ศูนย์การประชุมเมืองทองธานี/ เวทีเสวนา ‘คืนความสุขให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง’ นักวิชาการแนะการพัฒนาคลองลาดพร้าว ต้องไม่ใช่แค่การสร้างเขื่อนระบายน้ำหรือสร้างแต่บ้าน แต่จะต้องสร้างเศรษฐกิจชุมชน นำเอาศักยภาพที่ชุมชนมีอยู่ เช่น มีรถไฟฟ้าผ่านมาเชื่อมโยงเป็นเส้นทางคมนาคม ‘รถ ราง เรือ’ และส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน สร้างตลาด และวิสาหกิจชุมชน พร้อมทั้งเปิดพื้นที่ริมคลองเป็นพื้นที่สาธารณะ สร้างสวนหย่อม ทางจักรยาน
จากเวทีเสวนางานประชุมวิชาการ ‘ไทยแลนด์โซเชียลเอ็กซ์โป 2019’ ระหว่างวันที่ 5-7 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่ศูนย์ประชุมเมืองทองธานี จัดโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และหน่วยงานในสังกัด ซึ่งในส่วนของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ได้จัดเสวนาเรื่อง ‘คืนความสุขให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง’ ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วยผู้แทนชุมชนที่เกี่ยวข้อง และนักวิชาการ มีผู้เข้าร่วมเสวนาประมาณ 150 คน
ประสบการณ์จากคลองมหาสวัสดิ์ : ท่องเที่ยวชุมชนสร้างรายได้
นายวันชัย สวัสดิ์แดง ประธานวิสาหกิจชุมชนบ้านศาลาดิน คลองมหาสวัสดิ์ อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม กล่าวว่า คลองมหาสวัสดิ์เป็นคลองขุดตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เป็นชุมชนเกษตรกรรม มีบ้านเรือนประมาณ 200 ครัวเรือน หลังน้ำท่วมในปี 2538 มีปัญหาขยะที่ลอยมากับน้ำ ทั้งที่นอนหมอนมุ้ง ขวดเหล้าเบียร์ต่างๆ รวมทั้งปัญหาน้ำเน่าเสีย บ้านเรือนจมน้ำ จึงนำไปปัญหาไปร้องเรียนหน่วยงานต่างๆ ใช้เวลา 9 ปี แต่ไม่เกิดผล
ในปี 2549 ได้พบกับอาจารย์รอยล จิตรดอน จากสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร และอาจารย์สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ที่ทำเรื่องศาสตร์พระราชาของในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงนำแนวคิดมาปรับใช้ เช่น ผักตบชวาที่ลอยมากับน้ำ ตอนแรกหาวิทยากรมาสอนชาวบ้านสานเป็นตะกร้าขาย แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ต่อมาจึงเอาผักตบชวามาเป็นส่วนผสมของปุ๋ยตามศาสตร์พระราชาจึงเริ่มขายได้ ทำให้คนเฒ่าคนแก่มีงานทำ และทำเรื่องท่องเที่ยวชุมชน มีเรือรับส่งนักท่องเที่ยว มีอาหาร มีขนมขาย สร้างแบรนด์ ‘ศาลาดิน’ จนประสบผลสำเร็จ แต่ต้องใช้เวลานาน 4-5 ปี
เช่น มีกลุ่มแปรรูปข้าว โดยให้ผู้สูงอายุในชุมชนแปรรูปเป็นข้าวตัง ปัจจุบันมีรายได้ประมาณเดือนละ 170,000 บาท ขายน้ำฟักข้าวรายได้ 60,000 – 70,000 บาท และมีเกษตรกรต้นแบบ ทำเกษตรทฤษฎีใหม่ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 สอนให้คนมีความสุข พออยู่ พอกิน บนพื้นฐานคุณธรรม นอกจากนี้ยังตั้งกลุ่มบริหารการใช้น้ำร่วมกับกรมชลประทานตามแนวทางประชารัฐ ฯลฯ
การพัฒนาคลองลาดพร้าว : ต้องสร้างพื้นที่เศรษฐกิจ เชื่อมรถ ราง เรือ
กรณีกรุงเทพมหานครกำลังสร้างเขื่อนระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมในคลองลาดพร้าว ระยะทางทั้งสองฝั่งประมาณ 45 กิโลเมตร ขณะที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ รับผิดชอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว โดยการสนับสนุนการรื้อย้ายจากพื้นที่ริมคลองเพื่อสร้างใหม่ในชุมชนเดิมหรือจัดหาที่ดินใหม่ ดำเนินการใน 50 ชุม ชน รวม 7,069 ครัวเรือน ใน 8 เขตชุมชนริมคลองลาดพร้าว จากเขตวังทองหลาง-สายไหม (ขณะนี้ดำเนินการแล้ว 34 ชุมชนสร้างบ้านเสร็จ 3,064 ครัวเรือน)
นอกจากนี้ พอช.ยังมีแผนพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมในชุมชนริมคลองด้วย โดยความร่วมมือของหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คณะจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากร ฯลฯ
นายสันติ สมบัติวิชาธร คณะจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ริมคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากร กล่าวว่า เริ่มทำเรื่องคลองมาตั้งแต่เขตห้วยขวาง คลองลาดพร้าว เริ่มตั้งแต่ลงพื้นที่ชุมชน หลังจากได้พบกับ พอช.และกทม. เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ซึ่ง กทม.มีโครงการสร้างเขื่อนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ จึงคุยกับชุมชนและหารือว่าจะตั้งรับได้อย่างไร และชวนคิดเรื่องการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน การวางแผนการท่องเที่ยว
นายสันติ สมบัติวิชาธร นักวิชาการและสถาปนิกอาวุโส
“ได้คุยกับชุมชนและจะให้ชุมชนเข้ามาร่วมพัฒนาคลองได้อย่างไร ไม่ใช่แค่สร้างบ้านใหม่ หรือขยายความกว้างของคลองแล้วจะจบ โดยให้ชุมชนเริ่มคิดว่า ต้องมีเศรษฐกิจด้วย เพราะชาวบ้านไม่ได้มีรายได้มาก และต้องเป็นหนี้ด้วย สิ่งสำคัญ ชุมชนต้องคิดถึงพื้นที่ที่จะทำวิสาหกิจชุมชน ไม่ใช่มีเพียงบ้าน นอกจากนี้ชุมชนริมคลองเหมือนกับเป็นพื้นที่ปิด คนภายนอกเข้าถึงยาก จึงเสนอให้เปิดพื้นที่ และคลองจะต้องไม่ใช่แค่ทางระบายน้ำหรือใช้อาศัยอยู่ในริมคลองเท่านั้น ชาวบ้านยังมีโอกาสทำเรื่องเศรษฐกิจชุมชนได้ และยังมีศักยภาพในแง่เป็นมีรถไฟฟ้าผ่านหลายจุด จึงเป็นโอกาสของชุมชนที่จะพัฒนา และเชื่อมโยงกับภาคเอกชน เพราะนอกจากชุมชนจะได้ประโยชน์แล้วเอกชนก็ได้ประโยชน์ด้วย ในเรื่องของสิ่งแวดล้อม และสภาพชุมชนที่ดีขึ้น” นายสันติกล่าว
นายสันติกล่าวอีกว่า แผนแม่บทการพัฒนาชุมชนริมคลองจึงเป็นกรอบในการกำหนดทิศทางในการพัฒนา ทั้งเอกชน ภาครัฐ ชุมชน ในลักษณะ win win ที่ต่างคนต่างชนะด้วยกัน โดยในตอนแรกได้นำแผนไปเสนอกับชุมชน แต่ชุมชนไม่เห็นด้วย และมีคำถามว่า “ทำไมชุมชนต้องเว้นพื้นที่ 20-50 เมตร” จึงได้อธิบายและบอกชุมชนว่า ต้องคิดให้ไกลออกไปในอนาคต หากไม่เว้นพื้นที่ โครงสร้างพื้นฐาน ถนน รถไฟฟ้าผ่าน อาจจะทำให้ต้องมีการรื้อย้าย หรือโดนเวนคืนอีกในอนาคต จึงเป็นเรื่องที่จำเป็น และพื้นที่ตรงนี้จะเป็นพื้นที่สาธารณะของชุมชนด้วย
“ในอนาคตพื้นที่ริมคลองบางจุดที่ไม่มีชุมชน เสนอให้ทำเป็นสวนสาธารณะป่าในเมือง เพื่อเป็นการสร้างแหล่งท่องเที่ยวให้กับชุมชนด้วย และสภาพเขื่อนระบายน้ำหลังจากที่ดำเนินการแล้ว จะเป็นเส้นทางจักรยานเลียบคลอง ไม่ปิดพื้นที่ จะทำให้คนทั่วไปเข้าถึงพื้นที่ริมคลองได้ ชุมชนก็ได้ประโยชน์ คนภายนอกได้ใช้พื้นที่สาธารณะเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังเชื่อมต่อเรื่องล้อ (รถยนต์) ราง (รถไฟฟ้า) และเรือ และผมเสนอว่าควรมีพื้นที่สีเขียว ให้นก แมลง ได้อาศัยและใช้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ในการเรียนรู้ร่วมกัน และเชื่อมโยงกับพื้นที่วิสาหกิจชุมชน เช่น ชุมชนหลัง วค.จันทรเกษม หรือกรณีตัวอย่างศาลเจ้าพ่อสมบุญ เขตสายไหม ซึ่งปัจจุบันกำลังก่อสร้างรถไฟฟ้า” นายสันติยกตัวอย่างการใช้ประโยชน์พื้นที่ชุมชนริมคลอง
ภาพกราฟฟิค การคมนาคมในคลอง เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าและรถยนต์
ส่วนกรุงเทพมหานครที่รับผิดชอบเรื่องการสร้างเขื่อนระบายน้ำในคลองลาดพร้าว รวมทั้งโครงการในคลองเปรมประชากรที่จะดำเนินต่อไป นายสันติเสนอว่า กรณี กทม.นั้น มีบทเรียนจากคลองลาดพร้าวแล้วว่า ไม่ใช่แค่เรื่องการสร้างเขื่อนฯ แต่ควรคิดถึงเรื่องอื่นๆ ในชุมชนด้วย จึงเสนอให้ กทม. และ พอช. ช่วยกันจัดทำแผนแม่บท ซึ่งมี 4 ด้าน คือ 1.ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งแวดล้อม 2.การพัฒนาชุมชน 3.ด้านการการสร้างความเข้าใจกับประชาชน เรื่องแผนแม่บท ทำสื่อเพื่อสร้างความเข้าใจ และ 4.ด้านกฎหมายและการขับเคลื่อนงาน
สร้างพื้นที่สีเขียว ท่องเที่ยวชุมชนทางเรือ
นายสันติกล่าวด้วยว่า เมื่อสร้างเขื่อนระบายน้ำและสร้างบ้านชุมชนริมคลองเสร็จแล้ว ชุมชนจะมีพื้นที่สีเขียว มีสวนสาธารณะย่อย มีพื้นที่ตลาดชุมชน วิสาหกิจชุมชน เรื่องการท่องเที่ยวชุมชนริมคลอง โดยยกตัวอย่างที่ชุมชนลาดพร้าว 45 ใกล้วัดลาดพร้าว เขตห้วยขวาง ได้ประสานงานกับบริษัทเอกชนเพื่อมอบเรือสำหรับจัดทำเป็นเรือท่องเที่ยวชุมชน และเรียนรู้การขับเรือ ซึ่งในอนาคต กทม.จะมาทำท่าเรือชุมชน และต่อยอดไปทำเรื่องธุรกิจท่องเที่ยวต่อไป โดยจะต้องมีจุดเชื่อมโยงเรื่องการท่องเที่ยว จุดแวะชม เพื่อเพิ่มโอกาสทางรายได้ เช่น ร้านอาหาร กาแฟ เครื่องดื่ม ตลอดเส้นทางท่องเที่ยว
“แผนในระยะต่อไปจะต้องหารือร่วมกัน เพราะทุกชุมชนไม่สามารถขายสินค้าเหมือนกันได้หมด และแผนแม่บทในอนาคตจะนำเทคโนโลยี Webpage Application มาใช้ในการจัดการท่องเที่ยวชุมชน และต้องคิดเรื่องการจัดการขยะในคลอง ประสานกับทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อวิจัยงานนวัตกรรม การจัดการขยะ ขยะรีไซเคิล และต่อไปอาจจะมีโครงการเก็บขยะแลกเรือ” นายสันติกล่าวในตอนท้าย
ภาพกราฟิค เปิดพื้นที่ริมคลองให้เป็นพื้นที่สาธารณะ พื้นที่สันทนาการ เส้นทางจักรยานเลียบคลองที่มีความยาวทั้งสองฝั่งประมาณ 45 กิโลเมตร
ทั้งนี้นายสันติ สมบัติวิชาธร เป็นหัวหน้าทีมออกแบบ “โครงการฟื้นฟูระบบคลองเพื่อชุมชนเมือง” (Resurrection of Urban Canal System, Bangkok Thailand) ของบริษัทดี ไอ ดีไซน์ จำกัด โดยโครงการฟื้นฟูระบบคลองฯ ดังกล่าวได้รับรางวัล Holcim Acknowledgement Prize ในปี 2557 เป็นรางวัลระดับโลก เพื่อส่งเสริมนวัตกรรมการก่อสร้างที่ยั่งยืน มอบโดยมูลนิธิโฮลซิม ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
แนวคิดของโครงการฟื้นฟูระบบคลองเพื่อชุมชนเมือง จะใช้โครงข่ายคลองที่มีอยู่แล้ว ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลกว่า 1,100 ตารางกิโลเมตร เชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชน โดยการจัดทำสถานีเปลี่ยนถ่ายและท่าเรือกว่า 500 แห่ง โดยจะใช้พื้นที่คลองลาดพร้าวในเขตห้วยขวางเป็นต้นแบบ เนื่องจากมีเส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดินบริเวณถนนรัชดาภิเษกอยู่แล้ว และกำลังมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าบนถนนลาดพร้าว เพื่อเชื่อมต่อระบบรถ ราง เรือ และพัฒนาพื้นที่ชุมชนริมคลองให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจต่อไป