ตำบลยายชา อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ประกอบด้วย 6 หมู่บ้าน จำนวนประชากร 7,958 คน รวม 4,969 ครัวเรือน มีประชากรแฝงเข้ามาใช้แรงงานกว่า 3,949 คน โดยเป็นชาวเมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา ฯลฯ ตำบลนี้มีพี้นที่ 7.485 ตารางกิโลเมตร หรือ 4,678 ไร่ มีลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม พื้นที่ตำบลถูกแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง โดยมีแม่น้ำท่าจีนคั่นกลางระหว่างพื้นที่ ลักษณะดินเป็นดินเหนียวจึงเหมาะแก่การเพาะปลูก ที่สำคัญแหล่งน้ำธรรมชาติจากแม่น้ำท่าจีน ยังไหลหล่อเลี้ยงผู้คนในชุมชนมาอย่างยาวนาน เสมือนสายเลือดใหญ่ของชุมชนตำบลยายชา
การจัดสวัสดิการเพื่อดูแลคนในชุมชน
“ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน” คำกล่าวที่หลายๆ คน พึงระลึกอยู่เสมอ คนตำบลยายชาก็เช่นกัน จึงเป็นที่มาของการก่อตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลยายชา เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2552 สมาชิกแรกตั้งจำนวน 46 คน เงินกองทุน 1,380 บาท บริหารจัดการในรูปแบบคณะกรรมการ จำนวน 14 คน มีที่ปรึกษา 4 คน ปัจจุบันมีสมาชิก 560 คน (สมาชิกสะสม 806 คน) จำนวนเงินสมทบสวัสดิการจากสมาชิกรายปี จากการออมวันละบาท รวมจำนวน 1,709,606 บาท (โดยสมาชิกสมทบรายเดือนๆ ละ 30 บาท) ภาครัฐบาลให้การสมทบ 421,976 บาท โดยผ่านสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และได้รับเงินสมทบจากท้องถิ่น จำนวน 125,920 บาท นอกจากนี้ยังมีผู้ร่วมบริจาคสมทบจำนวน 6,870 บาท มีรายได้จากดอกเบี้ยในแต่ละปี
เงินเหล่านี้ได้นำมาเป็นกองทุนจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิกในชุมชน เพื่อสร้างระบบสวัสดิการชุมชน ส่งเสริมการออม สร้างความสามัคคี ช่วยเหลือและเกื้อกูลกันในชุมชน โดยการจัดสวัสดิการให้แก่คนในชุมชนที่ครอบคลุมตั้งแต่แรกเกิด จนถึงวันสุดท้ายของชีวิต มีการจัดสวัสดิการด้วยกันทั้งหมด 12 ประเภท ได้แก่ การเกิด อุบัติเหตุ เจ็บป่วย เสียชีวิต ทุนการศึกษา การช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส/ยากไร้ ผู้สูงอายุ/ผู้พิการ ช่วยเหลือผู้ติดเชื้อ สนับสนุนกิจกรรมวัฒนธรรมประเพณี สนับสนุนกิจกรรมสาธารณะประโยชน์และสิ่งแวดล้อม ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ และจัดสวัสดิการให้คณะกรรมการที่เป็นจิตอาสาเข้ามาทำงานให้กับกองทุน
ในปีที่ผ่านมากองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลยายชาได้มีการจัดสวัสดิการดูแลสมาชิกในด้านต่างๆ ไปแล้วจำนวน 79 ราย เป็นเงิน 47,800 บาท โดยเป็นการจัดสวัสดิการดูแลสมาชิกที่เจ็บป่วย/รักษาพยาบาล 38 ราย สวัสดิการช่วยค่าทำศพกรณีสมาชิกเสียชีวิต 6 ราย การดูแลคนพิการ 4 ราย ผู้สูงอายุ 4 ราย จัดสวัสดิการด้านการศึกษา 3
จากข้างต้นจะเห็นได้ว่านอกเหนือการจัดสวัสดิการพื้นฐาน อันได้แก่ การดูแลสมาชิกยามเกิด แก่ เจ็บ ตายแล้ว กองทุนสวัสดิการตำบลยายชา ยังได้มีการต่อยอดขยายผลไปสู่การทำกิจกรรมอื่นๆ เพื่อเป็นการช่วยดูแลคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนและสังคมโดยส่วนร่วม อาทิ การดูแลสิ่งแวดล้อม (ดิน น้ำ ขยะ) การช่วยเหลือผู้ประสบภัย เป็นต้น
นางสมภัสสร จีนประชา ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลยายชา เล่าให้ฟังว่า “เราทำเรื่องสวัสดิการชุมชนอยู่แล้ว น่าจะเป็นแกนหลักในการทำงานร่วมแบบบูรณาการโดยการคิดร่วมกัน บริหารจัดการแบบเป็นระบบอีกทั้งยังช่วยให้คนในชุมชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่การดูแลดิน ลดการใช้สารเคมีทางการเกษตรหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ใช้ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ฟาร์มชุมชนตำบลยายชา “ทุ่งธรรมนา” เป็นแหล่งเรียนรู้ต้นแบบ ผลที่ได้รับ คือ มีครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการอย่างน้อย 50 ครัวเรือน มีผักปลอดสารเคมีไว้รับประทาน และมีสุขภาพดีขึ้น”
การดูแลแหล่งน้ำ เป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน ได้ประสานความร่วมมือโดยมีคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการ เข้าร่วมโครงการอบรมความรู้การบำบัดน้ำเสีย มีภาคีความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ถ่ายทอดความรู้ให้กับสมาชิกกองทุนสวัสดิการ และคนในชุมชน ทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการ ทราบถึงวิธีการบำบัดน้ำเสียในครัวเรือนก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ นอกจากนี้ ประชาชนที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำลำคลองยังช่วยกันเฝ้าระวังวัชพืช และจัดเก็บดูแลขยะบริเวณพื้นที่บ้านตนเอง โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการถึง 50 ครัวเรือน
นอกจากนี้ คนในชุมชนตำบลยายชา ยังให้ความสำคัญกับการปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยจะปลูกต้นไม้ในวันสำคัญและเทศกาลต่างๆ อย่างต่อเนื่อง สำหรับภาคีความร่วมมืออื่นๆ ให้การตอบรับเป็นอย่างดี อาทิ การรณรงค์ให้ใช้ถุงผ้าและปิ่นโตในโรงเรียนผู้สูงอายุ ชมรมผู้สูงอายุ และสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชน
กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลยายชา ยังได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับเรื่องการจัดการขยะอีกด้วย เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณขยะสูงขึ้นทุกปี และจากรายงานสถานการณ์ขยะมูลฝอยชุมชนของประเทศไทย ปี 2559 พบว่ามีปริมาณการเกิดขยะรวมกันทั้งประเทศ 27.06 ล้านตันต่อปี เทียบเท่าตึกใบหยก 2 จำนวน 140 ตึก คิดเป็นประมาณ 74,130 ตันต่อวัน เฉลี่ยเป็นปริมาณขยะ 1.14 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ยังไม่รวมขยะตกค้างสะสมที่เพิ่มขึ้นทุกปีไม่ต่ำกว่าปีละ 10 ล้านตัน ในปี พ.ศ. 2557 ปริมาณขยะในตำบลยายชามีปริมาณ 4,217 ตัน ปี พ.ศ. 2559 มีปริมาณ 4,871 ตัน และในปี พ.ศ. 2561 มีปริมาณสูงถึง 5,420 ตัน และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี
นางทัศนันท์ ปัญญาพิพัฒน์กุล กำนันตำบลยายชา และเป็นรองประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลยายชาเล่าให้ฟังว่า “ขยะอินทรีย์ และ ขยะรีไซเคิล เป็นสิ่งที่มีในทุกครัวเรือน หากทำการคัดแยกก่อนทิ้ง จะเปลี่ยนขยะเป็นเงินได้ เป็นการเพิ่มรายได้ และลดปริมาณขยะในเวลาเดียวกัน
นอกจากนี้ ที่ตลาดริมเขื่อน ณ ชุมชนคนยายชา ยังเป็นตลาดที่ช่วยลดขยะ คือเมื่อลูกค้านำภาชนะหรือถุงผ้ามาใส่เองลดให้ 5 บาท เมื่อทานอาหารเสร็จแล้วต้องช่วยจัดเก็บภาชนะไปไว้ที่ที่จัดไว้ให้ อีกทั้งต้องช่วยกันคัดแยกขยะ ขยะเปียกเรานำไปทำปุ๋ย ขยะรีไซเคิลนำกลับมาขายได้
ในขณะเดียวกัน สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครปฐม ยังได้จัดอบรมให้ความรู้เรื่องการทำปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ ภายหลังจากการเข้ารับการฝึกอบรมได้รับผลตอบรับที่ดี สมาชิกกองทุนสวัสดิการและคนในชุมชนมีความตื่นตัว ได้ทำปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ เอาไว้ใช้บำรุงต้นไม้ ที่สำคัญได้คนต้นแบบในการจัดการขยะอีกด้วย ขยายผลสู่กิจกรรมต่างๆ เช่น เกิดร้านค้า 0 บาท โครงการขยะแลกน้ำดื่ม สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้คนในชุมชน ได้รับความร่วมมือจาก บริษัท มิตซูบิชิ อิเลคทริค กันยงวัฒนา มอบเงินสนับสนุนให้จัดทำโครงการจำนวน 1,300,000 บาท และพนักงานมาร่วมทำกิจกรรมการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและการจัดการขยะจำนวน 200 คน
ส่วนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ให้การสนับสนุนบ่อซีเมนต์ ถังดักไขมัน ถังหมักน้ำหมักชีวภาพ มูลค่า 20,000 บาทและชุดความรู้ประกอบการศึกษา การเชื่อมโยงภาคีภาคราชการ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครปฐม ได้มอบศูนย์การเรียนรู้การจัดการขยะแบบครบวงจร พร้อมชุดความรู้สำนักงานพลังงานจังหวัดนครปฐม จัดอบรมให้ความรู้และมอบอุปกรณ์การเผาถ่าน และภาคีท้องถิ่น โดยองค์การบริหารส่วนตำบลยายชา ได้จัดอบรมศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และอำนวยความสะดวกเพื่อให้บรรลุผลได้ด้วยดี
คนในชุมชนตำบลยายชาจึงได้จัดทำข้อตกลงร่วมกัน กำหนดระเบียบ และกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืน เป้าหมายดำเนินงานเรื่องการจัดการขยะให้ครบทั้งตำบล ถนนในตำบลยายชาจะต้องปลอดถังขยะ อีก 5 ปีข้างหน้าขยะในตำบลยายชาต้องลดลงอย่างน้อย 20 % นี่คือสิ่งที่ผู้นำของชุมชนต้องการให้บรรลุผลตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
ด้านการจัดการและฟื้นฟูด้านภัยพิบัติ ในปี พ.ศ. 2554 ชุมชนตำบลยายชา ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมครั้งนั้นเป็นอย่างมาก ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน จึงได้จัดตั้งคณะกรรมการเฝ้าระวังและป้องกันภัยพิบัติ โดยแบ่งเขตการดูแลรับผิดชอบ และประสานขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุ มีการจัดทำแผนป้องกันในกรณีเกิดเหตุภัยพิบัติ กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลยายชา ร่วมเป็นคณะกรรมการเฝ้าระวังภัยพิบัติในชุมชน/สนับสนุนแรงงานในการป้องกันน้ำท่วม เช่น ช่วยกรอกทรายป้องกันน้ำ/ลงพื้นที่สำรวจผู้ได้รับความเดือนร้อนจากภาวะน้ำท่วม/เข้าไปดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพัง และส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปช่วยเหลือ
แม้ว่าที่ผ่านมาดูเหมือนว่ากองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลยายชาจะมีการขยายต่อยอดไปทำเรื่องอื่นๆ ที่เป็นการจัดสวัสดิการหรือดูแลกันและกันในทางสังคมที่นอกเหนือจากเกิด แก่ เจ็บ และตายแล้ว แต่ยังไปไม่ถึงฝันที่วาดหวังไว้เท่าที่ควร โดยเฉพาะในเรื่องการขยายฐานสมาชิกกองทุนให้เต็มพื้นที่เต็มตำบล เนื่องด้วยมีข้อติดขัดจากที่คณะกรรมการมีหลายหน้าที่ หลายตำแหน่งในชุมชน ทำให้การทำงานไม่ต่อเนื่อง เมื่อมีเรื่องใหม่เข้ามาต้องวางงานกองทุนฯ ทำให้การขยายฐานสมาชิกยังไม่เป็นไปตามเป้าที่กำหนดไว้
อย่างไรก็ตาม จากการดำเนินงานที่ผ่านมากองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลยายชาค้นพบว่าแนวทางการพัฒนากองทุนที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนได้นั้น หนึ่ง การทำงานที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ สอง หาคนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน มีเวลา เสียสละเพื่อชุมชน สาม การบริหารจัดการทุนต้องแบ่งสัดส่วนการใช้จ่ายให้ชัดเจน ดังนั้น จึงได้มีการกำหนดแผนการทำงานในอนาคตร่วมกัน อาทิ การสร้างคณะกรรมการที่มาจากสมาชิกที่เป็นคนรุ่นใหม่ๆ ถ่ายทอดการทำงานสนับสนุนให้เข้ามาเรียนรู้งานกองทุนฯ ด้านการจัดสวัสดิการเน้นที่ไม่ใช่ให้ตอนเสียชีวิต แต่เป็นสวัสดิการที่ดูแลกันตอนมีชีวิตอยู่
ขอขอบคุณผู้ให้ข้อมูล :
นางสมภัสสร จีนประชา ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลยายชา
นางทัศนันท์ ปัญญาพิพัฒน์กุล รองประธานกองทุนสวัสดิการชุมชน /กำนันตำบลยายชา
เรียบเรียงโดย: นักสื่อสารจัดการความรู้จังหวัดนครปฐม