หากจะเอ่ยถึงสิ่งบ่งชี้ความเข้มแข็งของภาคประชาชน อาจจะมีนิยามที่หลากหลายและกว้างขวางจนจำแนกไม่หมด และหากจะพิจารณาถึงความเข้มแข็งขององค์กรชุมชน ก็จะมีความคิดเห็นที่หลากหลายตามบริบท มุมมอง หรือประสบการณ์ของผู้ให้นิยามนั่นๆ แตกต่างกันไป
ตำบลปลายพระยา อำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่ ตำบลที่มีขนาดใหญ่ประกอบด้วยหมู่บ้าน 14 หมู่บ้าน มีเนื้อที่ประมาณ 127,179 ไร่ หรือ 203.49 ตารางกิโลเมตร มีประวัติการจัดตั้งเป็นตำบลปลายพระยาแค่ 42 ปี โดยเป็นตำบลหนึ่งใน 4 ตำบลของอำเภอปลายพระยา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของอำเภอ เดิมอยู่ในเขตปกครองของอำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2516 แยกมาขึ้นกับกิ่งอำเภอปลายพระยา และเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2520 ยกฐานะเป็นตำบลปลายพระยา อำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่ และจัดตั้งเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลเมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2539 มีอาณาเขตทิศเหนือและทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอพระแสง อำเภอพนมจังหวัดสุราษฏร์ธานี ทิศใต้ และทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภออ่าวลึกจังหวัดกระบี่ มีจำนวนครัวเรือน 3,342 ครัวเรือน มีประชากร 12,013 คน แยกเป็น ชาย 6,140 คน หญิง 5,873 คน ร้อยละ 99 นับถือศาสนาพุทธ ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพด้านเกษตรกรรมซึ่งเน้นหนักไปทางอาชีพ ด้านการทำสวนปาล์มน้ำมันและสวนยางพาราเป็นอาชีพหลัก นอกนั้นมีการ ค้าขายและอาชีพรับจ้างทั่วไป นอกจากนี้ ประชาชนขององค์การบริหารส่วนส่วนตำบลปลายพระยายังรวมตัวกันเป็นกลุ่มอาชีพเพื่อหารายได้เสริม โดยมีกลุ่มอาชีพดังนี้เช่น กลุ่มชาวนา กลุ่มเลี้ยงสุกร กลุ่มปุ๋ยชีวภาพ กลุ่มผลิตน้ำดื่ม นอกจากนี้ยังมีสหกรณ์นิคม จำนวน 1 แห่ง ได้แก่ สหกรณ์นิคมปากน้ำจำกัด มีโรงงานอุตสาหกรรม ที่ได้รับอนุญาตดำเนินกิจการประกอบการ จำนวน 1 แห่ง ได้แก่ โรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม บริษัทยูนิวานิช จำกัด มีโรงสีในโครงการพระราชดำริ จำนวน 1 โรง และมีแหล่งท่องเที่ยว คือ ถ้ำปราสาทนาฬาคีริง อ่างเก็บน้ำคลองหยา
สภาองค์กรชุมชนกับการพัฒนาคนปลายพระยา
การพัฒนาที่ประชาชนมีสส่วนร่วมจากระดับที่เล็กที่สุด คือจากระดับกลุ่มองค์กร มาสู่ระดับหมู่บ้าน ตำบลและจังหวัด ที่เปิดโอกาสให้คนเล็กคนน้อยในแต่ละหมู่บ้านชุมชน ได้มีบทบาทสำคัญในการร่วมพัฒนาชุมชนท้องถิ่นตามความหลากหลายของวิถีชีวิต วัฒนธรรมและภูมิปัญญาของท้องถิ่น สภาอง๕กรชุมชนตำบลปลายพระยา เกิดจากการรวมตัวร่วมจัดตั้งของกลุ่มองค์กรเครือข่ายระดับตำบล 4 กลุ่ม เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ.2551 เป็นภาองค์กรชุมชนลำดับๆ ต้นของจังหวัดกระบี่ ปัจจุบันมีองค์กรร่วมจัดตั้ง 9 กลุ่มองค์กร/เครือข่าย มีนาย จำเนียร สุกทอง เป็นประธานสภาองค์กรชุมชน
ในระยะเวลาที่ผ่านมา สภาองค์กรชุมชนตำบลปลายพระยา ได้ร่วมกับเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนอำเภอปลายพระยา เพื่อร่วมขับเคลื่อนการแก้ปัญหาที่ดิน กรณีการทับซับซ้อนที่ดินราษฎรและที่ดินรัฐ ร่วมขับเคลื่อนการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการ ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลปลายพระยา ในระยะมีการประสานแผนการพัฒนาและได้รับการสนับสนุนในการศึกษาดูงานพื้นที่ต้นแบบ ณ กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลนครหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จนสามารถจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลปลายพระยาในวันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2553 จำนวนสมาชิกแรกตั้ง 60 คน สมาชิกสะสมถึงปัจจุบัน 3,544 คน จำนวน จากประชากรทั้งตำบล 12,174 คน คิดเป็นร้อยละ 35.94 ของประชากรทั้งหมด มีเงินก่อตั้งกองทุน วันเริ่มแรก 3,200 บาท ปัจจุบันมีจำนวนเงินกองทุนสวัสดิการปัจจุบัน รวม 4,844,086.09 บาท
และในปี 2562 สภาองค์กรชุมชนได้ร่วมกับเครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดกระบี่ ตัวแทนกลุ่มองค์กร เจ้าหน้าที่และผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบลปลายพระยา ในการจัดทำแผนพัฒนาตำบลภาคประชาชน โดยมีการวิเคราะห์ศักยภาพของตำบล พบว่าทุนเดิมและสิ่งดีๆ ที่มีในตำบล ประกอบด้วย กองทุนสวัสดิการชุมชนที่เข้มแข็ง สมาชิกครอบคลุมทั้ง 14 หมู่บ้าน มีผู้นำท้องถิ่น ท้องที่และผู้นำธรรมชาติมีความร่วมมือและมุ่งมั่นพัฒนาตำบล มีทรัพยากรธรรมชาติ มีถ้ำที่สวยงามและที่ดินที่อุดมสมบูรณ์ ปัญหาหรือข้อติดขัดที่เกิดขึ้นในตำบล จะพบว่าปัญหาส่วนใหญ่เกิดจาก ที่ดินทำกินไม่มีเอกสารสิทธิ์/ไม่มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย/ที่ดินราษฎรทับซ้อนที่ดินของเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าคลองพระยา ประกอบกับเส้นทางการขนส่งพืชผลทางการเกษตรไม่สะดวกต่อการขนส่งโดยเฉพาะช่วงฤดูฝนทำให้ไม่สามารถขนส่งได้ โดยเฉพาะจากพื้นที่หมู่ 10 บ้านทะเลหอย ชาวบ้านมีหนี้สิน เนื่องจากครอบครัวส่วนใหญ่ขาดการวางแผนการใช้จ่ายเงินและการสร้างเสริมรายได้ และแหล่งน้ำธรรมชาติไม่ได้รับการดูแล/โรงงานปล่อยน้ำเสียงลงแหล่งน้ำธรรมชาติ รวมถึงเด็ก เยาวชน รับค่านิยมและเลียนแบบตะวันตก มองว่าค่านิยมวัฒนธรรม จารีตประเพณีไทยเป็นเรื่องล้าสมัย จึงนำมาซึ่ง วิสัยทัศน์การพัฒนา “เป็นแหล่งปลูกปาล์มน้ำมันและยางพันธ์ดี ประชาชนและเยาวชนเข้าใจวิถีการพัฒนา สภาองค์กรชุมชนเป็นเครื่องมือปรับองค์ความรู้สู่ตำบลพึ่งตนเอง” ยุทธศาสตร์การพัฒนาตำบล ดังนี้ 1) เสริมสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายองค์กรชุมชน ยึดหลัก ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหา 2) พัฒนาจัดระบบข้อมูลองค์กรชุมชนและศักยภาพพื้นที่ เพื่อจัดทำแผนพัฒนาจากชุมชนรากฐานจนถึงระดับจังหวัด 3) ส่งเสริมและพัฒนา ศักยภาพแกนนำสภาองค์กรชุมชน 4) ส่งเสริมและพัฒนาสภาองค์กรชุมชนให้เป็นของประชาชนทุกคน ทุกกลุ่ม ทุกองค์กร เพื่อให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (องค์กรสาธารณะ) และ 5) ปรับปรุงและพัฒนาระบบข้อมูลและศักยภาพพื้นที่ ให้ครอบคลุมทุกสภาพปัญหา ทุกกลุ่มองค์กรเพื่อสร้างเครือข่ายองค์กรชุมชนที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
สวัสดิการชุมชนนับ 1 จากหมู่บ้าน : ลดความขัดแย้ง
การเติบโตของกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลปลายพระยา นับจากวันก่อตั้งจวบจนปัจจุบันนับรวมเป็นเวลาเกือบ 10 ปี มีการทำงานที่น่าสนใจ โดยนายศุภโชค ทวีสมาน ประธานกองทุน ได้เล่าให้ฟังว่า “การทำงานของกองทุนสวัสดิการให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนทั่วไป โดยเริ่มตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน มีการจัดเวทีทุกหมู่บ้านทั้ง 14 หมู่บ้าน และเปิดโอกาสให้คณะทำงานระดับหมู่บ้านได้พัฒนาระบบการบริหารงานของหมู่บ้าน โดยคณะกรรมการกองทุนเป็นผู้สนับสนุนความรู้และการติดตามประเมินผลการทำงานอย่างน้อยปีละ 2-3 ครั้ง สิ่งที่น่าสนใจของการทำงานกองทุนอยากประการคือ การทำงานที่ผ่านมาผมในฐานะรองนายก อบต.หรือการที่ อบต.มีโครงการอะไร มักได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายปกครอง แต่เรื่องกองทุนสวัสดิการกลับได้รับความร่วมมือจากผู้ใหญ่บ้าน กำนันอย่างดี มีการบรรจุวาระเรื่องกองทุนในการประชุมประจำเดือนของฝ่ายปกครอง และบางโอกาสก็เชิญให้ เจ้าหน้าที่ อบต. และผมในฐานะประธานกองทุน ไปร่วมประชุมชี้แจงการทำงานกองทุนด้วย”
โดยโครงสร้างการทำงานของกองทุน ที่เน้นการสร้างความร่วมมือของผู้นำทั้งฝ่ายท้องถิ่น ท้องที่ การให้บทบาทในการคัดกรองสมาชิกกองทุน การจ่ายสวัสดิการให้กับสมาชิกอย่างทันท่วงที รวมถึงมีการประชุมร่วมของคณะทำงานในระดับหมู่บ้านอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง มีการประชุมคณะกรรมการจ่ายสวัสดิการเดือนละ 2 ครั้ง พร้อมมีการรายงานผลรายรับ-รายจ่ายเป็นประจำทุกเดือน มีการประชุมของกรรมการบริหารกองทุนปีละ 2-3 ครั้ง โดยในแต่ละปีจะมีการจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปีเป็นประจำทุกปี ทำให้กองทุนมีการขยายผลในเชิงปริมาณและคุณภาพอย่างต่อเนื่อง
นางสาวโสภาวรรณ คงปาน ผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคม อบต.ปลายพระยา ได้เล่าให้ฟังว่า “ การทำงานของกองทุนสวัสดิการมีความชัดเจนในการบริหาร ในแต่ละปีจะมีการประชุมคณะทำงานและสมาชิกในระดับหมู่บ้านร่วมกับ ส.อบต.เพื่อจัดทำข้อมูลประกอบการจัดทำแผนพัฒนาของ อบต. ทั้ง 14 หมู่บ้านมีการนำเสนอเรื่องกองทุนสวัสดิการที่ตรงกัน มีคนที่ได้รับประโยชน์ที่ชัดเจน มีการรายงานการทำงานให้ อบต.เป็นประจำทุกปี ทำให้โครงการสมทบกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลปลายพระยา ได้บรรจุในแผนพัฒนาท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่อง และปัจจุบันก็บรรจุในแผนพัฒนาท้องถิ่น พ.ศ.2561-2565 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยในปี 2562 อบต.ปลายพระยา สมทบกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลปลายพระยา จำนวน 900,000 บาท และในปี 2563 จำนวน 1,100,000 บาท” และ สนับสนุนโครงการฝึกอบรมสร้างจิตสำนึกให้กับประชาชนในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จำนวน 30,000 บาท เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตำบลปลายพระยา
จาก 1 สู่การสร้างสวัสดิการที่ยั่งยืน
การพัฒนากองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลปลายพระยา ได้วางระยะการทำงานไว้ 5 ช่วง รวม 15 ปี เพื่อนำไปสู่การสร้างสวัสดิการที่ยั่งยืนของคนในตำบลปลายพระยา โดยในระยะแรก คือระยะการก่อตั้งให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้าใจ การให้ข้อมูลเพื่อสร้างความเป็นเจ้าของรวมกัน ให้น้ำหนักเวลา 1-2 ปี ระยะที่ 2 คือระยะการจัดสวัสดิการชุมชน การขยายสวัสดิการ การเพิ่มสมาชิก ให้ครอบคลุมทั้ง 14 หมู่บ้าน จัดระบบการทำงานในระดับหมู่บ้านทั้ง 14 หมู่บ้าน ช่วงนี้ให้เวลาประมาณ 5 ปี ระยะที่ 3 การเพิ่มประสิทธิภาพของกองทุน พัฒนาระบบการบริหารที่เป็นมืออาชีพ การพัฒนาบุคลากร การให้สวัสดิการที่มากกว่าสมาชิกกองทุน ช่วงปี 2560-2563 เป็นช่วงการเพิ่มประสิทธิภาพของกองทุน ระยะที่ 4 การเสริมความเข้มแข็งกองทุน ให้ความสำคัญกับการบริหารกองทุน บูรณาการกับกองทุนอื่นๆ ในตำบล และระยะที่ 5 การพัฒนาสู่ความยั่งยืนของกองทุนสวัสดิการ สร้างมูลค่าและสร้างสวัสดิการให้กับสมาชิกที่มากกว่าเรื่องพื้นฐาน ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของกองทุน กองทุนเป็นแหล่งทุนในการพัฒนาตำบลได้ทุกมิติ ภายในปี 2568
กองทุนสวัสดิการชุมชน กองทุนที่เป็นองค์กรเพื่อการพัฒนาและดูแลสวัสดิการแก่คนในตำบล ที่กว้างขวางและครอบคลุมบุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่สมาชิกกองทุน ทำให้เกิดการยอมรับและเป็นองค์กรที่ทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิต สานความสัมพันธ์ระหว่างคนในตำบล ระหว่างเครือข่ายแต่ละหมู่บ้าน และการเกื้อกูลกันของคนทุกกลุ่มคน นายศุภโชค ทวีสมาน ประธานกองทุน ได้ยกตัวอย่างการทำงานของกองทุนการที่ให้สวัสดิการแก่ประชาชนทั่วไป ว่า “ปีที่ผ่านมา มีกรณี นักเรียนที่สร้างชื่อเสียงให้กับตำบลปลายพระยา ชนะเลิศแข่งขันชกมวย ในการจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี ก็มีการมอบรางวัลให้ เป็นมอบเป็นทุนการศึกษา อุปกรณ์การเรียน และใบประกาศนียบัตร ทำให้คนในตำบลได้รับรู้รับทราบถึงคนทำความดี เป็นตัวอย่างคนเก่งของตำบล หรือกรณี นายประกอบ สมจัน ซึ่งเป็นคนที่ติดเหล้า ไม่มีงานทำที่แน่นอน ได้อาสามาดูแลป่าชุมชนที่บ้านทะเลหอย มาร่วมกิจกรรมของกองทุนทุกเดือน จนปัจจุบันสามารถเลิกเหล้าได้ ทางกองทุนจึงรับเป็นสมาชิกและมอบประกาศนียบัตรให้ เพื่อแสดงถึงการประพฤติตนที่ดี สามารถลด ละ สิ่งเสพติดได้ และยังมีอีกหลายกรณี ในแต่ละปีจะมีการให้รางวัลที่ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และมติที่ประชุมของกรรมการบริหารกองทุน แต่มีมีการกำหนดรางวัลแล้ว จะมีการประชาสัมพันธ์ไปทุกหมู่บ้าน ทุกโรงเรียน ทุก รพ.สต.เพื่อให้ทราบและเสนอบุคคลมา รวมมีการช่วยเหลือ ไม่น้อยกว่า 100 คน”
หากถามว่าตำบลปลายพระยามีความเข้มแข็งอย่างไร คำตอบคงจะปรากฎอยู่ทุกแห่งที่ของการทำงาน ของความร่วมมือที่มุ่งมั่นเพื่อทุกคนในตำบลที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีการพัฒนาที่สอดคล้องเหมาะสม โดยคนในตำบลเป็นผู้กำหนดและมีบทบาทสำคัญ สู่ความยั่งยืนของการพึ่งตนเองในที่สุด