พอช./ คณะนักศึกษาและอาจารย์จาก Department of Urban and Regional Planning Diponegoro University ประเทศอินโดนีเซีย ประมาณ 80 คน นำโดย Rukuh Setiadi, PhD. Senior Lecturer ได้เดินทางมาศึกษาดูงานการพัฒนาที่อยู่อาศัยคนจนเมือง ‘โครงการบ้านมั่นคง’ ที่ดำเนินการโดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ
วันนี้(18 มีนาคม 2562) Rukuh Setiadi, PhD. Senior Lecturer Department of Urban and Regional Planning Diponegoro University ประเทศอินโดนีเซีย ได้นำคณะนักศึกษาและอาจารย์ประมาณ 80 คน มาศึกษาดูงานการพัฒนาที่อยู่อาศัยคนจนเมือง โครงการ ‘บ้านมั่นคง’ ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ถนนนวมินทร์ เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ
นางทิพย์รัตน์ นพลดารมย์ ที่ปรึกษาด้านต่างประเทศ พอช. ได้บรรยายสรุปการพัฒนาที่อยู่อาศัยคนจนเมือง โครงบ้านมั่นคงว่า การเจริญเติบโตของเมืองก่อให้เกิดความแออัด ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม มีปัญหาชุมชนแออัด ชุมชนบุกรุก กระจัดกระจายในเมืองต่างๆ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และเมืองโดยทั่วไป เนื่องจากขาดการจัดการด้านที่ดินอย่างเหมาะสมเพื่อรองรับการอยู่อาศัยของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มคนระดับล่างของเมือง
จากข้อมูลปี 2543 พบว่า มีชุมชนแออัด รวมทั้งชุมชนบุกรุก และชุมชนรายได้น้อยอื่นๆ ในเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ เป็นจำนวนถึง 5,500 ชุมชน รวม 1,500,000 ครัวเรือน จำนวนประชากรสูงถึง 6,750,000 คน เมื่อรวมกับกลุ่มคนที่กระจัดกระจายอยู่นอกชุมชน อาศัยอยู่ตามสถานที่ต่างๆ รวมทั้งคนจนในชุมชนแออัด และที่กระจายในชุมชนเมืองอื่นๆ ทั้งสิ้น 1,870,000 ครัวเรือน ประมาณ 8,250,000 คน เมื่อเปรียบเทียบกับประชากรเมืองทั้งหมดแล้ว สัดส่วนคนจนในชุมชนแออัดสูงถึงร้อยละ 37
“กลุ่มคนเหล่านี้ขาดความมั่นคงในการอยู่อาศัย เป็นกลุ่มคนที่อยู่ในที่ดินของรัฐ วัด เอกชน หรือที่ผสม มีปัญหาไล่ที่ในระดับต่างๆ รวมทั้งที่อยู่ในระหว่างการไล่รื้อ รวม 445 ชุมชน ประมาณ 200,000 ครัวเรือน ‘โครงการบ้านมั่นคง’ เกิดขึ้นจากการดำเนินงานในโครงการนำร่อง 10 โครงการ ที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบดำเนินการในปี 2546 ในวงเงินงบประมาณ 146 ล้าน โดยให้ดำเนินการจัดกระบวนการแก้ไขปัญหาตามแนวทางบ้านมั่นคง เพื่อจัดทำแผนพัฒนาความมั่นคงในการอยู่อาศัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยในชุมชนแออัดอย่างเร่งด่วน มีเป้าหมายสำคัญ เพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยในชุมชนแออัด (คนจนเมือง) มีแนวทางหลักในการดำเนินงาน โดยให้ชุมชนและขบวนองค์กรชุมชนเป็นแกนหลักในการดำเนินการ ตลอดจนประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีพัฒนาทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับนโยบาย” ที่ปรึกษา พอช.กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการบ้านมั่นคง
ในช่วงท้ายของการบรรยายสรุป ที่ปรึกษา พอช.ได้ให้นักศึกษาและอาจารย์จากประเทศอินโดนีเซียซักถามและแลกเปลี่ยน ทั้งนี้คำถามส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของงบประมาณ การบริหารจัดการภายในของโครงการ โดยเฉพาะโครงการบ้านมั่นคงริมคลองลาดพร้าวหรือ “บ้านประชารัฐริมคลอง” ซึ่งทางคณะศึกษาดูงานให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง หลังจากนั้นในช่วงบ่ายคณะฯ ได้เดินทางไปที่ชุมชนริมคลองลาดพร้าวเพื่อศึกษาดูงานการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง
โครงการบ้านมั่นคงริมคลองลาดพร้าวหรือ “บ้านประชารัฐริมคลอง” ที่ดำเนินการในคลองลาดพร้าว 8 เขต รวม 50 ชุมชน จำนวน 7,069 ครัวเรือน บนที่ดินริมคลองซึ่งเป็นที่ดินราชพัสดุ โดยกรมธนารักษ์จะให้ชุมชนเช่าที่ดินระยะยาว 30 ปี (เมื่อหมดสัญญาต่อได้อีกคราวละ 30 ปี) ในอัตราผ่อนปรน ตั้งแต่ตารางวาละ 1.50- 3 บาทต่อเดือน และ พอช.สนับสนุนงบช่วยเหลือ รวมครัวเรือนละ 147,000 บาท และสินเชื่อก่อสร้างบ้านตามราคาก่อสร้างบ้านจริง ไม่เกิน 400,000 บาท ผ่อนชำระคืน 15-20 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 บาท ปัจจุบันก่อสร้างบ้านแล้วเสร็จ ประมาณ 2,600 หลังคาเรือน