โดย คณะทำงานสภาองค์กรชุมชนตำบลดอนทอง
“สาโท” คำนี้ หลายคนคงคิดถึงเครื่องดื่มมึนเมา หาก “สาโท” ของชาวตำบลดอนทอง เป็นการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีนิยม ที่ทำต่อเนื่องติดต่อกันมานาน เป็นศูนย์รวมจิตใจ ศูนย์รวมกิจกรรม โดยคนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมกันอย่างแข็งขัน สภาองค์กรชุมชนตำบลดอนทอง ถือได้ว่าเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนอนุรักษ์และฟื้นฟูขนบธรรมเนียมประเพณีนี้ให้คงอยู่ต่อไปในตำบลดอนทอง
สภาองค์กรชุมชน มีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน 2551 ตามมาตรา 21 ซึ่งมีภารกิจที่สำคัญมากถึง 12 ภารกิจ โดยข้อที่ 1 ได้ให้ความสำคัญในเรื่องของประเพณีวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งได้ระบุไว้ว่า “ส่งเสริมและสนับสนุนให้สมาชิกองค์กรชุมชนอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณีภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะหรือวัฒนธรรมอันดีของชุมชนและของชาติ” ดังนั้น ประเพณี “สาโท” ของคนตำบลดอนทองต้องได้รับการอนุรักษ์ฟื้นฟูโดยสภาองค์กรชุมชนดอนทองอย่างมีส่วนร่วม ให้ตรงกับบริบทของพื้นที่และตรงตามความต้องการของคนตำบลดอนทอง
สภาองค์กรชุมชนตำบลดอนทอง จัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนกันยายน 2555 มีการอนุรักษ์และฟื้นฟูขนมธรรมเนียมประเพณี “สาโท” ตลอดมา ซึ่งในปี 2561 นี้ สภาฯ ได้มีการสนับสนุนงบประมาณเพื่อเชื่อมโยงหมู่บ้านอื่นเข้าร่วมและสืบสานประเพณี ซึ่งแต่เดิมประเพณีนี้จะมีเฉพาะในหมู่ที่ 8 เท่านั้น ที่จะนำสาโทมาสักการะเจ้าแม่ทองคำ ปีนี้เริ่มที่จะมีการนำสาโทจากหมู่อื่นเข้ามาร่วมทำให้เกิดการร่วมมือกันระหว่างหมู่บ้าน
นายศักดิ์ดา สุภาสูนย์ ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลดอนทอง ได้กล่าวถึงการใช้สภาองค์กรชุมชนเป็นเวทีกลาง ในการดึงแต่ละหมู่บ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมประเพณี “สาโท” ไว้ว่า “ทุกหมู่บ้านมีประเพณีสาโทกันหมด ต่างคนต่างทำตามความสะดวกของแต่ละหมู่บ้าน เราจึงอยากจัดใหญ่ให้เป็นที่ทำกิจกรรมร่วมกันของตำบล โดยจะใช้พื้นที่ของหมู่ 8 จัดกิจกรรมก่อน ใช้การประชุมสภาองค์กรชุมชนเป็นพื้นที่ให้แต่ละหมู่บ้านมาแลกเปลี่ยนแนวทางกัน และมีการดึงหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ โดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนตำบลดอนทองเข้ามามีบทบาทขับเคลื่อนร่วมกันกับเรา”
ภาพการประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลดอนทองเพื่อเตรียมการจัดงานประเพณีสาโท
ประเพณีสาโทจะเริ่มการเคารพสักการะศาลเจ้าแม่ทองคำ ที่มีการสร้างขึ้นมาในตำบลนับ 60 กว่าปีมาแล้ว โดยการเคารพสักการะนั้นมีการนำสาโทมาให้เจ้าแม่ทองคำ กิจกรรมนี้จะจัดขึ้นในทุกวันที่ 16 เมษายนของทุกปี ก่อนหน้าจัดกิจกรรมจะมีการเตรียมงาน มีการแบ่งบทบาทภารกิจของแต่ละหมู่บ้าน ทั้งการเตรียมสถานที่การจัดงาน การประชาสัมพันธ์ การจัดทำสาโท รวมทั้งกิจกรรมต่างๆที่จะเกิดขึ้นในวันงาน
กิจกรรมหลักก่อนวันเริ่มงานประเพณีสาโท คือ การที่ทุกหมู่บ้านมาร่วมกันทำสาโทขึ้น เพื่อการเคารพสักการะเจ้าแม่ทองคำ โดยเริ่มทำจากการนำข้าวเหนียวมาซาวให้สะอาดแล้วแช่ไว้ 1 คืน เสร็จแล้วนำข้าวเหนียวที่แช่ไว้มานึ่งให้สุก ปล่อยไว้ให้เย็น แล้วนำมาล้างน้ำเปล่าให้เป็นเม็ดเพื่อล้างคราบข้าว (ถ้าไม่สุกหรือไม่สะอาด จะทำให้เกิดการเน่าเสียเร็วขึ้น) หลังจากนั้นนำข้าวเหนียวมาคลุกเคล้ากับแป้งที่ผ่านการบดละเอียดเรียบร้อยแล้วคลุกเคล้าให้ทั่ว ต่อมาบรรจุใส่ในภาชนะโดยไม่ต้องใส่น้ำ และหมักไว้ 5 คืน แล้วค่อยเติมน้ำ 6 ลิตร หมักต่ออีกอย่างน้อย 10 วันโดยมีการปิดผาภาชนะให้มิดชิดแต่ไม่เกิน 1 คืน ส่วนการนำไปบรรจุต้องใช้ผ้าขาวบางกรองแล้วใส่ลงในไหหรือถัง เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการ
วันจัดงานประเพณีสาโท เริ่มจากการนำสาโทมาเคารพสักการะศาลเจ้าแม่ทองคำ โดยประชาชนทั้ง 8 หมู่บ้านมาร่วมกันยกสาโทในถังมาตั้งบริเวณรอบๆ ศาลเจ้าแม่ และยกขึ้นไปบนศาลทีละถังจนครบ พร้อมทั้งมีดอกไม้ธูปเทียนในการไหว้เคารพสักการะอีกด้วย หลังจากนั้นมีการรำแก้บน 9 รอบโดยร้องเพลงพื้นบ้านท้องถิ่นประกอบ ถัดมาเป็นการรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุและแจกของให้กับผู้ด้อยโอกาสในตำบล และจบด้วยการรับประทานอาหารเที่ยงร่วมกัน
ภาพการจัดงานประเพณีสาโทของคนตำบลดอนทองอย่างมีส่วนร่วม
การจัดงานประเพณีสาโทของคนตำบลดอนทองครั้งนี้ ทำให้เกิดการอนุรักษ์ฟื้นฟูรักษาวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นอย่างมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนโดยมีการนำสินค้าของชุมชนมาจัดจำหน่ายในวันงาน เกิดการจัดตั้งกองทุนศาลเจ้าแม่ทองคำขึ้น เพื่อเป็นการระดมทุนเพื่อการรักษาประเพณีนี้ให้คงอยู่ต่อไป และเริ่มมีการปลูกฝังให้เยาวชนในพื้นที่เข้ามามีบทบาทในการจัดงานประเพณีสาโทมากยิ่งขึ้น
นายยงค์ยศ นาคอุดม กำนันตำบลดอนทอง (คนที่ 3 จากซ้ายมือ)
นายยงค์ยศ นาคอุดม กำนันตำบลดอนทองและผู้ทรงคุณวุฒิสภาองค์กรชุมชนตำบลดอนทอง ได้กล่าวถึงผลลัพธ์ในการจัดงานครั้งนี้ไว้อย่างเกินความคาดหมายว่า “เราเริ่มจากจุดเล็กๆ เป็นความเชื่อความศรัทธาของคนในท้องถิ่นที่ทำต่อเนื่องกันมา ผลงานที่เกิดขึ้น เราสัมผัสได้ถึงความสุขที่เกิดขึ้นในชุมชน ประเพณีสาโทนี้ ทำให้เกิดความร่วมมือร่วมใจ หวงแหนสิ่งดีๆ ของตำบล เราหวังว่ากองทุนที่เกิดขึ้นจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี แล้วนำไปสู่การต่อยอดทำกิจกรรมให้ดีขึ้นทุกๆ ปี”
ในอนาคตสภาองค์กรชุมชนตำบลดอนทอง หน่วยงานท้องถิ่นและท้องที่ รวมทั้งประชาชน มุ่งเน้นไปที่การนำประเพณีสาโทสู่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม จะมีการแสดงวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น อาหารการกินพื้นบ้าน ภาษาและเพลงท้องถิ่น มีการทำแผนที่ท่องเที่ยวชุมชน และการสร้างโฮมสเตย์ โดยจะใช้เวทีสภาองค์กรชุมชนเป็นเวทีกลางในการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมเรียนรู้ ร่วมกัน ซึ่งนับได้ว่า ประเพณีสาโทนี้ เป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ในการพัฒนาให้ตำบลดอนทองเข้มแข็งได้อย่างแท้จริง