ตำบลหนองบัว มีเนื้อที่ 147ตารางกิโลเมตร หรือ 91,875 ไร่ โดยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลาดลงสู่แม่น้ำและมีภูเขาสูงปานกลางพื้นที่โดยทั่วไป ดินทราย และดินเหนียวปนตะกอนเก่าเหมาะสำหรับปลูกพืชไร่ ไม้ยืนต้น ผลไม้ และบางส่วนเหมาะแก่การทำนา
ประวัติตำบลหนองบัว
มีผู้สูงอายุเล่าลือกันว่าในท้องถิ่นหมู่ที่ 1 ตำบลหนองบัวแต่เดิมมีหนองน้ำ ขนาดใหญ่ ชาวบ้านที่มาตั้งรกรากพวกแรกมาจากบ้านเก่า ปัจจุบัน คือ อำเภอเมือง จังหวัดระยองที่ได้ย้ายถิ่นฐานมาที่บ้านหนองบัว สาเหตุที่เรียกว่าบ้านหนองบัวก็เพราะว่ามีหนองน้ำขนาดใหญ่มีต้นบันขึ้นอยู่เต็มหนองน้ำ ซึ่งอายุของหนองน้ำประมาณ กันว่ามีอายุถึง 250ปี และมีผู้นำชาวบ้านที่มาตั้งรกรากพวกแรกนั้นชื่อ นายเพชร วิรัติพันธ์ ซึ่งต่อมาได้เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกของตำบลหนองบัวหรือในสมัยนั้นตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ผู้นำแขวง
ทุนทางสังคมของตำบล
- วัดปิปผลิวนาราม ตั้งอยู่ที่เป็นวัดที่อยู่บนเขาสุนทรีบรรพต หมู่ที่ 8 ต.หนองบัว อ.บ้านค่าย จ.ระยองจุดเด่นอีกอย่างสำหรับวัดแห่งนี้คือ พระอุโบสถประตู หน้าต่าง และหลังคาเป็นสเตนเลส ทั้งหมด และถือว่าเป็นโลหะปราสาทอุโบสถแห่งที่ 4 ของโลก และเป็นแห่งที่ 2 ของโลกที่ยังเหลือเอาไว้ได้ดู ภายในเป็นพระประธานองค์ใหญ่ขนาดหน้าตักกว้าง 3 ศอกคืบ ปางสมาธิพระนามว่า “พระพุทธเทวาติเทวะศากยะมหามุนี” ด้านหน้ามีรูปปั้นหุ่นขี้ผึ้ง จำนวน 6 หุ่นด้วยกัน ภายในมีภาพเขียนหลายภาพงดงามมาก เพดานอุโบสถเป็นเพดานโค้งคล้ายโดม และทำเป็นสองชั้น พื้นเพดานทาสีต่างกัน 3 ตอน คือ ตอนเบื้องหน้าพระประธาน ทาเป็นสีแดงอ่อน หมายถึง รุ่งอรุณ หรืออดีตกาล สีเหลืองตอนกลาง หมายถึง เที่ยงวัน หรือปัจจุบันกาล สีเขียวแก่มืดในตอนท้าย หมายถึง ราตรี หรืออนาคตกาล
- เส้นทางท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมในการนมัสการพระวัดดังจำนวน 3 วัด ได้แก่ วัดละหารไร่ วัดละหารใหญ่ และวัดหนองกรับ โดยมี “สะพานภาวนาภิรัต (ทิม) วิจิตร สาคร ราษฎร์สามัคคี (สะพานเชื่อมบารมีอาจารย์และลูกศิษย์)” หมู่ 2 ตำบลหนองบัว อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง เป็นสะพานข้ามแม่น้ำระยอง เพื่อเชื่อมถนนระหว่างวัดละหารไร่ วัดละหารใหญ่ และวัดหนองกรับ มีความยาว 3.5 กม ว่า ซึ่งชื่อสะพานมาจากชื่อ ภาวนาภิรัต หรือพระครูภาวนาภิรัต ชื่อหลวงปู่ทิม อิสริโก อดีตเจ้าอาวาสวัดละหารไร่ เกจิชื่อดังจังหวัดระยอง วิจิตร หรือพระครูวิจิตรธรรมาภิรัต (อาจารย์เชย เจ้าอาวาสวัดละหารไร่และรักษาการเจ้าอาวาสวัดหนองกรับ) สาคร หรือพระครูมนูญธรรมวัตร หรือหลวงพ่อสาคร มนุญโญ อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองกรับ ศิษย์เอกหลวงปู่ทิม สะพานแห่งนี้จากการดำริของพระครูวิจิตรธรรมาภิรัต (อาจารย์เชย) ร่วมกับคณะกรรมการ ไวยาวัจกร อำเภอบ้านค่าย อบต.หนองบัว และประชาชนผู้มีจิตศรัทธาดำเนินการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำระยอง (เนื่องจากปัจจุบันซุ้มประตูทางเข้าวัดละหารไร่ อยู่ในเขตพื้นที่ตำบลหนองบัวติดถนนทางหลวง *3138 โดยปากทางเข้าวัด พระครูวิจิตรธรรมาภิรัตได้บริจาคเงินสร้างอาคาร กศน.อำเภอบ้านค่าย ซึ่งได้เปิดทำการไปแล้ว และปัจจุบันกำลังก่อสร้างศูนย์แดงสินค้าโอท็อประดับอำเภอบ้านค่าย ซึ่งจะเปิดทำการในเดือนมีนาคม 2561
- แหล่งท่องเที่ยว ทุ่งดอกทานตะวัน องค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัว ได้ทำเรื่องขอใช้สถานที่ของบริษัทไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ในเขตหมู่ 11 ตำบลหนองบัว ทำเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวโดยประชาชน หน่วยราชการ สถานประกอบการช่วยกันปลูก และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว
ตลาดหนองตาหลั่ง ซึ่งเป็นตลาดประชารัฐท้องถิ่นสุขใจ ขายสินค้าเกษตร สินค้าเกษตร แปรรูป อาหารสด ฯลฯ ตั้งอยู่ตรงข้ามวัดละหารใหญ่ เลียบถนนเชื่อมถนนระหว่างวัดละหารใหญ่ วัดละหารไร่ และวัดหนองกรับ ริมแม่น้ำระยอง ซึ่งในอนาคตทางองค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัวจะขยายทำเป็นตลาดน้ำ
4.กลุ่ม OTOP/ของที่ระลึก
- สานเส้นพลาสติก ของกลุ่มสตรีอาสาพัฒนา หมู่ที่ 6 บ้านหัวชวด
- พริกแกงเผ็ด/น้ำพริกเผา ของกลุ่มหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ หมู่ที่ 7
- น้ำพริกตาแดง/น้ำพริกเผา ของกลุ่มสตรีศาลาน้ำลึก หมู่ที่ 9
- กะปิ ของนางไหม ผุดกระจ่าง หมู่ที่ 10
- กลุ่มวิสาหกิจชุมชน
- ไก่รมควัน/ไก่ต้มสมุนไพร/ไก่ผัดสมุนไพร/ไก่หยอง/ไก่สดชำแหละ ของนายทวิช สุวรรณ หมู่ที่ 7
- กล้วยอบน้ำผึ้ง /กล้วยฉาบ/ทุเรียนทอด/มะม่วงแช่อิ่มฯลฯ ของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรหลุมต้นตาล หมู่ที่ 7
- สบู่สมุนไพร ของกลุ่มเกษตรกรแปรรูปบ้านหนองกรับ หมู่ที่ 3
สภาองค์กรชุมชน : พื้นทีกลางสร้างหุ้นส่วนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นตำบลหนองบัว
การดำเนินงานของสภาองค์กรชุมชน มีการวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาพัฒนาระบบข้อมูล และลุกขึ้นมาบริหารจัดการกับการแก้ไขปัญหาของตนเองโดยมิต้องรอคอยการช่วยเหลือจากหน่วยงานภายนอก ซึ่งปัจจัยนี้เป็นแรงกระตุ้นให้หลายภาคส่วนได้ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งกับชุมชน ที่เริ่มจากการเข้าใจชุมชนเป็นพื้นฐานพัฒนาการที่มีความต่อเนื่องหรือการขยายผลขององค์กรชุมชนที่เข้มแข็ง ประกอบกับหน่วยงานภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคเอกชน ได้ให้ความสำคัญและให้ความร่วมมือสนับสนุน กับกระบวนการพัฒนาที่ยึดชุมชนและท้องถิ่นเป็นพื้นฐานของการร่วมคิด ร่วมทำมากขึ้น รวมถึงโอกาสการเข้าถึงสิทธิการใช้ทรัพยากรหรือเครื่องมือทำงานต่างๆ เช่น บุคลากร งบประมาณ เทคโนโลยีและความรู้ เป็นต้น อีกทั้งร่วมดำเนินการตามแนวทางแห่งประชารัฐ จึงส่งผลให้หลายๆกิจกรรม หรือโครงการ โดยเฉพาะจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตัวอย่างได้แก่ โครงการสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชน โครงการเครือข่ายบ้านมั่นคง และโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรชุมชน โครงการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยชนบท ฯลฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมพัฒนาทั้งราษฎร์รัฐ สนับสนุนสังคมสวัสดิการและการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจฐานรากให้ดีขึ้น
ขบวนองค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรภาคีสนับสนุนการทำงานตามแนวทางประชารัฐได้ร่วมกันแสดงเจตจำนง ได้ร่วมสรุปบทเรียนการทำงาน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงานเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาในระดับชุมชนท้องถิ่น เสริมสร้างความมั่งคงและความเป็นอยู่ที่ดีของท้องถิ่น ตลอดจนรวบรวมข้อเสนอในเชิงนโยบายเสนอต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การพัฒนาองค์กรชุมชนในฐานะฐานรากของสังคมให้มีความแข็งแกร่ง
โดยสภาองค์กรชุมชนได้ร่วมกำหนดวิสัยทัศน์กับหน่วยงานภาคีที่จะนำพาชุมชนไปสู่ : ชุมชนร่วมเกื้อกูล สมบูรณ์คุณภาพชีวิต เศรษฐกิจยั่งยืน บนพื้นฐานพอเพียง
1.ส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มองค์กรเครือข่ายในการร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สามารถพึ่งพาตนเอง ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
2.ส่งเสริมและพัฒนาระบบการศึกษาและสาธารณสุขเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน พร้อมทั้ง อนุรักษ์และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ประเพณีและภูมิปัญญาอันดีงามภายในท้องถิ่นตลอดจนการกีฬาและนันทนาการ
- ส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างโอกาสทางอาชีพและการรวมกลุ่มอาชีพของประชาชน เกษตร การ ท่องเที่ยวชุมชน ให้มีความเข้มแข็งและสามารถพึ่งพาตนเองได้
- การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน
- การพัฒนาที่อยู่อาศัยของประชาชนผู้มีรายได้น้อยและไม่มีที่ดินทำกิน
ปัจจัยแห่งความสำเร็จสำคัญของสภาองค์กรชุมชนคือ การมีจิตอาสาพัฒนาที่มาจากอุดมการณ์ที่เที่ยงมั่น สร้างการมีส่วนร่วม ตระหนักรับผิดชอบ และใช้พลังกลไกที่มีอยู่ในรูปแบบต่างๆ ร่วมขับเคลื่อนทำงานและเรียนรู้ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง สามารถเชื่อมโยงการทำงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรภาคสังคมอื่นๆ ได้อย่างเป็นเอกภาพ
หน่วยงานที่ทำงานร่วมกันในปีนี้ ได้แก่ กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลหนองบัว ชมรมผู้สูงอายุตำบลหนองบัว กลุ่มรักษ์สิ่งแวดล้อมตำบลหนองบัว สถานประกอบการ สถานศึกษา โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล เน้นการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ทั้งร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมตัดสินใจรับผิดชอบ สนับสนุนการทำงานด้วยจิตอาสา ภูมิปัญญา ทรัพยากรและทุนที่มีอยู่ในชุมชน โดยภาคีทุกภาคส่วนจะวางแผนปฏิบัติงาน และติดตามประเมินผลการดำเนินงานร่วมกันในฐานะเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาชุมชน ท้องถิ่น และสังคม เพื่อกระจายระบบการบริการทางสังคมให้ครอบคลุมเข้าถึงกลุ่มผู้ด้อยโอกาส คนในชุมชนท้องถิ่นผู้เดือดร้อน ตรงตามเป้าหมายสังคมและประเทศที่จะให้เกิดสวัสดิการอย่างถ้วนหน้า และพัฒนาแกนนำคนทำงานรุ่นใหม่ให้สืบทอดเจตนารมณ์การทำงานให้ไปสู่เป้าหมายต่อไป