ตำบลบางกระเจ็ด เป็นตำบลหนึ่งที่อยู่ในอำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ตำบลบางกระเจ็ด สมัยก่อนเรียกว่าตำบลบางกระดาน ซึ่งแต่ก่อนเป็นชุมชนที่ใหญ่มีป่าไม้เป็นป่าดงดิบ มีสัตว์ป่าต่างๆ อาศัยอยู่ชุกชุม คำว่า “บางกระดาน” บาง หมายถึง แหล่งที่ สถานที่ กระดาน หมายถึง ไม้ที่แปรรูปเป็น แผ่น บางกระดาน คือแหล่งที่มีป่าไม้ใช้ในการแปรรูป ไม้แผ่นเพื่อปลูกเป็นที่พักอาศัย ปัจจุบันไม่มีป่าไม้เหลืออยู่กลายเป็นท้องทุ่งท้องนาไปหมดแล้ว ชุมชนที่มีขนาดใหญ่จึงกลายเป็นชุมชนที่มีขนาดเล็กลง ประชาชนอพยพมาตั้งถิ่นฐานใหม่ใกล้กับแม่น้ำบางปะกง และมีคลองขนาดใหญ่หลายสาย มี กุ้ง ปลาอยู่ชุกชุม ต่อมาเมื่อมีผู้คนมาอาศัยมากขึ้น เลยเรียกชุมชนใหม่ว่า “บางกระเจ็ด” ตามชื่อคลอง ตั้งแต่บัดนั้น เป็นต้นมา
การเริ่มต้นของโครงการบ้านพอเพียงนั้น คุณไพวัลย์ มั่งมี หรือคุณลุงอ๊อด เลขาสภาองค์กรชุมชนได้เล่าว่า คุณธนวัตร เกตุงาม ผู้ประสานงานจังหวัดฉะเชิงเทราโซนราบลุ่ม ได้นำข่าวสารเรื่องโครงการบ้านพอเพียงมาแจ้งให้ทราบในการประชุมสภาองค์กรชุมชนตบลบางกระเจ็ด โดยหลังจากที่ประธานสภาฯ ทราบเรื่องดังกล่าว จึงได้ประชุมร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้านให้ช่วยลงพื้นที่สำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อนในแต่ละหมู่บ้านว่ามีจำนวนผู้เดือดร้อนกี่ราย เพื่อรวมรวมเป็นข้อมูลผู้เดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยของตำบล
ต่อจากนั้น สภาองค์กรชุมชนจึงได้จัดประชุมผู้เดือดร้อนชี้แจงข้อมูลและอธิบายรายละเอียดของโครงการบ้านพอเพียงชนบทนี้ พร้อมทั้งรับฟังความต้องการของผู้เดือดร้อนว่า บ้านแต่ละหลังมีปัญหาอะไร ต้องการซ่อมแซมจุดไหนบ้าง โดยการซ่อมแซมจะต้องอยู่ภายใต้งบประมาณ 18,000 บาท ต่อหลังคาเรือน ซึ่งจะสามารถใช้ได้เฉพาะค่าวัสดุอุปกรณ์เท่านั้น ส่วนค่าช่างให้ผู้เดือดร้อนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เอง รวมถึงค่าใช้จ่ายกรณีที่มีส่วนเกินเกิดขึ้น ทั้งนี้สมาชิกในโครงการบ้านพอเพียงจะต้องสมทบเงินเข้ากองทุนเดือนละ 330 บาท ทุกเดือน จนครบวงเงิน 18,000 บาทที่ได้รับไป โดยจะต้องส่งเงินสมทบทุกวันที่ 10 ของเดือน หลังจากนั้นเมื่อทำความเข้าใจรายละเอียด และข้อตกลงร่วมกันเรียบร้อยแล้ว จึงให้ผู้เดือดร้อนที่มีความประสงค์เข้าร่วมโครงการ ลงชื่อไว้ก่อน สภาองค์กรชุมชนจะจัดลำดับความเดือดร้อนตามลำดับก่อนหลังตามรายชื่อที่ลงไว้ ซึ่งวิธีการดังกล่าวเป็นเหมือนการคัดกรองคนที่ให้ความร่วมมือกับทางชุมชนในการเข้าประชุมทำกิจกรรมต่างๆ แสดงให้เห็นว่าบุคคลนั้นมีความกระตือรือร้นที่จะเข้าร่วมโครงการ
จากการดำเนินงานโครงการบ้านพอเพียงชนบทที่ผ่านมา มีบ้านที่ได้รับความช่วยเหลือซ่อมแซมไปแล้ว จำนวน 24 หลัง จากผู้เดือดร้อนทั้งหมด 40 หลัง โดยในปี 2561 ซ่อมแซมบ้านไปจำนวน 17 หลัง และในปี 2562 ดำเนินการซ่อมแซมไปแล้ว จำนวน 6 หลัง ซึ่งในปี 2562 นี้สภาองค์กรชุมชนเห็นว่าเงินกองทุนที่ได้รับสมทบจากสมาชิกมีเพียงพอ จึงได้ดำเนินการช่วยเหลือให้กับบ้านผู้เดือดร้อนเพิ่มเติมอีก 1 หลัง ซึ่งถือได้ว่าเป็นความสำเร็จตามเป้าประสงค์ของการจัดตั้งกองทุน ที่ทุกคนตั้งใจไว้ว่าจะร่วมด้วยช่วยกันแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย ให้คนในตำบลมีความเป็นอยู่ที่มั่นคง แข็งแรง และปลอดภัย
นายสัญญา พรมเสาร์ อายุ 64 ปี บ้านเลขที่ 4/3 ม.2 ต.บางกระเจ็ด อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา เล่าว่าแต่เดิมบ้านมีความคับแคบ อีกทั้งทางบ้านมีอาชีทำขนมทองม้วนและทองพลับขาย จึงอยากต่อเติมบ้านให้มีพื้นที่เพิ่มขึ้น และแบ่งแยกพื้นที่ ที่นอนกับที่ทำขนมชัดเจน เพราะภายในบ้านนั้นมีเด็กเล็กอยู่ด้วยก็กลัวว่าจะเกิดอันตรายเพราะมีเตาร้อนๆ ซึ่งลุงนั้นได้รับงบประมาณโครงการบ้านพอเพียงในปี 2562 ขณะนี้อยู่ระหว่างการซ่อมแซมต่อเติมบ้าน ลุงนั้น รู้สึกดีใจเป็นอย่างมากที่ต่อไปจะมีพื้นที่ที่อยู่อาศัยที่เป็นสัดส่วน
นางวรรณี พรมเสาร์ อายุ 56 ปี บ้านเลขที่ 4/1 ม.2 ต.บางกระเจ็ด อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา มีอาชีพ รับจ้างทั่วไป เล่าว่า เดิมห้องน้ำผุพัง เมื่อน้ำท่วมก็ลำบาก จึงทำการซ่อมแซมห้องน้ำ คือสร้างห้องน้ำใหม่ เพราะที่บ้านมีผู้หญิงอยู่ด้วย หากไม่มีห้องน้ำก็จะเกิดความลำบาก แต่พอทำเสร็จแล้วก็ทำให้มีห้องน้ำที่สะดวกมากขึ้น ไม่ต้องกังวลเวลาเกิดน้ำท่วม