คลองลาดพร้าว / นายปรเมธี ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ล่องเรือสำรวจและเยี่ยมชมชุมชนริมคลองลาดพร้าวที่อยู่ในพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำป้องกันน้ำท่วมของ กทม. โดยสร้างบ้านเสร็จแล้วรวม 3,268 หลังใน 35 ชุมชน ขณะที่ ‘ไมตรี อินทุสุต’ ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ และคณะรับฟังรับความคืบหน้าการพัฒนาคลองเปรมประชากร
ตามที่รัฐบาลมีนโยบายจัดการสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำน้ำสาธารณะในเขตกรุงเทพฯ โดยมอบหมายให้ กทม.ก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำในคลองลาดพร้าวและคลองบางซื่อ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วม ขณะเดียวกันก็จะมีการรื้อย้ายบ้านเรือนที่ปลูกสร้างบ้านรุกล้ำลำคลองและแนวก่อสร้างเขื่อน โดยมอบ หมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) จัดทำแผนงานรองรับที่อยู่อาศัยของประชาชนที่อาศัยอยู่ริมคลองลาดพร้าวและคลองบางซื่อ เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2559 นอกจากนี้รัฐบาลยังมีแผนพัฒนาคลองเปรมประชากรด้วยเช่นกัน
ล่าสุดวันนี้ (9 กรกฎาคม) เวลา 09.00 น. นายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมด้วยผู้แทนสำนักงบประมาณ ผู้บริหารสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามความคืบหน้าโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว โดยล่องเรือจากบริเวณสะพานคู่ เขตสายไหม จนถึงชุมชนหลัง วค.จันทรเกษม เขตจตุจักร ผ่าน 32 ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำและสร้างบ้านใหม่ในพื้นที่ 5 เขต คือ เขตสายไหม เขตดอนเมือง เขตหลักสี่ เขตบางเขน และเขตจตุจักร ระยะทางประมาณ 13 กม.
นายปรเมธี (ที่ 2 จากขวา) เยี่ยมชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญ เขตสายไหม ซึ่งก่อสร้างบ้านเสร็จแล้ว รวม 64 หลัง
นายปรเมธี กล่าวว่า การพัฒนาชุมชนริมคลองลาดพร้าวเป็นตัวอย่างในการก่อสร้างที่อยู่อาศัยและการใช้ประโยชน์ร่วมกัน เพื่อการระบายน้ำ การเดินทาง การบำบัดน้ำเสีย ส่วนชุมชนเดิมสภาพบ้านที่ไม่มั่นคงก็จะได้รับการฟื้นฟูขึ้นมา เพื่อสร้างบ้านใหม่ที่มีความมั่นคง อยู่ได้อย่างมีความสุข ส่วนความก้าวหน้าในการดำเนินการ จากโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยทั้งหมด 7,000 กว่าครัวเรือน ขณะนี้ก่อสร้างเสร็จแล้ว 3,000 กว่าครัวเรือน และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีกประมาณ 3,000 ครัวเรือน
“ในการลงพื้นที่วันนี้ได้เห็นภาพรวม เห็นความก้าวหน้าในการก่อสร้างเขื่อน มีการขุดลอกคลอง การระบายน้ำดีขึ้น ส่วนบนฝั่งก็เห็นความสำเร็จในการก่อสร้างบ้านที่อยู่อาศัย เห็นพัฒนาการดีขึ้นตามลำดับ มีความสวยงาม ประชาชนพอใจ ส่วนผู้ที่ไม่เข้าร่วมในคลองลาดพร้าวประมาณ 1,000 กว่าครัวเรือน เจ้าหน้าที่ได้ส่งฟ้องศาลไปแล้ว ส่วนคลองเปรมประชากรก็จะดำเนินการต่อไป โดยมีคลองลาดพร้าวเป็นตัวอย่าง ซึ่งรัฐบาลได้เตรียมงบประมาณไว้แล้ว และได้เปิดเวทีสร้างความเข้าใจ กับประชาชนในพื้นที่ไปแล้ว” ปลัด พม. กล่าว
ทั้งนี้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ได้สนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว โดยมีเป้าหมายพัฒนาที่อยู่อาศัยตามแนวทางโครงการบ้านมั่น หรือ ‘บ้านประชารัฐริมคลอง’ รวมทั้งหมด 50 ชุมชน จำนวน 7,069 ครัวเรือน ในพื้นที่ 8 เขต คือ วังทองหลาง ห้วยขวาง ลาดพร้าว จตุจักร บางเขน หลักสี่ ดอนเมือง และสายไหม เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน ขณะนี้ก่อสร้างบ้านเสร็จแล้วจำนวน 3,268 หลัง ใน 35 ชุมชน คิดเป็นร้อยละ 46.23 ของโครงการฯ
ส่วนการก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำในคลองลาดพร้าวนั้น บริษัทริเวอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ประมูลงานได้ในวงเงิน 1,465 ล้านบาท ก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำคอนกรีต ความยาวทั้งสองฝั่งประมาณ 45 กิโลเมตร จากบริเวณอุโมงค์เขื่อนพระราม 9 เขตวังทองหลางไปยังประตูระบายน้ำคลองสองสายใต้ เขตสายไหม และก่อสร้างประตูน้ำ 1 แห่ง ขณะนี้ก่อสร้างเขื่อนได้ล่าช้ากว่าแผนงาน เนื่องจากยังมีกลุ่มประชาที่ยังไม่ยอมรื้อย้ายบ้านเรือนออกจากแนวก่อสร้างเขื่อน
นอกจากนี้ในวันเดียวกัน นายไมตรี อินทุสุต ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ นายยงยุทธ สุทธิชื่น ผู้ตรวจสำนักนายกรัฐมนตรี พล.ต.สุรเดช ประเคนรี รองแม่ทัพน้อยที่ 1 นางศุภศิริ บุญญเศรษฐ์ รองอธิบดีกรมธนารักษ์ นายไพทูรย์ งามมุก ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตดอนเมือง นายชาคริต ตังคุปานันท์ ผอ.กองระบบคลอง สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร และผู้แทนกองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้ล่องเรือเพื่อติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างเขื่อนคลองเปรมประชากร และรับฟังอุปสรรคและปัญหาในการดำเนินโครงการ บริเวณปากคลองบ้านใหม่ เขตดอนเมือง
นายไมตรี อินทุสุต (ขวา) และคณะสำรวจการพัฒนาคลองเปรมฯ
ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานระบบคลองและการพัฒนาชุมชนริมคลองเปรมประชากร เมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา โดยมอบหมายให้กรุงเทพมหานครก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำในคลองเปรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วม ระยะความยาวเขื่อนฯ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 27.2 กิโลเมตร และพื้นที่ปทุมธานีความยาวประมาณ 4 กิโลเมตร ตามแผนงานจะเริ่มดำเนินการในปี 2562-2565 ขณะนี้เริ่มก่อสร้างเขื่อนฯ ช่วงแรก จากบริเวณคลองบ้านใหม่ถึงหมู่บ้านแกรนด์คาแนล เขตดอนเมือง ระยะทาง 460 เมตร
ส่วนการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเปรมประชากร ซึ่งดำเนินงานโดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’ อยู่ในพื้นที่เขตจุตจักร หลักสี่ ดอนเมือง รวม 32 ชุมชน และพื้นที่เทศบาลตำบลหลักหก อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี 6 หมู่บ้าน รวมทั้งหมด 6,386 ครัวเรือน โดยในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา พอช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันจัดเวทีชี้แจงสร้างความเข้าใจเรื่องการพัฒนาที่อยู่อาศัยริมคลองเปรมประชากรครบแล้วทุกพื้นที่ ขณะนี้ชุมชนอยู่ในระหว่างการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์และจดทะเบียนเป็นสหกรณ์เคหสถาน เพื่อบริหารโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยต่อไป
นายสมชาติ ผอ.พอช. (กลาง)
นายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวว่า การสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากรโดย พอช.จะมีหลักการเหมือนกัน คือ พอช.จะสนับสนุนให้ชุมชนร่วมกันจัดตั้งสหกรณ์เคหสถานขึ้นมา เพื่อให้มีฐานะเป็นนิติบุคคล และทำเรื่องขอเช่าที่ดินจากกรมธนารักษ์ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่ริมคลอง ในอัตราผ่อนปรน (ประมาณตารางวาละ 1.50-2.00 บาท/เดือน) ระยะเวลาเช่าช่วงแรก 30 ปี เปลี่ยนสถานะจากชุมชนบุกรุกเป็นการเช่าที่ดินโดยถูกต้องตามกฎหมาย หลังจากนั้นจึงยื่นโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยจาก พอช.
ทั้งนี้ พอช.จะสนับสนุนงบประมาณตามโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง โดยแยกเป็น 1.งบพัฒนาระบบสาธารณูปโภค ครัวเรือนละ 50,000 บาท 2.อุดหนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัย (สมทบปลูกสร้างบ้าน,ซื้อที่ดิน) ครัวเรือนละ 25,000 บาท 3.งบช่วยเหลือแบ่งเบาผู้ได้รับผลกระทบ (ค่าที่พักชั่วคราว,ลดภาระหนี้สินในการกู้เงินสร้างบ้าน ฯลฯ) ครัวเรือนละ 72,000 บาท รวมงบสนับสนุน 147,000 บาทต่อครัวเรือน นอกจากนี้ยังมีงบบริหารจัดการ ชุมชนละ 50,000-500,000 บาท และงบสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ครัวเรือนละ 330,000-360,000 บาท ชำระคืนภายใน 20 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 บาทต่อปี
“การพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าวและริมคลองเปรมประชากรนั้น นอกจากการสร้างบ้านใหม่ที่มั่นคงและถูกกฎหมายแล้ว พอช.ยังร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวชุมชนให้ดีขึ้น เช่น ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และหน่วยงานต่างๆ สนับสนุนด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม การปลูกต้นไม้ ผักสวนครัว การจัดการขยะ การบำบัดน้ำเสีย การส่งเสริมอาชีพ นอกจากนี้ยังมีแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่และชุมชนริมคลองเพื่อเชื่อมต่อเส้นทาง ‘รถ-ราง-เรือ’ คือ ทางรถยนต์ รถไฟฟ้า และการเดินเรือในคลอง เพื่อการคมนาคมและการท่องเที่ยวด้วย” ผอ.พอช.กล่าว
ภาพกราฟฟิค การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม รถยนต์-เรือ-รถไฟฟ้าในคลองลาดพร้าว