จากการบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ต่อ ๆ กันมาจากรุ่นต่อรุ่นพบว่า เมื่อประมาณ เกือบสองร้อยปีหรือสองร้อยปีที่แล้ว การตั้งถิ่นฐานของชุมชนดั้งเดิมของคนตำบลหน้าสตนและตำบลเกาะเพชร (แยกมาจากตำบลหน้าสตน พ.ศ. 2523) จะตั้งบ้านเรือนอยู่ริมคลองหัวไทร และบริเวณชายทะเลตลอดแนวของพื้นที่สองตำบลนี้โดยปลูกบ้านกันอยู่เป็นหย่อม ๆ บ้าน หรือแต่ละวงศ์ตระกูลกันไป เพราะยุคก่อนการเดินทางใช้ทางน้ำเป็นหลัก รองลงมาถ้าหน้าแล้งก็อาศัยการเดินทางด้วยเท้าอีกทางหนึ่งด้วย ไม่ว่าไปบ้านญาติ ไปเยี่ยมเพื่อนฝูง หรือไปทำธุระ ส่วนใหญ่แล้วจะไปนอนค้างคืน และมายุคหลัง ๆ ได้พัฒนามาเป็นถนนให้รถวิ่งอย่างสะดวกเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง ซึ่งถนนสายหลักชายทะเลหัวไทร – ปากพนังได้เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2515
ลักษณะสภาพพื้นที่ของสองตำบลเป็นพื้นที่ลาดเอียงท้องกระทะ สูงจากริมคลองหัวไทรแล้วค่อยๆ ลาดต่ำไปทางทิศตะวันออก ซึ่งเป็นทุ่งนาจนถึงใกล้ ๆ ชายทะเล ความกว้างจากริมคลองไปจรดชายทะเลเฉลี่ยประมาณ 4 กิโลเมตร สภาพของดินทั้งสองอำเภอส่วนใหญ่จะเป็นดินเหนียว และจะเป็นช่วงตอนระหว่างทางเดินของสายน้ำที่แยกจากคลองเข้าสู่พื้นที่ทั่ว ๆ ไปเรียกว่า บาง หรือลำมาบ ซึ่งมีอยู่เกือบทุกหมู่บ้าน บางส่วนเป็นเนินดินเตี้ย ๆ จะมีลักษณะเป็นดินร่วนปนทราย เหมาะสำหรับเป็นที่อยู่อาศัย และเหมาะสำหรับปลูกมะพร้าว กล้วย อ้อย และพืชผักสวนครัว ต่าง ๆ เพราะพื้นที่จะสูงกว่าพื้นนา จะเห็นได้ชัดในฤดูน้ำท่วมระดับน้ำจะตื้นกว่าในนา หรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า “บนเนิน” ที่สภาพพื้นดินเป็นลาดดอนทั่ว ๆ ไปก็เพราะโดนกระแสคลื่นซัดในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ดังเช่นที่บ้านเนินหนองหงส์ บ้านเนินหนองมนต์ ตำบลเกาะเพชร โดยพื้นที่เดิมก่อนการทำนานั้นจะเป็นพื้นที่ป่าเป็นส่วนมาก เป็นป่าไม้ใช้สอย ป่าไม้น้ำกร่อยทั่ว ๆ ไป เช่น ป่าจาก ป่าไม้ริมคลอง ป่าไม้แนวรั้วบ้าน ป่าหัวไร่ปลายนา ป่าข้างบ่อล่อป่าตามลำมาบต่าง ๆ แต่ในปัจจุบันพื้นที่ส่วนใหญ่จะถูกขุดเป็นบ่อเลี้ยงกุ้ง และปล่อยเป็นที่รกร้างอยู่จำนวนมากหลังจากประสบปัญหาหลาย ๆ ด้านจากการเลี้ยงกุ้ง และในปัจจุบันกำลังปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกผักและเลี้ยงปลาในบ่อ
บริเวณตำบลเกาะเพชร ในอำเภอหัวไทร เป็นพื้นที่ที่ติดกับชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงเป็นอาชีพหลัก เครื่องมือสำคัญที่ชาวบ้านใช้ในการทำประมงก็มีหลายอย่างได้แก่ เรือ อวน แห เบ็ด ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จะมีขนาดและชนิดแตกต่างกันออกไป ชาวบ้านจะเลือกใช้สิ่งเหล่านี้ชนิดไหนขนาดไหนก็ขึ้นอยู่กับว่าช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีปลาอะไรเยอะ เช่น ถ้าเป็นช่วงที่มีกุ้งเยอะก็จะใช้อวนกุ้ง มีปูเยอะก็ใช้อวนปู ส่วนเรือจะใช้ลำเล็กลำใหญ่ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะออกทะเลไปบริเวณใกล้หรือไกล ถ้าไกลก็ใช้เรือใหญ่ถ้าใกล้ก็ใช้เรือเล็กเพื่อความปลอดภัยในการทำงาน
ปีพ.ศ.2505-ปัจจุบัน ชาวประมงส่วนใหญ่ได้ใช้เรือแจวใช้อวนไนล่อนชั้นเดียว ที่ใช้ด้ายดิบมาถักทอกันเอง หรือใช้พืชบางชนิดเช่นรากลังค่าย เปลือกใยปอมาถักทอ เป็นเครื่องมือใช้จับปู จับปลาหรือเป็นเชือกสมอเรือ บริเวณที่ออกไปจับปลาก็ไม่ไกลจากชายฝั่งทะเลมากนักก็สามารถหากุ้ง ปู ปลาได้มากมายหลากหลายชนิด แต่มีปัญหาคือไม่มีจุดรับซื้อชาวบ้านต้องหาบ ทูนไปที่ไกลๆ ราคาถูก การขนส่งลำบากมาก ชาวบ้านจึงจับปลาตามความจำเป็น ปริมาณพอสมดุลกับขนาดของเรือและอวนที่ใช้ มีชาวบ้านบางส่วนที่ไม่มีเรือก็ใช้แหเดินทอดตามแนวริมฝั่งซึ่งก็มีปลาชุกชุมมากเช่นกันส่วนมากจะเป็น ปลากะบอก ปลาขมิ้น ปลาทู ฯลฯ และบางคนก็ใช้ฉมวก หอก บวก แทงได้ทั้งปูทั้งปลาเช่นปูม้า ปูดำ ปลากระเบน ปลาดุกทะเลฯลฯ หรือไม่ก็จะไปรับจ้างอยู่กับอวนลาก อวนลอยของนายทุน
มาระยะหลังเมื่อผู้คนมากขึ้น ธรรมชาติและฤดูกาลเริ่มเปลี่ยนแปลง การหากินก็เริ่มหากินลำบากขึ้นมาตามลำดับ เครื่องมือหากินชาวบ้านก็ต้องปรับเปลี่ยนจากเรือพายเรือแจว มาเป็นเรือหางยาวและเรือยนต์เล็ก อวนก็ตาถี่ขึ้นจากอวนตาห่างชั้นเดียวจะเป็นอวนสามชั้น และอวนแต่ละชนิดก็จะเหมาะหาปลาแต่ละชนิดขึ้นมา อวนจับกุ้งก็เป็นอวนกุ้งไป อวนปูก็เป็นอวนปูไป กุ้งเคยที่เคยได้ปีละหลายรอบก็ได้น้อยลง เพราะกุ้งฝอยเป็นสัตว์น้ำขนาดเล็ก เมื่อกระทบกระเทือนมาก ๆ ก็เหลือน้อยลง ๆ ปี จนกระทั่งมีการเลี้ยงกุ้งกุลาดำกันเต็มรูปแบบ กุ้งเคยก็หมดไปเลยจากทะเลเป็นเวลาหลายปี ตลอดทั้งกุ้งตัวใหญ่ ๆ ปลาหลายชนิดก็เริ่มเหลือน้อยมาก พวกกลุ่มประมงชายฝั่งหรือประมงพื้นบ้านแทบจะหยุดหากินกันไปชั่วขณะ จะมีบ้างก็ต้องไปหากินตามแหล่งอื่นที่ยังพอจะหาได้ หากินได้น้อยลงตั้งปี 2534 จนกระทั้งปี 2545 ก็เริ่มฟื้นตัวใหม่ของทะเลสาเหตุเพราะเลี้ยงกุ้งกุลาดำไม่ได้ตั้งแต่หลังปี 2542 หลังปิดเขื่อนปากพนังและเขื่อนเสือร้องเป็นต้นมา ไม่ค่อยมีการสูบน้ำจากทะเลมาเลี้ยงกุ้งและพวกของเสียมลภาวะต่าง ๆ เกี่ยวกับการเลี้ยงกุ้งมีน้อยมากที่จะไปรบกวนธรรมชาติของทะเลและน้ำตื้นชายหาด จึงทำให้กลุ่มประมงพื้นบ้านกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง หากินกันได้เยอะขึ้น
ยุคเกษตรเชิงเดี่ยวเริ่มต้นในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐทางด้านการเกษตร เช่น เกษตรอำเภอ ชักชวน/แนะนำให้ชาวบ้านปลูกพืชเพื่อขาย ดังนั้นจึงต้องปลูกให้ได้เยอะ เพื่อจะได้ขายได้เยอะๆ มีเงินเยอะๆ จะได้พ้นจากความยากจน เช่น ปลูกข้าวนาปรังที่สามารถปลูกได้ปีละหลายครั้ง ปลูกยางพารา ปลูกปาล์มหรือผลไม้อย่างเดียวในพื้นที่ การเลี้ยงกุ้งกุลาดำแบบหนาแน่น เป็นต้นในพื้นที่ตำบลหน้าสตนและตำบลเกาะเพชรมีอาชีพเชิงเดี่ยวก็คือ การเลี้ยงกุ้งกุลาดำแบบหนาแน่น
ประมาณปี พ.ศ. 2530 กระแสการเลี้ยงกุ้งกุลาดำเริ่มเป็นที่สนใจของชาวบ้านที่มองมูลค่า โดยลืมคุณค่า มาเป็นการตัดสินใจ กล่าวคือคิดแต่เพียงว่าเมื่อได้เลี้ยงกุ้งกุลาดำแล้วจะได้เงินหรือได้กำไรไร่ละเท่านั้นเท่านี้ตามประแสหรือตามข่าวลือ โดยลืมไปว่าต้องมีน้ำเค็มหรือน้ำกร่อยมาเลี้ยงกุ้งกุลาดำ เมื่อเอาน้ำเค็มเข้ามาแล้วต้องส่งผลให้อาชีพการเกษตรอื่นๆ ที่ต้องใช้น้ำจืดเป็นหลักอยู่กระทบกระเทือนทันที พืชหลักต่างๆ ที่มีอยู่ในพื้นที่ และใช้บริโภคกันมายาวนาน เช่น มะพร้าว กล้วย ต้องตายเพราะโดนน้ำเค็มจากการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ นั้นหมายความว่าเป็นสิ่งที่มีค่าเกินกว่าราคามากมายนักต้องสูญค่าไปโดยเอาเงินหรือรายได้ที่เป็นเงินมาเป็นตัวกำหนด
สภาองค์กรชุมชนเห็นถึงสถานการณ์ในประเด็นดังกล่าว ภายใต้กลุ่มประมงชายฝั่งรวมตัวกันเพาะฟักลูกปูขึ้นมา คือ ธนาคารปู ที่ หมู่ที่ 6 ตำบลเกาะเพชรผลิตลุกปูปล่อยลงทะเลปีละเป็นล้าน ๆ ตัวได้แพร่ขยายพันธ์ออกสู่ทะเลเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามกำลังของกลุ่มเท่าที่คิดและทำกันได้ ทางด้านธรรมชาติชายฝั่งก็เริ่มฟื้นขึ้นมาโดยมีกุ้งเคยปีละหลายครั้ง ทำให้กลุ่มประมงพื้นบ้านตลอดทั้งชาวบ้านตำบลเกาะเพชร ตำบลใกล้เคียง รวมทั้งกลุ่มคนหลาย ๆ พื้นที่ในลุ่มน้ำปากพนังได้เห็นได้บริโภคปลา กุ้งทะเล ปูทะเลสด ๆ และได้กินกะปิแท้ๆ ทำกับมือกันอีกครั้ง
โดยเป็นการเชื่อมโยงการทำงานระดับเครือญาติจะมีการพบกันในช่วงเทศกาลต่าง ๆ ที่เคยปฏิบัติสืบทอดกันมาไม่ว่า อาบน้ำคนแก่เดือนห้า ทำบุญเดือนสิบ หรือช่วงผู้เฒ่าผู้แก่เจ็บไข้ได้ป่วย โดยลูกหลานและญาติ ๆ ที่อยู่ห่างไกลจากบ้านเกิด (บ้านเดิม) จะมีการนัดหมายช่วงเวลามาพบกัน เมื่อมารวมกันแล้วก็มีการไต่ถามและเล่าสู่กันฟัง และแลกเปลี่ยนแนะแนวกันหลายด้าน เช่น การใช้ชีวิต การอยู่การกิน การประกอบอาชีพ ตลอดทั้งด้านสุขภาพ ถ้าหากขากตกบกพร่องก็มีการช่วยเหลือกันหลาย ๆ ทาง ไม่ว่าทางด้านความคิด ออกแรง และทางด้านการเงิน มีการรับฟังคำสั่งสอนจากผู้มีพระคุณ
สภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลเกาะเพชรได้มีการเสนอแผนพัฒนาตำบล ต่อเทศบาลตำบลเกาะเพชร และได้รับการบรรจุในแผนพัฒนาท้องถิ่นระยะ 4 ปี (พ.ศ. 2561 – 2564) ได้แก่ (1) โครงการเทศบาลทำบุญใส่บาตรทางเรือ จำนวน 10,000 บาท เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวและอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น (2) โครงการธนาคารปู จำนวน 30,000 บาท เพื่อส่งเสริมกิจกรรมการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำชายฝั่ง และ (3) โครงการส่งเสริมสนับสนุนกลุ่มอาชีพเลี้ยงสัตว์น้ำและปลูกพืชผักสวนครัว จำนวน 30,000 บาท เพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำและปลูกพืชผัก
ส่วนความสัมพันธ์ในระบบกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มแม่บ้าน กลุ่ม อสม. กลุ่มผู้สูงอายุ หรือตลอดทั้งกลุ่มปลูกพืชผัก จะมีการพบปะร่วมงานกันตามความเหมาะสมเป็นช่วง ๆ กันไป เช่น ช่วงเทศกาล ช่วงฤดูกาลเพาะปลูก ช่วงมีงานบุญงานมงคล งานบำเพ็ญกุศลศพ เป็นต้น ในด้านความสัมพันธ์เหล่านี้นั้นมีการร่วมมือร่วมแรงร่วมใจกันเป็นอย่างดี เพียงแค่ว่าส่งข่าวพอรู้ก็เป็นพอแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นทั้งสองตำบลก็มีการไปมาหาสู่ติดต่อเป็นกันเอง มีงานต่าง ๆ ก็ไปถึงกันตลอด
ด้วยความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นทั้งระบบ สภาองค์กรชุมชนจึงมีแผนงานร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบล และภาคีพัฒนาต่างๆ ในการสนับสนุนต่อยอด โดยมีเป้าหมายสำคัญในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนา รวมทั้งขยายผลสู่กลุ่มองค์กรอื่นๆ อาทิ ผู้ปลูกผัก ผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ โดยอาศัยวิถีประเพณีในการเชื่อมโยงได้อย่างสมดุล
นายดลรอหมาน สุริยะ
103/2 หมู่ 5 ตำบลเกาะเพชร อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีฯ โทร. 090-1712904