จังหวัดลำพูนเป็นเมืองที่ขนาดเล็กที่สุด และมีประวัติศาสตร์ยาวนานที่ของของภาคเหนือ เคยเป็นที่ตั้งของอาณาจักรหริภุญชัยเมืองโบราณอายุประมาณ 1,300 กว่าปี อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครตามทางหลวงหมายเลข11ถนนสายเอเชีย 689 กิโลเมตร ทางรถไฟ 729 กิโลเมตร เป็นพื้นที่สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ มีนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งโรงงานอุตสาหกรรมทั้งจังหวัดประมาณ 932 แห่ง มีขนาดพื้นที่ 4,506 ตารางกิโลเมตร แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 8 อำเภอ 51 ตำบล 577 หมู่บ้าน 1องค์การบริหารส่วนจังหวัด และ 1 เทศบาลเมือง
พื้นที่ทิศเหนือและตะวันตกติดกับจังหวัดเชียงใหม่ ทิศใต้ติดกับจังหวัดลำปางและตาก ส่วนทิศตะวันออกติดกับจังหวัดลำปาง มีประชากรอาศัยอยู่เพียงประมาณ 400,000 คน ระบบเศรษฐกิจหลักของจังหวัดที่สำคัญคือภาคเกษตร และภาคอุตสาหกรรม
จังหวัดลำพูนแม้จะเป็นจังหวัดเล็กๆแต่ก็มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมายหลายแบบ หากเป็นในเขตเมืองส่วนใหญ่จะเป็นโบราณสถาน วัด สถาปัตยกรรมหลายยุคสมัยตั้งแต่สมัยหริภุญชัย และสมัยที่ถูกรวมเข้ากับล้านนาในยุคพ่อขุนเม็งราย ส่วนพื้นที่รอบนอกนั้นก็มีทั้งวัดสำคัญๆและแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เช่น แก่งก้อ เขื่อนภูมิพล ซึ่งมีโรงเรียนเรือนแพที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ชุมชนพระบาทห้วยต้มและวัดพระบาทห้วยต้ม อำเภอลี้ซึ่งเป็นชุมชนกะเหรี่ยงที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นมังสวิรัติมีเครื่องเงินทำมือและผ้าทอกี่เอวเป็นผลิตภัณฑ์เด่น จัดการท่องเที่ยวทั้งแบบไปเช้ากลับเย็นและแบบโฮมสเตย์ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่อื่นๆที่น่าสนใจอีกจำนวนมาก
ที่นี่ตำบลในเมือง อำเมือง จังหวัดลำพูน
ตำบลในเมือง จังหวัดลำพูน ประกอบด้วย 17 ชุมชน(ไก่แก้ว,ช่างฆ้อง,สันป่ายางหลวง,หนองเส้ง,บ้านท่า-ท่านาง,ท่าขาม-บ้านฮ่อม,ประตูลี้,สันดอนรอม,พระคงฤาษี,สวนดอก,สันป่ายางหน่อม,ชุมชนหน้าสถานีรถไฟ,จามเทวี,บ้านหลวย,มหาวัน,ชัยมงคล,และศรีบุญเรือง) 1เทศบาล คือเทศบาลเมืองลำพูน มีพื้นที่ขนาด 6 ตารางกิโลเมตร ทิศเหนือติดกับตำบลเหมืองหง่า ทิศใต้ติดกับตำบลต้นธง ทิศตะวันออกติดกับตำบลเวียงยอง ทิศตะวันตกติดกับตำบลต้นธง และตำบลเหมืองหง่า อำเภอเมือง ลำน้ำหลักที่ไหลผ่านคือน้ำแม่กวง
ในอดีตพื้นที่บริเวณนี้เคยเป็นศูนย์กลางที่ตั้งของอาณาจักรหริภุญชัย ซึ่งเป็นอาณาจักที่มีความรุ่งเรืองอย่างมากในอดีต เห็นได้จากร่องรอยและโบราณสถานที่กระจายอยู่มากมายในเขตเมือง ซึ่งการพิสูจน์ทางโบราณคดีพบว่ามีอายุไม่ต่ำกว่า 1,300 ปี เช่น พระรอด กำแพงเมืองโบราณ กู่ช้างกู่ม้า เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีวัดสำคัญๆที่เชื่อมโยงกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์หลายยุคหลายสมัย เช่น วัดธงสัจจะ วัดจามเทวี วัดพระคงฤาษี วัดมหาวัน วัดพระธาตุหริภุญชัยซึ่งเดิมเป็นสถานที่ตั้งของพระราชวังที่ประทับของกษัตริย์ราชวงค์จามเทวี เป็นวัด1ใน7ของสัตตมหาสถานอันศักดิ์สิทธิ์ของไทยประจำภาคเหนือตอนบน อีกทั้งมีสถาปัตยกรรมบ้านโบราณที่สร้างด้วยไม้ อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติหริภุญชัย ศาลเจ้าปู่เทโคซึ่งเล่ากันว่าเป็นทหารเอกของเจ้าแม่จามเทวีที่มีความแข็งแกร่งน่าเกรงขามเป็นอย่างยิ่ง ในเขตเมืองเก่ามีคูเมืองล้อมรอบ และมีประตูเมืองทั้งหมด 6 ประตู
ผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้มีทั้งคนท้องถิ่นดั้งเดิมและคนที่เคลื่อนย้ายเข้ามาเพื่อแสวงหาช่องทางการประกอบอาชีพ ประกอบด้วย กลุ่มคนพื้นเมือง อิสลาม และจีน
ในด้านเศรษฐกิจนั้นประชาชนประกอบอาชีพที่หลากหลายเช่นเดียวกับพื้นที่อื่นๆในเขตเมือง แต่ฐานใหญ่สุดคือกลุ่มที่ทำการค้า ตั้งแต่ค้าขายเล็กๆน้อยๆในตลาดและแหล่งท่องเที่ยว ไปจนถึงกิจการห้างร้านขนาดใหญ่ สินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ของที่นี่คือ ผ้าฝ้ายและผ้าไหมยกดอกทอมือ ลูกประคบสมุนไพร และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากลำไย
ศักยภาพของพื้นที่
เมื่อนึกถึงตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ปฺฏิเสธไม่ได้ว่าเราจะนึกถึงวัดหริภุญชัยเป็นลำดับต้นๆแท้จริงแล้ว ที่นี่มีดีมากกว่านั้น ดังที่เกริ่นมาแล้วข้างต้นว่าพื้นที่ตำบลในเมืองแห่งนี้ เดิมเคยเป็นที่ตั้งของอาณาจักรหริภุญชัยซึ่งมีอายุเก่าแก่นับพันปี ซึ่งปัจจุบันยังคงมีร่องรอยของเมืองโบราณกระจายให้เห็นอยู่ทั่วไปปะปนแทรกแซมกับบ้านเรือนสถาปัตยกรรมของอีกหลายยุคสมัยก่อนที่จะเป็นเมืองลำพูนในทุกวันนี้ ถือเป็นต้นทุนสำคัญที่สามารถยกระดับต่อยอดไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจผ่านการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและวิถีชีวิต จากหริภุญชัยถึงลำพูน “พระธาตุเด่น พระรอดขลัง ลำไยดัง กระเทียมดี ประเพณีงาม จามเทวีศรีหริภุญไชย” ตามคำขวัญของจังหวัด
จุดแข็งของที่นี่อีกประการคือการเป็นเมืองขนาดเล็ก มีความสงบ บรรยากาศน่ารัก ในวันที่เรามีโอกาสได้ปั่นจักรยานเข้าซอยเล็กซอยน้อยของชุมชนในย่านนี้ สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้คือ บรรยากาศของเมืองที่น่าอยู่ ร่มรื่น ผู้คนยังใช้ชีวิตแบบรู้จักกันเกือบหมด มีความเป็นพี่น้องเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะคนดั้งเดิมในพื้นที่ยังคงมีกิจกรรมต่างๆร่วมกัน เช่น การรวมกลุ่มทำเทียน ทำสวยดอกไม้(กรวยใบตองบรรจุดอกไม้ธูปเทียนสำหรับไหว้พระ) ส่งให้วัดพระธาตุหริภุญชัย ทั้งหมดนี้ทำให้สัมผัสได้ว่าที่นี่ยังคงมีวิถีชีวิตแบบท้องถิ่นดั้งเดิมอยู่มากทีเดียว
ในพื้นที่ตำบลในเมือง นอกจากวัดเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงแล้ว ยังมีสถาปัตยกรรมเฉพาะถิ่น เช่นคุ้มเจ้ายอดเรือนชายาของเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์สุดท้าย สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ.2470 เป็นอาคารที่เก่าที่สุดหลังหนึ่งในเขตกำแพงเมือง บ้านไม้เก่าสามหลัง ฯลฯ นอกจากนี้ผ้าทอกี่ทั้งผ้าไหมและผ้าฝ้ายยกดอกก็ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่เป็นจุดแข็งของพื้นที่ สามารถสร้างรายได้ให้กับผู้ทอและพ่อค้าแม่ค้าที่ขายของฝากของที่ระลึกในพื้นที่ โดยบางครอบครัวได้สืบทอดการทอต่อเนื่องกันมาหลายรุ่นและทำการตลาดด้วยตัวเองเป็นรายได้ที่มั่นคงส่งต่อจากรุ่นพ่อแม่สู่รุ่นลูก เช่น ร้านป้าเจริญพร บุญเกียรติ ที่สืบต่อมาจากแม่คือคุณยายผ่องพรรณ ปัจจุบันลูกสาวของป้าเจริญพรได้เข้ามาดูแลเรื่องการตลาด โดยเฉพาะช่องทางสื่อออนไลน์ ทำให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้กว้างขวางและหลายระดับมากขึ้น
ราคาผ้าทอของที่นี่ มีตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักหมื่น หากเป็นผ้าโบราณราคาก็ถีบตัวสูงขึ้นถึงหลักแสนบาทเลยทีเดียว ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานที่พยายามสนับสนุนให้เกิดการถ่ายทอดสู่คนรุ่นใหม่ ทั้งตัวผู้รู้ในชุมชน ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน สำนักงานพัฒนาชุมชน เป็นต้น แต่ข้อจำกัดคือหาคนรุ่นใหม่ที่สนใจจริงจังได้ยาก เนื่องจากหากเป็นแค่แรงงานทอรายได้ที่ได้ต่อผืนนั้นน้อยมากเมื่อเทียบกับระยะเวลาที่ใช้ในการทำงาน งานทอผ้าจึงไม่จูงใจคนรุ่นใหม่นัก
คนที่ทอในปัจจุบันคือผู้รู้หรือผู้ทอที่ผันตัวเองขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการ และผู้สูงอายุในชุมชนที่ทำเพราะใจรัก โดยทำเป็นอาชีพเสริม และใช้เวลาแค่บางส่วนในระหว่างวันเท่านั้น ว่างเมื่อไหร่ก็ทอ ไม่มีเวลาแล้วเสร็จที่แน่นอน ดังนั้นหากจะทำเป็นอาชีพจริงจังจะต้องพัฒนาทักษะไปถึงขั้นการทอผ้าไหมยกดอกที่ละเอียดปราณีตซึ่งเป็นผ้าที่ตลาดมีความต้องการ มีคนจองตั้งแต่เริ่มทอ ไม่มีปัญหาด้านการตลาด อีกทั้งยังราคาสูงเฉลี่ยผืนละประมาณ 45,000 บาทในปีปัจจุบัน ขณะที่ปีที่แล้วราคาเฉลี่ยอยู่ที่ผืนละ 15,000 บาท ที่เป็นเช่นนี้เนื่องมาจากปัจจัยด้านอุปสงค์(Demand)ของกลุ่มลูกค้าตลาดบน ภายหลังการขึ้นครองราชย์ของรัชกาลที่10 นอกจากนี้หากคนรุ่นใหม่สนใจทำเป็นอาชีพหลักจะต้องสามารถพัฒนาตนเองขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการทางสังคมที่จัดการทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
สำหรับจุดอ่อนของที่นี่เป็นเรื่องของประสบการณ์การจัดกระบวนการท่องเที่ยวโดยชุมชนของทีมงานสภาองค์กรชุมชนตำบลในเมือง ซึ่งยังค่อนข้างมีความรู้ทักษะในด้านนี้น้อย แต่ก็มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรมทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างรายได้อีกทางหนึ่งให้คนในชุมชนและสภาองค์กรชุมชนซึ่งเป็นกลุ่มที่ริเริ่ม จัดระบบ และเชื่อมประสานหลายส่วนเพื่อเข้ามาสนับสนุนชุมชนให้มีความสามารถในการจัดการการท่องเที่ยวด้วยตนเอง และถึงแม้จะมีข้อจำกัดในด้านที่เป็นเมืองรองของการท่องเที่ยว แต่ในข้อจำกัดที่มีก็กลายเป็นโอกาสสำคัญได้เช่นกัน เนื่องจากปัจจุบันกระแสโปรโมทการท่องเที่ยวเมืองรอง ก็ทำให้นักท่องเที่ยวจำนวนมากหันมาให้ความสนใจเมืองรองมากขึ้น
ฉะนั้นโจทย์สำคัญคือจะใช้โอกาสนี้เปิดพื้นที่ใหม่ๆนอกเหนือจากที่คนทั่วไปรู้จักเพิ่มขึ้นได้อย่างไร และทำอย่างไรให้แตกต่างจากการท่องเที่ยวแบบเดิมที่เน้นการไปเห็นสถานที่สำคัญและรับรู้ประวัติศาสตร์เพียงบางเสี้ยวบางส่วนไม่มีความปะติดปะต่อ ทำอย่างไรจะเพิ่มเติมความแปลกใหม่ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้และอื่นๆที่ลึกขึ้น น่าสนใจมากขึ้น มีชีวิตชีวามากขึ้น
ท่องเที่ยวชุมชนเชิงวัฒนธรรม ตำบลในเมือง พัฒนาการ หลักคิด และกระบวนการ
จุดเริ่มต้นมาจากหลายเหตุปัจจัย โดยมีปัจจัยสำคัญคือความต้องการหารายได้เข้ากองกลางของสภาองค์กรชุมชนตำบลในเมือง เพื่อบริหารจัดการภายในโดยเฉพาะปัญหาหนี้สินของกลุ่มที่สะสมมาจากการดำเนินงานนับตั้งแต่ปี 2539 จนถึงปี2558
ที่นี่เริ่มต้นขับเคลื่อนงานด้วยการเชื่อมหลายฝ่ายเข้ามาร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำกวงเน่าเสียในนามของ “เครือข่ายสิ่งแวดล้อม” และขยับมาทำเรื่องการออมทรัพย์ การส่งเสริมอาชีพร่วมกับเครือข่ายผู้ติดเชื้อในปี2540 การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบในปี2544 ระหว่างปี 2548-2549เกิดวิกฤตน้ำท่วมในเขตตัวเมืองจังหวัดลำพูน ทำให้สมาชิกที่กู้เงินไปไม่สามารถหาเงินมาใช้หนี้กลุ่มได้ ปี2555ขยับมาทำเรื่องธนาคารขยะในรูปแบบซื้อมา-ขายไป แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จนัก การขับเคลื่อนหลังสุดคือการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยทั้งหมดของตำบลในเมืองในปี2558
หนี้สินจากการดำเนินงานได้มีกระบวนการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ร่วมกันของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง2ครั้ง คือปี2551 และปี2560 โดยมีข้อสรุปร่วมกันว่าสาเหตุหลักมาจากการใช้เงินผิดประเภท และการใช้เงินที่ไม่มีระเบียบรองรับ ประสบการณ์ตรงนี้เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญและหาแนวทางแก้ไขจุดอ่อนเรื่องการบริหารจัดการการเงินของกลุ่มหากจะก้าวไปข้างหน้าในเรื่องการพัฒนาฐานเศรษฐกิจอย่างจริงจัง
ปี2561คณะกรรมการกลุ่มจำนวนประมาณ 5 คนซึ่งต้องนับถือน้ำใจว่าเป็นกลุ่มหัวไวใจกล้า ได้ผลักดันความคิดเรื่องการฟื้นฟูขบวนฯ โดยมีโจทย์ร่วมกันที่สำคัญสองเรื่องคือ การปัดฝุ่นกลไกการทำงานจากเครือข่ายสิ่งแวดล้อมเมืองสู่องค์กรในรูปแบบสภาองค์กรชุมชนตำบลในเมือง มีภารกิจ 4 ด้านคือ ออมทรัพย์องค์กรการเงิน สิ่งแวดล้อม ท่องเที่ยวชุมชน และที่อยู่อาศัย โดยมีคณะกรรมการขับเคลื่อนงานจำนวน 15 คน
เรื่องที่สองคือกระบวนการดำเนินการเรื่องหนี้สินกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน โดยช่องทางหารายได้ทางหนึ่งขณะนี้คือการจัดการท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งคณะทำงานมองเห็นโอกาสหลายด้านทั้งเรื่องต้นทุนทางวัฒนธรรม ของดีในพื้นที่ คือ วัด สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ งานฝีมือ วิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ ที่สามารถพัฒนายกระดับขึ้นมา บวกกับโอกาสที่แกนนำบางส่วนได้ร่วมอยู่ในขบวนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของบริษัทประชารัฐสามัคคี จึงนำมาสู่กระบวนการปรึกษาหารือกับคณะกรรมการ 15 คน จนได้ข้อสรุประดับหนึ่งที่จะขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวภายใต้หลักคิดและแนวทาง “การท่องเที่ยวชุมชนเชิงวัฒนธรรม” ซึ่งแต่เดิมชุมชนตกอยู่ในสภาวะที่เป็นผู้ถูกท่องเที่ยว ตั้งรับอยู่ในพื้นที่ ขณะที่แนวทางใหม่นี้เป็นการสนับสนุนให้ชุมชนลุกขึ้นมาจัดการท่องเที่ยวด้วยตนเอง เพื่อให้ตอบโจทย์เรื่องเศรษฐกิจรายได้ทั้งของบุคคลและของกลุ่ม
ปัจจุบันการจัดการท่องเที่ยวของที่นี่กำลังอยู่ระหว่างการริเริ่ม และเรียนรู้ความคิดสำคัญหลายเรื่อง เช่นเรื่อง การท่องเที่ยวที่มีชีวิต การพัฒนาปฏิทินการท่องเที่ยว 12 เดือนเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่แท้จริงของท้องถิ่น การพัฒนาแผนธุรกิจ 9 ขั้นตอน การออกแบบเส้นทาง และการทดลองรับจัดทริ๊บทัวร์ผ่านบริษัทประชารัฐฯ ทัวร์ธรรมมะ และกลุ่มนักเรียน ซึ่งขณะนี้มีการจัด 2 รูปแบบ
รูปแบบที่1 คือการรับจัดให้หมู่คณะที่ประสานงานผ่านทางประธานชุมชน และบริษัทประชารัฐส่งต่อมา โดยจะออกแบบกิจกรรมเป็นครั้งๆเพื่อให้สอดคล้องกับความสนใจของแต่ละกลุ่ม ช่วงเวลาที่มา และอื่นๆ กิจกรรมที่มี คือ การจัดเลี้ยงอาหารในลักษณะกาดมั่ว(ของกินประจำถิ่น)ในบริเวณข่วงหลังวัดธงสัจจะเพื่อโชว์ภาพจิตกรรมของรั้ววัด การแสดง การบริการสวยดอกไม้(กรวยดอกไม้สำหรับไหว้พระ) เพื่อนำไปไหว้พระในวิหาร ซึ่งเป็นพระปางอุ้มบาตร การเรียนรู้ประวัติศาสตร์เมืองผ่านประวัติวัดธงสัจจะ ซึ่งอยู่ในเขตชุมชนท่าขามบ้านฮ่อม
รูปแบบที่ 2 คือการท่องเที่ยวโดยใช้เส้นทางจักรยาน ปั่นไปในจุดสำคัญทั้งโบราณสถานทางประวัติศาสตร์และวัดที่สวยงาม สถาปัตยกรรมบ้านไม้เก่าอายุเกือบร้อยปี มีกิจกรรมที่ออกแบบให้นักท่องเที่ยวได้ปฏิบัติการร่วมกับคนในชุมชน คือ การทดลองทอผ้ายกดอกลำพูน การทำสวยดอกบูชาพระ การหล่อเทียน การตัดตุง นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงไปยังตำบลใกล้เคียงได้แก่ตำบลเวียงยอง ทั้งหมดนี้ได้ร้อยเรียงเป็นเส้นทางจักรยานเพื่อให้ผู้มาท่องเที่ยวได้ไปสัมผัสและเรียนรู้ จำนวนทั้งหมดประมาณ 21 จุด ดังนี้
วัดธงสัจจะ เรื่องชัยยมงคลของการตั้งวัด ,สุริโยเทโค,ธรรมแทงผูก,หญ้าขวัญข้าว
เจ้าปู่เทโค เสื้อเมืองลำพูน,การหล่อเทียนของกลุ่มผู้สูงอายุส่งวัดพระธาตุหริภุญชัย
ปั๊มสามทหาร อนุสาวรีย์ปั๊มน้ำมันสามทหาร ซึ่งมีที่เดียวในประเทศไทย
ผ้าไหมยกดอกลำพูน ร้านเจริญพร บุญเกียรติ เล่าเรื่องผ้ายกดอก เครื่องแต่งกายประจำถิ่นเชื่อมโยงไปสู่เรื่องสาวงามและการสนับสนุนสาวงามเข้าสู่การประกวดในเวทีต่างๆในภาคเหนือ
ร้านใหม่กาแฟ บ้านนางสาวไทยปี 2497 ต่อจากรุ่นอาภัสรา หงษ์สกุล
บ้านไม้สามหลัง เป็นสถาปัตยกรรมไม้ที่วางแผนพัฒนาเป็นที่พักรับนักท่องเที่ยวในอนาคต
ชุมชนมุสลิม การอยู่ร่วมกันระหว่างวัดพุทธและมุสลิม ในรูปแบบพหุสังคม
วัดพระธาตุหริภุญไชย เป็นวัดที่มีเจดีย์แบบล้านนา ภายในบรรจุพระเกศบรมธาตุ ภายในวิหารประดิษฐานพระปฏิมาใหญ่ ก่ออิฐถือปูน ลงรักปิดทอง บนแท่นแก้วรวม 3 องค์ และมีพระพุทธ ปฏิมาหล่อโลหะขนาดกลางสมัยเชียงแสน ชั้นต้น และชั้นกลางอีกหลายองค์ ซุ้มประตูก่อด้วยอิฐเป็นศิลปะสมัยอาณาจักรศรีวิชัย หน้าประตูมีสิงห์เฝ้า1คู่ ปั้นขึ้นในสมัยพระเจ้าอาทิตยราช ภายในวัดยังมีโบราณสถานที่สำคัญอีกหลายอย่าง ให้ได้กราบไหว้บูชา อาทิ วิหารพระเจ้าทันใจ,วิหารพระเจ้าองค์แดง,รอยพระพุทธบาทสี่ดวง,วิหารพระนอน สำหรับจุดนี้ได้ออกแบบให้มีกิจกรรมตัดตุงและใส่สวยดอกไม้สำหรับไหว้พระโดยมีพระและกลุ่มผู้สูงอายุเป็นผู้นำทำกิจกรรม
ตลาดขัวมุง เป็นตลาดขายของฝากของที่ระลึกที่เป็นผลิตภัณฑ์เด่นของพื้นที่ เช่น ลูกประคบสมุนไพร ลำไยแปรรูป และ ผ้าทอลำพูน
ก๋วยเตี๋ยวลำไย เป็นจุดที่พานักท่องเที่ยวพักรับประทานอาหารกลางวัน ซึ่งเป็นก๋วยเตี๋ยวสูตรเฉพาะที่มีลำไยอบแห้งเป็นเครื่องเคียง
วัดต้นแก้ว จุดนี้ต้องการให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ชาวยองหรือชาวไตลื้อที่มีประวัติศาสตร์ถูกกวาดต้อนมาจากสิบสองปันนาในสมัยพระเจ้ากาวิละ(ประมาณปีพ.ศ.2348) ปัจจุบันยังคงสามารถรักษาอัตลักษณ์ของตนเองเอาไว้ได้ทั้งเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ภาษา และวิถีชีวิต
วัดช้างรอง เป็นวัดที่สร้างขึ้นสมัยพระนางจามเทวี(ประมาณปีพ.ศ.1542) ตำนานวัดมีความเกี่ยวข้องกับช้างของพระนางชื่อ “ผู้ก่ำงาเขียว”ที่ควาญช้างนำมาอาบน้ำบริเวณท่านาง และมักแผดเสียงร้องดังกังวาน บริเวณนี้มีประตูสำคัญคือประตูท่านาง
วัดหัวขัว เป็นวัดเก่าแก่ของเจ้านายเมืองยองที่ถูกกวาดต้อนมาอยู่ที่บริเวณนี้พร้อมชาวเมืองประมาณ 10,000 คน ก่อนจะมาเป็นวัดหัวขัวเดิมคือวัดหัวข่วงนางเหลียว อยู่ห่างบริเวณวัดหัวขัวไปทางเหนือประมาณ200 เมตร จำลองมาจากวัดหัวข่วงราชฐานในเมืองยอง ถูกน้ำแม่กวงเซาะตลิ่งพัง จึงย้ายมาอยู่ในบริเวณปัจจุบันในปีพ.ศ.2357
ประตูช้างสี เป็นประตูเมืองลำพูนด้านทิศเหนือ ส่วนฐานสูงประมาณ3เมตรก่อด้วยศิลาแลง ด้านบนก่อเป็นรูปคล้ายใบเสมา กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อ พ.ศ.2478
หนองสะเน้า เป็นบริเวณที่มีตำนานเล่าว่าขุนหลวงวิลังคะซึ่งครองเมืองเชียงใหม่ขณะนั้นเป็นผู้มีคาถาอาคม หมายปองเจ้าแม่จามเทวี เกิดการท้าทายว่าถ้าสามารถขว้างสะเน้าซึ่งหมายถึงหอกมาถึงใจกลางเมืองหริภุญชัยได้พระนางจะรับรัก(โดยพระนางแอบทำลายอาคมด้วยการนำซิ่นมาทำเป็นหมอนอิงและผ้าโพกหัวรวมทั้งถวายหมากพลูที่ป้ายเลือดประจำเดือนแก่ขุนหลวงฯ) สะเน้าที่ขว้างมาจากดอยสุเทพได้มาตกยังบริเวณนี้เฉียดใจกลางเมืองไปไม่มาก พระนางจึงรอดพ้นจากการตกเป็นชายาของขุนหลวงฯ ชาวบ้านจึงเรียกบริเวณนี้ว่าหนองสะเน้า
วัดมหาวัน วัดนี้เคยเป็นพระอารามหลวงของพระนางจามเทวี มีพระพุทธสิกขิหรือพระศิลาดำที่พระนางจามเทวีอัญเชิญมาจากเมืองละโว้ คนในพื้นที่เรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่าพระรอดหลวงหรือพระรอดลำพูน เป็นแบบพิมพ์ในการทำพระรอดมหาวันอันลือชื่อ
วัดจามเทวี เป็นวัดที่พระโอรสของพระนางจามเทวีสร้างขึ้นเพื่อถวายพระเพลิงพระนาง มีเจดีย์สี่เหลี่ยมแบบพุทธคยาประเทศอินเดีย แต่ละด้านมีพระพุทธรูปยืนปางประทานพรอยู่เป็นชั้นๆซึ่งเป้นศิลปกรรมแบบลพบุรี ภายในเจดีย์บรรจุอัฐิของพระนางจามเทวี
กาดหนองดอก เป็นตลาดเก่าแก่ สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี2510 จำหน่ายสินค้าทั้งของสดของแห้ง และอาหารสำเร็จรูปซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลผลิตและอาหารในท้องถิ่น
ลานอนุสาวรีย์เจ้าแม่จามเทวี ตั้งอยู่บริเวณสวนสาธารณะหนองจอก เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระนางจามเทวีปฐมกษัตริย์แห่งหริภุญชัย ซึ่งเป็นผู้นำพุทธศาสนามาเผยแผ่ในดินแดนแถบนี้จนรุ่งเรือง สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ. 2525
วัดพระยืน ตั้งอยู่ในเขตตำบลเวียงยอง เดิมชื่อวัดพฤทธมหาสถาน สร้างโดยพระเจ้าธรรมมิกราชกษัตริย์ราชวงหริภุญชัยเมื่อประมาณปีพ.ศ.1606-1611 โบราณสถานสำคัญคือพระเจดีย์พระยืนซึ่งเป็นศิลปกรรมแบบพม่า เมืองพุกาม นอกจากนี้ยังมีพระวิหารสร้างเมื่อปีพ.ศ.1209 สมัยพระนางเจ้าจามเทวี
กู่ช้างกู่ม้า เป็นสุสานของช้างศึกและม้าศึกคู่บารมีของพระนางเจ้าจามเทวี ช้างสำคัญคือ “ปู่ก่ำงาเขียว” ซึ่งเป็นช้างคู่บารมีของพระนาง ซึ่งเมื่อล้มลง(ตาย)ได้มีการสร้างเจดีย์ทรงสูงคลอบไว้ โดยให้ปลายงาชี้ขึ้นฟ้า เนื่องจากมีอิทธิฤทธิ์เชื่อว่าหากปลายงาชี้ไปทางทิศไหนจะทำให้เกิดภัยพิบัติผุ้คนล้มตาย
เส้นทางที่ออกแบบนี้ใช้เวลาทั้งภาคเช้าและภาคบ่าย โดยมีไกค์ชุมชนหรือผู้รู้ประจำอยู่ในแต่ละจุดเพื่อให้ข้อมูลแก่นักท่องเที่ยว ในอนาคตมีแผนขยายไปสู่เรื่องการทำโฮมสเตย์พักค้างคืน และกิจกรรมไนค์ทัวร์ รวมถึงการขายโปรแกรมท่องเที่ยวในช่วงที่มีเทศกาลสำคัญในพื้นที่
ในส่วนของผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีในขณะนี้คือลำไยแปรรูป ผ้าฝ้ายและผ้าไหมยกดอกลำพูน ซึ่งบางส่วนวางจำหน่ายที่ตลาดขัวมุง ตั้งอยู่ริมน้ำแม่กวงฝั่งตรงข้ามกับวัดพระธาตุหริภุญชัย โดยพ่อค้าแม่ค้าเป็นคนในพื้นที่เป็นหลัก ทางคณะทำงานมีแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์จากลำไยเพิ่มเติมเพราะปัจจุบันนำมาจากอำเภอรอบนอก รวมถึงการทำเสื้อและของที่ระลึกโดยใช้ภาพวาดจากกำแพงวัดธงสัจจะมาต่อยอดใส่ลงในผลิตภัณฑ์ เช่น เสื้อยืด เป็นต้น
นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในขณะนี้ เข้ามาผ่านช่องทางบริษัทประชารัฐสามัคคี และ วัด ทั้งวัดธงสัจจะและวัดพระธาตุหริภุญชัย ระยะต่อไปคือการวางแผนเชิงรุก เลือกกลุ่มเป้าหมายหลักให้ชัดมากขึ้น และหาวิธีการเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายโดยใช้ช่องทางต่างๆที่เหมาะสมกับแต่ละกลุ่ม
กลไกการขับเคลื่อนงาน เป็นการทำงานร่วมกัน 4 ส่วนหลักๆ คือ 1)ชาวบ้าน 17 ชุมชนของตำบลในเมืองและ 1ชุมชนของตำบลเวียงยอง 2) สภาองค์กรชุมชนตำบลในเมืองซึ่งทำหน้าที่ประสานงาน บริหารจัดการ พัฒนาศักยภาพชุมชนและอื่นๆ มีคณะทำงานวงเล็กที่ทำหน้าที่ประสานงานประมาณ 4-5คน 3)บริษัทประชารัฐรักสามัคคีจังหวัดลำพูนดูแลเรื่องการตลาด จัดหา ส่งต่อนักท่องเที่ยวผ่านบริษัทแสตนดาร์ดทัวร์และอื่นๆ 4)เทศบาลเมืองลำพูนและองค์การบริหารส่วนจังหวัด โดยแกนหลักในการขับเคลื่อนขณะนี้คือชุมชนซึ่งเริ่มต้นที่ท่าขามบ้านฮ้อมและสภาองค์กรชุมชนตำบลในเมือง
ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทประชารัฐรักสามัคคีและเทศบาลเมืองลำพูนมีจุดแข็งในสองสามเรื่องที่สามารถเกื้อหนุนชุมชนได้คือ มีบุคลากรและงบประมาณ มีต้นทุนประสบการณ์ในการจัดการท่องเที่ยวที่สัมพันธ์กับชุมชนในพื้นที่มาก่อน รวมถึงการศึกษาประวัติศาสตร์และพัฒนามัคคุเทศก์
ในส่วนของเทศบาลนั้น ปัจจุบันมีการจัดรับคณะศึกษาดูงานเป็นครั้งๆ ซึ่งในบางครั้งมีการประสานส่งต่อมาที่ชุมชนให้เป็นผู้จัดอีกทอดหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีการจัดท่องเที่ยวในรูปแบบรถรางบริการนำเที่ยวลำพูน ซึ่งมีจุดจอดให้บริการอยู่ที่ลานหน้าวัดพระธาตุหริภุญชัย เริ่มต้นและสิ้นสุดที่วัดแห่งนี้ โดยเส้นทางการท่องเที่ยวประกอบด้วยจุดสำคัญในตัวเมืองลำพูนจำนวน 11 จุดคือ วัดพระธาตุหริภุญชัย พิพิธภัณฑ์เมืองลำพูน คุ้มเจ้ายอดเรือน อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี วัดจามเทวี วัดมหาวัน วัดพระคงฤาษี วัดสันป่ายางหลวง กู่ช้างกู่ม้า วัดพระยืน วัดต้นแก้ว ใช้เวลาวิ่งปราณ 3 ชั่วโมง วันละ 2 รอบ คือ รอบเช้า 9.30 น. รอบบ่าย 13.30 น. ค่าบริการ ผู้ใหญ่ 50 บาท เด็ก 20 บาท หากมาเป็นหมู่คณะต้องการจะเหมารอบ คิดรอบละ 1,000 บาท กลุ่มเป้าหมายคือประชาชนทั่วไป และหมู่คณะจากที่ต่างๆที่ประสานเทศบาลให้จัดการท่องเที่ยวลักษณะ “กรู๊ปทัวร์”เป็นครั้งๆ เช่น กลุ่มดูงาน เป็นต้น
บทสรุปและข้อเสนอแนะ
การท่องเที่ยวชุมชนไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหนจุดประสงค์หลักก็เพื่อรักษาสืบทอดสิ่งดี และนำมาต่อยอดสร้างเศรษฐกิจ เสน่ห์ของการท่องเที่ยวลักษณะนี้คืออัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ สิ่งสำคัญคือคุณค่าและมูลค่าต้องเกิดขึ้นพร้อมกัน ชาวบ้านในพื้นที่และกลุ่มต้องมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากเดิม ซึ่งช่องทางรายได้ขณะนี้ที่เป็นไปได้คือการขายโปรแกรมท่องเที่ยวที่มีทั้งสองแบบเพื่อให้เกิดการสั่งสมประสบการณ์ การจัดสรรรายได้ออกเป็นหลายส่วน กระจายผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นให้เป็นธรรม คือ ไกค์ชุมชน/ผู้รู้ เจ้าของจักรยาน(ค่าเช่าวันละ50บ.) คนทำอาหาร ของฝาก/ของที่ระลึก ค่าบริหารจัดการซึ่งอยู่ในรูปของกองทุนกลาง โดยที่ขณะนี้ระบบยังไม่ชัดเจนนักเนื่องจากอยู่ในช่วงริเริ่ม คือมีโอกาสรับทัวร์ใหญ่เพียง1ครั้ง แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นขณะนี้คือการที่คณะทำงาน มองเห็นสิ่งดีๆที่ตนเองมี และพยายามนำมาร้อยเรียง ซึ่งอาจยังไม่ปะติดปะต่อนักหรือเรียกได้ว่ายังไม่สามารถนำจุดแข็งที่มีขึ้นมาทำให้มีความร่วมสมัยน่าสนใจมากขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากประสบการณ์ของกลุ่มแกนหลักยังน้อย ยังคงจำเป็นที่จะต้องได้รับการสนับสนุนกระบวนการอีกหลายเรื่อง ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และ ปลายน้ำ
ต้นน้ำคือเรื่องของการเสริมศักยภาพคณะทำงานให้สามารถจัดทำแผนธุรกิจและใช้แผนนั้นเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนร่วมกันได้จริง รวมทั้งเรื่องการบริหารจัดการการเงิน องค์ความรู้สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการจัดการท่องเที่ยวชุมชนเชิงวัฒนธรรม ให้แก่ชุมชนและสภาองค์กรชุมชนตำบลในเมือง
กลางน้ำเป็นเรื่องการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ ออกแบบการท่องเที่ยวอย่างน้อยสองสามรูปแบบเพื่อเป็นทางเลือกให้นักท่องเที่ยว โดยอาจเชื่อมโยงกับภาคีที่ทำเรื่องนี้อยู่เช่นรถรางเทศบาล พื้นที่ท่องเที่ยวชุมชนในเขตรอบนอก ได้แก่ ประตูป่า เวียงยอง เหมืองหง่า บ้านธิ ทาสบเส้า การพัฒนากิจกรรมที่น่าสนใจมีชีวิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความร่วมสมัยแต่มีกลิ่นอายเฉพาะอัตลักษณ์ของท้องถิ่น ใช้ได้ในวิถีชีวิตประจำวัน ทั้งอาหารและผลิตภัณฑ์อื่น เช่น ความคิดเรื่องนำภาพวาดวิถีชีวิตของชุมชนที่กำแพงรั้ววัดธงสัจจะมาสกรีนลงเสื้อยืดขายเป็นสินค้าที่ระลึกแก่นักท่องเที่ยว ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยาก และน่าทดลองทำ การกำหนดกลุ่มเป้าหมายและออกแบบสื่อ/พัฒนาช่องทางการสื่อสารเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ
ปลายน้ำ เป็นการเปิดตัวสู่ตลาดในวาระต่างๆที่สัมพันธ์กับภาคีเครือข่ายสนับสนุนทั้งเทศบาล บริษัทประชารัฐรักสามัคคีจังหวัดลำพูน ปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย เช่น การสร้างคอนเน็คชั่นกับโรงแรมที่พักในพื้นที่เพื่อขายแพคเกจท่องเที่ยว และอื่นๆ
การท่องเที่ยวชุมชนของที่นี่ ยังมีหลายเรื่องที่ต้องพัฒนาและจัดระบบ คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าการมีทีม มีไอเดียที่ดี มีเงิน มีพี่เลี้ยงและภาคีสนับสนุน ถือเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จะทำให้การท่องเที่ยวชุมชนเชิงวัฒนธรรม ของตำบลในเมือง อำเมือง จังหวัดลำพูน สามารถก้าวเข้าใกล้ความสำเร็จได้มากขึ้น