ด้วยวิถีชีวิตของชาวบ้านปรก อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ที่มีความเป็นอยู่โดยอิงกับธรรมชาติ สายน้ำและสวนผลไม้เป็นหลัก คนในตำบลบ้านปรกจึงได้มีการประกอบอาชีพ โดยอาศัยทุนเดิมที่มีอยู่ในชุมชน ทั้งทางด้านสภาพแวดล้อม และการนำภูมิปัญญามาใช้ ตลอดจนการนำเอาหลักวิชาการด้านต่างๆ มาปรับใช้กับวิถีชีวิต อีกทั้งมีการก่อตั้งกลุ่มองค์กรต่างๆ ที่มีจุดมุ่งหมายคล้ายๆ กัน นั่นคือการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้น ในปี 2560 สภาองค์กรชุมชนตำบลบ้านปรกได้จัดเวทีขับเคลื่อนงานพัฒนาร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่คือองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านปรก ที่มีเป้าหมายตรงกัน คือ ช่วยกันพัฒนาตำบลบ้านปรกให้เต็มความสามารถของแต่ละคน แต่ละหน่วยงาน ต่อมาในปี 2561 ได้มีการวิเคราะห์ศักยภาพของตำบล ร่วมกันทำแผนพัฒนาตำบล ท้องถิ่น โดยใช้สภาองค์รชุมชนเป็นเวทีกลาง เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ จึงเกิดแผน “การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านปรก” โดยจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวทางแม่น้ำลำคลองและการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านปรก และบรรจุเข้าในแผนพัฒนาตำบล ปี 2561 – 2564 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณปีละ 50,000 บาท เพื่อให้คนในตำบลมีความรู้และมีส่วนร่วมในการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
ในการดำเนินการได้สร้างการมีส่วนร่วมในการจัดระบบท่องเที่ยวของชุมชน ผ่านการทบทวนทุนเดิมของตำบลที่มีอยู่แล้ว ก่อนที่จะมาจัดระบบและจัดทำแผนการท่องเที่ยว จากนั้นสร้างเครือข่ายการท่องเที่ยว โดยการประชุมกลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในตำบล เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงทุนของตำบลเป็นเครือข่ายภายในตำบล และจัดทีมงานการท่องเที่ยว (ประชุมร่วมกับตำบลที่มีการท่องเที่ยว) การเรียนรู้วัฒนธรรมชุมชน/ความเป็นมาในอดีต โดยนำข้อมูลจากการสำรวจที่ผ่านมาจัดเป็นทริปการท่องเที่ยววัฒนธรรมชุมชน ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ เชิญนักท่องเที่ยวมาร่วม มีการสรุป และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
ในเบื้องต้นมีการกำหนดจุดนำเที่ยวร่วมกันของคนในพื้นที่ เกิดเป็นแผนกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในตำบล ดังนี้
จุดแรก : ต้อนรับนักท่องเที่ยว ที่วัดช่องลม ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนสมุทรสงคราม – บางแพ เป็นวัดที่มีเจดีย์ไหโบราณ ตามตำนวนกล่าวว่าสร้างในสมัย รัชกาลที่ 5 โดยใช้แรงงานทาส และยังมีรูปหล่อลอยองค์ของหลวงปู่ทวดองค์ใหญ่ตั้งตระหง่านหน้าวัด นอกจากนี้ ยังมีอดีตเกจิอาจารย์ที่รู้จักกันดี คือ หลวงปู่แก้ว หลวงปู่บ่าย
จุดที่สอง วัดแก้วฟ้า ซึ่งเป็นวัดที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง ซึ่งมีทัศนียภาพริมน้ำหน้าวัดงดงาม เป็นจุดที่นักท่องเที่ยวนิยมมากราบสังขารของหลวงปู่สายที่มรณะภาพแล้วไม่เน่าเปื่อย
จุดที่สาม วัดแก้วฟ้า เป็นอีกวัดหนึ่งที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง ที่ยังคงเป็นรุกขสถาน คือ มีต้นไม้ใหญ่น้อยอยู่รอบๆ วัดเป็นจำนวนมาก สามารถร่วมนั่งปฏิบัติธรรมที่ลานหินริมแม่น้ำใต้ร่มไม้ใหญ่ และมีเจดีย์มหาวิหารที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุอีกด้วย
จุดที่สี่ ชมวิถีธรรมชาติของชาวบ้านสวนมะพร้าว วัดคู้สนามจันทร์ วัดเก่าแก่มีรอยพระพุทธบาทจำลองซ้อนกัน 4 รอย อยู่ในวิหารเก่าที่ผนังวิหารก่อสร้างด้วยปูนเปลือกหอยผสมน้ำอ้อย สันนิฐานว่ามีอายุไม่ต่ำกว่า 400 ปี
จุดที่ห้า วัดพักตราราม วัดเก่าแก่อีกวัดหนึ่งซึ่งสันนิฐานว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีอดีตเจ้าอาวาสที่มีอาคมเข้มขลังเป็นที่รู้จักกันทั่วไป คือ หลวงพ่อพัวที่ปั้นเป็นรูปหล่อลอยองค์อยู่ที่หน้าวัด
จุดที่หก วัดโรงธรรม เป็นวัดที่มีหลวงพ่อโตศักดิ์สิทธิ์อยู่ในอุโบสถ ตั้งอยู่บนริมฝั่งคลองผีหลอกตรงบริเวณคุ้งน้ำ ที่เป็นเส้นทางนักท่องเที่ยวนิยมมาเที่ยวชมหิ่งห้อยกันมาก และชมวิถีชีวิตชาวบ้านริมคลองผีหลอกอีกด้วย
นอกจากเรียนรู้วัฒนธรรมต่างๆ ผ่านวัดแล้ว ยังได้มีการจัดโปรแกรมท่องเที่ยวทางน้ำ เพื่อชมวิถีชีวิต และการเรียนรู้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนตำบลบ้านปรก โดยใช้ศูนย์การเรียนรู้ของตำบล ซึ่งได้วางฐานการเรียนรู้เรื่องการทำขนมไทยโบราณ การทำน้ำตาลมะพร้าว การสานใบมะพร้าว การปลูกและเก็บต้นจาก การปลูกผักและเก็บผักปลอดสารพิษ การทำอาหารพื้นบ้าน รวมถึงการนันทนาการพักผ่อนย่อนใจ เล่นน้ำ ลุยโคลน เล่นเลน ซึ่งผลจากการดำเนินการ ทำให้คนในตำบลมีความตื่นตัวที่จะลุกขึ้นมาร่วมกันอนุรักษ์สายน้ำ ภูมิปัญญาท้องถิ่นของตนเอง และมีการรวบรวมปราชญ์และภูมิปัญญาเพื่อเผยแพร่ถ่ายทอดสู่สายตาผู้อื่น
หลังจากมีเวทีการขับเคลื่อนและสรุปงานร่วมกัน ทำให้รู้ว่าที่ผ่านมานั้นนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในพื้นที่แบบไม่มีจุดหมายปลายทาง บางรายเพียงเพื่อใช้บริการที่พักแล้วเดินทางไปที่อื่นต่อ แต่เมื่อมีการปรับเปลี่ยนวิธีคิดให้นักท่องเที่ยวได้เห็นและรับรู้ถึงการได้สัมผัสการใช้ชีวิตของคนตำบลบ้านปรกอย่างเต็มที่ ตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน ซึ่งมีกิจกรรมให้เลือกเรียนรู้หลากหลาย และสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดในการประกอบอาชีพของผู้ได้มาท่องเที่ยวเอง นอกจากนี้ ยังเกิดการสร้างเครือข่ายการท่องเที่ยวชุมชนภายในและภายนอกตำบล และยังมีการเชื่อมร้อยเครือข่ายกับกลุ่มอาชีพและภูมิปัญญาท้องถิ่น ทำให้เกิดพลังในการทำงาน และสถานศึกษาในตำบลยังเห็นความสำคัญให้นักเรียนในโรงเรียนได้เข้ามาร่วมเรียนรู้
อาจกล่าวได้ว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นนี้ เป็นผลมาจากความร่วมแรง ร่วมใจ และการมีส่วนร่วมของคนในตำบล ตั้งแต่ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมทำ และการมีสภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นพื้นที่กลางในการดำเนินงาน พร้อมทั้งได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่มีอยู่ในตำบล จึงเกิดการบูรณาการแผนร่วมกันระหว่างภาคีท้องถิ่นกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาและการพัฒนาของชุมชนร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการทำงานที่ผ่านมาถือได้ว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่ก็พบว่าในการขับเคลื่อนงานยังมีอุปสรรคหรือข้อติดขัดอยู่บ้าง ดังนั้น สภาองค์กรชุมชนตำบลบ้านปรกจึงมีแนวทางการพัฒนาในระยะต่อไป คือ ตั้งกฎกติกา และเพิ่มมาตรการด้านการบริหารจัดการ การจัดสรรแบ่งปันผลกำไรให้สมาชิกในกลุ่มอย่างชัดเจน เป็นรูปธรรม สร้างคุณค่าและรายได้ให้คนในชุมชนบนพื้นที่การตัดสินใจร่วมของคนในชุมชนเอง และการผลักดันและเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายและหน่วยงานอื่นๆ มาทำงานร่วมกัน รวมถึงขยายช่องทางการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของตำบลบ้านปรกให้แผ่ขจายออกไปสู่สาธารณะเพิ่มมากขึ้น
นักสื่อสารจัดการความรู้ จังหวัดสมุทรสงคราม