนด้วย เป็นระบบร่วมที่ทำให้คนฐานล่างมีศักดิ์ศรี และมีพลัง” นายสมชาติกล่าว
การบริหารความสัมพันธ์เพื่อหนุนขบวนองค์กรชุมชน
ทั้งนี้คณะกรรมการศึกษาบทบาทและโครงสร้างของ พอช. ได้จัดทำร่างการบริหารความสัมพันธ์เพื่อสนับสนุนขบวนองค์กรชุมชน ในประเด็นต่างๆ เช่น โครงสร้างของสำนักงานภาค พอช.ใหม่ 1.สาระสำคัญที่เสนอปรับปลี่ยนใหม่ คือ
1.1 ใช้กลุ่มจังหวัดของราชการ (18 กลุ่มจังหวัด) เป็นหลักกลุ่มจังหวัดใหม่ทั้ง 5 ภาค เพื่อทำงานเชื่อมโยงและเป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วน โดยให้เนื้อหาแนวทางจากชุมชน สามารถวางแผน เชื่อมโยง นำเสนอการพัฒนาของชุมชนในแต่ละจังหวัดกับแผน งบประมาณและนโยบายของรัฐ
1.2 โครงสร้างภาค มีทั้ง 1) กลุ่มจังหวัด 2) ประเด็นงาน (หลักและเฉพาะกิจ) 3) ส่วนบริหารจัดการ
1.3 ภาคบริหารจัดการร่วมกับขบวนชุมชนและภาคี ทั้งในกลุ่มจังหวัดและประเด็นงาน (บ้านมั่นคง สวัสดิการ สภาองค์กรชุมชน/พัฒนาคนและขบวน ฯลฯ) โดยมีเจ้าหน้าที่ พอช. และผู้ประสานงานชุมชนอื่นร่วมกันสนับสนุนและประสานงานร่วมกับขบวนชุมชนทั้งในพื้นที่จังหวัดและประเด็นงาน
1.4 กระจายการบริหารจัดการและการทำงานพื้นที่ไปที่กลุ่มจังหวัด และงานประเด็น ให้กลุ่มจังหวัดเป็นกลไกการทำงานพื้นฐานในการ วางแผน จัดการ จัดกระบวน การทำงาน พัฒนาขบวนชุมชนร่วมกับสภาองค์กรชุมชนและเครือข่ายชุมชนในแต่ละจังหวัด จนท.พอช. และเครือข่ายประชาสังคม หน่วยงานร่วมกันเป็นผู้สนับสนุน ประสานงานและทำงานร่วมกัน โดยมีคณะทำงานเชิงประเด็นช่วยเชื่อมโยงการทำงานของกลุ่มจังหวัดในเรื่องเดียวกัน
1.5 เป้าหมายสำคัญที่การสร้างความเข้มแข็งการทำงานของสภาองค์กรชุมชนตำบล และการสร้างขบวนองค์กรชุมชนระดับจังหวัดที่เข้มแข็ง ที่สามารถเชื่อมโยงการทำงานของเครือข่าย องค์กรชุมชน กลุ่ม คณะทำงาน โครงการต่างๆ ที่มีอยู่ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เป็นที่ยอมรับ สามารถเป็นตัวตั้ง เป็นเนื้อหา เป็นผู้เสนอ และผู้มีส่วนร่วมสำคัญในแผนและโครงการต่างๆ ของการพัฒนาพื้นที่ทั้งตำบลและจังหวัดมากขึ้นๆ ได้รับการสนับสนุน ร่วมมือ ร่วมสนับสนุนจากหน่วยงานท้องถิ่น ท้องที่ จังหวัด และหน่วยงานเกี่ยวข้อง
1.6 มีกรรมการภาคที่มีตัวแทนจากทุกกลุ่มงาน ภาคี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นเวทีกลาง เพื่อเชื่อมโยงภาพรวมและตัดสินใจการพัฒนาในภาคร่วมกัน มีคณะทำงานต่างๆ เป็นกลไกการทำงานร่วมกันระหว่างหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
1.7 สร้างแผน ตัวชี้วัดความก้าวหน้าและความสำเร็จการทำงานจากพื้นที่ และระบบรายงาน พัฒนาระบบข้อมูล แผนการพัฒนา ระบบรายงานความก้าวหน้า และผลสำเร็จของการพัฒนาโดยชุมชนในแต่ละพื้นที่ ให้ชุมชนในพื้นที่ หน่วยงาน และสาธารณะรับรู้
พอช.แบ่งกลุ่มทำงาน 5 ภาคเป็น 18 กลุ่มจังหวัด
- โครงสร้างกลุ่มจังหวัดใหม่ 18 กลุ่มจังหวัด และการบริหารจัดการ ประกอบด้วย (1) กลุ่มภาคเหนือบน 1 เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน (2) กลุ่มภาคเหนือบน 2 เชียงราย น่าน พะเยา แพร่ (3) กลุ่มภาคเหนือล่าง 1 พิษณุโลก ตาก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ (4) กลุ่มภาคเหนือล่าง 2 นครสวรรค์ อุทัยธานี กำแพงเพชร พิจิตร
(5) กลุ่มภาคกลางตอนบน พระนครศรีอยุธยา ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง (6) กลุ่มภาคกลางตอนล่าง 1 ราชบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี (7) กลุ่มภาคกลางตอนล่าง 2 เพชรบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม
ประจวบคีรีขันธุ์
(8) กลุ่มภาคตะวันออก 1 ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง (9) กลุ่มภาคตะวันออก 2 ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด นครนายก สระแก้ว (10) กลุ่มภาคกลาง ปริมณฑล และ กทม. กทม. นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ
(11) กลุ่มภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย สุราษฎร์ธานี ชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา (12) กลุ่มภาคใต้ฝั่งอันดามัน ภูเก็ต กระบี่ พังงา สตูล ตรัง ระนอง (13) กลุ่มภาคใต้ชายแดน ยะลา ปัตตานี นราธิวาส
(14) กลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 อุดรธานี เลย หนองคาย หนองบัวลำภู บึงกาฬ (15) กลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือนตอนบน 2 นครพนม มุกดาหาร สกลนคร (16) กลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ขอนแก่น กาฬสินธ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม (17) กลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ และ (18) กลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 อุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ
การสนับสนุนขบวนองค์กรชุมชน
3.1 สภาองค์กรชุมชนตำบล เป็นเวทีกลางการพัฒนา เชื่อมโยงการทำงานของทุกกลุ่ม และทุกหน่วยงานในระดับตำบล
– สภาองค์กรชุมชนเป็นเวทีกลาง ในการรับรู้เนื้อหาข้อมูล ประสานงาน เชื่อมโยงต่อยอดการทำงาน วางแผนการทำงานร่วมกันของทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย ทุกชุมชน ทุกครอบครัว ทุกกิจกรรมทั้งกึ่งทางการ และไม่เป็นทางการ โครงการ แผนงาน ที่เกิดขึ้นในตำบล มีการประชุมใหญ่เล็กเกิดขึ้นสม่ำเสมอ
– มีกลไกการทำงานร่วมกันหลากหลายในแนวราบ มีคณะทำงานหลายเรื่องที่ครอบคลุมการทำงานตามแผน และความจำเป็นที่มีอยู่ ทั้งเรื่องเล็ก เรื่องใหญ่ สามารถโยงคนทุกกลุ่ม ทุกวัย ทุกอาชีพ ในชุมชนและในพื้นที่ มาร่วมกันทำงานช่วยกันรับผิดชอบ แบ่งปัน ช่วยกันคิดช่วยกันทำ ไม่เป็นระบบอำนาจสั่งการ
– เน้นวัฒนธรรมความร่วมมือระหว่างหลายฝ่าย หน่วยงาน รัฐ ท้องถิ่น ชุมชน เอกชน ประชาสังคม วัด โรงเรียน การประสานประโยชน์ โดยเอาประโยชน์และการพัฒนาที่ต่อเนื่องของคนในพื้นที่และท้องถิ่นเป็นหลัก
– มีแผนพัฒนาตำบล สภาองค์กรชุมชนเป็นเวทีการพัฒนาร่วมกันของชุมชนและหน่วยงาน มีการเตรียมแผนการพัฒนาของตำบลด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น แผนการแก้ปัญหาความยากจน แผนพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก อาชีพให้มั่นคง แผนพัฒนาความมั่นคง ถิ่นฐานที่อยู่อาศัยที่ดินทำกิน แผนฟื้นฟูปฏิรูปชุมชนท้องถิ่น แผนการพัฒนาคน ความรู้ให้เท่าทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลง ฯลฯ มีแผน มีทิศทาง เป้าหมาย มีแผนปี 3 ปี 5 ปี 20 ปี มีโครงการ กิจกรรม ที่วางแผนดำเนินการร่วมกัน มีข้อมูล ติดตาม มีการจัดการความรู้ มีตัวชี้วัด มีการประเมินความเปลี่ยนแปลง มีรายงาน
– มีความกล้าหาญในการวางแผนและปฏิรูปการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นตำบล ผสมผสานความรู้ศักยภาพที่มีในพื้นที่กับโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในโลกและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้ชุมชนท้องถิ่น และผู้คนสามารถจัดการการพัฒนาในพื้นที่ร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและพึ่งตนเองได้ อยู่ได้อย่างเข้มแข็ง และเท่าทัน
บทบาทของเครือข่ายองค์กรชุมชนระดับจังหวัด
3.2 เครือข่ายองค์กรชุมชนระดับจังหวัด มีบทบาทและหน้าที่ต่างๆ เช่น
-เป็นเวทีกลางของขบวนชุมชนและการทำงานของสภาองค์กรชุมชนและเครือข่ายชุมชนในแต่ละจังหวัด เพื่อสามารถเชื่อมโยงและพัฒนาการทำงานร่วมกันของสภาองค์กรชุมชนตำบลและองค์กรชุมชนในจังหวัดให้มีคุณภาพ ด้วยการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐและภาคีเกี่ยวข้อง มีเวทีกลางของชุมชน มีคณะทำงาน มีแผน กิจกรรมที่ทั้งรวมและแยกกัน มีสาระเนื้อหามีคุณภาพ มีการพัฒนาขบวนชุมชน สภาองค์กรชุมชนในจังหวัดให้มีคุณภาพ มีสถานภาพเป็นที่ยอมรับ มีการทำงานที่มีส่วนร่วม รู้สึกร่วม และสัมพันธ์ที่ดีกับสภาองค์กรชุมชน และเครือข่ายสำคัญทั้งเมืองและชนบท
– กลไกของขบวนชุมชนระดับจังหวัด ทำงานร่วมกับหน่วยงานในระดับจังหวัด เชื่อมโยงแผน เนื้อหาของชุมชนกับหน่วยงานในจังหวัด เป็นกลไกกลางของสภาองค์กรชุมชนตำบล เครือข่ายชุมชน คณะทำงานของชุมชนต่างๆเพื่อประสานและนำเสนอแผนโครงการพัฒนา เนื้อหาจากชุมชนสู่หน่วยงาน และนโยบายในจังหวัด รวมทั้งประสานระบบและโครงการพัฒนาจากหน่วยงานสู่พื้นที่ชุมชนอย่างมีทิศทาง และมีการวางแผนการทำงานร่วมกัน เป็นกลไกเชื่อมโยงชุมชนกับรัฐ และหน่วยงาน ที่มีประสิทธิภาพ และมีสัมพันธ์ที่ดี
– มีความสัมพันธ์ที่ดีกับหน่วยงาน กลไกพัฒนา ภาครัฐเอกชน สถาบันสำคัญที่มีในจังหวัด รู้จักกลไก บุคคล แผนโครงการ ระบบงบประมาณ โครงสร้าง วิธีทำงาน ช่องทาง จังหวะ ระบบระเบียบเกี่ยวข้อง มีสถานภาพและวิธีการทำงานร่วมกันเป็นที่ยอมรับอย่างดี มีความเข้าใจการเมืองของกลุ่มฝ่ายในจังหวัดและรู้จักที่จะใช้ประโยชน์เพื่อโอกาสการพัฒนาของชุมชน แต่ไม่ฝักใฝ่การเมืองฝ่ายใด
– สร้างสรรค์กิจกรรมการพัฒนา เพื่อเชื่อมโยง และสื่อสาร รายงาน งานขบวนชุมชน ประชาสังคม งานพัฒนาชุมชน ร่วมกับหน่วยงานและขยายสู่สาธารณะ มีแผนของชุมชน มีข้อมูล มีการติดตาม มีรายงาน พัฒนาระบบการสื่อสารที่สามารถนำเสนอเรื่องราว ข้อมูล รายงานภาพรวมการพัฒนาของชุมชนต่อขบวนชุมชน หน่วยงาน และสาธารณะอย่างต่อเนื่อง
– โครงสร้างการทำงานของเครือข่ายองค์กรชุมชนระดับจังหวัด ประกอบด้วย 1) เวทีประชุมใหญ่ประจำปี มีตัวแทนจากทุกขบวนองค์กรชุมชน และหน่วยที่เกี่ยวข้อง 2) คณะทำงานด้านประเด็นพัฒนาต่างๆ 3) คณะกรรมการประสานงานขบวนชุมชนระดับจังหวัด คณะกรรมการประสานกลางอาจมีการตั้งทีมประสานต่างๆ รวมทั้งทีมที่จะทำงานร่วมกันในกลุ่มจังหวัด
การทำงานกลุ่มจังหวัด
3.3 การทำงานกลุ่มจังหวัด กลุ่มจังหวัดเป็นกลไกการประสานงานร่วมกันของการทำงานของจังหวัด และเป็นการบริหารจัดการสนับสนุนพื้นฐานของสำนักงานภาคของ พอช. เป็นกลไกการบริหารจัดการร่วมกันของขบวนชุมชน และ พอช. ประกอบด้วย
- คณะทำงานประสานงานงานกลุ่มจังหวัด (5 – 10 คน) เลือกจากตัวแทนแต่ละจังหวัดและผู้ที่สามารเหมาะสม
- เจ้าหน้าที่ พอช.ประจำกลุ่มจังหวัด (ประมาณ 5 – 6 คน หัวหน้า 1 จนท.พื้นที่ 3 – 4 จนท.ข้อมูล/บริหาร/การเงิน 1 – 2)
- เวทีการประชุมร่วมของคณะกรรมการประสานงานขบวนชุมชนจังหวัด และเวทีการประชุมเครือข่ายประเด็นงาน ของกลุ่มจังหวัด เพื่อวางแผน ติดตามการทำงานของพื้นที่แต่ละจังหวัด
กลุ่มจังหวัดเป็นกลไกการทำงานของภาคเพื่อสนับสนุนการทำงานของสภาองค์กรชุมชนและเครือข่ายชุมชนของแต่ละจังหวัด สำนักงานภาค พอช. กระจายการบริหารจัดการภาคมาที่การทำงานร่วมในกลุ่มจังหวัดให้มากที่สุด สำนักงานภาค และ พอช.ส่วนกลางเป็นผู้สนับสนุนการทำงาน
งานกลุ่มจังหวัดที่กระจายการบริหารจัดการ ประกอบด้วย งานพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชนในพื้นที่ งบประมาณรวมของกลุ่มจังหวัด การบริหารจัดการ การเงิน ข้อมูล ประสานงานหน่วยงาน การทำงานร่วมกับเครือข่ายเชิงประเด็นต่างๆ การดูภาพรวมของการพัฒนาและการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในพื้นที่แต่ละจังหวัด การทำรายงานการพัฒนาของขบวนองค์กรชุมชนในแต่ละจังหวัด ฯลฯ
ประชุมกลุ่มย่อยและอภิปรายแลกเปลี่ยน
ทั้งนี้ในการประชุมเชิงปฏิบัติการ ‘แนวทาง วิธีการ และกลไกการสนับสนุนความเข้มแข็งองค์กรชุมชนในรูปแบบกลุ่มจังหวัด’ มีการประชุมแบ่งกลุ่มย่อยของผู้แทนกลุ่มจังหวัดทั้ง 18 กลุ่ม รวมทั้งกลุ่มย่อยของเจ้าหน้าที่ พอช.ในประเด็นต่างๆ เช่น การทำตำบลและจังหวัดเข้มแข็ง การทำงานกลุ่มจังหวัด วิธีการ แนวทางการทำงานร่วมเชิงพื้นที่ และประเด็น กลไก การจัดความสัมพันธ์ร่วมระหว่างชุมชน เจ้าหน้าที่ และภาคีเครือข่าย รวมทั้งบทบาทของ พอช.ที่หนุนเสริมให้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างไร ?
รวมทั้งมีการอภิปรายแลกเปลี่ยนในประเด็นต่างๆ เช่น ให้ใช้ พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนในการขับเคลื่อนงานให้เป็นจริง ให้ พอช.ทำหนังสือประสานแจ้งสถานะเครือข่ายองค์กรชุมชน แนะนำตัวเจ้าหน้าที่ต่อหน่วยงานภาครัฐ โดยใช้สื่อแนะนำ เช่น พรฏ.พอช., พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน , สวัสดิการชุมชน ฯลฯ
การถ่ายโอนอำนาจสู่กลุ่มจังหวัดให้สอดคล้องกับกระทรวงมหาดไทยที่จะนำไปสู่การทำให้สภาองค์กรชุมชนเข้มแข็ง ซึ่งทางชุมชนยังไม่มั่นใจต่อสิ่งที่ดำเนินการ ในขณะที่ยังมีวิธีคิด วิธีการดำเนินงานแบบเดิม ข้อเสนอ คือ ให้ทำเรื่องการกระจายอำนาจสู่จังหวัดเป็นเรื่องที่ พอช.ต้องทำ
นอกจากนี้ยังเสนอให้มีการทบทวนกลุ่มจังหวัดทั้ง 18 กลุ่มจังหวัดพร้อมๆ กับพัฒนาความเข้มแข็งจังหวัด, ในระดับจังหวัด และกลุ่มจังหวัดต้องทำหน้าที่พัฒนาให้ชุมชมและตำบลเข้มแข็ง สามารถเคลื่อนงานเชิงปฏิบัติการได้ โดย พอช.มีบทบาท เป็นพี่เลี้ยง และฝึกให้ชุมชนเข้มแข็ง
ทั้งนี้ที่ประชุมได้สรุปว่า เป้าหมายสำคัญ คือ ต้องยกระดับตนเอง ทำให้ตำบลเปลี่ยนแปลงจังหวัด ทำให้จังหวัดจัดการตนเองได้ โดยมีองคาพยพพร้อม และจะมีแผนการดำเนินงานต่อหลังจากมีการประมวลข้อเสนอ โดยจะมีเวทีรับฟังอีกครั้ง ในเดือนพฤศจิกายนนี้
ขณะที่ นายสมชาติ ภาะสุวรรณ ผอ.พอช.ได้กล่าวสรุปในตอนท้ายว่า ประเด็นสำคัญ คือ ต้องทำรายละเอียดที่ต่อเนื่อง จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทาย จึงเป็นที่มาของการจัดประชุมในวันนี้ โดยการใช้พื้นที่กลุ่ม จังหวัดในการสร้างนวัตกรรม การเรียนรู้ เป็นบทเรียนนำไปสู่หลักคิด เป้าหมาย กลไกการเคลื่อนกลุ่มจังหวัด การจัดการ โดยมีข้อเสนอ คือ
1.ต้องสรุปหลักการ 5 ข้อถ่ายทอดไปยังทีมข้างล่าง สร้างการรับรู้ขบวนพี่น้องประชาชน 2.ควรมีปฏิบัติการจริงทุกกลุ่มจังหวัด 3.นำผลการปฏิบัติการจริงทั้ง 18 กลุ่มจังหวัด และมีนักวิชาการมาร่วมออกแบบให้ความเห็นทุก 3 เดือน จะทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงระดับประเทศ โดยใช้พลังของชุมชนจากฐานล่าง นำข้อมูลมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ วางจังหวะก้าวในการเชื่อมโยงขบวนชุมชนอย่างเป็นพลัง
4.ข้อเสนอทั้ง 18 กลุ่มจังหวัดต่อบทบาทของ พอช.จะนำไปสู่การทำเป็นหลักสูตรการพัฒนาเจ้าหน้าที่ หรือกำหนดเป็นคุณลักษณะของเจ้าหน้าที่ พอช.ที่ควรจะมี จะเป็นการบริหารเจ้าหน้าที่ตามขบวนชาวบ้านผ่านปฏิบัติการจริง ซึ่งจะทำให้บทบาทของเจ้าหน้าที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งระดับส่วนกลางและภาคที่จะไปพร้อมๆ กัน และเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ต่อเนื่อง