คณะทำงานกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลท่างาม
กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลท่างาม อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ดำเนินการเข้าสู่ปีที่ 10 โดยเริ่มก่อตั้งกองทุนเมื่อเดือนกรกฎาคม 2551 มีสมาชิกครอบคลุมทั้ง 11 หมู่บ้าน จากสมาชิกเริ่มต้น 379 คน ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 1,737 คน มีเงินกองทุนรวม 9,357,813 บาท รูปแบบการจัดสวัสดิการเป็นการสร้างหลักประกันความมั่นคงในชีวิต ทั้งในลักษณะสิ่งของ เงินทุน น้ำใจ การช่วยเหลือเกื้อกูล สวัสดิการพื้นฐานตั้งแต่เกิดจนตาย
จากการที่พื้นที่ตำบลท่างามประสบปัญหาเรื่องวิกฤติทางเศรษฐกิจ ผลผลิตทางการเกษตรขาดช่องทางจำหน่าย ทำให้มีราคาตกต่ำ ขายไม่ได้ และการประสบกับปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ส่งผลต่อเรื่องอาชีพ รายได้ และลามไปสู่ปัญหาหนี้สินของคนในตำบล กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลท่างามจึงร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนานวัตกรรมทางสวัสดิการสังคม โดยการบริหารจัดการเพื่อพัฒนาการประกอบอาชีพ พัฒนาระบบเศรษฐกิจของครัวเรือนและชุมชน ตลอดจนแก้ปัญหาหนี้สิน เช่น การลงทุนธุรกิจน้ำดื่มท่างาม ร้านกาแฟ Tar-Ngam Coeffee การลงทุนในกองทุนเพื่อให้สมาชิกกู้ยืมร่วมกับกองทุนใบหยก รวมเป็นเงินลงทุนของกองทุนสวัสดิการ จำนวน 1,400,000 บาท
ในการลงทุนด้านต่างๆ ดังกล่าว ถือว่าเป็นการจัดสวัสดิการอีกรูปแบบหนึ่งให้กับสมาชิก ที่เป็นการดูแลนอกเหนือมากกว่า เกิด แก่ เจ็บ ตาย และยังนำผลกำไรที่ได้มาช่วยเหลือกิจกรรมทางสังคมในตำบล ดังนี้
สวัสดิการแก้ปัญหาหนี้สิน ลดต้นทุนด้านการเกษตร โดยการจัดสวัสดิการกู้ยืมทางเกษตรกรรม ซึ่งเป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างกองทุนสวัสดิการฯ (200,000 บาท) กับกองทุนใบหยก (วงเงินเริ่มต้น 1,000,000 บาท) เพื่อฟื้นฟูผู้ประสบภัยพิบัติในตำบลท่างาม ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฯ ที่ประสบภัยพิบัติน้ำท่วม โดยการจัดเมล็ดพันธุ์พืช ปุ๋ย และยากำจัดศรัตรูพืชในราคาถูกให้สมาชิกได้กู้ยืมรายละไม่เกิน 50,000 บาทต่อคน คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 บาทต่อเดือน
นอกจากนี้ยังได้มีการจัดสวัสดิการประกอบอาชีพในโครงการ “เกษตรกรรมยุคใหม่” ให้กับสมาชิก ในการปลูกมะนาว กล้วย พืชผักสวนครัว อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 50 สตางค์ต่อเดือน (ปลอดดอกเบี้ย 12 เดือน) และยังมีการเชื่อมโยงธุรกิจกับกองทุนหมุนเวียนเพื่อฟื้นฟูผู้ประสบภัยแล้งในตำบลท่างาม ในการให้กู้ยืมเงินเพื่อเจาะบ่อบาดาล อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 50 สตางค์ต่อเดือน (ปลอดดอกเบี้ย 12 เดือน) ตลอดจนการพัฒนาต่อยอดด้านการประกอบอาชีพของเกษตรกร โดยการจัดซื้อเครื่องสีข้าวชุมชน เพื่อให้บริการสีข้าวในราคาถูก และยังได้มีการทำความร่วมมือกับภาคเอกชน กลุ่มทุนใบหยก ร้านค้า ร้านอาหารในพื้นที่ตำบลท่างาม ในการเป็นกลไกกลางเพื่อเป็นรับซื้อขายผลผลิตทางการเกษตร (กล้วย มะนาว ผักสวนครัว ฯลฯ)
Social Enterprise กิจการเพื่อสังคม สู่การสร้างงาน สร้างรายได้ กองทุนสวัสดิการได้มีการขยับเข้ามาสู่การพัฒนาระบบเศรษฐกิจของครัวเรือนและชุมชนของสมาชิกกองทุน โดยการลงทุนประกอบธุรกิจน้ำดื่ม (750,000 บาท) ภายใต้ชื่อ “น้ำดื่มท่างาม” ซึ่งผลกำไรหลังหักค่าใช้จ่ายนำกลับเข้ากองทุนฯ เพื่อนำมาใช้ในการบริหารจัดการ และจัดสวัสดิการให้กับสมาชิกและคนในตำบลต่อไป เช่น มอบทุนการศึกษา ทุนผู้พิการยากไร้ รวมทั้งแจกน้ำดื่ม “ท่างาม” ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ตำบลท่างาม นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดการจ้างแรงงานผู้สูงอายุ จำนวน 4 คน ทำงานในโรงงานผลิตน้ำดื่ม อัตราค่าจ้างวันละ 300 บาท/คน/ต่อวันที่มาปฏิบัติงาน และยังทำให้คนในชุมชนเข้าถึงน้ำดื่มที่สะอาด ปลอดภัย และหาซื้อได้ในราคาถูกกว่าต้องตลาด เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีการลงทุนในธุรกิจร้านกาแฟ “Tar-Ngam Coeffee” งบลงทุน 200,000 บาท จัดจำหน่ายกาแฟ เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชนตำบลท่างาม ทำให้สมาชิกในชุมชนมีงานทำ 2 คน โดยจ่ายค่าตอบแทนร้อยละ 20 ของยอดกำไรสุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมด ผลกำไรส่วนที่เหลือจะนำกลับเข้าสู่กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลท่างาม รวมทั้งเกิดการเชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจครัวเรือนในการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและกลุ่มอาชีพต่างๆ โดยใช้พื้นที่ในร้านกาแฟวางจำหน่ายสินค้าต่างๆ ให้กับคนในชุมชนและผู้ที่มาศึกษาดูงาน และที่นี่ยังเป็นแหล่งที่ทำให้เกิดการพัฒนาศักยภาพกลุ่มอาชีพ พัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้า บรรจุภัณฑ์ อันจะนำมาสู่การเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าเพิ่มมากขึ้น เช่น การขายสินค้าออนไลน์
การดำเนินงานของกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลท่างาม ที่ขับเคลื่อนงานพัฒนาผ่านการประกอบอาชีพเพื่อพัฒนาระบบเศรษฐกิจของครัวเรือนและชุมชน ซี่งเป็นแนวทางในการนำไปสู่การสร้างรายได้และแก้ปัญหาหนี้สินแบบมีส่วนร่วม สอดคล้องกับการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) อาทิ ขจัดความยากจน, ขจัดความอดอยากสร้างความมั่นคงทางอาหาร, ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคน, สร้างโอกาสในการเรียนรู้, จัดการน้ำอย่างยั่งยืนและพร้อมใช้สำหรับทุกคน, ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และ สร้างรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน เป็นต้น โดยกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลท่างามมีความมุ่งหมายที่จะก้าวต่อไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในตัวชี้วัดอื่นๆ ต่อไป
การดำเนินงานของกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลท่างาม ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในชุมชนจากการได้รับสวัสดิการด้านต่างๆ และยังเกิดการพัฒนาศักยภาพของคน สร้างการมีส่วนร่วม เกิดการจัดการตนเอง มีการประสานการทำงานของ อบต.ท่างาม ท้องที่ และหน่วยงานภาคีเครือข่าย สร้างผลงานที่ชัดเจนจนเป็นศูนย์เรียนรู้กองทุนสวัสดิการชุมชนของจังหวัดสิงห์บุรี เกิดนวัตกรรมทางสังคมที่ได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย อาทิ นวัตกรรมรางวัล อปท. ที่มีการบริหารจัดการที่ดี จากสำนักนายกรัฐมนตรี รางวัลผู้สร้างนวัตกรรมท้องถิ่นด้านสังคมสงเคราะห์ นอกจากนี้กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลท่างาม มีความพร้อมในถ่ายทอดบทเรียน ประสบการณ์การสร้างการเรียนรู้ให้บุคคลต่างๆ ได้เข้ามาศึกษาดูงาน และเผยแพร่องค์ความรู้ของกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลท่างามผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ ผลงานทางวิชาการ สร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ขยายผลต่อในชุมชนอื่นๆ ได้อย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรม