วันที่22 กันยายน 2566 ณ พิพิธภัณฑ์ของดีเมืองกาฬสินธุ์ (หอศิลป์) ศาลากลางหลังเก่า เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์จับมือมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ หน่วยงานภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาชน จัดงานมหกรรมนวัตกรรมแก้จนจังหวัดกาฬสินธุ์ ครั้งที่ 2 “การแถลงข่าวเปิดตัวนักบริหารความยากจนเชิงพื้นที่ (Area Research Manager) และการเป็นเจ้าของข้อมูล ( Local Data Ownership)” ภายใต้โครงการวิจัย “โครงการ การพัฒนาและยกระดับแพลตฟอร์มการแก้ปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำระดับจังหวัดแบบร่วมมือด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีและการขับเคลื่อนระบบข้อมูลในจังหวัดกาฬสินธุ์”
นายสำเริง ม่วงสังข์
โดยนายสำเริง ม่วงสังข์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี และมีนายจารุวัฒน์ บุญเพิ่ม นายกเทศมนตรีเมืองกาฬสินธุ์ พร้อมหัวหน้าส่วนหน่วยราชการกว่า 50 หน่วยงานร่วมงาน และลงนามบันทึกความร่วมมือแก้จนตามโครงการวิจัยพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์ (SRA) เพื่อขจัดความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคม จังหวัดกาฬสินธุ์
โดยในส่วนของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือ 1) เพื่อต่อยอดการค้นหาและสอบทานข้อมูลคนจนที่ทำให้ได้ข้อมูลที่มีคุณภาพครบทั้งร้อยละ 100 จะมีระบบและกลไกที่เหมาะสมกับบริบทจังหวัดกาฬสินธุ์ 2) เพื่อพัฒนาระบบ กลไก การวิเคราะห์และการส่งต่อความช่วยเหลือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนพื้นที่ ส่วนจังหวัดและส่วนกลางอย่างมีประสิทธิภาพให้ได้ร้อยละ 100 3) เพื่อพัฒนาโมเดลแก้จนที่เหมาะสมกับบริบทจังหวัดกาฬสินธุ์ในการแก้ปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและยั่งยืน และ 4) เพื่อพัฒนาระบบการหนุนเสริมเพื่อพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย หรือเชื่อมโยงให้เกิดแผนพัฒนาเพื่อการแก้ไขปัญหาความยากจนระดับพื้นที่ ที่เหมาะสมกับจังหวัดกาฬสินธุ์
นอกจากนี้ นายสยาม นนท์คำจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ได้ทำพิธีมอบป้ายสนับสนุนงบประมาณโครงการบ้านพอเพียงเมืองกาฬสินธุ์ จำนวน 717,500 บาทโดยนายจารุวัฒน์ บุญเพิ่ม นายกเทศมนตรีเมืองกาฬสินธุ์ และผู้แทนองค์กรขุมชนเป็นตัวแทนผู้รับมอบ
ทั้งนี้ในงานมหกรรมนวัตกรรมแก้จนจังหวัดกาฬสินธุ์ มีการแถลงข่าวเปิดตัวนักบริหารความยากจนเชิงพื้นที่ (Area Research Manager) และการขับเคลื่อนการเป็นเจ้าของข้อมูล(Local Data Ownership )โดย ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุน ด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และการลงนามบันทึกความร่วมมือ 3 ชุด ประกอบด้วย
ชุดที่ 1 : บันทึกความร่วมมือ (MOU) การบูรณาการการแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่อำเภอเป้าหมาย ปี 2566 ระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ และที่ว่าการอำเภอ 6 อำเภอ กับมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น
ชุดที่ 2 : บันทึกความร่วมมือ (MOU) การบูรณาการการแก้ไขปัญหาความยากจน ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ นิคมสร้างตนเองลำปาว เครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดกาฬสินธุ์ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ภาคตะวันออกฉียงเหนือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 13 แห่ง พื้นที่นำร่องการขับเคลื่อนการขับเคลื่อนการเป็นเจ้าของข้อมูล (Local Data Ownership )
ชุดที่ 3 : บันทึกข้อตกลงการสั่งซื้อผลผลิต (MOU) ระหว่างภาคเอกชน 13 บริษัท กับมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ เพื่อแก้ปัญหาความยากจนให้กับคนกาฬสินธุ์ต่อไป