โครงการบ้านมั่นคง เป็นโครงการที่แก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัยของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง กลุ่มบ้านเช่า หรืออาศัยผู้อื่นอยู่ รวมถึงผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไฟไหม้ ไล่รื้อ การพัฒนาจากโครงการของรัฐ โดยผู้เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยมารวมกลุ่มกัน นำปัญหาของชุมชนมาวิเคราะห์และจัดลำดับความสำคัญของปัญหา แล้วจึงจัดตั้งกลุ่ม ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปแบบกลุ่มออมทรัพย์ หรือกลุ่มสหกรณ์ เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนดังกล่าว โดยมีคณะกรรมการในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของกลุ่มนั้นๆ ตามบริบทของพื้นที่
ชุมชนปากแพรก อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ได้รวมตัวกันของกลุ่มผู้เดือดร้อนในเรื่องที่อยู่อาศัยโครงการบ้านปากแพรกเดิม เช่น กลุ่มชุมชนสามัคคี ซึ่งเป็นกลุ่มผู้เดือดร้อนที่ได้ทำการลงทะเบียน สย.7 เพื่อแก้ไขปัญหาไม่มีที่อยู่อาศัย ได้มีการยกเลิกลุ่มไปเนื่องจากการบริหารงานของผู้นำที่ไม่โปร่งใส และกลุ่มรวมใจ ผู้เดือดร้อนที่ถูกไล่รื้อจากเทศบาลเพื่อสร้างสนามกีฬา และครอบครัวขยาย บ้านเช่า โดยได้ดำเนินการสำรวจผู้เดือดร้อนทั้งเมือง แต่เนื่องจากไม่สามารถจัดหาที่ดินเพื่อรองรับกลุ่มผู้เดือดร้อนดังกล่าวได้ จึงทำให้โครงการหยุดไปช่วงหนึ่ง
สมาชิกในโครงการบ้านมั่นคงชุมชนปากแพรกคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า “ไม่มีที่ดินรองรับต่อจากแปลงที่ดินที่ไปต่อสู้ เนื่องจากพื้นที่ในจังหวัดกาญจนบุรี ส่วนใหญ่เป็นที่ดินธนารักษ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ดินที่หน่วยงานทหารขอใช้เพื่อซ้อมรบ และที่ดินที่จะสามารถใช้ได้ก็ถูกนายทุนครอบครองพื้นที่ ส่วนที่เหลือก็เป็นการเช่าโดยปัจเจกของผู้เดือดร้อนที่เข้าถึงการขอเช่าที่กับทางธนารักษ์ได้”
ต่อมาในปี 2561 ได้มีการฟื้นฟูโครงการบ้านมั่นคงปากแพรกขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง จึงเป็นความหวังใหม่ของกลุ่มโครงการบ้านปากแพรกเดิม ที่จะได้รับการแก้ไขปัญหาในเรื่องที่อยู่อาศัยของตนเอง โดยใช้ที่ดินของรัฐเป็นพื้นที่ในการดำเนินการ นั่นคือ ที่ดินราชพัสดุ ซึ่งอยู่ในความดูแลของธนารักษ์พื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี
สาเหตุที่มีการรื้อฟื้นโครงการนี้อีกครั้ง เนื่องจากในพื้นที่ยังมีผู้ด้อยโอกาสเข้าไม่ถึงสวัสดิการของรัฐ และเป็นผู้มีรายได้น้อย จึงรวมตัวกันมาทำโครงการอีกครั้ง โดยผู้เดือดร้อนจากชุมชนปากแพรกและชุมชนสามัคคี เพื่อดำเนินการโครงการบ้านมั่นคงตามนโยบายของรัฐ แต่ในครั้งนี้ เครือข่ายบ้านมั่นคงจังหวัดกาญจนบุรี ได้หารือกับหน่วยงานในพื้นที่คือเทศบาลตำบลปากแพรก เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา และได้รับความร่วมมือจากท่านนายกเทศมนตรีตำบลปากแพรก คือนายปราโมทย์ อุ่นจิตสกุล ได้ให้การสนับสนุนบุคลากรทางเทศบาลในการให้คำแนะนำ และร่วมแก้ไขปัญหากับชาวบ้าน จนปัจจุบันได้เช่าที่ดินกับทางธนารักษ์พื้นที่ แต่กลุ่มผู้เดือดร้อนกลุ่มนี้ต้องจ่ายค่าเช่าที่ดินกับธนารักษ์ที่ทางกลุ่มสามัคคีค้างค่าเช่าเป็นเวลา 3 ปี โดยกลุ่มร่วมกันจ่ายและได้รับความอนุเคราะห์จากนายกเทศมนตรี ร่วมสนับสนุนงบประมาณในการจ่ายค่าเช่าที่ดินที่คงค้าง เนื่องจากทางกลุ่มขอใช้พื้นที่เดิมที่ทางกลุ่มสามัคคีได้ทำการเช่าไว้เดิม ปัจจุบันพื้นที่อยู่ระหว่างการเสนอขอสินเชื่อกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) พอช. และหน่วยงานท้องถิ่นยังได้ส่งบุคลากรกองช่างมาร่วมออกแบบการดำเนินงานในพื้นที่อีกด้วย เพื่อผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาคนจนผู้มีรายได้น้อยให้มีที่อยู่อาศัย เพราะธนารักษ์พื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีได้กล่าวว่า “ถ้าพื้นที่ปากแพรกไม่เกิดโครงการบ้านมั่นคงในที่ดินธนารักษ์ พื้นที่อื่นในจังหวัดที่ต้องการใช้ที่ดินธนารักษ์จะไม่ดำเนินการให้เช่าที่ดินได้”
ปัจจุบันโครงการฯ ได้ดำเนินการเรื่องเช่าที่ดิน การจัดทำรังวัดขอบเขตพื้นที่ การไถปรับพื้นที่ และจัดทำรังวัดพื้นที่เพื่อแบ่งแปลงจัดให้สมาชิกเข้ามาดำเนินการปลูกสร้างบ้าน และอยู่ระหว่างการเสนอขอสินเชื่อจาก พอช.
ลุงชะลอ มั่นมี ผู้ด้อยโอกาสของโครงการฯ กล่าวด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มตลอดเวลาว่า “รู้สึกดีใจมากที่จะได้บ้านอยู่ เพราะบ้านลุงทรุดโทรมมาก ของก็ระเกะระกะไปหมด ลุงก็อยู่ตัวคนเดียว หาเงินจากการเก็บขยะไปวันๆ ไม่รู้จะหาเงินจากที่ไหนมาซ่อมแซมบ้าน ถึงจะมีตังค์ซ่อมแซม ลุงก็ซ่อมไม่ได้ เห็นเขาบอกว่า บ้านลุงจะซ่อมแซมก็ไม่ได้เพราะติดพื้นที่คูเมืองของจังหวัดเขา ดีจริงๆ ที่มีโครงการแบบนี้อยู่ ลุงจะได้มีบ้านอยู่แบบสบายใจซักที ไม่ต้องเสี่ยงว่าบ้านจะล้มใส่ลุงวันไหน อีกอย่างถ้าไม่มีโครงการนี้ ลุงคงไม่มีโอกาสได้อยู่บ้านหลังใหม่แน่ๆ เลย”
ภาพตัวอย่างบ้านของผู้เดือดร้อนที่เข้าร่วมโครงการ
แม้ว่าจะยังไม่ได้สร้างบ้าน แต่ชาวชุมชนโครงการบ้านมั่นคงปากแพรก ยังมีแนวทางหรือความต้องการที่จะพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของตนเองที่นอกเหนือจากเรื่องบ้าน หรือที่เรียกกันว่า การทำ “ที่มากกว่าบ้าน” สมาชิกในชุมชนได้มีส่วนร่วมในการสร้างชุมชนแห่งใหม่ด้วยกัน มีการออกแบบวางผังของชุมชนโดยการขับเคลื่อนของขบวนองค์กรชุมชนและสมาชิกโครงการโดยการหนุนเสริมของธนารักษ์พื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี พอช. เครือข่ายบ้านมั่นคงจังหวัดกาญจนบุรี เทศบาลตำบลปากแพรกเครือข่ายบ้านมั่นคงภาคตะวันตก และได้นำตัวอย่างโครงการรูปธรรมที่ได้ทำการศึกษาดูงานมาปรับใช้ในการออกแบบผังชุมชน
นอกจากกระบวนการมีส่วนร่วมการออกแบบชุมชนแล้ว สมาชิกในกลุ่มได้ดำเนินการเรื่อง “บ้านผู้ยากไร้” เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาร่วมกันของผู้เดือดร้อน โดยสมาชิกจะทำการรวบรวมงบประมาณอุดหนุนที่ได้รับสมทบจากภาครัฐ คนละ 500 บาท มาสมทบในการสร้างบ้านผู้ยากไร้ อีกทั้งยังจัดตั้งกองทุนต่างๆ เพื่อหนุนเสริมคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน เช่น กองทุนรักษาดินรักษาบ้าน ในการดำเนินการเรื่องบ้านกรณีเกิดภัยพิบัติ กองทุนสวัสดิการ ในการดูแลเรื่องเกิด เจ็บ ตาย หรือช่วยเหลือประเด็นต่างๆ ในชุมชน กลุ่ม และสหกรณ์ รวมไปถึงกองทุนเมือง ที่สนับสนุนเรื่องของอาชีพ เป็นต้น
“บ้าน” คือ ความหวังของหลายๆ คนที่อยากมีเป็นของตนเอง โดยเฉพาะคนจนที่ทำได้แต่เพียง “หวัง” แต่การมีอยู่ของโครงการบ้านมั่นคง ทำให้คนจนสามารถเปลี่ยน “ความหวัง” สู่ “ความเป็นจริง” อีกทั้งยังสามารถมีส่วนร่วมในการออกแบบชุมชน พัฒนาคุณภาพชีวิตร่วมกันในชุมชน และช่วยแหลือดูแลกันภายในชุมชน มีการส่งเสริมอาชีพให้กับสมาชิกในชุมชน เกิดกองทุน สวัสดิการในชุมชนเพื่อดูแลและแก้ไขปัญหาภายในชุมชน สร้างชุมชนเข้มแข็งและจัดการตนเอง ลดการพึ่งพาจากภาครัฐ จึงทำให้บ้านมั่นคงปากแพรก อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี จะเป็น “สวรรค์” ของคนจนชาวปากแพรกอย่างแท้จริง
สุริยัณห์ พวงแก้ว