ตำบลหนองแวง เป็นส่วนหนึ่งของ 8 ตำบล ของ อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ ตามที่มีการเล่าสืบต่อกันมาว่า “มีผู้คนจำนวนมากได้เข้ามาอาศัยบริเวณหนองน้ำใหญ่เป็นจำนวนมาก ซึ่งหนองน้ำแห่งนี้ชาวบ้านเรียกกันว่า หนองแวง จึงเป็นที่มาของชื่อของหมู่บ้านและตำบลหนองแวง อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ
ตำบลหนองแวงเป็นตำบลที่ใหญ่ มี 20 หมู่บ้าน 4,358 ครัวเรือน ประชากร 15,162 คน มีแหล่งน้ำลำห้วยไผ่ที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การประกอบอาชีพด้านการเกษตร เช่น ทำนา ทำไร่ เลี้ยงสัตว์
หลังจากฤดูกาลเก็บเกี่ยวประชากรในชุมชนได้มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มอาชีพต่าง ๆ เช่น กลุ่มทอหมวก, ไหมพรม, กลุ่มผลิตมะม่วงนอกฤดู, กลุ่มเลี้ยงแกะ, กลุ่มจักสาน และกลุ่มอาชีพอื่น ๆ อีกมากมายหลายกลุ่มฯ
จากคำบอกเล่าของ ผู้ใหญ่บุญธรรม ดงขาว ผู้ใหญ่บ้านหัวสนาม หมู่ที่ 13 เล่าว่า “เนื่องจากมีผู้อุทิศที่ดินให้เป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ให้กับชุมชน จำนวน 4 ไร่ อยู่ติดกับลำห้วยไผ่ เพื่อให้เป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชน ตอนแรก ได้ให้ชาวบ้านที่ไม่มีที่ดินทำกินเข้าไปใช้ประโยชน์ในการทำการเกษตร แต่ไม่มีผู้ใดเข้าไปใช้ระโยชน์ จึงได้เสนอให้ทางสภาองค์กรชุมชนรับทราบ
ต่อมาสภาองค์กรชุมชนได้มีการประชุมปรึกษาหารือร่วมกับประชาคมหมู่บ้านและได้มีการประสานขอความร่วมมือจากหน่วยงานส่วนราชการเข้าร่วมประชุมด้วย เช่น ปลัดอำเภอ,กำนันฯ ,พัฒนาการอำเภอ เมื่อ 16 พฤษภาคม 2561 เมื่อส่วนราชการของทางอำเภอหนองบัวแดงได้รับทราบและเล็งเห็นความสำคัญ จึงได้มีการส่งเสริมสนับสนุนโดยหน่วยงานที่เข้ามามีบทบาท คือ พัฒนาชุมชนอำเภอหนองบัวแดง ร่วมกับ สภาองค์กรชุมชน ด้วยเริ่มจากการจัดให้มีการประชุมรวมกลุ่มของสมาชิกภายในชุมชน ดำเนินการจัดตั้งกลุ่มชื่อว่า กลุ่มออมสัจจะศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านหัวสนาม และมีการระดมทุนด้วยการออมเงินสัจจะเดือนละ 20 บาท การถือหุ้นๆละ 100 บาทโดยไม่กำหนดว่าสมาชิกจะถือหุ้นคนละเท่าใด (ปัจจุบันได้จดทะเบียนเนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแล้ว)
หลังจากที่ได้ดำเนินงานมาระยะหนึ่งจึงได้มีการก่อสร้างอาคารหลังแรกโดยการร่วมแรงร่วมใจของสมาชิกในการบริจาควัสดุอุปกรณ์และแรงงานในการก่อสร้างโดยไม่ต้องใช้งบประมาณใด ๆ
เมื่อทางรัฐบาลได้มีนโยบาย โครงการสนับสนุบงบประมาณไทยนิยมยั่งยืน จำนวนเงิน 200,000 บาท จึงได้จัดทำโครงการเสนอของบปประมาณดังกล่าวมาก่อตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงจนถึงปัจจุบัน”
กิจกรรมที่ดำเนินการของศูนย์เรียนรู้ชุมชนฯแห่งนี้ มีทั้งการขยายพันธุ์พืชต่าง ๆ เช่น มะม่วง ฝรั่ง มะขามเปรี้ยวยักษ์ มะนาว เป็นต้น มีการเลี้ยงปลาในนาข้าว การผลิตปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ ฮอร์โมน สารขับไล่แมลงชีวภาพ การผลิตข้าว มะลิ 105 อินทรีย์ และ มะพร้าวน้ำหอม รวมทั้งมีการเลี้ยงสัตว์ด้วย
นายประยูร ไชยแสง ปราชญ์ประจำศูนย์เรียนรู้ฯ ได้กล่าวว่า ขณะนี้กำลังจะทดลองปลูกผักอินทรีย์ โดย การก่ออิฐบล็อกทำเป็นแปลงสี่เหลี่ยม มีการปลูกผักหลายชนิดโดยแยกออกเป็นแปลงละชนิด และนำสัตว์ เช่น กบ เขียด มาเลี้ยงในแปลงผักด้วย เพื่อเป็นการใช้ธรรมชาติในการดูแลกันเองซึ่งคิดว่าคงยังไม่มีคนทำและยังพูดถึงความมุ่งหวังในการดำเนินงานของศูนย์ฯ ว่า จากการที่มีโอกาสศึกษาดูงานในสถานที่ต่าง ๆ ที่ประสบความสำเร็จ ทำให้ได้ทราบถึงสภาพปัญหาและเห็นความสำเร็จของศูนย์เรียนรู้หลาย ๆ แห่ง และได้นำมาปรับใช้กับศูนย์เรียนรู้ชุมชนฯ ของตนเอง มีการเชื่อมโยงเครือข่ายวิสาหกิจกลุ่มต่าง ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้สู่การตลาด และแปรรูปสินค้าการเกษตร นอกจากนั้นยังจะเป็นที่สถานที่ติดต่อประสานงานขององค์กรชุมชน เป็นสถานที่พูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ให้ความรู้และนำสินค้ามาจำหน่ายแก่ผู้มาเยือนหรือนักท่องเที่ยว ก่อให้เกิดรายได้ ทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนดีขึ้น เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างความยั่งยืนต่อการดำรงชีพ ทำให้เกิดเป็นรูปธรรมอีกด้วย”
สถานการณ์ปัจจุบันได้มีการจัดทำแผนพัฒนาของสภาองค์กรชุมชนร่วมกับคณะกรรมการศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเสนอและได้รับความเห็นชอบให้บรรจุไว้ในแผนพัฒนาท้องถิ่นขององค์การบริหารส่วนตำบลหนองแวง เป็นที่เรียบร้อย
สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญของตำบลหนองแวง มีอยู่หลายแห่ง ประกอบด้วย น้ำตกแก่งใหญ่(บ้านห้วยไผ่ใต้) ฝายหนองแวงโมเดล ฝายหินน้อย(บ้านหัวสนาม) เมื่อน้ำเต็มฝายทั้งสองฝายที่จะพัฒนาทำเป็นสถานที่ล่องแพ และยังสามารถเชื่อมต่อกับน้ำตกแก่งใหญ่อีกด้วยและยังมีลำน้ำสะพุงที่กำลังมีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ(บ้านสะพุงเหนือ) เมื่อสร้างเสร็จแล้วก็สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้อีกแห่งหนึ่งของตำบลหนองแวง ด้วย
นายบุญธรรม ดงขาว โทร.098 376 0004
นายประยูร ไชยแสง โทร.082 158 4403