โดย นายวัชระ กำพร
ผู้ประสานงานสภาองค์กรชุมชนตำบลห้วยสัตว์ใหญ่
หากพูดถึงตำบลห้วยสัตว์ใหญ่อาจจะไม่มีใครรู้จักมากมายนัก แต่ถ้าพูดถึงป่าละอูหลายคนอาจจะคุ้นชินชื่อนี้มากกว่า เพราะมีสิ่งที่ขึ้นชื่อเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของตำบล คือ น้ำตกป่าละอูและทุเรียนป่าละอูที่ราคาค่อนข้างสูงและหายาก
เมื่อเดือนกันยายน 2559 ได้มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนขึ้น และในช่วงปี 2560 สภาองค์กรชุมชนตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอป่าละอู จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทั้งแกนนำในชุมชนและสมาชิกทุกคนได้มีบทบาทเป็นพื้นที่กลางในการจัดทำแผนพัฒนาตำบล เริ่มมีการค้นหาศักยภาพและแนวทางการแก้ไขปัญหาของตำบล จึงมีแผนและแนวคิดประยุกต์ใช้แนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงบูรณาการอย่างรอบด้าน โดยยึดเอาความยั่งยืนของชุมชนและความสุขเป็นตัวตั้ง สอดคล้องกับวิถีชุมชนและเน้นให้ผู้ที่เข้ามาท่องเที่ยวได้มีโอกาสสัมผัสกับความเป็นชุมชนวิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างแท้จริงโดยชุมชนมีทุนและศักยภาพภูมิประเทศเหมาะแก่การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ดำเนินการพัฒนารูปแบบเป็นการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ที่คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน
ทั้งนี้สภาองค์กรชุมชนตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ จึงมีแนวคิดพัฒนายกระดับให้เป็นพื้นที่ต้นแบบของการใช้ศักยภาพของทุนในตำบลที่มีอยู่ และการพัฒนาบุคลากรอาสาท่องเที่ยวของตำบลที่จะเป็นกำลังหลักในการดำเนินงานท่องเที่ยวของชุมชน พร้อมใช้เป็นพื้นที่กรณีศึกษาให้เครือข่ายได้มาเรียนรู้แลกเปลี่ยน และเป็นการฝึกบุคลากร/คณะทำงานให้มีทักษะและจัดระบบการท่องเที่ยวโดยชุมชนจากสถานการณ์จริง โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism Management) ให้สามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนและการพัฒนาสังคมเศรษฐกิจสิ่งแวดล้อมของชุมชนนั้นๆ ได้อย่างยั่งยืน สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน โดยใช้ทุนจากศักยภาพของชุมชนที่มีอยู่ของตำบล พัฒนาศักยภาพคณะทำงานและวางระบบการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนให้เกิดระบบในการทำงาน
ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน (ปี 2561) ได้มีการประชุมคณะทำงานเพื่อติดตามการดำเนินโครงการและสร้างการมีส่วนร่วม โดยใช้สภาองค์กรชุมชนตำบลห้วยสัตว์ใหญ่เป็นเวทีพูดคุยและหารือแนวทางการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ได้มีการรับสมัครอาสาสมัครนำเที่ยวเชิงอนุรักษ์และลงพื้นที่สำรวจข้อมูลฐานทรัพยากรการท่องเที่ยว เป็นเส้นทางท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ได้ โดยมีการเชื่อมโยงกับองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ และสำนักงานท่องเที่ยวและการกีฬาจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้เปิดอบรมอาสาท่องเที่ยวชุมชน พร้อมทั้งพัฒนาศักยภาพอาสาท่องเที่ยวชุมชนของตำบล จำนวน 40 คน เพื่อเป็นวิทยากรกระบวนการในแหล่งเรียนรู้ต่างๆ วิเคราะห์และจัดทำแผนที่ศักยภาพของตำบล พบว่ามีแหล่งเรียนรู้ที่สามารถยกระดับเป็นแหล่งศึกษาดูงานให้กับพื้นที่อื่นๆ อาทิ ศูนย์โอท็อป และอ่างเก็บน้ำพุไทร สวนทุเรียน ที่มีผู้เข้าร่วมเป็นเครือข่าย 900 หลังคาเรือน กลุ่มทอผ้าของกะเหรี่ยง ป่าละอูโฮมสเตย์ ศูนย์เรียนรู้ช้างไทยภูเขา ศูนย์สาธิตการรีดนมวัว และจุดชมวิวเขาทุ่ง
นอกจากนี้ยังได้มีการพัฒนามาตรฐานและการจัดการโฮมสเตย์ของชุมชนที่ป่าละอู เพื่อให้ได้มาตรฐานโฮมสเตย์ที่มีการบริหารจัดการโดยชุมชน และมีการร่วมกันพัฒนาปรับปรุงภูมิทัศน์อ่างเก็บน้ำพุไทรให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยมีการสร้างศูนย์จำหน่ายสินค้าตำบลไว้ในบริเวณอ่างเก็บน้ำพุไทร มีการดำเนินการสร้างลานกลางเต็นท์ให้กับนักท่องเที่ยวที่มาพัก ประกอบกับมีการเตรียมความพร้อมให้ความรู้กับคนในตำบล เช่น การสร้างศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง การสร้างร้านค้าชุมชนตำบล ลานรับซื้อผักปลอดสารพิษ การส่งเสริมกลุ่มอาชีพต่างๆ โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน การรวบรวมภูมิปัญญาวัฒนธรรมท้องถิ่นชาวไทยภูเขา มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เป็นจุดเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชน และสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับคนในตำบลด้วยต้นทุนและศักยภาพของตำบลที่มีอยู่
การใช้ความพยายามในการยกระดับพื้นที่และพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ โดยให้คนในตำบลห้วยสัตว์ใหญ่สามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน และการพัฒนาสังคมเศรษฐกิจสิ่งแวดล้อมของชุมชนนั้นๆ ทำให้เกิดผลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในการพัฒนาคณะทำงานและสมาชิกในตำบลและพัฒนาพื้นที่ควบคู่กันไป ทั้งนี้ เห็นได้ว่าคณะทำงานมีความรู้ความสามารถเรื่องการจัดการท่องเที่ยวในชุมชนและสามารถวางระบบการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนให้เกิดระบบในการทำงาน จำนวน 40 คน และเกิดฐานเรียนรู้ในตำบลเพื่อให้คนมาศึกษาเรียนรู้ จำนวน 8 ฐานการเรียนรู้ เป็นฐานการเรียนรู้ที่เกิดจากคนในร่วมกันเชื่อมร้อยความเป็นชุมชนและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ โดยใช้สภาเป็นกลไกกลางที่สำคัญในการร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมตัดสินใจ ร่วมทำ ในการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในพื้นที่และทุนในชุมชน โดยใช้การท่องเที่ยวชุมชนเป็นรูปธรรมในการขับเคลื่อนที่ต้องมีการพัฒนาให้เกิดมาตรฐานการท่องเที่ยวที่เกิดการยอมรับจากนักท่องเที่ยวทั้งในด้านการบริหารจัดการ การบริการ และสินค้าในชุมชน ทำให้ทุกวันนี้คนในชุมชนมีรายได้โดยใช้ทุนจากศักยภาพของชุมชนที่มีอยู่ของตำบล และมีฐานข้อมูลและแผนที่ศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของตำบล ทำให้สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยใช้ทุนจากศักยภาพของชุมชนที่มีอยู่ของตำบลต่อยอด
อีกทั้งยังสามารถเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับภาคีพัฒนาและหน่วยงานต่างๆ เช่น พัฒนาชุมชนจังหวัด ได้ใช้โครงการ “ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัติกรรม” ใช้นวัตกรรมบวกกับวิถีชีวิตของชุมชนในการปลุกนักท่องเที่ยวให้สนใจท่องเที่ยวในระดับชุมชน โดยเลือกพื้นที่ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่เป็นพื้นที่หนึ่งในแหล่งดูงานอื่นๆ มีการไปดูงานที่บ้านโคนมพัฒนา หมู่ที่ 6 ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ ซึ่งเป็นชุมชนที่เริ่มได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว เพราะมีธรรมชาติที่งดงามของป่าละอู รวมทั้งมีผลิตภัณฑ์ที่เป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น เช่น ทุเรียนป่าละอูที่มีรสหวาน หอม อร่อย เป็นที่ต้องการของตลาด รวมทั้งมีกิจการโฮมเสตย์และกิจกรรมการเลี้ยงโคนม อาหารพื้นบ้านของชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยง การทอผ้าพื้นเมือง ฯลฯ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังบรรจุเข้าแผนพัฒนาตำบลของท้องถิ่นและเป็นยุทธศาตร์การขับเคลื่อนหลักของตำบลต่อไป อาทิ เช่น ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพของคนในตำบล สนับสนุนงบประมาณ ปีละ 200,000 บาท, สนับสนุนกลุ่มปลูกทุเรียนป่าละอูเพื่อให้เกษตรกรทั้ง 11 หมู่บ้านปลูกทุเรียนที่มีคุณภาพ สร้างผลผลิตให้เป็นไปตามเป้าหมาย สนับสนุนงบประมาณปีละ 50,000 บาท สนับสนุนและส่งเสริมงบประมาณให้กลุ่มโฮมสเตย์ ปีละ 50,000 บาท และส่งเสริมการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีชาวไทภูเขาปีละ 50,000 บาท และนอกจากที่กล่าวมาแล้วยังมีการพัฒนาท่องเที่ยวปรับปรุงภูมิทัศน์ต่าง ๆ ให้สะดวกในการเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวในการมาเยี่ยมเยี่ยนและท่องเที่ยวตำบลห้วยสัตว์ใหญ่แห่งนี้ ซึ่งคนในตำบลต่างรับรองกันว่ามาเที่ยวที่นี้ไม่แพ้ที่ใดจริง ๆ
จากการดำเนินงาน พบว่า ปัจจัยความสำเร็จโดยหลักเกิดจากการที่มีผู้นำท้องที่ท้องถิ่น และผู้นำองค์กรชุมชน รวมทั้งผู้นำทางธรรมชาติ ที่มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันจะทำให้งานประสบความสำเร็จได้ง่าย และการที่มีความศรัทธาและแรงบันดาลใจที่เป็นต้นแบบที่ดีในการดำเนินชีวิตคือการดำเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยให้มองถึงศักยภาพที่มีอยู่ และพัฒนาต่อยอดสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆได้ ทั้งนี้คนในตำบลลุกขึ้นมาพัฒนาพื้นที่และฐานการเรียนรู้ของตนเองให้สะอาด ดึงดูดความสนใจนักท่องเที่ยว คนในชุมชนต้องลุกขึ้นมาทำงานร่วมกัน ช่วยกันเป็นเจ้าบ้านที่ดี นำภูมิปัญญา เสน่ห์พื้นบ้านมาหลอมรวมสร้างสรรค์จุดขายให้แก่นักท่องเที่ยว และร่วมกันหาวิธีสร้างความประทับใจเพื่อให้นักท่องเที่ยวกลับไปเที่ยวซ้ำๆ และเป็นการกระจายรายได้ให้คนทุกอาชีพในชุมชนได้อย่างทั่วถึง