เมื่อวันอังคารที่ 11 กรกฎาคม 2566 มีการจัดเวทีคืนข้อมูลสรุปบทเรียนการพัฒนาตำบลต้นแบบมิติคนมีคุณภาพ ณ องค์การบริหารส่วนตำบลเขื่อน อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม มีผู้เข้าร่วมได้แก่ แกนนำตัวแทนตำบลเขื่อน อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม และตำบลดงใหญ่ อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม เจ้าหน้าที่พอช. สำนักเลขานุการยุทธศาสตร์ชุมชนเข้มแข็ง สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร รวมจำนวน 30 คน ผู้เข้าร่วมรับฟังการนำเสนอร่างผลการศึกษารายพื้นที่ ภายใต้โครงการ “การศึกษาเพื่อถอดองค์ความรู้ การพัฒนาตำบลเข้มแข็งมิติคนมีคุณภาพ” โดยรองศาสตราจารย์ดร.สุภาวดี ขุนทองจันทร์และคณะ ดังนี้
ตำบลเขื่อน ได้ดำเนินโครงการเมล็ดข้าวพันธุ์ดี ตั้งแต่ปี 2559 ถึงปัจจุบัน เป็นเวลามากกว่า 6 ปี ได้พิสูจน์ให้เห็นผลลัพธ์ในเชิงประจักษ์ เรื่องผลผลิตเมล็ดข้าวพันธุ์ดี ได้แก่ ข้าวเหนียวพันธุ์ กข. ข้าวเจ้ามะลิ 105 ข้าวเหนียวพันธุ์ กข.22 และข้าวเหนียวพันธุ์อีเตี้ย เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมได้ผลผลิตเฉลี่ย 500 กิโลกรัมต่อไร่ มีพันธมิตรในการขับเคลื่อนเมล็ดข้าวพันธุ์ดี รวมกลุ่มเป็นคลัสเตอร์ในพื้นที่ 7 ตำบล มีตัวแทนของแต่ละตำบลมีกิจกรรมเรียนรู้ระหว่างกัน และยังได้ร่วมเป็นเครือข่ายข้าวและกองทุนข้าวในระดับจังหวัดและเชื่อมโยงในระดับเกษตรกรรมเครือข่ายทางเลือกในระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ปี 2565 ตำบลเขื่อนมีเป้าหมายข้าวอยู่ที่ 40 กระสอบ แม้ว่าปี 2564 ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมได้รับความเสียหายผลผลิตไม่ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ทว่าการทำนา คือ วิถีชีวิต จิตใจของคนในชุมชน ปัจจุบันยังดำเนินการเรื่องเมล็ดพันธุ์ข้าวต่อไป เป้าหมายของสภาองค์กรชุมชนตำบลเขื่อน คือ อยากเห็นพี่น้องในชุมชนผลิตพันธุ์ข้าวใช้เองช่วยลดต้นทุนการทำนา กำหนดเป็นเป้าหมายงานเศรษฐกิจของตำบล พัฒนาจากเรื่องการพัฒนาเมล็ดข้าวพันธุ์ดีไปสู่เรื่องของการจัดการภัยพิบัติ ปี 2566 ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ให้เป็นศูนย์บ่มเพาะเศรษฐกิจและทุนชุมชน เป็นต้น
ตำบลดงใหญ่ อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม มีป่าชุมชนดงใหญ่ที่มีตำนานเล่าขานเรื่องความอุดมสมบูรณ์ มีเนื้อที่มากถึง 754 ไร่ ความพิเศษของป่าแห่งนี้ คือ เป็นป่าที่ไม่เคยมีประวัติเรื่องไฟไหม้ป่า เนื่องจากคณะกรรมการชุมชนส่งต่อความหวงแหนผืนป่าที่เป็นทรัพยากรเชื่อมประสานคนในชุมชนจากรุ่นสู่รุ่น เพราะผืนป่าแห่งนี้ คือ หลักประกันความอุดมสมบูณ์ของคนในชุมชน
ตำบลดงใหญ่ ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เช่น การจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน โครงการบ้านพอเพียง โครงการบ้านมั่นคง ปี 2565 สภาองค์กรชุมชนตำบลดงใหญ่ ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) โดยหมู่ 12 ได้เป็นหมู่บ้านตัวแทนรับโครงการไปดำเนินการ เนื่องจากสอดคล้องกับกิจกรรมของชุมชนดำเนินการผลิตผักปลอดสาร อาหารปลอดภัย ได้รับการสนับสนุนงบประมาณพลังงานทางเลือกโดยใช้แผงโซลาร์เซล จากมหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม โครงการแรงงานคืนถิ่น ฯลฯ คนในชุมชนตำบลดงใหญ่มีการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมตามความสนใจ ด้านเศรษฐกิจของครัวเรือน มีแรงจูงใจด้านควมสัมพันธ์ทางสังคมในหลากหลายกิจกรรม ซึ่งแต่ละกลุ่มสะท้อนผลผลิตที่มีอยู่ในชุมชน ภุมิปัญญานในวิถีการดำเนินชีวิต อาหารพื้นถิ่น ก่อเกิดอาชีพเสริมของคนในแต่ละหมู่บ้าน ได้แก่ กลุ่มแปรรูปขนมและปลาร้าบอง กลุ่มแปรรูปปลาส้ม กลุ่มเพาะฟางเห็ดกลุ่มเพาะเห็ดขอนขาว ถือว่าเป็นการสร้างวัฒนธรรมการพึ่งพา พึ่งพิงกันทั้งด้านเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ อาจารย์สุภาวดี ขุนทองจันทร์และคณะ ได้นำเสนอ (ร่าง) ผลการศึกษาโครงการ “การศึกษาเพื่อถอดองค์ความรู้การพัฒนาตำบลเข้มแข็งมิติคนมีคุณภาพ” โดยละเอียด มีซักถามเพิ่มเติมข้อมูลจากผู้เข้าร่วมตามหัวข้อ ได้แก่ บริบทของพื้นที่ การจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบล รายชื่อคณะทำงาน มีการอ้างอิงข้อมูลจากการบทสัมภาษณ์ ผลการดำเนินงานในแต่ละช่วงปี สถานการณ์ที่ส่งผลต่องานพัฒนาของตำบลอดีตถึงปัจจุบัน ทุนทางสังคม ผลการประเมินตัวชี้วัดชุมชนเข้มแข็งมิติคนมีคุณภาพ บทบาทของผุ้นำและสมาชิกกองการชุมชน หลักคิดทัศนคติ ในการทำงานพัฒนา ทักษะ เครื่องมือ กลไก กระบวนการและเครือข่ายดำเนินงานในพื้นที่ รูปธรรมความสำเร็จ
การจัดเวทีคืนข้อมูลสรุปบทเรียนการพัฒนาตำบลต้นแบบมิติคนมีคุณภาพ ภายใต้โครงการถอดองค์ความรู้การพัฒนาตำบลเข้มแข็ง ประจำปี 2566 กำหนดจัดเวทีครบ 10 พื้นที่ จัดเวทีพร้อมกัน 2 ตำบล ให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2566 ดังนี้
วันที่ 11 กรกฎาคม 2566 ต.เขื่อน อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม และต.ดงใหญ่ อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม
วันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ต.ท่าหมื่นราม อ.วังทอง จ.พิษณุโลก และต.ท้อแท้ อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก
วันที่ 16 กรกฎาคม 2566 เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร และต.คลองหินปูน อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว
วันที่ 18 กรกฎาคม 2566 ต.พระแท่น อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี และต.หนองบัว อ.เมือง จ.กาญจนบุรี
วันที่ 22 กรกาคม 2566 ต.ตะลุบัน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี และต.นาทอน อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล
การจัดเวทีคืนข้อมูลฯ ครั้งนี้ หวังว่านอกจากอาจารย์และคณะจะได้ข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน นำไปเรียบเรียงการจัดทำเล่มรายงานฉบับสมบูรณ์ แกนนำผู้เข้าร่วมจะได้รับประโยชน์จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามพื้นที่ เกิดแรงบันดาลใจ เรียนรู้ทักษะแนวทางการแก้ไขปัญหา นำไปสู่การขยายผลการพัฒนาตำบลต้นแบบเข้มแข็งในอนาคต
รายงานโดยสำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร