ตำบลวังลึก อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ห่างจากอำเภอสามชุกไปทางทิศตะวันออกประมาณ 11 กิโลเมตร ห่างจากศาลากลางจังหวัดสุพรรณบุรีไปทางทิศเหนือประมาณ 40 กิโลเมตร มีพื้นที่ 43,750 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ทำการเกษตร 29,248 ไร่ เป็นที่อยู่อาศัย วัด โรงเรียน 15,246 ไร่ และที่สาธารณะประโยชน์ 744 ไร่ (ที่สำรวจแล้ว)
ตำบลวังลึก เป็นชุมชนที่อยู่ไกลตัวเมืองและมีสภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การทำการเกษตร มีคลองชลประทานและถนนหลายสายตัดผ่านในพื้นที่ เชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมกับตำบลอื่นๆ มีการรักษาวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่น ตามวิถีชีวิตของคนในตำบลสังคมชนบทและชุมชน ทำให้ชุมชนน่าอยู่อาศัย มีชีวิตชีวาอันเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนในอดีตที่ยังคงรักษาไว้จวบจนมาถึงปัจจุบัน อาชีพของคนในตำบล ได้แก่ เกษตรกรรม ทำนา ทำไร่ ทำสวน รับราชการ พนักงานบริษัท ค้าขาย และรับจ้าง ร้อยมาลัย ฯลฯ
การขับเคลื่อนงานโดยกลุ่มองค์กรในชุมชนต่างๆ ในพื้นที่ตำบลทั้ง 15 หมู่บ้าน ได้รวมตัวกันจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลวังลึก เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2555 มีการแบ่งบทบาทหน้าที่ในการทำงาน เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนงานพัฒนาในพื้นที่ตำบล โดยใช้เป็นพื้นที่กลางในการวิเคราะห์ปัญหา และหาแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกันในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับคนตำบลวังลึก นอกจากนี้องค์การบริหารส่วนตำบลวังลึกยังให้สถานที่ในการประชุมร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มองค์กรตำบลวังลึกเป็นประจำทุกเดือน และได้ร่วมกันวิเคราะห์ศักยภาพของตำบลวังลึก เพื่อจัดทำเป็นแผนงาน
จากสถานการณ์ปัญหาโดยเฉพาะเรื่องที่อยู่อาศัยจึงเป็นปัญหาหลักของผู้ที่มีรายได้น้อยและยากจน จึงทำให้ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน ทั้ง 15 หมู่บ้าน มาร่วมประชุมเพื่อวิเคราะห์จัดทำแผนพัฒนาตำบล โดยใช้สภาองค์กรชุมชนตำบลวังลึก เป็นเวทีกลางในการปรึกษาหารือและจัดทำแผนในการแก้ไขปัญหา รวมทั้งแผนพัฒนาด้านอื่นๆ อาทิ ด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
การประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบล
การสำรวจข้อมูลทั้งตำบล พบว่า มีปัญหาเร่งด่วนเรื่องที่อยู่อาศัยทรุดโทรม ที่ต้องหาวิธีการแก้ไขปัญหา โดยได้มีการจัดทำโครงการต่างๆ เช่น โครงการบ้านเทิดไท้ฯ ที่ อบต.วังลึก สนับสนุนงบประมาณครัวเรือนละ 100,000 บาท จำนวน 5 ครัวเรือน คือ หมู่ที่ 1 บ้านนายณรงค์ เข็มเพ็ชร หมู่ที่ 3 บ้านนายสุบิน ปิ่นทอง หมู่ที่ 6 บ้านนางเขียน มะโหฬาร หมู่ที่ 8 บ้านนายธานี พุ่มศรีทอง และหมู่ที่ 11 บ้านนายสาย เผือกทอง โดยการสนับสนุนงบประมาณนั้นใช้เป็นค่าวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมสร้างบ้าน ส่วนค่าแรงงานก็ร่วมด้วยช่วยกันระหว่างผู้นำในชุมชน กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำจิตอาสาในพื้นที่หมู่บ้าน/ตำบล
ทั้งนี้ ยังมีบ้านทรุดโทรมที่มีผู้เดือดร้อนอยู่อีกจำนวนหนึ่ง จึงได้มีการทำโครงการบ้านขยะร่วมกับฝ่ายปกครอง อำเภอสามชุก จำนวน 1 หลัง คือ บ้านนายสายชล ทับแสงศรี หมู่ที่ 9 โดยการนำขยะไปขายแล้วนำเงินมาเป็นค่าวัสดุ และค่าแรง โดยได้เงินจากการขายขยะ (จำนวน 3 รอบ) และบริจาค ยอดเงิน 62,000 บาท
บ้านนายสายชล ทับแสงศรี
วิธีดำเนินการ เริ่มจากรวบรวมขยะในชุมชนไปจัดทำเป็นพุ่มผ้าป่าขยะ นำไปรวมที่ส่วนกลาง (วัดวังหิน ต.ย่านยาว) โดยอำเภอสามชุกนำขยะของทุกตำบลไปขาย นำเงินมาแบ่งให้แต่ละตำบล ประมาณ 27,753 บาท พร้อมกับวัสดุอุปกรณ์ที่มีผู้บริจาค มีการคัดเลือกบ้านที่เดือดร้อนตำบลละหนึ่งหลัง ในส่วนของตำบลวังลึกได้คัดเลือกบ้านของนายสายชล ทับแสงศรี ครอบครัวนี้มีผู้อาศัยจำนวน 3 ราย คือ นายสายชล ทับแสงศรี นายชะลอ ทับแสงศรี (พ่อ) นางประชวน รุ่งเรือง (แม่ พิการผู้ป่วยติดเตียง) จำนวนเงินที่ได้รับมาไม่เพียงพอต่อการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ ทางผู้นำชุมชนในตำบลวังลึกได้ประชุม และได้ข้อสรุปขอรับบริจาค ขยะที่สามารถขายได้จากแต่ละหมู่บ้าน เพื่อนำไปขายเพิ่มอีก 2 รอบ ได้ยอดเงินรวม 20,025 บาท เมื่อรวมกับยอดบริจาคเพิ่มเติมอีกจำนวน 14,222 บาท ทำให้มีงบประมาณในการสร้างบ้านให้ผู้ที่เดือดร้อนทั้งสิ้น 62,000 บาท สรุปค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง จำนวน 53,641 บาท ส่วนที่เหลือมอบให้กับเจ้าของบ้านนำไปเป็นใช้จ่ายในการดูแลแม่พิการผู้ป่วยติดเตียงต่อไป
จากการสำรวจและจัดเก็บข้อมูลผู้เดือดร้อน ผู้ยากจน/ยากไร้ มีปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยสภาพทรุดโทรมมากกว่า 30 ครัวเรือน และยังมีแผนที่จะสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อนเพิ่มเติม ซึ่งในปี 2562 – 2563 สภาองค์กรชุมชนตำบลวังลึก จะดำเนินการบรรจุเป็นแผนพัฒนาตำบลของสภาองค์กรชุมชน เพื่อเสนอขอรับการสนับสนุนจากภาคีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ขณะเดียวกันมีการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนอีกหลายมิติ เช่น การจัดสวัสดิการของชุมชน การจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาระบบเศรษฐกิจ ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพชุมชนให้มีขีดความสามารถด้านการพัฒนาและจัดการตนเองได้ในอนาคต
ข้อมูล/เรียบเรียง : นายสมสกุล ตันวิเชียรศรี
โทร : 063-914-9565